Skip to main content
sharethis

ภาพจาก http://www.mcotcm.com
------------------------------------------------------

ข้อคิดเห็นต่อกรณีวิพากษ์วิจารณ์
รายการโทรทัศน์และวิทยุของนายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ

สมัครและดุสิต
"เรามีสิทธิไม่ชอบเขา แต่มีหน้าที่ต้องเคารพสิทธิของเขา"

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
สมาชิกวุฒิสภา

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก สำหรับรายการโทรทัศน์และวิทยุของนายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ สองคู่หูผู้จัดรายการที่โด่งดังมาในสมัยเผด็จการทหาร แต่ได้ฟื้นกลับมามีบทบาทอีกครั้งในทักษิณสมัย

สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ถึงกับให้ทัศนะว่า เป็นรายการที่มีเนื้อหาส่อเจตนาไปในทางยั่วยุ ปลุกปั่น สร้างความแตกแยก บิดเบือน หวังผลให้เกิดความเกลียดชังและเกิดการเผชิญ หน้ากันในสังคม คล้ายกับสถานการณ์ก่อนเกิดเหตุรุนแรง 6 ตุลาคม 2519!

ล่าสุด สนนท.ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ขอให้เข้าตรวจสอบรายการวิทยุและโทรทัศน์ของนายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริ
วรรณ ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และวิทยุ 94 FM เพื่อให้ผู้อำนวยการสถานีฯ หาทางทบทวน ปรับปรุง ระงับ หรือยกเลิกรายการดังกล่าวเสีย!

ในฐานะของประชาชนคนหนึ่ง ผมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์รายการวิทยุโทรทัศน์ จะชอบหรือไม่ชอบผู้จัดรายการคนใดก็ได้ แล้วแต่มุมมอง จุดยืน ความคิด และรสนิยมส่วนตัว

พูดตรงไปตรงมา ผมมีความเห็นไปในทางเดียวกับ สนนท. ว่า รายการโทรทัศน์และวิทยุของนายสมัครและนายดุสิต มีเนื้อหาบางส่วนส่อไปในทางยั่วยุ ปลุกปั่น คิดรายวันข้างเดียว ก่อให้เกิดอารมณ์แบ่งแยก แบ่งเขาแบ่งเราในสังคม สะสมให้เกิดความเกลียดชังและอาจจะนำไปสู่การเผชิญหน้าด้วยความรุนแรงในบ้านเมือง

ในท่ามกลางสภาวการณ์ที่สังคมบางส่วนเกิดปัญหาความรุนแรง จึงเป็นความเสี่ยงต่อปัญหาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง เหมือนราดน้ำมันลงบนกองเพลิง จุดเชื้อร้ายของความรุนแรงอันเป็นความเสื่อมทางจิตใจ ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับจรรยาบรรณแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่เป็นคล้ายกับสถานการณ์ที่บุคคลบางคนเคยทำรายการวิทยุและโทรทัศน์ในช่วงก่อนเกิดเหตุรุนแรง 6 ตุลาคม 2519

เมื่อต้องวินิจฉัยประเด็นปัญหานี้ ในฐานะหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา ผมมีความเห็นดังต่อไปนี้

1) นายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ ควรมีสิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่ ที่จะแสดงความเห็นของตนภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เฉกเช่นเดียวกับประชาชนคนไทยทุกคน

รัฐธรรมนูญ มาตรา 39 มาตรา 41 บัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน

"เสรีภาพของสื่อ คือเสรีภาพของประชาชน" วุฒิสภาและรัฐบาล ต่างไม่มีสิทธิ ไม่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงที่จะเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการนำเสนอเนื้อหาของสื่อมวลชนทุกแขนง

การใช้อำนาจรัฐหรือขององค์กรใดที่จะเข้าไปแทรกแซงเสรีภาพดังกล่าว ไม่ว่าจะด้วยการกีดกันบุคคลที่เราไม่ชอบความเห็น บุคคลที่เราคิดว่าชั่วร้าย หรือเข้าแทรกแซงตรวจสอบด้วยวิธีต่างๆ ล้วนเป็นวิธีการที่ไม่ชอบด้วยหลักการของเสรีภาพสื่อและขัดต่อรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาหรือรัฐบาลจึงไม่น่าจะมีอำนาจก้าวก่ายวิจารณญาณในการนำเสนอเนื้อหารายการของนายสมัครและนายดุสิต ไม่ทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดีที่จะพิพากษาว่า รายการวิทยุโทรทัศน์ใดไม่ควรออกอากาศ หรือรายการใดควรออกอากาศ และยิ่งไม่สมควรไปกำกับควบคุมเนื้อหาที่ถ่ายทอดออกอากาศ ว่าควรพูดอย่างไร

กรณีร้องเรียนให้วุฒิสภาหรือรัฐบาลเข้าตรวจสอบ "เนื้อหาและการนำเสนอความคิดเห็น" ในรายการวิทยุและโทรทัศน์ใดๆ "เพื่อให้ระงับหรือยกเลิกรายการ" จึงมิอาจกระทำได้ เพราะเป็นการแทรกแซงสื่อมวลชน เข้าลักษณะการเซ็นเซอร์ ละเมิดบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ผมไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่นายสมัครและนายดุสิตพูดในรายการโทรทัศน์และวิทยุ แต่ผมก็ต้องเคารพและปกป้องสิทธิของบุคคลทั้งสอง และขอยืนยันหลักการสำคัญที่ว่า วุฒิสภาและรัฐบาลไม่มีอำนาจแทรกแซงเนื้อหาของรายการ

2) ผมเห็นว่า หากประชาชนมีความรู้สึกไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาสาระของรายการดังกล่าว ย่อมมีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะสื่อสารความคิดเห็นส่วนตัวไปยังตัวผู้จัดรายการทั้งสองโดยตรง หรือส่งไปยังผู้บริหารสถานีวิทยุและโทรทัศน์ หรือส่งไปยังนักการเมืองผู้กำกับดูแลหน่วยงานของรัฐเจ้าของสถานี กระทั่งว่าสามารถวิพากษ์วิจารณ์รายการดังกล่าวได้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ว่าเป็นรายการที่ไม่เหมาะสม ไม่มีคุณภาพ ไม่มีวุฒิภาวะ หรือไร้จรรยาบรรณในประการใด ประชาชนก็สามารถแนะนำ เพื่อให้ผู้ผลิตรายการได้พิจารณาปรับปรุงตัวเอง เพิ่มคุณภาพ หรือควรเปิดโอกาสให้มีการนำเสนอข้อมูลความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

และหากเห็นว่า นายสมัคร และ/หรือ นายดุสิต มีการกระทำที่หมิ่นประมาท ทำให้ผู้ใดได้รับความเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือมีการกระทำที่ขัดต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำที่สร้างความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน ก็น่าจะฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายได้

3) ผมเห็นว่า สถานีวิทยุและโทรทัศน์ที่ให้นายสมัครและนายดุสิตทำรายการและแสดงความเห็นในรายการ สมควรใส่ใจในประเด็นเรื่อง "การใช้เวลาของสื่อ" เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ไม่ถูกชี้นำด้วยแนวความคิดด้านหนึ่งด้านใด

สื่อมวลชนในประเทศประชาธิปไตย จะตระหนักในเรื่องนี้มาก เมื่อใดที่มีคนของรัฐบาลหรือมีผู้แสดงความคิดเห็นโน้มเอียงไปในทางหนึ่ง สื่อมวลชนก็จะจัดสรรเวลาสำหรับฝ่ายค้านหรือบุคคลที่มีข้อมูลหรือมุมมองแตกต่างออกไป เพื่อให้เกิดสมดุลของข้อมูลข่าวสาร ไม่ให้ใครมาชี้นำกระแสสังคมได้

กรณีนี้ สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. และสถานีวิทยุ 94 FM ก็น่าจะพิจารณาได้ด้วยตนเอง โดยจัดสรรเวลาออกอากาศทางโทรทัศน์และวิทยุเพื่อให้บุคคลที่มีความคิดเห็นแตกต่างหรือตรงกันข้ามกับคุณสมัครและดุสิต มีโอกาสได้นำเสนอข้อมูลความคิดเห็นอีกด้านแก่ประชาชน โดยใช้เวลาไล่เลี่ยกับรายการดังกล่าว ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน จำนวนเวลาไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน

คนที่มีความคิดเห็น "คนละขั้ว" กับนายสมัครและนายดุสิต ซึ่งสามารถ "ตอบโต้" ได้อย่างสร้างสรรค์ ใช่ว่าจะไม่มี

4) องค์กรต่างๆ เช่น คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ได้ตรวจสอบปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ หรือเรื่องอื่นๆ ที่มีข้อมูลเชิงลึก มีการวิเคราะห์เหตุการณ์ มีความเข้าใจปัญหาแตกต่างจากที่นายสมัครและนายดุสิตนำเสนอผ่านรายการ หากสถานีโทรทัศน์และวิทยุที่ออกอากาศรายการของนายสมัครต้องการให้ข้อมูลที่รอบด้านแก่ประชาชน สร้างความสมดุล ก็สามารถจะพิจารณาให้องค์กรนั้นๆ ได้ใช้เวลาให้ข้อมูลความคิดเห็นอีกด้านแก่สาธารณชน

5) ประเด็นรายการที่ไม่สร้างสรรค์ของนายสมัครและนายดุสิต น่าจะพิจารณาจากข้อพิรุธสงสัยว่า เหตุใดสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 ช่อง 9 และสถานีวิทยุ 94 FM จึงได้เร่งรีบบรรจุรายการของนายสมัครและนายดุสิตเข้าสู่ผังรายการของสถานีวิทยุโทรทัศน์ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ดำเนินการสอดรับกัน คล้ายจะเป็นกระบวนการเดียวกัน ภายใต้นโยบายเดียวกัน ส่อเจตนาว่า อาจจะเป็นการแทรกแซงของบุคคลบางคนในรัฐบาล เพื่อส่งคนเข้ามาใช้สื่อของรัฐเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อ หวังผลทางการเมือง แสดงความความคิดเห็นปกป้องกิจการที่รัฐบาลกระทำ ทำลายความน่าเชื่อถือของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล คล้ายเป็นโฆษกรัฐบาลนอกทำเนียบ ซึ่งก็คือการแทรกแซงสื่อในรูปแบบใหม่
ฉะนั้น จึงควรจะได้มีตรวจสอบว่า การที่รายการของบุคคลทั้งสอง ได้ออกอากาศทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล และได้รับการสนับสนุนอย่างเฟื่องฟูจากรัฐวิสาหกิจในยุครัฐบาลปัจจุบัน จะเป็นการแทรกแซงสื่อมวลชนของรัฐบาล มีการใช้อำนาจรัฐบาลเอื้ออำนวยประโยชน์ เปิดทาง ผลักดัน สนับสนุนเงินทอง หรือมีใบสั่งให้ได้เวลาในการออกอากาศ หรือไม่?

สิทธิและเสรีภาพของนายสมัคร สุนทรเวช และนายดุสิต ศิริวรรณ จะต้องได้รับการคุ้มครองเฉกเช่นประชาชนทุกคน โดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลเช่นวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร จะต้องเข้ามาตรวจสอบว่า บุคคลใดในรัฐบาลได้เข้าแทรกแซง ผลักดัน หรือเอื้อประโยชน์ใดๆ แก่นายสมัครและนายดุสิต เพื่อหวังผลในการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือไม่?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net