Skip to main content
sharethis

การโตแบบก้าวกระโดดของเชียงใหม่ในห้วงกว่า 10 ปี ได้ทำให้เมืองแห่งนี้กลายเป็นเมืองมั่งคั่งและเฟื่องฟูในด้านเศรษฐกิจ และกำลังจะก้าวไปสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางทุกด้านในกลุ่มประเทศแถบอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในอนาคตอันใกล้นี้

แต่ในอีกด้านปฏิเสธไม่ได้ว่าความเจริญที่รุกคืบเข้ามาอย่างรวดเร็วนั้น มีผลกระทบที่ตามมามากเป็นทวี ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม ปัญหาคุณภาพชีวิต ปัญหาวัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งได้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้เชียงใหม่ถูกจัดอันดับจากนิตยสารชื่อดังระดับโลก National Geo
graphic Traveler ให้ติดอยู่ในกลุ่มเมืองที่กำลังจะน่าเกลียด หรือ Getting Ugly เมื่อราวต้นปี 2547 ที่ผ่านมา

และหากตั้งคำถามว่าวันนี้เชียงใหม่เป็นเมืองที่น่าอยู่หรือไม่ คงเป็นเรื่องยากที่จะตอบ เพราะปัญหาที่มากมายในเมืองแห่งนี้ นับวันจะยิ่งทำให้เชียงใหม่ไม่น่าอยู่ โดยในระยะที่ผ่านมาเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้สถาบันคีนันแห่งเอเซียร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย จัดทำโครง
การเครื่องมือชี้วัดความยั่งยืนของเมืองเชียงใหม่

ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2548 ได้มีการจัดสัมมนาสาธารณะเรื่อง "ตัวชี้วัดเมืองน่าอยู่อย่างยั่ง
ยืนของเทศบาลนครเชียงใหม่" ณ โรงแรมเดอะปาร์ค เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอผลการศึกษา โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคธุรกิจ เครือข่ายชุมชน ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษานักศึกษา และประชาชนทั่วไปในจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น

นายกิตติ คัมภีระ ผู้อำนวยการจัดการสิ่งแวดล้อม สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของโครงการการจัดทำตัวชี้วัดเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืนครั้งนี้คือ 1.เพื่อกำหนดกรอบการพัฒนาเทืองเทศบาลนครชียงใหม่ให้เป็นเมืองน่าอยู่และมีการพัฒนาที่ยั่งยืน

2.เพื่อจัดทำตัวชี้วัดเมืองน่าอยู่และการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนที่เหมาะสมสำหรับเทศบาลนครเชียง
ใหม่ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือวัดสถานภาพความสำเร็จและความน่าอยู่ของเมืองและใช้ประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานให้บรรลุจุดหมายการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน 3.เพื่อวางแนวทางการจัดเก็บข้อมูลและสร้างฐานข้อมูลสำหรับประเมินตัวชี้วัดที่ได้จัดทำขึ้น โดยกำหนดหมวดตัวชี้วัดไว้ 10 ด้าน รวมทั้งสิ้น 61 ตัวชี้วัด ซึ่งมีกลยุทธ์และตัวชี้วัดที่เด่นๆ ดังนี้

1. ด้านวัฒนธรรม ได้กำหนดกลยุทธ์ - ตัวชี้วัดที่สำคัญไว้คือการฟื้นฟูธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ดีงาม จะต้องมีจำนวนโครงการ หรือกิจกรรมที่สืบทอดด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นมากกว่า 20 โครงการต่อปี เป็นต้น

2. ด้านคมนาคมและจราจร ได้กำหนดกลยุทธ์ - ตัวชี้วัดที่สำคัญไว้คือ การจัดระเบียบจราจร ลดจำนวนอุบัติเหตุ, ส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยาน โดยต้องเพิ่มพื้นที่ขับขี่เพิ่มขึ้น, การปรับปรุงและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยวัดจากความพึงพอใจของประชาชน เป็นต้น

3. ด้านกายภาพและผังเมือง ได้กำหนดกลยุทธ์ - ตัวชี้วัดที่สำคัญไว้คือ การส่งเสริมการอนุรักษ์พื้นที่ประวัติศาสตร์ และสถาปัตยกรรมล้านนา และสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่มีคุณค่า โดยชี้วัดจากสถิติการขอปลูกสร้างอาคารทรงล้านนาเพิ่มขึ้น, การรื้อฟื้นและฟื้นฟูชัยมงคลของเมือง,จัดระเบียบป้ายโฆษณา, เพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือข่วง เป็นต้น โดยมีตัวชี้วัดจากพื้นที่เพิ่มขึ้น

4. ด้านการท่องเที่ยว ได้กำหนดกลยุทธ์ - ตัวชี้วัดที่สำคัญไว้คือ การสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงรุกที่ นับจากจำนวนกิจกรรมการพัฒนาบุคลากรและจำนวนบริษัทที่จัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพิ่มขึ้นมากกว่า 50%, การส่งเสริมและพัฒนา Cluster การท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้ โดยวัดจากรายได้การท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้น 10%ทุกปี

5.ด้านการศึกษา ได้กำหนดกลยุทธ์ - ตัวชี้วัดที่สำคัญไว้คือ สนับสนุนส่งเสริม พัฒนา คุณภาพการศึกษาทั้งในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในชุมชน โดยชี้วัดจากจำนวนประชากรที่เข้าถึง, จำนวนนักเรียนในห้องเรียน และจำนวนโรงเรียนที่ได้มาตรฐานต้องมากกว่า 80% เป็นต้น

6.ด้านสาธารณสุข ได้กำหนดกลยุทธ์ - ตัวชี้วัดที่สำคัญไว้คือ การสร้างเสริมสุขภาวะที่ดีและการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ โดยมีตัวชี้วัดจากจำนวนประชากรที่ออกกำลังกายมากกว่า 60%, ผู้ป่วยโรจจิตและประสาทต้องน้อยกว่า 10 คนต่อประชากร 1 แสนคน, ตลาดสดที่ผ่านเกณฑ์น่าซื้อระดับดีมากกว่า 80% เป็นต้น

7.ด้านสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดกลยุทธ์ - ตัวชี้วัดที่สำคัญไว้คือ 7.1) เรื่องน้ำ จะต้องฟื้นฟูคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติให้มีคุณภาพมาตรฐานหรือมีคุณภาพดีสำหรับการอุปโภคและเล่นได้ โดยวัดตามมาตรฐานคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน, น้ำเสียที่ได้รับการบำบัดจะต้องมีมากกว่า 80% เป็นต้น

7.2) เรื่องอากาศและเสียง จะต้องลดปริมาณการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ และรณรงค์ลดการเผาในที่โล่งแจ้ง โดยวัดจากจำนวนวันที่มีคุณภาพอากาศมาตรฐานน้อยกว่า 30 วันต่อปี และจำนวนร้องเรียนเรื่องการเผาขยะน้อยกว่า 50% ของปีที่ผ่านมา 7.3) เรื่องขยะ จะรณรงค์ให้ประชาชนคัดแยกขยะ และลดปริมาณขยะ พร้อมเพิ่มการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งมีตัวชี้วัดจากปริมาณขยะต่อวันต้องน้อยกว่า 0.8 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน เป็นต้น

8.ด้านสังคม ได้กำหนดกลยุทธ์ - ตัวชี้วัดที่สำคัญไว้คือ จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการเพิ่มมากขึ้น, เสริมสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยวัดจากทั้งความพึงพอใจ และปริมาณคดีที่ลดลงน้อยกว่า 10 คดีต่อประชากร 1,000 คน

9.ด้านเศรษฐกิจ ได้กำหนดกลยุทธ์ - ตัวชี้วัดที่สำคัญไว้คือ การสร้างตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นในเขตเทศบาล, ส่งเสริมสร้างบรรยากาศที่ดึงดูดการลงทุน โดยมีตัวชี้วัดจากรายได้จากการจัดเก็บภาษีของเทศบาลที่เพิ่มมากกว่า 10% ของรายได้ปีที่ผ่านมา และอัตราการว่างงานต้องน้อยกว่า 10% จากปีที่ผ่านมา เป็นต้น

และ 10.ด้านการบริหารเมือง ได้กำหนดกลยุทธ์ - ตัวชี้วัดที่สำคัญไว้คือ การใช้กลยุทธ์บริหารจัดการเมืองอย่างมีธรรมาภิบาลและให้ประชาชนมีส่วนรวม โดยวัดจากความพึงพอใจ และการมีส่วนร่วมที่วัดจากจำนวนนโยบายและกิจกรรมที่ประชาชนมีส่วนรวมกำหนดโดยตรงมากกว่า 80% ของจำนวนนโยบายและกิจกรรมทั้งหมด เป็นต้น

นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผย "พลเมืองเหนือ" ว่า จากผลการ
ศึกษาครั้งนี้จะเห็นว่าหมวดตัวชี้วัดทั้ง 10 ด้าน ได้กำหนดตัวชี้วัดไว้มากถึง 61 ตัวชี้วัด ซึ่งเป็นข้อ
มูลที่ค่อนข้างครอบคลุมมาก แต่อาจมีบางตัวชี้วัดที่ซ้ำซ้อนกับโครงการพัฒนาของจังหวัดที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ เมื่อดูตามศักยภาพเฉพาะในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ที่จะทำให้เป็นเมืองน่าอยู่ได้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์และตัวชี้วัดเร่งด่วน เพื่อให้เกิดเป็นรูป
ธรรมอย่างแท้จริงและทำได้เต็มศักยภาพ ซึ่งตัวชี้วัดที่แท้จริงไม่ควรเกิน 20 ตัวชี้วัด เช่น เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาสังคมจะเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ

สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ เมื่อได้ความคิดเห็นจากภาคประชาชนทุกภาคส่วนแล้ว ทางสถาบันคีนันแห่งเอเซีย จะสรุปสาระสำคัญทั้งหมดและนำเสนอร่างตัวชี้วัดฉบับปรับแก้ไขให้เทศบาลฯอีกครั้ง เพื่อนำผลที่ได้มาจัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งประเด็นการพัฒนาเขตเมืองเชียงใหม่ให้น่าอยู่นั้น คนเชียงใหม่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ดร.วสันต์ จอมภักดี อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ตัวชี้วัดการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องครอบคลุมใน 3 ด้านหลักคือ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ

ทั้งนี้ ผลการศึกษาการจัดทำตัวชี้วัดครั้งนี้มีสาระค่อนข้างละเอียดและครอบคลุม แต่ทำอย่างไรจะทำให้ภาคประชาชนเข้าใจเป้าหมายที่ตรงกัน ซึ่งตัวชี้วัดแต่ละด้านนั้นทางเทศบาลฯ จะต้องนำไปใช้อย่างจริงจังและทำให้สอดคล้องกับงบประมาณ มิใช่ทุ่มงบประมาณเฉพาะด้านสาธารณูปโภคหรือการก่อสร้างเท่านั้น

ดร.นิรันดร โพธิกานนท์ จากชมรมจักรยานวันอาทิตย์ กล่าวว่า ผลการศึกษาในหมวดคมนาคมและจราจร ได้กำหนดกลยุทธ์ส่งเสริมให้ประชาชนใช้จักรยาน ซึ่งประเด็นนี้เป็นการพัฒนาเมืองให้น่าอยู่ ที่ผ่านมาเกือบ 10 ปี ภาคประชาชนมีการรณรงค์ให้คนเชียงใหม่หันมาใช้จักรยานให้มากขึ้น และยังคงทำอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาครัฐ ซึ่งปัญหาใหญ่ก็คือ ทางสำหรับจักรยานวิ่งนั้นไม่มีตำแหน่งที่ชัดเจน แลไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ จึงทำให้ปริมาณคนที่ใช้จักรยานบนท้องถนนจึงมีน้อยมาก

ที่ผ่านมาเทศบาลได้พยายามทำเส้นทางจักรยานไว้ในหลายจุด แต่กลับกลายเป็นจุดที่ให้รถยนต์มาจอดทับเส้นทาง ซึ่งประเด็นนี้จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพราะถ้ามีคนหันมาขี่จักรยานมากขึ้น เชียงใหม่จะเป็นเมืองที่น่าอยู่ขึ้นอีกมาก

นายสุคินท์ วงศ์ษา นายกสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ (NOHMEX) กล่าวว่า พื้นฐานของการเป็นเมืองน่าอยู่นั้นประกอบด้วยเมืองกับคน ซึ่งการจะทำเมืองให้น่าอยู่ด้วยกลยุทธ์และตัวชี้วัดมากมาย คนที่อยู่อาศัยในเมืองแห่งนี้ต้องมีความเข้าใจร่วมกันอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาที่น่ากังวลคือ คนเชียงใหม่ยังขาดการมีส่วนร่วม อีกเรื่องคือระบบการบริหารจัดการ ต้องมีทิศทางที่ชัดเจนและสนองตอบความต้องการประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งทั้งคนและระบบต้องมีจุดร่วมที่ตรงกัน

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวมีข้อเสนอแนะสำคัญในหลายด้าน โดยชี้ว่าเทศบาลนครเชียงใหม่ต้องนำตัวชี้วัดไปใช้งานจริง, จัดให้มีคณะกรรมการนโยบายเทศบาลนครเชียงใหม่เมืองน่าอยู่ ที่ประกอบด้วยกรรมการจากทุกภาคส่วน, จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลการประเมินความน่าอยู่อย่างยั่งยืน, ต้องมีการเสริมสร้างความเข้าใจของผู้บริหารเมืองและเจ้าหน้าที่เทศบาลให้มีความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับตัวชี้วัด การจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ การประเมิน, ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรทุกระดับ, เผยแพร่การดำเนินงานของเทศบาลด้านเมืองน่าอยู่ผ่านสื่อต่างๆ, รายงานสภาพเมืองน่าอยู่เป็นประจำทุกปี, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้น่าอยู่, ตัวชี้วัดเป็นสิ่งที่ไม่หยุดนิ่ง จำเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุงให้เหมาะสม

บริบทของเมืองน่าอยู่คือ การที่เมืองและชุมชนที่คนอยู่รวมกันอย่างมีความสุข ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน โดยมีคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ซึ่งวันนี้การสร้างเมืองในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ให้น่าอยู่ โดยมีตัวชี้วัดเป็นเกณฑ์กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ท่ามกลางวิกฤติปัญหามากล้น ซึ่งหากขาดพลังการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างจริงจังแล้ว ไม่แน่ว่าในอนาคตเมืองเชียงใหม่อาจพลิกโฉมหน้าเป็นเมืองที่ Ugly ในที่สุดก็เป็นได้.

สุธิดา สุวรรณกันธา
โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาคพลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net