ถึงเวลาซ้อมแผนรับมือ "เขื่อนแตก" ?

"ประชาชนกำลังวิตกกังวลกันอย่างมาก และอยากทราบแนวทางในการป้องกันตัวเอง ถ้าเป็นไปได้อยากฝากผ่านไปถึงผู้ว่าฯ กาญจน์ให้เริ่มซ้อมแผนอพยพที่บอกว่าพร้อมแล้วนี้เสียที" นางภินันท์ โชติรสเสรณี ประธานกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์กล่าวในงานสัมมนา "เขื่อนกับผลกระทบจากแผ่นดินไหว" จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติวานนี้

ทั้งนี้เมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา นางภินันท์ และกลุ่มชาวบ้านจังหวัดกาญจนบุรีได้เคยยื่นจดหมายต่อผู้ว่าฯ เพื่อให้เปิดเผยแผนดังกล่าว และทำการซักซ้อมแผนอย่างเร่งด่วนไปแล้ว แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีสิ่งใดคืบหน้า เพื่อให้ประชาชนในเมืองแห่งเขื่อนแห่งนี้เบาใจ

ด้วยเหตุที่จังหวัดกาญจนบุรีมีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ 2 เขื่อน ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนเจดีย์ 3 องค์ นั่นคือ เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งได้ชื่อว่ามีความจุน้ำมากที่สุดในประเทศไทย และเขื่อนวชิราลงกรณ์ หรือเขื่อนเขาแหลมเดิม

เมื่อเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงบริเวณใกล้เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย ถึง 2 ครั้งในเวลาใกล้ๆ กันคือ เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.47 และ 29 มี.ค.48 ไม่นับรวมอาฟเตอร์ช็อกอีกนับครั้งไม่ถ้วน นอกจากวงการธรณีวิทยาจะปั่นป่วนแล้ว ชาวบ้านที่อาศัยใกล้ "เขื่อน" ก็ระส่ำระสายไม่แพ้กัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรอยเลื่อนที่พาดผ่านจังหวัดกาญจนบุรีนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในจำนวนทั้งหมด 9 แนวในประเทศไทย ซึ่งนักวิชาการหลายคนได้ออกมาแสดงความห่วงใยว่ายังเป็นรอยเลื่อนที่มีพลัง และสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6-7 ริกเตอร์ได้ทั้งสิ้น ความตื่นตัวของประชาชนจึงไม่ใช่ความตื่นกลัวที่ไร้เหตุผลอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม ความตื่นตัวดังกล่าวของชาวบ้านดูเหมือนจะยังขาดความชัดเจนและความรู้ในการเตรียมพร้อม ดังนั้นเมื่อเกิดข่าวลือเรื่อง "เขื่อนแตก" เมื่อวันที่ 24 ม.ค.ที่ผ่านมา ชาวบ้านในหลายอำเภอรวมถึงจังหวัดใกล้เคียงจึงวิ่งหนีขึ้นเขาเอาตัวรอดกันอย่างทุลักทุเล ซึ่งท้ายที่สุดนำไปสู่การจัดสัมมนาเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงและความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับแผ่นดินไหว รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ซ้อมแผนหนีภัยอย่างเป็นระบบ หากเกิดกรณีฉุกเฉินเช่นเขื่อนแตกเมื่อราวปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

"ถามว่าใครรู้บ้างว่าแผ่นดินไหวจะเกิดเมื่อไรไม่มีใครรู้ แต่เผอิญเขื่อนในเมืองกาญจน์สร้างอยู่บนรอยเลื่อนที่ยังเคลื่อนตัวอยู่ มีพลังอยู่ และยาวหลายร้อยกิโลเมตร มันจะเลื่อนตรงไหนเราไม่รู้ ถ้าเกิดเลื่อนตรงสันเขื่อนเขื่อนก็แตก เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งมันไม่เกี่ยวกับการที่เขื่อนจะทนแรงสั่นสะเทือนได้มากหรือน้อย เพราะฉะนั้นความเสี่ยงมันมีอยู่" ศ.ดร.ปริญญา นุตาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวระบุเพื่อยืนยันถึงความเสี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่ว่าเขื่อนจะแข็งแรงเพียงใด

นอกจากนี้ศ.ดร.ปริญญายังระบุด้วยว่า แม้ก่อนการก่อสร้างเขื่อนจะมีการสำรวจรอยเลื่อน หรือการรั่วต่างๆ อย่างถี่ถ้วน แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่หลงหูหลงตาไม่ได้ อย่างกรณีของเขื่อนวชิราลงกรณ์นั้น มีการตรวจพบรอยร้าวหลังจากสร้างเขื่อนเสร็จแล้ว 6 เดือน ดังนั้น แผนอพยพผู้คนจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องมีการตระเตรียมไว้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลว่าประชาชนจะตื่นตระหนก หรือจะกระทบกับการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจัดทำแผนนั้น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบมีอยู่ 2 ส่วนคือ ผู้ว่าราชการจังหวัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) ซึ่งต่างฝ่ายต่างบอกว่ามีแผนของตนเองเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้กำลังประสานเพื่อร่วมกันจัดทำให้เป็นแผนยุทธศาสตร์จังหวัด

"แผนของกฟผ.มีข้อมูลหมดแล้วว่าหากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินจะเกิดผลกระทบระดับไหน ในพื้นที่ใด ส่วนแผนการจัดการอพยพผู้คนนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องนำข้อมูลนี้ไปประกอบและเผยแพร่ผ่านกลไกของฝ่ายปกครองจากจังหวัดไปสู่อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ซึ่งน่าจะนุ่ม
นวลกว่า เพราะกฟผ.เป็นเพียงหน่วยงานเล็กๆ เท่านั้น" นายโสภณ เขื่อนธรรม ผู้ช่วยผู้ว่าการกฟผ.ระบุ

เหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทางกฟผ.เห็นว่า ผู้ว่าฯ ควรเป็นผู้พิจารณากำหนดขอบเขตความเข้มข้นของแผนซ้อมรับมือภัยเขื่อนแตกด้วย ก็เพราะหากกำหนดให้เส้นสมมติภัยพิบัติเข้มข้นเกินไป นอกจากจะเกิดความตื่นตกใจในหมู่ประชาชนแล้ว อาจกระทบต่อ "ราคาที่ดิน" ทั้งระบบด้วย

ด้านนายเชิดวิทย์ ฤทธิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนไปเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อยืนยันว่าเขื่อนทั้ง 2 แห่งมีความแข็งแรงเพียงพอ และจากการสำรวจก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนอพยพประชาชนนั้น ทางจังหวัดได้เตรียมไว้พร้อมแล้ว เพียงแต่จะต้องแก้ไขปรับปรุงเรื่องระบบสื่อสารเท่านั้น

ต่อประเด็นความลักลั่นที่เกิดขึ้นระหว่าง 2 หน่วยงานนั้น ดร.ปริญญา นุตาลัยมองว่า กฟผ.ควรจะมีส่วนในการจัดการเรื่องนี้มากกว่าที่เป็นอยู่

"มันต้องบอกคนที่จะถูกน้ำท่วม ไม่ใช่บอกผู้ว่าฯ ระบบเตือนภัยเป็นอย่างไร ควรต้องขึ้นที่สูงเท่าไร เรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบเชิงมโนธรรม ซึ่งผู้บริหารกฟผ.ต้องมี มันก็ถูกที่ต้องบอกผู้ว่าฯ แต่ในฐานะผู้ก่อให้เกิดปัญหา มันก็ต้องลงไปดูแลด้วย" ดร.ปริญญาระบุพร้อมทั้งยืนยันว่าควรเตรียมการให้พร้อมที่สุด โดยไม่กลัวว่าประชาชนจะตื่นตระหนกหรือการท่องเที่ยวจะกระทบ

อย่างไรก็ดี จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า "การรอคอย" แผนอพยพของชาวกาญจน์ รวมทั้งแผนรองรับภัยพิบัติระดับชาติจะสิ้นสุดลงเมื่อไร ท่ามกลางเหตุแผ่นดินไหวที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคำอธิบายจำนวนมากที่ไม่อาจหาข้อยุติได้ .... เพราะเกินความสามารถที่มนุษย์ตัวเล็กๆ จะทำนาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท