Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ท่ามกลางเสียงปืนระหว่างทหารไทยใหญ่และทหารว้าบริเวณดอยไตแลง ตรงข้ามอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน คงมีน้อยคนที่จะรู้ว่า กลุ่มคนที่เฝ้าลุ้นผลการสู้รบครั้งนี้อย่างใจจดใจจ่อ ไม่ใช่แค่เพียงทหารที่กำลังหันปลายกระบอกปืนเข้าใส่กัน

แต่เป็นเด็กน้อยตาดำ ๆ กว่าเจ็ดร้อยชีวิต ซึ่งอาศัยดอยไตแลงแห่งนี้เป็นสถานที่พักพิงและเรียนหนังสือ ในจำนวนนี้มีเด็กกำพร้ากว่าสองร้อยชีวิต เพราะหากไม่มีดอยไตแลงแห่งนี้ พวกเด็ก ๆ เหล่านี้ก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน เพราะพ่อแม่ของพวกเขาและเธอได้พลัดพรากทั้งจากเป็นและจากตายก่อนที่พวกเธอจะมาอาศัยดอยไตแลงแห่งนี้เป็นที่พักพิง

สำหรับกลุ่มเด็กผู้หญิงความหวาดกลัวยิ่งมากเป็นสองเท่า เพราะความเป็นหญิงของพวกเธออาจถูกกระทำย่ำยีได้ง่ายขึ้นหากไม่มีดอยไตแลงแห่งนี้คุ้มภัย

จ๋ามเฮือง (ชื่อสมมุติ) เป็นเด็กหญิงวัย 8 ขวบซึ่งถูกทหารพม่าข่มขืนที่จังหวัดหัวเมืองเมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังจากไม่มีวี่แววว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจของทางการพม่า จะหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ พ่อแม่ของเธอจึงอพยพครอบครัวมาอยู่ที่ดอยไตแลงแห่งนี้เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

หลังจากย้ายมาอยู่บนดอยสูงใกล้ชายแดนไทยแห่งนี้ สภาพจิตใจของเด็กเริ่มดีขึ้นมาบ้าง เพราะไม่ต้องหวาดกลัวว่าทหารพม่าจะเข้ามากระทำย่ำยีเธออีกต่อไป แต่ทว่า การปะทะกันอย่างดุเดือดระหว่างทหารไทยใหญ่และทหารว้าครั้งนี้ ทำให้ครอบครัวของเธอต้องเผชิญกับความหนักใจอีกครั้ง

สำหรับเด็กหญิงบัวคำ(นามสมมติ) อายุ 14 ปี สาเหตุที่เธอต้องอพยพมาอยู่ที่นี่เนื่องจากตอนเธออายุ 8 ปี พ่อของเธอถูกทหารพม่าจับไปฆ่า ส่วนแม่ถูกทหารพม่าลากเข้าไปข่มขืนในห้องนอนเรียงคิวกัน 15 คนจนสลบ หลังจากนั้นทหารพม่าได้ลากแม่ออกมาตรงหน้าเธอและน้อง ๆ ซึ่งถูกจับมัดไว้บนบ้าน ทหารพม่าได้ใช้มีดแทงแม่ของเธอจนเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา แล้วพากันหนีไป

หลังจากพ่อกับแม่ตาย เธอจึงเดินทางมาอยู่ที่ดอยไตแลง เพื่อหลบภัยคุกคามจากทหารพม่าและได้ร่ำเรียนหนังสือเช่นเดียวกับเด็กในวัยเดียวกัน
ปัจจุบัน ดอยไตแลงเป็นที่พักพิงของผู้อพยพชาวไทยใหญ่ประมาณ 360 หลังคาเรือน มีประชากรร่วม 2,000 คน แบ่งเป็นเด็กนักเรียนอายุไม่เกิน 18 ปีจำนวน 700 คน มีเด็กกำพร้าหญิงและชายรวมกันจำนวน 228 คน สภาพของผู้อพยพบนดอยไตแลง โดยส่วนใหญ่เป็นผู้พลัดถิ่นภายใน คือ อพยพจากบ้านเกิดมาแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนจะย้ายมาอยู่ที่ดอยไตแลง เนื่องจากหนีการกวาดล้างของทหารพม่า

โดยการกวาดล้างครั้งรุนแรงที่สุด คือเมื่อปี พ.ศ. 2539 หลังการวางอาวุธของขุนส่า กองทัพพม่าได้ทำการอพยพชาวบ้านในเขตภาคกลางของรัฐฉานจำนวนหลายพันหมู่บ้าน โดยจัดให้ชาวบ้านเข้าไปอยู่ในเขตควบคุมของกองทัพพม่าใกล้เขตเมือง ชาวบ้านจำนวนมากได้อพยพหนีมายังประเทศไทย รวมทั้งดอยไตแลง เนื่องจากถูกทหารพม่ากระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายด้าน อาทิ การบังคับให้เป็นลูกหาบ การบังคับใช้แรงงาน การปล้น ฆ่า ข่มขืน และทรมานร่างกาย

ลุงมอง ชาวไทยใหญ่วัย 50 ปี เล่าว่า ตนอพยพมาจากหมู่บ้านหนองเหลิด อำเภอกุมมาว จังหวัดเมืองปั่น เมื่อปี 2547 เนื่องจากถูกทหารพม่า ทรมานร่างกาย และฆ่าน้องชายของตน

"ลุงเคยถูกทหารพม่าจับไปทรมานร่างกาย เนื่องจากทหารพม่าถามลุงว่าเห็นทหารไทยใหญ่อยู่ที่ไหนบ้าง แต่ลุงตอบว่าไม่เห็น ทหารพม่าจึงทุบด้วยค้อนตามร่างกายนับครั้งไม่ถ้วน หลังจากนั้นก็นำถุงพลาสติกลนไฟหยอดที่ไหล่และตามร่างกาย"

ปัจจุบัน แผลเป็นบนร่างกายของลุงมองยังคงปรากฏอยู่ให้เห็นเป็นหลักฐานยืนยันความเจ็บปวดในอดีต ทว่า นั่นยังไม่รุนแรงเท่ากับแผลเป็นทางใจ ซึ่งลุงมองต้องสูญเสียน้องชายวัย 30 ปีไปเมื่อปี พ.ศ. 2546

"น้องชายของลุงชื่อ จายจีนะ ถูกทหารพม่าฆ่าทิ้งที่กลางทุ่งนา ทางทิศตะวันออกของบ้านนาหวอน จังหวัดเมืองปั่น ขณะที่เขาไปหายางไม้ในป่า" ลุงมอง เล่าให้ฟัง

หลังจากน้องชายเสียชีวิต ลุงมองเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดิมต่อไป เมื่อทราบว่าบนดอยไตแลงมีกองทัพไทยใหญ่คอยคุ้มครองความปลอดภัย ลุงจึงเดินทางมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่กลางปีพ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

แม้ว่าสภาพความเป็นอยู่บนดอยไตแลงจะลำบากเรื่องสภาพที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ซึ่งอยู่บนดอยและห่างจากแหล่งน้ำ ต่างจากสภาพวิถีความเป็นอยู่เดิมซึ่งอยู่ในที่ราบลุ่ม แต่ที่นี่ก็มีความปลอดภัยซึ่งลุงและผู้อพยพไทยใหญ่หลายพันคนบนดอยแห่งนี้โหยหามาโดยตลอด ที่นี่ ทำให้ลุงได้นอนหลับสนิท โดยไม่ต้องหวาดผวาว่าจะมีใครมาจับตัวไปทรมานหรือเข่นฆ่าโดยไร้เหตุผล
ปัจจุบัน บนดอยแห่งนี้มีโรงเรียนสอนเป็นภาษาไทยใหญ่เปิดสอนตั้งแต่ชั้น ป. 1 ถึง ม. 3 แม้ว่าที่ผ่านมาเด็กกำพร้ามีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากทั้งสภาพที่อยู่อาศัยและอาหารการกิน เนื่องจากกองทัพไทยใหญ่มีงบประมาณจำกัดในการดูแลและองค์กรพัฒนาเอกชนภายนอกเข้ามาช่วยเหลือได้ยาก แต่เด็ก ๆ ก็รู้สึกปลอดภัยที่ได้อาศัยอยู่บนดอยแห่งนี้

นอกจากดอยไตแลงจะเป็นที่พักพิงของผู้อพยพ ดอยสูงแห่งนี้ยังเป็นสถานที่รวมวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่เช่นกัน ที่นี่มีคณะจ้าตไตหรือลิเกไทยใหญ่ ซึ่งนักแสดงเป็นผู้พลัดถิ่นอพยพมาจากเมืองต่าง ๆ ในรัฐฉาน คณะจ้าตไตได้รับการสนับสนุนด้านอุปกรณ์การแสดงและเครื่องดนตรีจากกองทัพไทยใหญ่และเปิดการแสดงทุกเทศกาลตามประเพณีของชาวไทยใหญ่ อาทิ งานปีใหม่ งานเข้าพรรษา งานออกพรรษา เป็นต้น

นางจ๋ามคำ นักแสดงจ๊าตไตวัย 37 ปี อพยพมาจากจังหวัดแสนหวี (ตอนเหนือของรัฐฉาน) เล่าว่า เธอเริ่มเป็นนางรำจ้าตไต ตั้งแต่อายุ 7 ปี เธอเกิดมาในครอบครัวคณะจ้าตไต เคยเดินทางไปเล่นตามเมืองต่าง ๆ ในรัฐฉาน การแสดงจ้าไตในรัฐฉานภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารพม่าค่อนข้างจำกัด เนื่องจากหากนักแสดงจ้าตไตร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมืองเมื่อไหร่ก็จะถูกจับเข้าคุกทันที การอพยพมาอยู่ที่นี่จึงทำให้พวกคณะจ้าตไตมีเสรีภาพในการแสดงมากกว่าในรัฐฉาน และมีโอกาสแสดงตามเทศกาลต่าง ๆ ของคนไทยใหญ่ทุกเทศกาล

ปัจจุบัน บนดอยไตแลงมีนักแสดงจ้าตไตกว่า 30 ชีวิต คอยแสดงทุกงานเทศกาลของชาวไทยไหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเข้าพรรษา ออกพรรษา ปีใหม่ เป็นต้น ในแต่ละปีจะมีเด็ก ๆ รุ่นใหม่สนใจมาเรียนหัดรำกับนางจ๋ามคำอยู่เสมอ

ธันวา สิริเมธี ศูนย์ข่าวสาละวิน
รายงานพิเศษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net