Skip to main content
sharethis

"ตอนนี้ขึ้นอยู่กับทัศนคติของศาลเท่านั้น ว่าจะมองรูปคดีกันอย่างไร กรณีที่ชาวบ้านเข้าไปใช้ที่ดินของนายทุนซื้อเอาไว้แล้วปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเราจะต้องให้ข้อมูลแก่ศาลว่า ทำไมชาวบ้านถึงจำต้องเข้าไปยึดและทำการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน" เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความฝ่ายจำเลย กล่าวกับผู้สื่อข่าว " ประชาไท" ที่ศาลจังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา

หลังจากเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดลำพูน ได้พิจารณายกฟ้องคดีชาวบ้านหนองสูน ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน จำนวน 8 คน บุกรุกที่ดิน เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานชี้ชัดได้ว่าชาวบ้านบุกรุกที่ดินจริง ซึ่งคดีดังกล่าว ถือว่าเป็นคดีประวัติศาสตร์คดีแรกที่ศาลยกฟ้องชาวบ้านให้พ้นข้อกล่าวหา

และเมื่อวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดลำพูน ได้มีการนัดสืบพยานโจทย์ คดีชาวบ้านบุกรุกที่ดินของนายทุน ในพื้นที่บ้านสันห้างเสือ ต.แม่เจดีย์ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งมีการดำเนินคดีกับนายสุแก้ว ฟุงฟู กับพวก 8 คน

ซึ่งเดิมที่ดินผืนดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่มีการออก นส.3 ก. และโฉนดที่ดินแล้วปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่า ส่วนเอกสารสิทธินั้น นายทุนได้นำไปติดจำนองอยู่ในธนาคาร ต่อมา ชาวบ้านได้เข้าใช้ประโยชน์ จนในปี 2545 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้เข้าไปรื้อถอนทำลายพืชผล และดำเนินคดีกับชาวบ้าน

โดยศาลได้เบิกตัว พ.ต.ท.โกศล วงศ์สถาน หัวหน้าพนักงานสอบสวน สภอ.ป่าซาง จ.ลำพูนเป็นพยานโจทย์ ให้ทนายซักถาม ซึ่ง พ.ต.ท.โกศล ได้บอกว่า คดีดังกล่าว เป็นคดีการบุกรุกที่ดินในพื้นที่ดังกล่าวมีกลุ่มราษฎรที่รวมตัวกันขึ้นมา โดยใช้ชื่อ กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ(นกน.) โดยมีนายสืบสกุล กิจนุกร นายสุแก้ว ฟุงฟู นายรังสรรค์ แสนสองแควและพวกรวมทั้งหมด 8 คน เป็นกรรมการและเป็นแกนนำในการชักจูงชี้นำชาวบ้านให้เข้าไปยึดที่ดินผืนดังกล่าว

"จากการสืบสวน มีวัตถุประสงค์ มีการจัดระเบียบข้อบังคับของกลุ่มว่า อ้างว่าจะช่วยคนยากจนที่ไม่มีที่ดิน และกล่าวหาว่า รัฐบกพร่องในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน และมีการอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย รวมทั้งกล่าวอ้างว่ารัฐออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ หรือปล่อยให้เจ้าของที่ดินที่ครอบครองปล่อยทิ้งไว้ ไม่ได้ทำการประโยชน์ ทางกลุ่มแกนนำ นกน. จึงได้ระดมชาวบ้านประมาณ 400-500 คน เข้าไปบุกรุก และทำการแผ้วถางในพื้นที่ดังกล่าว" พยานโจทย์ กล่าวต่อศาล

นอกจากนั้น พยานโจทย์ ยังกล่าวอีกว่า การบุกรุกที่ดินของชาวบ้านกลุ่มนี้ ได้เริ่มทำการบุกรุกครั้งแรก ตั้งแต่เดือน พ.ย.2543 เป็นต้นมา จนถึงเดือนมกราคม 2545 โดยได้ทำการบุกรุกที่ดินในเขตพื้นที่ บ.น้ำดิบ บ.โป่งรู บ.น้ำย้อย บ.สันห้างเสือ บ.พระบาท บ.หนองสร้อย และ บ.นครเจดีย์ ในเขต อ.ป่าซาง ซึ่งรวมพื้นที่ที่มีการบุกรุกทั้งหมด ประมาณ 1,610 ไร่

อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายความฝ่ายจำเลย ได้ซักถามพยานโจทย์คนเดิม กรณีการดำเนินคดีชาวบ้านจำนวน 8 คน พยานไม่สามารถยืนยันว่าจำเลยทั้ง 8 ได้อยู่ในเหตุการณ์หรือไม่ เนื่องจากพยานไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ รวมทั้ง พยานไม่ทราบมาก่อนว่า จำเลยทั้ง 8 คน นั้นเป็นคณะกรรมการการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินในระดับชาติ โดยมีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

หลังจากเสร็จสิ้นการสืบพยานฝ่ายโจทย์ เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ทนายความฝ่ายจำเลยทั้ง 8 คน ได้กล่าวว่า เมื่อมองในรูปเชิงคดี ไม่มีคนออกมายืนยันได้ว่า จำเลยทั้ง 8 คน ได้เข้าไปบุกรุกจริงหรือไม่และจากการสืบพยานโจทย์ เห็นว่า พยานยังไม่เข้าใจการทำงานของกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ หรือ นกน. ว่าเป็นองค์กรที่ทำงานร่วมกับรัฐทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติอีกทั้ง พยานยังไม่เข้าใจในเรื่องการปฏิรูปที่ดิน

"ตอนนี้ ขึ้นอยู่กับทัศนคติของศาลเท่านั้นว่า จะมองรูปคดีกันอย่างไร กรณีที่ชาวบ้านเข้าไปใช้ที่ดินของนายทุนซื้อเอาไว้ แล้วปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งเราจะต้องให้ข้อมูลแก่ศาลว่า กลุ่มแนวร่วมเกษตรภาคเหนือ มีการบริหารจัดการกันอย่างไร และทำไมชาวบ้านถึงจำต้องเข้าไปยึดและทำการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน" เยาวลักษณ์กล่าว

นายสุแก้ว ฟุงฟู ชาวบ้านแพะใต้ กิ่ง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีบุกรุกที่ดินนายทุนกล่าวว่า พยานซึ่งเป็นตำรวจก็ไม่สามารถชี้ตัวได้ว่าเป็นผู้บุกรุกจริง รู้แต่เพียงรายชื่อ และยังไม่รู้ว่าทั้งหมดเป็นกรรมการฯ ในการแก้ไขปัญหาที่ดิน

คดีชาวบ้านบุกรุกที่ดินนายทุน ยังไม่เสร็จสิ้น และยังคงดำเนินต่อไป ตราบใดที่นโยบายการจัดการเรื่องที่ดินของรัฐยังเป็นอยู่เช่นนี้ โดยเฉพาะ "นโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน" ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่นั้น ทำให้กลุ่มเกษตรกรต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ได้สวนทางกับนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนของชาวบ้านอย่างแท้จริง ที่จะแปลงทรัพย์
สินที่ดินไปจำนองกับธนาคาร ซึ่งในที่สุดชาวบ้านก็มีหนี้สินล้นตัวและยากจนมากกว่าเดิม ซึ่งรัฐควรจะหันกลับมาแก้ปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงให้ชาวบ้านมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน

และที่สำคัญ แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือได้ตกลงกันไว้ คือ จำเป็นจะต้องมี" การปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน" เท่านั้น

รายงานพิเศษ
องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net