ความทุกข์ของคนหลังเขื่อน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

พวกเรามาในครั้งนี้ เพื่อมาบอกกล่าวเรื่องราวความทุกข์ยากของคนหลังเขื่อน ต่อพี่น้องประชาชน ข้าราชการ และรัฐบาลผู้ทำหน้าที่ในการบริหารประเทศ

ก่อนการสร้างเขื่อนพวกเรามีชีวิตที่อาศัยความอุดมสามบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีที่ดินทำกิน มีแม่น้ำ มีป่า ที่หลากหลายด้วยพรรณพืช พันธุ์สัตว์ ตลอดจนพันธุ์ปลานานาชนิด เป็นฐานในการดำรงชีวิตอย่างสงบสุขสืบมา แม้ว่าพวกเราจะไม่ร่ำรวยด้วยเงินทองแต่ก็ไม่อดอยากยากแค้น ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าไม่ต้องออกไปรับข้างต่างถิ่น คนในชุมชน ได้พึ่งอาศัยกัน มีวัฒนธรรมชุมชนอันดีงามที่บรรพได้สั่งสมสืบทอดกันมา

พวกเราไม่เคยรู้ว่าหน้าตาของ "เขื่อน" เป็นอย่างไร แต่สิ่งที่พวกเราได้รับฟังเมื่อมีโครงการสร้างเขื่อนเข้ามาในชุมชนคือการใช้ชีวิตที่พึ่งพาธรรมชาติ แบบพวกเรานั้นล้าหลัง น้ำที่มีอยู่ในแม่น้ำก็ไม่ประโยชน์ เขาบอกว่าเมื่อสร้างเขื่อนแล้วจะทำให้หมู่บ้านเราเกิด "ความเจริญ" และ "พัฒนา" ขึ้น โดยเราจะได้ทำนาปีละ 2 ครั้ง ถนนในหมู่บ้านจะดี น้ำไหล ไฟสว่าง ทุกคนมีงานทำ มีเงินทอง มีชีวิตสุขสบายขึ้นกว่าเดิม พวกเราไม่เคยได้รับรู้ผลด้านลบของ "เขื่อน" จากฝ่ายรัฐ

แต่เมื่อเขื่อนสร้างแล้วเสร็จ "ความเจริญ" ที่พวกเราได้รับคือ ที่ดิน ไร่นา บ้านเรือน ต้องจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำพันธุ์ปลาต่าง ๆ สูญหายไปจากแม่น้ำ ความอุดมสมบูรณ์ที่เคยมีหมดสิ้นไป ชีวิตและชุมชนของพวกเราล่มสลายลง การชดเชยตอบแทนจากรัฐและฝ่ายสร้างเขื่อนไม่ได้ทำให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขได้ อาทิ การสร้างเขื่อนสิรินธร ชาวบ้านต้องอพยพโยกย้ายจากที่ดินอันสมบูรณ์ เข้าไปอยู่ในนิคมสร้างตนเองที่รัฐจัดสรรให้ พื้นที่ดังกล่าวกันดารเกินกว่าที่จะทนอยู่ได้ คนส่วนใหญ่ต้องอพยพเจ้าเมืองเป็นแรงงานราคาถูก และเก็บขยะ ผู้เดือดร้อนจากหลาย ๆ เขื่อน รัฐก็เพิกเฉยและสร้างเขื่อนไงต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อที่จะไม่แก้ไขหรือพยายามบ่ายเบี่ยงตลอดมา ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับก่อนการสร้างเขื่อนที่บอกว่าจะให้พวกเรามีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม หรืออย่างน้อยจะต้องดีเท่าเดิม

หลังจากสร้างเขื่อนการทั่งปัจจุบัน คนหลังเขื่อนอย่างพวกเรายังไม่สามารถอยู่ได้อย่างปกติสุข เพราะทรัพยากรที่เคยพึ่งถูกทำลายไปหมดสิ้น

การที่ต้องเรียกร้องต่อรัฐที่ไม่สิ้นสุดนั้น เนื่องจากไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง และเป็นรูปธรรม แม้ว่าในบางกรณีจะมีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว มีการกำหนดขั้นตอนการดำเนินการไว้แล้วก็ตาม

เขื่อนที่ก่อสร้างไว้แล้วน่าจะเป็นทบเรียนบทใหญ่ที่รัฐจะต้องทบทวนถึงความผิดพลาด และดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งพิจารณาให้เกิดความเป็นธรรม ให้พวกเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุขในชุมชน หากปัญหาของเขื่อนเก่าที่มีไม่แก้ไข ก็ไม่สมควรที่จะสร้างเขื่อนใหม่อีกต่อไป

เครือข่ายเขื่อน สมัชชาคนจน
15 พฤษภาคม 2548
หน้ารัฐสภา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท