Skip to main content
sharethis

รศ.วิวัฒน์ชัย อัตถากร
----------------------------------

ประชาไท-16 พ.ค. 48 "รัฐควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างสำคัญ เพื่อให้เกิดการพัฒนา โดยไม่ละเลยวิถีชีวิต และประวัติศาสตร์ สังคม" ร.ศ.วิวัฒน์ชัย อัตถากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวในการแถลงข่าว ปิดโครงการ "เขียนเมือง เล่าเรื่องคน" วันนี้ (16 พ.ค.)ที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

"เขียนเมือง เล่าเรื่องคน" วันสุดท้าย เปิดเวทีวิชาการ ที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีนักวิชาการจากหลายสถาบันการศึกษาไม่ว่าจะเป็น จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร และมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ร่วมวิพากษ์แผน "ชองส์ เอลิเซ่" เสนอปรับแนวคิดภาครัฐให้มองคนเป็นส่วนหนึ่งของเมือง และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนกับภาครัฐ

นักวิชาการเห็นร่วมกันว่า แผนพัฒนาดังกล่าวเป็นการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วมร่วมของคนในพื้นที่ มีเพียงเจ้าของพื้นที่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ ในขณะที่งบประมาณมหาศาลของรัฐซึ่งมาจากประชาชนที่ใช้จัดการมาจากประชาชน นอกจากนี้รัฐยังใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือทางอำนาจในการจัดการโดยไม่คำนึงถึงสิทธิชุมชน

ด้านความเห็นจากชุมชน เมื่อทาง คณะทำงาน โครงการ เขียนเมืองฯ เข้าไปรับฟังปัญหา พบว่าหลายชุมชนกำลังเผชิญปัญหาการขึ้นค่าเช่าสูงขึ้นหลายเท่าในคราวเดียว ซึ่งอาจสู้ราคาไม่ไหวและอาจต้องย้ายออกไปเอง เป็นการบีบทางอ้อม

แต่ในขณะเดียวกันทางชุมชนกล่าวว่าถ้าหากเป็นการปรับราคาตามกลไกตลาดก็ยอมรับได้ แต่ก็ไม่ควรขึ้นราคาแบบรวดเดียวจนรับตัวไม่ทัน

เมื่อถามถึงความเห็นต่อแผนการพัฒนาต่างๆที่จะเกิดขึ้นในกรุงรัตนโกสินทร์ รวมทั้งแผน "ชองส์ เอลิเซ่" ชุมชนหลายแห่งพร้อมที่จะปรับตัวเองในสอดคล้องภายใต้แผนและไม่ปฏิเสธแผนการพัฒนาดังกล่าว แต่ขอสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การร่วมปรึกษาหารือ และขอร่วมมีส่วนตัดสินใจในการพัฒนาเมืองด้วย

ส่วนนักวิชาการ มีข้อเสนอให้ปรับปรุงโครงสร้างผู้กำหนดนโยบายการพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ใหม่ โดยอาจมีคณะกรรมการกรุงรัตนโกสินทร์เหมือนเดิม แต่ตัวคณะกรรมการต้องมาจากหลายฝ่าย รวมทั้งภาคประชาชนด้วย เพื่อประสานประโยชน์ร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายลูกบทที่ขัดกับหลักสิทธิชุมชน มาตราที่ 46 ในรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษาประโยชน์และทำให้ชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืน และน่าจะมีการนำประเด็นการแย่งชิงพื้นที่เมือง ไปเป็นญัตติทางการเมืองด้วย ขณะที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการเมืองท้องถิ่น อำนาจการตัดสินใจในการจัดการกรุงรัตนโกสินทร์อาจกระทำได้จากสำนักงานเขต โดยประสานความเข้าใจจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น รัฐ วิชาการ และประชาชนอย่างแท้จริง

นักวิชาการที่เข้าร่วม เสวนาครั้งนี้ ได้แก่ ดร.เกษม เพ็ญภินันท์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ดร.พิชญ์ วงศ์สวัสดิ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายศรันย์ สมันตรัตน์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอกแห่งมลรัฐฮาวายอิ และน.ส.ภาวิณี ไชภาค นักศึกษาปริญญาโทโครงการสตรีศึกษา

ส่วน อาจารย์ ปฐมฤกษ์ เกตุทัต จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการและกล่าวทิ้งท้ายในประเด็น พรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่า หากเกิดขึ้น จะ เป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับกรุงรัตนโกสินทร์

"สิทธิชุมชน ถ้าร่าง พรบ.เขตเศรษฐกิจพิเศษผ่านออกมา เขตเมืองเก่าถูกประกาศแน่นอน และไม่ต้องพูดอีกเลย ผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจล้นฟ้าพอที่เราจะไม่ต้องทำอะไรอีกเลย" อาจารย์ ปฐมฤกษ์ กล่าว

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net