Skip to main content
sharethis

สิงคโปร์/บรัสเซลล์-18 พ.ค.48 องค์กรเอกชนระหว่างประเทศ International Crisis Group วิพากษ์แนวทางการแก้ปัญหาการลุกขึ้นสู้ในเขตมุสลิมทางภาคใต้ของไทยกำลังประสบความล้มเหลว เพราะนายกรัฐมนตรีมุ่งแต่ใช้กำลังทหาร โดยไม่สนใจแนวทางการแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการเมือง

International Crisis Group ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการป้องปรามและแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของโลกที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างอดีตนักการฑูตและนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญจากหลายชาติ ออกรายงานการศึกษาเรื่อง Southern Thailand: Insurgency Not Jihad เพื่อพิจารณารากเหง้าและบุคลที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในภาคใต้ของไทย โดยชี้ให้เห็นว่านับตั้งแต่ต้นปี 2004 เป็นต้นมา ก็ได้เกิดความรุนแรงขึ้นในเขตมลายูมุสลิมในปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ถึงจุดที่ได้เกิดการวางระเบิดและการฆ่าขึ้นในระดับรายวัน โดยที่ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจนแต่อย่างใด

Francesca Lawe-Davies นักวิเคราะห์ความขัดแย้งของกลุ่ม กล่าวว่า "คำถามสำคัญที่ยังคงเป็นปริศนา ก็คือ ใครทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ คนเหล่านี้เชื่อมโยงกันอย่างไร ... แต่ที่เห็นได้ชัดก็คือนโยบายของทักษิณในช่วง 16 เดือน ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น"

"ตราบใดที่รัฐบาลไม่เริ่มพิจารณาปัญหาทั้งหมดจากฐานคิดเรื่องความยุติธรรม รวมทั้งเปิดการเจรจาอย่างแท้จริงกับผู้นำฝ่ายใต้ ตราบนั้นความรุนแรงก็จะเติบใหญ่ต่อไป"

รายงานฉบับนี้กล่าวต่อไปว่า ความไม่สงบในจังหวัดภาคใต้ได้พัฒนาไปสู่ปัญหาความมั่นคงในระดับที่น่าวิตก โดยที่ความพยายามของรัฐบาลในการแก้ปัญหานี้ก็เต็มไปด้วยข้อจำกัดอุปสรรคจากงานข่าวกรองที่ปราศจากประสิทธิภาพ รวมทั้งความไม่เชื่อมั่นที่ฝ่ายรัฐบาลมีต่อชุมชน

ยิ่งไปกว่านั้น การที่รัฐบาลปฏิเสธที่จะนำผู้บัญชาการทหารระดับสูงมาแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่มีการไต่สวนการละเมิดสิทธิอย่างเป็นกิจจะลักษณะก็ยิ่งผลักไสให้คนมุสลิมหันไปเห็นอกเห็นใจฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการวางระเบิดและลอบสังหาร ถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้ไปไกลถึงขั้นสนับสนุนคนเหล่านี้โดยตรงก็ตาม

ความล้มเหลวในการหยุดยั้งความรุนแรงอาจนำมาซึ่งหายนะทั้งในระดับชาติและในระดับภูมิภาค หายนะในที่นี้หมายถึงการกระตุ้นให้ผู้คนหันไปสนับสนุนการแยกตัวไปตั้งรัฐอิสลามอิสระมากขึ้น ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างคนไทยพุทธกับมลายูมุสลิมเสื่อมทรามลง แนวโน้มเช่นนี้ไม่เพียงจะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างไทยกับมาเลเซีย แต่ยังมีศักยภาพถึงขั้นที่จะดึงนักรบหัวรุนแรงจากประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเข้ามาได้ โดยเฉพาะจากอินโดนีเซีย

Sidney Jones ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของกลุ่ม International Crisis Group กล่าวว่า "ความรุนแรงในขณะนี้ เกิดขึ้นจากความคับข้องใจในระดับท้องถิ่น ไม่มีหลักฐานว่ามีปัจจัยภายนอกเกี่ยวข้องกับความรุนแรงในไทย แต่หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปแบบนี้ ความรุนแรงเช่นนี้ก็อาจดึงดูดนักรบหัวรุนแรงจากภายนอกเข้ามาได้"

คนกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าและวางระเบิดนั้นมุ่งจะให้รัฐบาลตอบโต้อย่างรุนแรง เพราะการตอบโต้แบบนี้จะส่งผลให้ความรู้สึกต้องการแบ่งแยกดินแดนขยายตัวขึ้น จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลทักษิณเองที่จะระงับวัฎจักรแห่งความรุนแรง โดยกระตุ้นให้เกิดมาตรการที่สามารถจะจัดการปัญหาภัยคุกคามด้านความมั่นคง

ในขณะที่ต้องตระหนักถึงการแก้ปัญหาความคับข้องและไม่พอใจทางการเมืองไปพร้อมๆ กัน จึงจำเป็นต้องสร้างระบบการปรึกษาหารือร่วมอย่างจริงจังกับชุมชนท้องถิ่น โดยอาศัยเวทีการเจรจาที่แท้จริงเป็นเครื่องมือ

Francesca Lawe-Davies นักวิเคราะห์ความขัดแย้งของกลุ่ม กล่าวเสริมต่อไปว่า "การตั้งคณะ
กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติในเดือนมีนาคม เป็นก้าวแรกที่เดินไปสู่หนทางที่ถูก ต้อง และคณะกรรมการฯ ก็ได้เสนอข้อเสนอบางอย่างที่มีประโยชน์จริง แต่ถ้าหากคณะกรรมการปราศจากความเคลื่อนไหวที่รวดเร็วและตรงไปตรงมากว่านี้ ในที่สุดก็เป็นไปได้ว่าคณะกรรมการจะมีผลน้อยมากต่อนโยบายของรัฐบาล"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net