EIA แนวใหม่ ผ่าทางตันสร้างเขื่อน

จากกรณีที่ กรมชลประทานได้เสนอแผนการจัดการลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัญจรเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยบรรจุโครงการสร้างเขื่อน 5 แห่งเข้าไปด้วย ได้แก่ เขื่อนโปร่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี และเขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่มาของกระแสการคัดค้านและวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง

ทั้งนี้ 4 ใน 5 เขื่อน ยกเว้นเขื่อนคลองกราย นั้นได้เคยถูก ครม. ยับยั้งไปแล้วถึง 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2540 และ 2547 กระนั้นก็ตาม ทางกรมชลประทานก็ยังคงพยายามที่จะผลักดันโครงการอย่างไม่ลดละ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมน์เปิดเผยว่า "เขื่อนเหล่านี้ ทางรัฐบาลมีข้อตกลงกับสมัชชาคนใจไปแล้วว่าจะไม่ดำเนินการใด ๆ หากยังไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การนำเรื่องนี้กลับมาพิจารณาจึงเป็นการผิดข้อตกลง" (http://prachatai.com)

เขื่อนเจ้าปัญหา

เทคโนโลยีการสร้างเขื่อนนั้น ถูกตั้งคำถามจากสังคมไทยตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ไม่ว่าจะในแง่ความคุ้มค่าในการลงทุน การคอรัปชั่นของระบบการรับเหมาก่อสร้าง ความปลอดภัยของโครงสร้างเขื่อน ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งต่อระบบนิเวศและชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่น้ำท่วม และการนำมาซึ่งปัญหาความขัดแย้งในสังคม

"เขื่อนถูกอ้างว่าจะใช้แก้ไขปัญหาภัยแล้งบ้าง น้ำท่วมบ้าง น่าจะต้องทบทวนว่าจริงหรือไม่ เพราะขณะนี้ประเทศไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่และกลางกว่า 700 แห่งแล้ว แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ยังคงดำรงอยู่ ต้องคิดให้มาก ๆ เพราะเขื่อนมันแพง ทั้งค่าลงทุน และค่าสูญเสียภายหลัง ถ้าไม่คุ้มก็ไม่มีทางรื้อ ดูเขื่อนบางประกงเป็นตัวอย่าง" นายหาญณรงค์กล่าว (http://prachatai.com)

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันข้อขัดแย้งเรื่องการสร้างเขื่อน รวมทั้งโครงการขนาดใหญ่อื่น ๆ ได้พัฒนามาถึงการตั้งคำตามต่อกระบวนการตัดสินใจในการดำเนินโครงการว่า ใครควรจะเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจว่าควรจะมีโครงการหรือไม่ และตัดสินใจด้วยกลไก และวิธีการอย่างไร

EIA เครื่องมือเดียวที่มีอยู่

ในปัจจุบันเครื่องมือชี้วัดตัดสินที่สำคัญในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ดังเช่นการสร้างนั้น คือ การทำประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า EIA (Environmental Impact Assessment)

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 กำหนดให้เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรกักเก็บตั้งแต่ 100,000,000 ลบ.ม.ขึ้นไป หรือมีพื้นที่เก็บน้ำตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป จะต้องมีการทำ EIA เสนอสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการมาทำหน้าที่พิจารณา EIA ดังกล่าว

ที่ผ่านมา เจ้าของโครงการมักใช้วิธีการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาให้ทำ EIA โดยมีโจทย์ว่าไม่ว่าจะอย่างไรบริษัทจะต้องทำ EIA ให้ "ผ่าน" ตามระเบียบเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้ และในขณะที่รอผล EIA อยู่นั้น เจ้าของโครงการก็มักจะเตรียมการไปพลาง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อหรือเวนคืนที่ดินในบริเวณโครงการ เตรียมอพยพโยกย้ายชุมชน รวมถึงการเตรียมการก่อสร้าง

ดังนั้น EIA จึงมีฐานะเป็นเพียง "ระเบียบ" หรือ "ขั้นตอน" หนึ่งของการดำเนินโครงการ ซึ่งไม่ได้มีความหมายหรือสลักสำคัญอะไรต่อการตัดสินใจโครงการ ดังนั้น แม้ว่าจะมีการทำ EIA แล้ว แต่ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอยู่ดี และยังคงเกิดปัญหาระหว่างผู้ต้องการ และไม่ต้องการโครงการ จนกลายเป็นประเด็นปัญหาทางสังคมตลอดมา

ถ้าอย่างนั้น อะไรล่ะ จะเป็นเครื่องมือที่ดีกว่านี้ในการตัดสินที่ว่า ควรหรือไม่ควรที่จะให้มีโครงการดังกล่าว

ม.อุบล นำร่อง การทำ EIA แบบมีส่วนร่วม

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นำโดย ผศ. ดร.กนกวรรณ มโนรมย์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ "รูปแบบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน : กรณีศึกษาฝายหัวนา" กำลังเริ่มต้นทำการศึกษาเพื่อพัฒนากรอบการทำ EIA แบบมีส่วนร่วม

อ.สุรสม กฤษณะจูฑะ จากศูนย์วิจัยสังคมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หนึ่งในทีมวิจัย เปิดเผยว่า "กรณีฝายหัวหน้า อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ เป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งฝ่ายที่ต้องการโครงการและฝ่ายที่ไม่ต้องการ เมื่อทำ EIA ขึ้นมาแล้ว ก็ไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่าควรจะทำโครงการต่อไปหรือไม่ เราจึงต้องการเข้าไปหากระบวนการทำ EIA ที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงขึ้นมา เพื่อให้การตัดสินใจมาจากพื้นฐานความรู้ที่มันรอบด้านมากขึ้น"

โครงการศึกษาวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) เพื่อนำไปสู่การพัฒนานโยบายสาธารณะที่มีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างโปร่งใส ซึ่งในโครงการไม่ได้มีแต่เรื่อง EIA เพียงแต่เริ่มจาก EIA ก่อน เพื่อพัฒนาไปสู่กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

"EIA หลาย ๆ ฉบับที่ผ่านมา ภาคประชาชนเองก็ไม่ได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วน เรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร วิถีชีวิตชาวบ้านซึ่งได้รับผลกระทบจากโครงการขนาดใหญ่ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกพิจารณาอย่างละเอียดเพียงพอ เพราะบริษัทที่ถูกว่าจ้างมาไม่ค่อยให้ความสำคัญ เราจึงพยายามที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาพิจารณา เพื่อให้มีฐานความรู้ชุดที่มาจากชาวบ้าน มองเห็นชาวบ้านเป็นมนุษย์ วิถีชีวิตชาวบ้านควรจะมีความสำคัญในการตัดสินใจด้วย" อ.สุรสม กล่าว

ฝายหัวนา โครงการผันน้ำ กับความยืดเยื้อ

ฝายหัวนา เป็นหนึ่งในโครงการผันน้ำ "โขง-ชี-มูล" โดยฝายหัวนาจะสร้างบริเวณช่วงปลายของแม่น้ำชีก่อนที่จะบรรจบกับแม่น้ำมูล ดำเนินการโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน เพื่อการชลประทานเป็นหลัก ผลกระทบของโครงการครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ ราษีไศล ยางชุมน้อย อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ และ วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

โครงการมีแผนการก่อสร้าง 12 ปี จาก พ.ศ.2535 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2546 แต่ชาวบ้านในพื้นที่ได้คัดค้านโครงการ โดยหนึ่งในหลายเหตุผลที่คัดค้านคือไม่มีการทำ EIA ตามกฎหมาย ในที่สุดรัฐบาลจึงได้มีมติ ครม.วันที่ 25 ก.ค.2543 ให้ระงับการก่อสร้างที่ดำเนินการไปแล้วไว้ก่อนจนกว่าจะมีการทำ EIA และสำรวจทรัพย์สินของราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จนกระทั่งปัจจุบัน การทำ EIA ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

"ฝายหัวนาเป็นกรณีซึ่งยังไม่ได้มีการใช้ฝายอย่างแท้จริง และยังเป็นความขัดแย้งที่ยังตกลงกันไม่ได้ การวิจัยครั้งนี้พยายามจะทำให้มีคำตอบเบื้องต้นที่เหมาะสมก่อน หรือมีความรู้เต็มที่ก่อนแล้วค่อยตัดสินใจให้มันชัดเจนลงไปว่าควรจะทำต่อหรือไม่"

สร้าง EIA ต้นแบบที่ฝายหัวนา

เป้าหมายหนึ่งในการศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่ฝายหัวนา คือกระบวนการทำ EIA ที่ดี เพื่อให้เป็นต้นแบบสำหรับโครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่อื่น ๆ

ทั้งนี้ อ.สุรสมชี้ว่า "จริง ๆ แล้วไม่ใช่การสร้างหรือหารูปแบบที่ดีเท่านั้นแต่ว่าเราพยายามอาศัยกลไกในการหารูปแบบ เข้าไปทำงานกับคนในในพื้นที่ ถึงแม้จะมีปัญหาขัดแย้ง แต่ว่ามาหาทางออกร่วมกัน ทั้งจังหวัด อบต. ผู้เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน และผู้ที่ไม่เห็นด้วย"

"เป็นเรื่องที่ยากที่จะเอาคนที่มีความเห็นขัดแย้งกันมานั่งคุยกัน แต่มันเป็นเป้าหมายสูงสุดของประชาธิปไตยซึ่งควรจะเป็นรูปแบบที่พัฒนาขึ้นมาในสังคมไทย คือ การทำให้คนที่มีหลากหลายความคิดเห็นมาคุยกันอย่างสันติ นี่อาจจะเป็นเป้าหมายที่ใหญ่ แต่ว่าก็จะลองทำดู"

ส่วนในเชิงโครงสร้างของฝายหัวนานั้น คำตอบไม่ได้อยู่ที่จะสร้างต่อหรือไม่สร้างเท่านั้น แต่อาจจะพบทางเลือกใหม่ในการจัดการน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่การสร้างเขื่อน

"ปัญหาการจัดการน้ำของภาคอีสานมีความซับซ้อน รัฐพยายามพัฒนาโครงการลุ่มน้ำให้มีความสมบูรณ์ ลงทุนหลายล้านบาทตั้งสถานีสูบน้ำตั้งแต่ต้นน้ำมูลถึงปลายน้ำมูล แต่ไม่แน่ใจว่ามีประสิทธิภาพเต็มที่หรือเปล่า สถานีสูบน้ำบางแห่งไม่ได้ใช้งานเลย แต่จ้างคนเฝ้าเดือนละ 10,000 บาท สิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ดังนั้น การจัดการน้ำจากรัฐฝายเดียวมีปัญหาแน่ ถ้าเราลองฟังเสียงชุมชนที่เขามีภูมิปัญญามีการจัดการเองอาจจะสอดคล้องและเกิดประสิทธิภาพมากกว่า"

กรณีฝายหัวนาเป็นตัวอย่างของกรณีความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งมีประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะใช้หลักการอะไรในการจัดการ งานวิจัยชิ้นนี้อาจจะเป็นเพียงจิกซอว์ตัวหนึ่งที่จะช่วยทำให้มองเห็นภาพของปัญหาการจัดการน้ำในภาคอีสานและแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจนขึ้น

นอกเหนือจากการได้กรอบของกระบวนการทำ EIA แบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการตัดสินใจโครงการขนาดใหญ่ที่เหมาะสมของสังคม.

อัจฉรา รักยุติธรรม
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท