คิกออฟ แคมเปญ ลดใช้พลังงาน ความจริงในความลวง?

1 มิ.ย. ที่จะถึง เป็นวันแรกของการรณรงค์ ประหยัดพลังงานเพื่อชาติ ภายใต้ชื่อ "1 มิ.ย. วันรวมพลังไทย ลดใช้พลังงาน"

19 พ.ค. ที่ผ่านมา นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่ารัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าเตรียมลงนามความเข้าใจเบื้องต้น (MOU) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินปลายเดือนพ.ค.นี้

ทั้งนี้ คาดว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 15,000 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินอาจจะต้องใช้น้ำจากเขื่อนประมาณ 5-6 เขื่อน

ในขณะที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการนโยบายประหยัดพลังงาน แต่การผลิตกำลังไฟฟ้าของไทยโดยเฉพาะโครงการใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน กลับกำลังดำเนินในเชิงรุกอย่างเต็มที่

ระหว่างการรณรงค์ประหยัดพลังงาน กับทิศทางพัฒนาพลังงานของประเทศ อะไรคือสิ่งที่รัฐบาลนี้ให้น้ำหนักมากกว่ากัน

ชูนโยบาย 3 เดือน 3 ประหยัด
เริ่มต้นฤดูแห่งสีสันของนโยบายระดับชาติอีกแล้ว เมื่อกระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จัดแคมเปญ "รวมพลังไทย ลดใช้พลังงาน" ได้ถือฤกษ์วันที่ 1 มิถุนายนนี้ เป็นวันเริ่มต้น ไปจนครบ 3 เดือน โดยเริ่มจากการปิดไฟอย่างน้อยบ้านละ 1 ดวง ในช่วงเวลา 20.45 น.เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นประหยัดพลังงานต่อไป

สำหรับกิจกรรมนี้ คาดหวังให้ประชาชนพร้อมใจลดใช้พลังงานเช้าจรดเย็น พร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ 3 วิธีคือ ขับรถ ไม่เกิน 90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยชาติประหยัดน้ำมันได้เดือนละประมาณ 1,500 ล้านบาท ปิดแอร์ ช่วง 12.00-13.00 น. วันละ 1 ชั่วโมง 1 ล้านเครื่อง ลดค่าไฟเดือนละ 63 ล้านบาท และ ปิดไฟ อย่างน้อย 1 ดวง พร้อมกันทุกบ้าน เวลา 20.45 น. หากเป็นเวลา 2 ชั่วโมง จะช่วยประหยัดค่าไฟได้ถึงเดือนละ 1,200 ล้านบาท

เมื่อมองดูตัวเลขดังกล่าว ซึ่งดูเหมือนว่าจะช่วยชาติได้มากโขสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ และก็น่าจะช่วยกระตุ้นให้คนไทยหันมาช่วยชาติประหยัดพลังงานกันมากขึ้นได้ไม่ยากนัก โดยเฉพาะในยามที่พลังงานราคาแพงลิบลิ่ว จนทำให้รากหญ้าทั้งหลายถูกสูบเงินไปจากกระเป๋าจนแทบแห้งขอดแล้วก็ตามที

ทั้งนี้การรณรงค์ดังกล่าวชี้ว่า ในปี 2548 การคาดการณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak) อยู่ที่ระดับ 21,143 เมกะวัตต์ ซึ่งนโยบายการประหยัดพลังงานดังกล่าวจะนำไปสู่การลดใช้พลังงานตามเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ 15% ในปี 2551 และ 20% ในปี 2552 หรือคิดเป็นมูลค่า 200,000 ล้านบาทต่อปี

ขณะที่สื่อกำลังประโคมข่าวโครงการรวมพลังไทยลดใช้พลังงานนี้ รัฐบาลกำลังกลบกระแสด้านอื่นอยู่หรือไม่?

แนวโน้มยอดใช้ไฟฟ้าไม่เคยลดลง
จากรายงานของคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของกฟผ. พ.ศ. 2547-2558 (PDP 2004) ซึ่งในที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อความมั่นคงและความเพียงพอของระบบไฟฟ้าของประเทศ

รายงานดังกล่าวระบุว่าในช่วงปี 2547-2553 จะมีโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 5 โรงไฟฟ้า ขนาดโรงละ 700 เมกะวัตต์ โดยเป็นการลงทุนของกฟผ.จำนวน 4 โรง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานร้อนร่วมสงขลา พระนครใต้ พระนครเหนือ และบางประกง นอกจากนี้เป็นของเอกชนอีก 1 แห่งโดยจะขยายกำลังการผลิตโครงการแก่งคอย 2 จาก 734 เมกะวัตต์เป็น 1,468 เมกะวัตต์ อีกด้วย

ทั้งนี้ยังมีโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และโครงการขยายโรงไฟฟ้าขนอม จากขนาด 150 เป็น 385 เมกะวัตต์ ในปี 2550 และศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายโครงการดังกล่าวเพิ่มเติมเป็น 700 เมกะวัตต์ มาทดแทนการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้

ขณะที่การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่จัดทำโดยคณะอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า ฉบับการการคาดการณ์การเจริญเติบโรทางเศรษฐกิจปานกลาง (MEG) ซึ่งสมมติฐาน GDP เฉลี่ย 6.5% จะนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นไป

โดยสถิติและพยากรณ์การผลิตพลังงานและพลังงานไฟฟ้า ในปี 2535-2546 การผลิตไฟฟ้าสูงสุดเพิ่ม 7% หรือ 839.70 เมกะวัตต์ ทั้งนี้การพยากรณ์ อัตราเพิ่มเฉลี่ย 2547-2551 จะเพิ่มขึ้นถึง 1,585.32 เมกะวัตต์หรือประมาณ 7.53 %

ในปี 2548 ค่าพยากรณ์การใช้ไฟฟ้า 21,143 เมกะวัตต์ ขณะที่ในปี 2551 จะมีตัวเลขการใช้ไฟฟ้า 26,048 และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2552 ตัวเลขพยากรณ์จะสูงถึง 27,852 เมกะวัตต์ เฉลี่ยปี2547-2551 จะมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 1,585 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 7.5

ยิ่งไปกว่านั้น โรงไฟฟ้าใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2554-2558 ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าจะมีจำนวนถึง 18 โรงไฟฟ้า (12,600 เมกะวัตต์) โดยใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นแผนหลัก

จากตัวเลขการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้าข้างต้นมีแต่จะสูงขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้ยังมีเหตุผลเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทางกฟผ.จึงได้มีแผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าอีกหลายแห่งโดยเฉพาะบริเวณแม่น้ำสายสำคัญในประเทศเพื่อนบ้าน

กล่าวคือโครงการ เขื่อนสาละวิน ที่กำลังถูกผลักดันในขณะนี้ ได้แก่ โครงการเขื่อนท่าซาง ซึ่งจะมีกำลังผลิตติดตั้ง รวม 1,300 เมกะวัตต์ งบประมาณเฉพาะค่าก่อสร้างอย่างต่ำ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ120,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมี โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า หรือเรียกชื่อทางการว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินชายแดนประเทศไทย-เมียนม่าร์ โดยได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ประกอบด้วย 2 โครงการ คือ โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน (เว่ยจี) กำลังผลิตติดตั้ง 4,540 เมกะวัตต์ และ โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง (ดา-กวิน/ท่าตาฝั่ง) กำลังผลิตติดตั้ง 792 เมกะวัตต์

ขณะที่ยังมีโครงการร่วมกับลาวอีก คือเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้ 1,070 เมกกะวัตต์ ซึ่งธนาคารโลกได้อนุมัติค้ำประกันเงินกู้ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมการก่อสร้าง

ขณะที่กระทรวงพลังงานออกมาประกาศให้คนไทยประหยัดพลังงาน จะเป็นการสวนทางหรือไม่กับการขยายการลงทุนด้านพลังงานด้วยเม็ดเงินจำนวนมหาศาล อะไรคือความจริง อะไรคือสิ่งลวง

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท