ระบุธุรกิจแฝงยึดคลื่นวิทยุชุมชนภาคเหนือ

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-30 พ.ค.48 "ขณะนี้ มีกลุ่มที่เข้ามาทำวิทยุชุมชนโดยวิชาชีพจริงๆ ประมาณ 60% แต่ก็ยังมีกลุ่มที่เข้าแสวงหาผลประโยชน์แอบแฝง เข้ามายึดคลื่นสถานีเพื่อธุรกิจ หรือเพื่อกลุ่มของตนเองประมาณ 40% ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งพัฒนาความรู้ว่า ทำอย่างไรถึงจะให้ประชาชนสามารถใช้สื่อเพื่อทำให้สังคมเกิดความเข้มแข็งและมีความสุขอย่างแท้จริง" ดร.จิราพร วิทยศักดิ์พันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว

ที่ห้องวีระวรรณ โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือจับมือร่วมกันระดมพลังสู้กลุ่มทุนที่แฝงเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ สร้างอิทธิพลชื่อเสียง ชี้ต้องกู้วิกฤติศรัทธากลับคืนมาให้ได้ โดยเน้นผลประโยชน์ต้องตกอยู่ที่คนในชุมชน

ดร.จิราพร กล่าวว่า วิทยุชุมชน ในความหมายที่แท้จริงก็คือ การสื่อสารทางคลื่นวิทยุที่ต้องเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เพื่อให้ประชาชนสามารถได้ใช้สื่อเพื่อสังคมที่เข้มแข็งและเป็นสังคมที่มีความ
สุขและจะต้องสนใจในเรื่องสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชนด้วย ไม่ใช่เพื่อเข้ามาแสวงหาผลกำไรและสร้างชื่อเสียงสร้างอิทธิพลให้กับตัวเอง

ด้านนายบัณรส บัวคลี่ ศูนย์ข่าวผู้จัดการภาคเหนือกล่าวว่า ตอนนี้ถือว่าเป็นเรื่องวิกฤติศรัทธาของวิทยุชุมชน เพราะปัญหาอยู่ที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ากรอบของวิทยุชุมชนนั้นอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะให้คนในชุมชนที่รับฟังวิทยุชุมชนได้รับประโยชน์มากที่สุด

ในรายงานมีการสำรวจพบว่า ผู้ที่เข้ามาทำวิทยุชุมชนในเขตภาคเหนือ มีทั้งหมดอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ที่ยึดปรัชญาของวิทยุชุมชนอย่างแท้จริงโดยไม่ได้หวังผลประโยชน์ส่วนตัว กลุ่มคนที่อยู่ในวงการวิทยุท้องถิ่น ซึ่งถูกบีบจากสภาวะการแข่งขันทางธุรกิจของท้องถิ่นจากกระแสทุนส่วนกลาง ทำให้ต้องดิ้นรนหาทางมาที่วิทยุชุมชน

และกลุ่มสุดท้ายที่สำคัญและน่าจับตามองก็คือ กลุ่มทุนที่เข้ามาเพื่อแสวงหากำไรหาผลประโยชน์
เพื่อสร้างอิทธิพล ชื่อเสียงให้ตัวเองอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจ นักการเมืองท้องถิ่น และนักการเมืองระดับชาติ

ในขณะที่นายภานุเมศ ตันรักษา รายการร่วมด้วยช่วยกัน ได้พูดเรื่องวิทยุชุมชนที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ว่า ปัญหาวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้นก็คือ เราดำเนินการโดยที่ยังไม่มีความพร้อม โดยที่ยังไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ ผลก็คือ เกิดปัญหาในเรื่องการควบคุมสื่อ

"อย่างเฉพาะในเขตพื้นที่ อ.เมือง เชียงใหม่มีผู้เข้ามาจดทะเบียนที่เป็นทางการอยู่ทั้งหมด 52 คลื่นสถานี แต่พบว่า มีอีกกว่า 30 คลื่นสถานีที่ไม่ได้มีการจดทะเบียน จนทำให้เกิดปัญหาคลื่นแทรกรบกวนสถานีข้างเคียงกันมากในขณะนี้" นายภานุเมศ กล่าว

ด้านนายพิพัฒน์ ชนะสงคราม นักจัดการวิทยุชุมชนกล่าวว่า มาตรา 40 ก็ระบุอยู่แล้วว่า สื่อต้องมีเสรีภาพ คลื่นโทรคมนาคมจะต้องเป็นของสาธารณชนและต้องมีกฎหมายลูกมารองรับ แต่ก็ยังไม่เกิด ซึ่งเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็เพื่อต้องการให้ชุมชนเข้ามาบริหารสื่อและสนอง
ตอบคนในชุมชน

"แต่ที่น่าเศร้าใจก็คือ วิทยุชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำตามเจตนารมณ์นี้เลยจะเห็นว่า 80% ของคลื่นวิทยุชุมชนจะเปิดเพลงตอบสนองค่ายเทปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งทำให้ค่ายเทปได้ผลประโยชน์โดยไม่ต้องใช้งบในการโฆษณาเลย" นายพิพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจำนวนวิทยุชุมชนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน พบว่า ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชนประมาณ 195-200 ราย และทางสถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุเชียงใหม่ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน แจ้งว่า ตั้งแต่กลางปี 2547 จนถึงปัจจุบันได้รับการร้องเรียนของประชาชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จำนวน 40 เรื่อง โดยมีประเด็นปัญหาหลักคือ วิทยุชุมชนรบกวนข่ายการสื่อสารโทรคม
นาคมและวิทยุชุมชนรบกวนวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

อีกทั้งจากการตรวจสอบปัญหาด้านเทคนิคพบว่า มีปัญหาสำคัญหลายด้านเช่น เครื่องส่งไม่ปรากฏยี่ห้อหรือรุ่น ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำเองในประเทศ มีจำนวนถึง 60 เครื่อง

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท