Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-2 มิ.ย.48 ที่ห้องประชุมอาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ มีการประชุมเวทีสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำกรอบสำหรับการวางแผนในการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมใน 5 ปีข้างหน้า โดยมีองค์กรหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมเครือข่ายประชาชนทั่วภาคเหนือเข้าร่วมและเปลี่ยนความคิดเห็นกันคับคั่ง

ตามที่สำนักงานโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการทบทวนและประเมินผลการพัฒนาแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม 5 ปี(พ.ศ.2545-2549) และจัดทำกรอบสำหรับการจัดทำแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2550-2554 ควบคู่ไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 โดยแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ของชาติ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนฯ

การจัดเวทีสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ ก็เพื่อนำเสนอข้อมูลองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านมุมมองของนักวิชาการ และมุมมองของตัวแทนผู้นำชุมชนในท้องที่ต่างๆ ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความเข้าใจและแนวคิดใหม่ๆ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันต่อไป

ศ.ดร.มิ่งขวัญ ขาวสะอาด ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ที่เรากำลังทำกันอยู่นี้ ก็เพื่อไม่อยากให้ทางหน่วยงานราชการทำงานกันแบบแยกส่วน ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายนโยบายที่ขัดแย้งกัน ดังนั้น อย่าพยายามมองภาพในเชิงทรัพยากรมากเกินไป ไม่ใช่ว่า อยากมีน้ำ ก็ไปสร้างเขื่อน อยากมีป่า ก็สั่งห้ามตัดอย่างเดียว มันเป็นไปไม่ได้ เพราะตอนนี้ โลกมันซับซ้อนมากขึ้น

"และที่สำคัญ จะต้องสร้างสังคมที่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ใช่หลับหูหลับตาไม่ยอม รับฟัง เพราะขณะนี้ มีหลายชุมชนที่ลงมือร่วมกันจัดการทรัพยากรกันเองและได้ผลเป็นอย่างดี ซึ่งทางกระทรวงทรัพยากรฯ ต้องลงมารับฟัง และปรับเปลี่ยนแนวคิดทัศนคติกันใหม่ ซึ่งตอนนี้เริ่มเข้าใจกันมากขึ้น และหวังว่า กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเช่นนี้ คงจะมีทางเลือก ทาง ออกในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน" ศ.ดร.มิ่งขวัญ กล่าว

นายชัยพันธ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิชุมชน กล่าวว่า ที่ผ่านมา รัฐบอกว่า ต้องเอาคนเป็นศูนย์กลาง แต่สุดท้ายก็ไม่เป็นเช่นนั้น ไม่ค่อยให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเกิดปัญหาความขัดแย้งกันมากขึ้น

"ดังนั้น รัฐจะต้องเข้าใจว่า ชุมชนสามารถจัดการดูแลทรัพยากร ดิน น้ำ ป่าร่วมกันได้ เช่นกรณีลุ่มน้ำแม่ตาช้าง หลังจากมีปัญหาการแย่งน้ำกัน ตั้งแต่ชุมชนต้นน้ำดอยสุเทพ-ปุย ชุมชนกลางน้ำและชุมชนปลายน้ำเขต อ.หางดง จ.เชียงใหม่ แต่ในที่สุด ชาวบ้านสามารถจับมือหาทางแก้ไขร่วมกันได้ และปัจจุบัน ชาวบ้านยังได้เป็นผู้วิจัย วิเคราะห์ปัญหาและหาทางออกร่วมกัน มีการจัดทำผังการจัดการป่า จัดการน้ำ มีการสร้างระบบเหมืองฝายกันขึ้นมา ซึ่งได้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี" นายชัยพันธ์ กล่าว

ด้านนายไตรภพ แซ่ย่าง ผู้ใหญ่บ้านม้งดอยปุย-สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกวันนี้ ถือว่าเป็นตราบาปที่ติดอยู่กับตัวเองมานาน เมื่อถูกกล่าวหาว่า ม้งบนดอยปุย เป็นตัวปัญหาทำให้พื้นที่ป่าลดหายไป ซึ่งตอนนี้ ชาวบ้านบนต้นน้ำทุกคน ได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติกันใหม่ และหันมาร่วมมือกันอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่ากัน ดังนั้น จึงอยากให้คนส่วนใหญ่ได้เข้าใจกันด้วย

"ที่น่าเป็นห่วงก็คือ แผนพัฒนาบนพื้นที่สูง ฉบับที่ 3 ในขณะนี้ เป็นแผนพัฒนาฯ ที่ทางกรมประชาสงเคราะห์ กองทัพ และศูนย์ปราบปรามยาเสพติด เป็นผู้เสนอแผนกันขึ้นมา ซึ่งไม่สอดคล้องกับการจัดการทรัพยากรและวิถีชีวิตของคนบนพื้นที่สูง จึงอยากเสนอว่า ทำอย่างไรจึงจะให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนดังกล่าว" นายไตรภพ กล่าว

ในขณะที่นายเฉลิม อันวิเศษ ตัวแทนผู้นำชุมชน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปัญหาอยู่ที่นโยบายของรัฐทั้งสิ้น ไม่ว่าการเข้าไปประกาศเขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ-ปุย และเขตอุทยานแห่งชาติออบขาน ทับพื้นที่ของชุมชน จนทำให้ชุมชนจับมือกันดำเนินการจัดการที่ดิน น้ำ และป่ากันเอง ดังนั้น ทางออก รัฐจะต้องสนับสนุนอำนาจการจัดการทรัพยากรของชุมชน ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

นายสนิท สายรอคำ มูลนิธิฮักเมืองน่าน กล่าวว่า การเผชิญหน้าระหว่างชุมชนท้องถิ่น กับนโยบายรัฐยังคงมีอยู่ และแผนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะไม่มีทางประสบผลสำเร็จ ตราบใดสิทธิชุมชนยังไม่มีความคืบหน้า และชุมชนไม่ได้จัดการกันเอง เพราะคำตอบนั้นอยู่ที่ชุมชน และจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีเครือข่ายชุมชนจัดการกันเอง

ด้านนายสุชิน งามนิยม ตัวแทนเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน กล่าวว่า ปัญหาที่ผ่านมาล้วนเกิดจากนโยบายของรัฐ ซึ่งก่อให้เกิดการขัดแย้งกันไปทั่ว โดยเฉพาะพื้นที่ อ.เชียงดาว ยังเจ้าหน้าที่รัฐยังคงใช้อำนาจ กฎหมายเข้ามาละเมิดสิทธิชุมชนกันอยู่ เช่น กรณีการเข้าจับกุมชาวบ้านปางแดง โดยตั้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งๆ ที่ชาวบ้านอยู่กันมานานแล้ว

"หลังจากเกิดปัญหา ชุมชนพยายามเข้าไปร่วมกันจัดการดูแลทรัพยากร จนได้ผลสำเร็จ ไม่ว่าเรื่องการจัดการน้ำ มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น เข้ามาใช้ เช่น ระบบเหมืองฝาย การจัดการป่าชุมชน ซึ่งมีทั้งหมด 58 ป่าชุมชน โดยมีการตั้งกฎระเบียบควบคุมจัดการกันเอง ดังนั้น รัฐจะต้องทบทวนนโยบายกันใหม่" นายสุชิน กล่าว

ในขณะที่ นายผจญ สิทธิกัน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนเชื่อชุมชนนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาจัดการทรัพยากรฯ ได้ แต่มีจำนวนน้อย ซึ่งสาเหตุที่มีปัญหาด้านการจัดการป่ากันในขณะนี้ ก็เพราะความต้องการของชุมชนในพื้นที่เปลี่ยนไป อีกทั้งมีการรุกของนายทุนข้างนอกเข้าไปในชุมชน ทำให้พื้นที่ป่าลดลง บางพื้นที่ ป่าชุมชน กลายเป็นไร่ข้าวโพดซีพี เป็นภูเขากะหล่ำ

"ดังนั้น ผมเห็นว่า ชุมชนใดที่มีความพร้อม ก็ส่งเสริมให้ชุมชนจัดการกันเอง ชุมชนใดมีศักยภาพแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ ก็ให้กระตุ้นจูงใจให้มีการจัดการ และพื้นที่ใดรัฐควรทำ ก็ต้องเข้าไปทำกันต่อไป" นายผจญ กล่าว

หลังจากนั้น รศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ได้กล่าวสรุปว่า จากการระดมความคิดเห็นกันครั้งนี้ จะต้องมีการสร้างองค์ความรู้ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกัน และต้องเคารพจารีต ความเชื่อของแต่ละชุมชน ที่สำคัญ รัฐจะต้องทบทวนนโยบายกันเสียใหม่ และเมื่อชุมชนใดสามารถจัดการกันเองได้ ก็ควรจะปล่อยให้ชุมชนจัดการกันเอง โดยที่รัฐต้องถอยออกไปและให้การสนับสนุนในชุมชนดำเนินการกันเอง

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net