Skip to main content
sharethis

ในรอบ 4 ปีภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล "ทักษิณ" (2) ได้ตั้งเป้าเดินสายประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ไว้ถึง 48 ครั้ง ปฏิบัติการนี้ประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับของคนต่างจังหวัดมากพอสมควรในสมัยรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และถือเป็นกลยุทธ์การบริหารงานที่จำเป็นต้องถูกสานต่ออีกครั้งในสมัยนี้

นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธข่าวลือที่ว่าจะมีการยกเลิกการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เนื่องจากทุกจังหวัดมุ่งแต่จะของบประมาณจำนวนมาก ซึ่งประเด็นนี้ นายก ฯ ยังยืนยันว่าการประชุม ครม.สัญจรจะต้องมีขึ้นทุกเดือน และได้ย้ำถึงนัยยะสำคัญของการประชุม ครม.นอกสถานที่ว่าจะต้องมีใน 2 มิติคือ เรื่องของจังหวัดนั้น ๆ และเรื่องของกลุ่มจังหวัด เพื่อจะได้มาซักซ้อมการใช้งบประมาณตามงบประมาณของกลุ่มยุทธศาสตร์

จะว่าไปแล้วการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่อาจเปรียบเหมือนเหรียญที่มี 2 ด้าน ด้านบวกคือ 1.เป็นกระจายงบประมาณ 2.เป็นการขยายช่องทางนำส่งปัญหาถึงผู้บริหารที่กุมระดับนโยบาย 3.สร้างความใกล้ชิดกับประชาชนในภูมิภาค 4.เป็นการตรวจสอบการทำงานของระบบราชการในพื้นที่ 5.เป็นการทำงานในเชิงบูรณาการที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ ซีอีโอของรัฐบาล

ส่วนอีกด้านของเหรียญ เริ่มมีหลายเสียงหลายกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า 1.สิ้นเปลืองงบประมาณที่เป็นงบประมาณแผ่นดินที่ได้มาจากการเสียภาษีของปะชาชน 2.หวังผลการเมืองหรือไม่ 3.เป็นการสร้างภาพ 4.เป็นภาระในการต้อนรับของราชการและคนในท้องถิ่น 5. สิ่งที่รัฐบาลได้โปรยยาหอมหรือรับปากว่าจะให้ ว่าจะทำ มักไม่เป็นอย่างที่ว่า 6.การประชุมแต่ละครั้งมักไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น เป็นต้น

อย่างคราวที่สัญจรมาจังหวัดลำพูนเมื่อราวกลางปีที่แล้ว อนุมัติหลายโครงการให้ภาคเหนือ มูลค่าร่วม ๆ 5,000 ล้านบาท โปรเจ็กต์ที่แต่ละจังหวัดยื่นของบประมาณยาวเป็นหางว่าว แต่มีหลายโครงการที่ยังนิ่งอยู่บนแผ่นกระดาษ มีแต่แผน ส่วนเม็ดเงินยังไม่รู้อยู่ที่ไหน

คิวสัญจรครั้งต่อไป เป้าหมายอยู่ที่เมืองกว๊านพะเยา พื้นที่ฐานเสียงสำคัญอีกแห่งหนึ่งของพรรคไทยรักไทย แต่มาพะเยาคราวนี้ เจ้าบ้านไม่เน้นขอเงิน แต่ปรับรูปแบบการนำเสนอแผนงานในพื้นที่ นำเสนอภาพรวมของจังหวัดและแผนงานที่จะพัฒนา…เพราะรู้ดีว่าเศรษฐีที่มานี้ ไม่มีตังค์แจก…

น่าสนใจว่าการออกมาสัญจรของ ครม. ทักษิณ (2) ครั้งนี้จะมี 2 มิติดังที่นายกฯ ว่าไว้หรือไม่
-------------------------

เป็นที่แน่นอนแล้ว ครม.รอบต่อไปจะสัญจรมาจัดที่จังหวัดพะเยา ระหว่างวันที่ 13 - 14 มิถุนายน 2548 สถานที่ประชุมกำหนดไว้แล้วที่มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตพะเยา ส่วนที่พัก ครม.เบื้องต้นใช้ที่โรงแรมเกทเวย์

วาระการประชุม ช่วงเวลานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการสรุปเรื่องโดยสำนักงานการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มาลงพื้นที่จังหวัดพะเยาแล้ว อย่างไรก็ตามประเด็นที่จะเข้าประชุมทั้งหมดยังไม่กำหนดออกมา แต่มี 3 อย่างน้อยวาระที่ขณะนี้นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบให้บรรจุเข้าในการประชุมครม.สัญจรแล้วคือ

1.แผนงานโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ (แผนทั่วไป) มอบให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพ และสภาพัฒน์เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน

2.ปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นเจ้าภาพ หน่วยงานขับเคลื่อนคือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

3.แนวทางการแก้ไขปัญหาของจังหวัดพะเยา ให้รองนายกสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นเจ้าภาพ และมีสภาพัฒน์เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน

ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อ 15 มีนาคม 2548 ในประเด็นการประชุม ครม.นอกสถานที่ จะมีการกำหนดให้รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลพื้นที่ไปค้นหา ปัญหาในรายพื้นที่ เพื่อนำเสนอก่อนวันประชุม 1 สัปดาห์ ดังนั้นเมื่อการประชุมที่พะเยาในวันที่ 14 มิถุนายน 2548 ในวันที่ 7 มิถุนายน 2548 รองนายกฯ สมคิด จะต้องนำข้อสรุปที่สภาพัฒน์ไปนำเสนอใน ครม.ก่อน เพื่อ ครม.จะมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาแต่ละพื้นที่ได้ลงพื้นที่รับรู้ปัญหาและแก้ไข โดย ณ วันนี้ กำหนดแล้วว่าจะให้รัฐมนตรีได้เข้าไปในทุกอำเภอ ซึ่งพะเยามี 7 อำเภอ 2 กิ่งอำเภอ แต่ยังไม่ชัดเจนว่าใครจะเข้าที่ไหน ด้วยปัญหาอะไร

อย่างไรก็ตาม พะเยาในฐานะเจ้าภาพพื้นที่ จะสามารถนำเสนอถึงแนวทางพัฒนาของจังหวัดพะเยา ซึ่งแหล่งข่าวในพื้นที่ให้ข้อมูลถึงแนวทางที่จะนำเสนอครั้งนี้ว่า

นายบวร รัตนประสิทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาจะนำเสนอถึงยุทธศาสตร์ของการพัฒนาจังหวัดพะเยา

"ปัญหาที่นี่คือความยากจน ซึ่งถือว่าเป็นลำดับที่ 16 ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งความยากจนนี้เอง นำไปสู่ปัญหาสังคมตามมามากมาย"

ในกลุ่มคนยากจนนั้น 59 % เป็นเกษตรกรที่ส่วนใหญ่ทำนา ซึ่งทำตามฤดูกาล เมื่อหมดหน้านาก็ออกไปนอกพื้นที่ และกลับเข้ามาโดยนำสารพัดปัญหาติดตัวกลับมา พะเยาจึงเป็นอันดับ 3 ของประเทศที่มีปัญหาเอดส์ สังคม และการหย่าร้าง มีเด็กกำพร้าอันเป็นผลพวงของปัญหาการประกอบอาชีพนอกพื้นที่ เด็กก็เสี่ยงต่อการพึ่งพายาเสพติดเพราะไม่มีหลักยึด

ท่าทีของพะเยาคือ อยากให้จัดการกับปัญหาที่ต้นเหตุ เริ่มจากคนที่อยู่ในภาคเกษตร เนื่องจากภาคเกษตรมีปัญหาคือ ปัจจัยพื้นฐานการผลิตไม่ดี ระบบน้ำ ดิน การคัดพันธุ์พืชไม่ดี จึงต้องการจะพัฒนาปัจจัยภาคเกษตรเป็นภาพรวมของดินและน้ำคือ ทำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ต้นน้ำ - พะเยาหวังจะสร้างความชุ่มชื้นขึ้นให้แผ่นดิน มีโครงการเฉลิมพระชนมพรรษา ปี 2550 จะทำฝายแม้วเทิดพระเกียรติให้ได้ 1 แสนแห่ง ปลูกต้นราชพฤกษ์ให้ได้ 1 แสนต้น หญ้าแฝก 1 ล้านกล้า

กลางน้ำ - แก้ระบบน้ำโดยสร้างอ่างในที่จำเป็นเพิ่มเติม ขุดลอกแหล่งเก็บน้ำที่ไม่สมบูรณ์

ปลายน้ำ - พัฒนาคลองซอยเข้าไร่นา โดยดึงการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น คลองซอยเข้าสู่ปลายนา เคยทำสำเร็จจากงบทัวร์นกขมิ้น 40 ล้านของนายกรัฐมนตรี ที่ได้ร่วมประสานเงินจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อีก 55 ล้านบาทสำเร็จมาแล้ว

การพัฒนาลำดับต่อไปคือการตั้งเป้าเป็นแหล่งผลิตพืชผล ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าข้าวหอมมะลิที่พะเยาดีมาก เลยมีสโลแกน "ที่ดอนปลูกยางพารา ที่นาปลูกหอมมะลิ" ปรับปรุงบำรุงดิน เน้นเป็นเมืองอินทรีย์ เมืองปลอดสารเคมี เร่งรัดปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ รณรงค์ให้ชาวบ้านใช้ทั่วจังหวัด ซึ่งเมื่อเป็นเมืองเกษตรปลอดภัย มูลค่าเพิ่มการเกษตรก็จะเพิ่มขึ้นได้ ยุทธศาสตร์จังหวัดเลยดำเนินการขยายพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิให้มากที่สุด มีเป้าหมายปีละ 60,000 ไร่ และมีเป้าหมายให้เป็นข้าวหอมมะลิอินทรีย์ในที่สุด

นอกจากนั้นพะเยายังมีโครงการร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการกับผักตบชวาที่กว๊านพะเยา ในรูปแบบ "Bio Organic Gabage Treatment" ที่นำมาทำปุ๋ยน้ำชีวภาพและอาหารสัตว์ ซึ่งดำเนินการของบปี 49 ของกลุ่มจังหวัดแล้ว

เมื่อพัฒนาการเกษตรเรื่องของข้าวแล้ว พะเยามีเป้าจะขายข้าวไปเมืองจีน การขนส่งคือผ่านเส้นทางแม่น้ำโขง แต่ต้องเชื่อมทางบกกับเชียงราย เพื่อไปเชื่อมกับแม่น้ำโขงที่เชียงแสนหรือเชียงของที่ใดที่หนึ่งที่จะเกิดนิคมอุตสาหกรรมตามมาและท่าเรือ เพื่อสามารถนำผลผลิตข้าวที่ได้ไปขายจีน เลยจะเสนอโครงข่ายโลจิสติกส์ คือ พะเยาเลาะเลียบชายแดนไปเชียงราย มีเส้นทางดอกคำใต้ เชียงคำ เทิง เชื่อมกับที่เชียงราย ซึ่งมีทางมาอยู่แล้ว โดยทีมขับเคลื่อนพะเยาเชื่อว่าเส้นทางแม่น้ำโขงในระยะยาวจะส่งผลดีแน่ และจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการขนส่งสูงสุด ขณะเดียวกันก็จะหนุนสร้างเส้นทางรถไฟสายเด่นชัย - เชียงราย ด้วย

นอกจากนั้นพะเยายังหวังการพัฒนาเชื่อมล้านนาตะวันออกคือ น่าน - ลำปาง และ เชียงใหม่ - เชียงราย โดยเสนอให้ขยายผิวจราจรให้เดินทางได้สะดวกปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

"เมื่อพะเยาเป็นเมืองเกษตรอินทรีย์ เมืองแห่งสุขภาพ และเดินทางมาสะดวกแล้ว ความฝันเรื่องการท่องเที่ยวก็จะตามมา ระหว่างนี้คือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมอันเก่าแก่ (กว่าเชียงใหม่) ไว้ด้วย รวมทั้งด่านบ้านฮวก กิ่งภูซางจะได้รับการยกฐานะเป็นด่านถาวร ถนนจากฝั่งลาว และน้ำโขงอีกราว 100 กม. ก็เป็นหลวงพระบาง ที่น่าจะได้ผลักดันให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญในอนาคต"

นอกจากนี้ พะเยายังจะขอเป็นจังหวัดนำร่อง ในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เพราะเมื่อชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะขอให้พะเยานำร่องบริหารจัดการเรื่องการเข้าทำประโยชน์ในที่ป่าที่มีการบุกรุกอยู่แล้วอย่างเป็นระบบเชิงธุรกิจได้ เช่นการปลูกยางพารา เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

"ถ้า ครม.ปิ๊ง พะเยาก็จะทำให้ดู และอยากให้ทำเพราะภาคเหนือเป็นเมืองต้นน้ำลำธาร ป่ากว่า 10 ผืนมีปัญหานี้ทั้งหมด หากครม.เห็นชอบแนวทางนี้ ก็จะมีมติออกมาว่าให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรมต่อไป"

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า ในเชิงตัวเลข เม็ดเงินงบประมาณเท่าใดนั้น พะเยาจะไม่พูดถึงเลย ผู้ว่า ฯ จะเสนอเชิงความคิด แผนกิจกรรมต่างๆ ที่มีงบประมาณอยู่นั้น ก็จะให้สภาพัฒน์ไปอยู่แล้วซึ่งเมื่อครม.เห็นชอบก็จะขับเคลื่อนแผนงานตามนี้ได้รวดเร็วขึ้น ซึ่งไม่เหมือนกับที่บุรีรัมย์ที่ว่าได้งบเท่านั้นเท่านี้

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่ ครม.จะนำขึ้นโต๊ะคือ ประเด็นเรื่องค้ามนุษย์ ซึ่งประเด็นนี้ นาย
สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองนายกรัฐมนตรี เสนอให้เร่งยกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ให้ที่ประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดพะเยาได้พิจารณาเป็นการเร่งด่วน

โดยในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุม ได้เสนอให้เร่งยกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และให้นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดพะเยาได้พิจารณา เพื่อให้กฎหมายมีเนื้อหาครอบคลุมและทันสมัยขึ้น ทั้งได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงประสิทธิภาพด้านเครื่องมือป้องกันการค้ามนุษย์ โดยแต่ละหน่วยงานต้องมีคู่มือการทำงานของตัวเอง และปฏิบัติงานอย่างประสานเป็นระเบียบเดียวกัน และได้กำหนดให้ศูนย์กลางการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบอยู่ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมตั้งศูนย์ในระดับภูมิภาคให้ผู้ว่า ฯ ซีอีโอ เป็นประธานอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์แต่ละจังหวัด ส่วนในต่างประเทศมอบให้ทูตซีอีโอ เป็นประธาน

ขณะที่นายกรัฐมนตรี ได้ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล นำเงินจากโครงการสลากพิเศษจำนวน 100 ล้านบาท มาจัดตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือผู้ถูกกระทำ พร้อมขอความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้ทำการเซ็นสัญญาร่วมกับประเทศลาวแล้ว โดยเป้าหมายต่อไปคือประเทศพม่า และกัมพูชา

นายสัมพันธ์ สุวรรณทับ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดพะเยา เห็นว่าน่าจะเป็นช่วงเวลาประจวบเหมาะที่ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย จะนำปัญหาการค้ามนุษย์ เข้าสู่ที่ประชุม ครม.สัญจรที่พะเยา ซึ่งอาจเป็นเพราะภาคเหนือมีความพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม โดย 9 จังหวัดภาคเหนือ (8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน กลุ่มล้านนา และตาก) มีข้อตกลงความร่วมมือแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็กร่วมกัน ซึ่งเป็นรูปธรรม เนื่องจากพื้นที่นี้เป็นต้นทาง เป็นทางผ่าน และเป็นปลายทางของปัญหานี้ด้วย ซึ่งวิธีการดำเนินการ มีการทำข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม นี่คือความพยายามและความสำเร็จอย่างหนึ่ง เพราะมีการจับกุม ช่วยเหลือคุ้มครองเหยื่อ สร้างอาชีพ พัฒนาระบบข้อมูล มีผู้ว่าราชการจังหวัดขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับประเด็นนี้ในพื้นที่พะเยา ภาพของคนที่มองในอดีต เรื่องของหญิงไปต่างประเทศมากนั้น ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ก็อยู่ในระบบการศึกษากันมากแล้ว อาจมีบ้างในกลุ่มคนรุ่นเก่าที่ยังชักจูงกันไปอยู่

นายสัมพันธ์บอกว่า คนพะเยาในภาพรวม ประชาชนจะมีหนี้สินประมาณ 90 % ของชาวบ้านมีหนี้สินอยู่ เช่นในปี 2546 หนี้ระหว่าง 10,000 - 50,000 บาทมีราว 40 % หนี้ 50,000 - 100,000 บาท มี 30 % หนี้ 100,00 - 300,000 บาท มี 20 % และหนี้ 300,000 บาทขึ้นไปมี 10 %

ทั้งนี้รายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย ส่วนมากที่มีหนี้เพราะการใช้จ่ายของครอบครัว การลงทุนทำเกษตร เครื่องอำนวยความสะดวก

ด้านที่ดินทำกินมีปัญหา เพราะมีพื้นที่ป่ามาก ชาวบ้านมีพื้นที่ทำกินต่ำกว่า 10 ไร่ ถือว่าเป็นขนาดเล็ก ปลูกพืชได้ฤดูกาลเดียว น้ำไม่ถึง ประสบปัญหาภัยแล้ง แรงงานเลยอพยพออกนอกพื้นที่ไปต่างถิ่นกันมาก ทั้งนี้คนในวัย 25-40 ปีไปทำงานต่างประเทศ ก่อสร้าง ร้านอาหาร ภัตตาคาร คาราโอเกะ โดยตัวเลขคนทำงานต่างประเทศถูกต้องตามกฎหมายปี 2547 มี 8,739 ราย เป็นชายส่วนใหญ่ไปสิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น เยอรมัน ออสเตรเลีย ส่วนที่ไม่ถูกกฎหมายที่ถูกส่งกลับมาในปี 2545-2547 ราว 19 ราย

" เมื่อไปต่างถิ่น เจ็บป่วยกลับมามาก เช่นเจ็บป่วยด้วยโรคเอดส์ขณะนี้มีรายงานว่ามีจำนวน 13,000 ราย มีเด็กกำพร้า ถูกทอดทิ้ง จนทำให้คนในพะเยาส่วนมากเป็นเด็กและคนแก่ ซึ่งเมื่อก่อนมีอัตราเด็กต้องออกโรงเรียนกลางคันถึงเกือบ 1,000 คน แต่ตอนนี้ลดลงเหลือราว 80-90 ราย เนื่องจากเริ่มมีทุนการศึกษาเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ จังหวัดพะเยาจะเสนอให้รัฐบาลช่วยดูแลเรื่องทุนการศึกษาเด็กเพื่อให้เรียนต่อเนื่องถึงระดับมหาวิทยาลัยซึ่งต้องใช้เงินค่อนข้างสูงด้วย" นายสัมพันธ์กล่าวด้วยว่า ภาพการไปหาเงินต่างประเทศของคนในพะเยาที่เกี่ยวข้องกับการค้าหญิงเป็นภาพในอดีต

ปัญหาการตกเขียวไม่มีแล้ว แต่รูปแบบการไปค้าบริการเป็นลักษณะสมัครใจ โดยการชักจูงของคนรุ่นเก่า คนที่มองเรื่องวัตถุนิยม เลยมีปัญหาหย่าร้างกันสูงด้วย แต่คนในชุมชนก็ร่วมสร้างกระบวนการเฝ้าระวังกันเอง และพยายามพัฒนาด้วยระบบทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม พยายามผลักดันแผนชุมชนให้มีโครงการที่นำภูมิปัญญาเข้ามา

สำหรับกำหนดการประชุม ครม.ครั้งนี้ กำหนดสถานที่ประชุมไว้ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตสารสนเทศพะเยา จังหวัดพะเยา โดยในวันที่ 13 มิถุนายน มีกำหนดการเดินทางไปพื้นที่อำเภอเชียงคำดูงานการจัดการป่าไม้และที่ดิน การปลูกยางพารา มอบกล้ายางพาราให้เกษตรกร พบปะ รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับผู้สูงอายุและผู้นำชุมชน เดินทางไปอำเภอดอกคำใต้พบปะเสวนากับปราชญ์ชาวบ้าน เดินทางไปอำเภอแม่ใจ เป็นประธานเปิดโครงการฝายแม้วของตำบลแม่ปืม เดินทางไปชมภูมิทัศน์กว๊านพะเยา รับฟังบรรยายสรุป

ส่วนในวันที่ 14 มิถุนายน มีโปรแกรมเยี่ยมชมศูนย์อุตสาหกรรมอัญมณีพะเยา รับฟังบรรยายสรุป การป้องกันการค้ามนุษย์ ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี เสร็จภารกิจแล้วเดินทางกลับกรุงเทพฯ

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาคพลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net