Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประชาไท -- 7 มิ.ย. 48 ที่ประชุม ครม.วันนี้ มีมติอนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา อ.จะนะ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ มีวงเงินทุนทั้งสิ้น 16,908.55 ล้านบาท โดยระบุว่าโครงการดังกล่าวได้บรรจุอยู่ในแผน พัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของไทย พ.ศ.2547-2548 (พีดีพี 2004) ซึ่ง ครม. เคยเห็นชอบไปแล้วเมื่อ 24 ส.ค.2547 ทั้งนี้ ได้กำหนดให้ กฟผ.ปฏิบัติตามแผนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ด้วย

นายเฉลิมเดช ชมพูนุท โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุม ครม. วันนี้ ว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมสงขลา จะก่อสร้างบนพื้นที่ 751 ไร่ โดยการจัดหาเงินลงทุนให้ กฟผ.พิจารณาใช้เงินกู้จากต่างประเทศหรือเงินกู้ในประเทศที่เอื้อประโยชน์แก่หน่วยงานและประเทศสูงสุด และเห็นควรอนุมัติงบประมาณประจำปี 2548 ตามแผนการเบิกจ่ายสำหรับโครงการนี้ เป็นจำนวนเงิน 619.07 ล้านบาท

สำหรับโรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่ง กฟผ.อ้างว่าเคยเป็นโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนพีดีพี 2002 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2546 โดยให้เหตุผลขณะนั้นว่าเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการวางท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ทั้งนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ปตท.ดึง กฟผ.เข้ามาร่วมสร้างโรงไฟฟ้าหลังจากที่ ปตท. เคยประสบปัญหามวลชนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ กฟผ.จัดทำรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการต่อต้านของประชาชนในพื้นที่ ในด้านผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และด้านสิ่งแวดล้อม โดยให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในคราวประชุมครั้งที่ 5/2548

ทั้งนี้ มติคณะกรรมการฯ เห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้ กฟผ. ต้องปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามที่ชาวบ้านได้ออกมาคัดค้านอย่างต่อเนื่อง

กล่าวคือ ต้องนำแผนดังกล่าวไปกำหนดเงื่อนไขสัญญาจ้างในขั้นตอนการว่าจ้างบริษัทออกแบบ ก่อสร้าง และดำเนินการ ของ กฟผ. โดยให้มีผลทางการปฏิบัติ ประการต่อมาคือต้องบำรุงรักษาระบบหอหล่อเย็นให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี โดยหากมีแนวโน้มปัญหาสิ่งแวดล้อม ให้ กฟผ.ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว พร้อมประสานร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดขลา

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้กำหนดให้ กฟผ.เสนอรายละเอียดการเปลี่ยนแปลงผลการศึกษาและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ส่งให้บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด หรือ ปตท.สผ.พิจารณาก่อนดำเนินการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง ซึ่งหากมีปัญหา ข้อวิตกและห่วงใยของชุมชน กฟผ.ต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้งของชุมชนในพื้นที่ทันที

ขณะที่ การดำเนินโครงการดังกล่าว ต้องสร้างความมั่นใจของชุมชนให้เกิดการยอมรับ โดย เฉพาะต้องระมัดระวังการใช้น้ำเพื่อการหล่อเย็น เนื่องจากอาจเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางน้ำ การประมง และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแหล่งธรรมชาติ

ยิ่งไปกว่านั้น ตามมติคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในคราวประชุม ครั้งที่ 4/2548 (นัดพิเศษ) ให้ตั้งคณะกรรมการร่วม ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ กฟผ. ผู้แทนผู้รับเหมา ผู้แทนชุมชน และผู้แทนเจ้าหน้าที่ภาครัฐในพื้นที่ เพื่อกำกับดูแลและติดตามผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับรายงานผลและประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนรับทราบผลกระทบที่มีต่อวิถีชีวิตที่เกิดจากการมีโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจและการยอมรับจากสาธารณชนต่อไป

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net