เกิดอะไรขึ้นกับ A day weekly

จั่วหัวของบทความนี้ เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในแวดวงคนที่ติดตามความเป็นไปของนิตยสารวิเคราะห์การเมืองรายสัปดาห์น้องใหม่นาม A day weekly อย่างใกล้ชิด

นิตยสารวิเคราะห์การเมือง ที่มีเนื้อหาคมมาก (คนทำเขาว่าอย่างนั้น) เปิดตัวขึ้นมาเมื่อกลางปีที่แล้ว

หลังผ่านทั้งถ้อยวิพากษ์และเสียงชื่นชมมาเป็นเวลาขวบปีนิดๆ ด้วยจำนวนพิมพ์ประมาณ 6,000 ฉบับต่อสัปดาห์ และยอดขายที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ A day weekly กลับปิดตัวลงอย่างกะทันหันโดยปราศจากคำร่ำลา

กระทั่งว่าในคอลัมน์บ.ก. ตอบจดหมาย "post it easy" ฉบับ 2-8 มิ.ย. 2548 ก็ยังกล่าวถึง "การกระจายหนังสือไปยังตลาดหัวเมืองให้มากขึ้น" ก็ยิ่งเป็นการยืนยันถึงความ "กะทันหันอย่างยิ่ง"

การคาดเดาที่รอคำเฉลย

ผ่านมา 1 สัปดาห์ ยังไม่มีการเอ่ยเอื้อนอธิบายใด ๆ จากกองบรรณาธิการ A day weekly ซึ่งขณะนี้ พวกเขาทั้งหมด อยู่ในบรรยากาศของการพักผ่อนจากศึกภายใน ที่เกาะเสม็ด

บางคนในทีมข่าว บอกกับประชาไทอย่างเต็มปากว่า ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป และยังไม่มีอะไรทำ ส่วนทีมที่เหลือนั้น ถือว่าเป็นภาระที่พวกพี่ ๆ ต้องช่วยหาที่ทางให้น้องๆ

อาจเพราะไม่เคยมีคำตอบใด ๆ จากทางกอง บ.ก. แม้เวลาผ่าน และข่าวสะพัดด้วยวิธีปากต่อปาก และเมล์ต่อเมล์แล้ว จึงมีการโพสต์การคาดการณ์ถึงการปิดตัวลงของ A day weekly ลงในเว็บไซด์พันธุ์ทิพย์http://www.pantip.com/cafe/library/topic/K3521550/K3521550.html และเว็บบอร์ดประชาไทhttp://www.prachathai.com/board/question.asp?QID=185บ้างก็ว่าเป็นเพราะความขัดแย้งจากการลงโฆษณาให้กับบริษัทใหญ่ด้านการสื่อสารพร้อมๆ กับบทสัมภาษณ์ บ้างก็ว่าเพราะบรรณาธิการอำนวยการเข้าแทรกแซงกอง บ.ก. โดยพยายามผลักดันคอลัมนิสต์สาวด้านไลฟ์สไตล์คนหนึ่งเข้าไปมีส่วนในนิตยสารวิเคราะห์การเมืองฉบับนี้ บ้างก็คาดเดาว่าเกิดจากการขาดทุน

อันที่จริงแล้ว ไม่มีใครตอบผิด แต่ก็ไม่มีใครตอบถูกทั้งหมด ก่อนเหตุการณ์สุดท้ายจะเกิดขึ้น มันย่อมมีเหตุการณ์หลากหลายเกิดนำมาก่อนแล้ว แต่อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายที่ยึดโยงพวกเขาไว้ แล้วพรากพวกเขาจากกันในที่สุด

ฟางเส้นสุดท้ายของ อะเดย์

จากปากคำของ "คนใน" กองบ.ก. ทุกคำตอบ ทุกการคาดเดา ตอบได้ง่าย ๆ ว่าถูกทุกข้อ การขาดทุนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ต้องปิดตัวลงไป แต่คงจะไม่ make sense เท่าใดนัก สำหรับการประเมินว่าหนังสือจะอยู่หรือไปจากยอดขายเพียงหนึ่งปี

เพราะโดยทั่วไป สำหรับนิตยสารน้องใหม่ 2-3 ปีนั่นแหละ จึงจะถึงเวลาประเมินอีกที ว่าจะมีแววขาดทุนหรือได้กำไร และควรทำต่อไปหรือไม่

สำหรับกรณีของการโฆษณานั้น ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง แต่ยังไม่ใช่ดาบสุดท้าย

การเกิดขึ้นของ A day weekly ต้องไม่ลืมว่าหมอตำแยของนิตยสารวิเคราะห์ข่าวฉบับนี้คือ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ซึ่งดำรงตำแหน่งบรรณาธิการอำนวยการ ภายใต้ผู้ให้ทุนคือ บริษัท ทราฟฟิค คอร์นเนอร์

แน่นอนว่า หนังสือขาดทุนย่อมไม่เป็นที่น่าพอใจของนายทุนนัก แต่ A day weekly ก็ยันมาได้จนถึงสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยกำลังภายในของหมอตำแยเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ความไม่เข้ากันระหว่างผู้ก่อตั้งกับคนทำนั้น น่าจะคาดเดาได้ไม่ยาก เพียงลองย้อนกลับไปอ่าน หน้ารองท้ายที่มีชื่อคอลัมน์ว่า "มากกว่านั้น" ใน 4 ฉบับก่อนที่ A day weeklyจะปิดตัวลงไป ก็จะพบความแตกต่างระหว่างคอลัมน์สุดท้าย กับภาพรวมของ A day weekly ซึ่งประกาศตัวว่าเป็น นิตยสารวิเคราะห์การเมืองรายสัปดาห์

แต่ปมสุดท้ายที่ทำให้คนทำคลอด ตัดสินใจยุติการมีชีวิตของนิตยสารวัยขวบเศษนั้น แหล่งข่าวในกองบ.ก. กล่าวว่า มีเหตุมาจากการลงโฆษณาให้กับทุนสื่อสารยักษ์ใหญ่ตามคำร่ำลือจริง

แต่ฟางเส้นสุดท้ายนั้นดูเหมือนจะเป็นจดหมายจากคอลัมนิสต์หญิงคนหนึ่ง ที่เขียนไปต่อว่าหมอตำแย ด้วยถ้อยคำรุนแรง โดยอ้างถึงบทบรรณาธิการว่าด้วย "วิวัฒนาการของปลาบึก" ซึ่งก็อ้างอิงจากเรื่องสั้นของชัชรินทร์ ไชยวัฒน์ อีกที ในฉบับประจำวันที่ 19-25 พ.ค. 2548

..... "บางทีมันอาจต้องการผิวกายที่แข็งและหยาบขึ้น เพื่อรับมือแรงเสียดสีจากเขี้ยวเล็บของศัตรู.....นึกได้เท่านั้น ปลาบึกชราก็เกิดอาการสะอิดสะเอียนกับภาพวิวัฒนาการของตัวเอง" .....

เธออ้างอิงคำของ บ.ก. อธิคม เพื่อไถ่ถามวงศ์ทนงว่า จะนำพา A day weekly ไปสู่วิวัฒนาการแบบใด และ A day weekly จะวิวัฒนาการไปสู่อะไร

เธอ "ถาม" วงศ์ทนงว่า อนาคตของ A day weekly ว่าจะกลายไปเป็นสัตว์เลื้อยคลานบางประเภทหรือไม่

คำบอกเล่าจาก "คนใน" เชื่อว่า จดหมายฉบับนั้น เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้วงศ์ทนงตัดสินใจที่จะยุติการปกป้องให้ A day weekly ยังคงมีพื้นที่อยู่บนแผงหนังสือแม้จะขาดทุนก็ตาม

"เขาก็คงต่อว่าด้วยความเป็นห่วงน่ะ" "คนใน" บอกกับประชาไท...เธอคงไม่คิดว่า การแสดงความห่วงใยของเธอจะทำให้เธอไม่มีโอกาสได้แสดงความเป็นห่วงอีกต่อไป

......ทั้งหมด ก็เป็นเพียงคำบอกเล่าเพิ่มเติมจาก "คนใน" ซึ่งพูดด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง และจนบัดนี้ พวกเขาทั้งหมดยังไม่มีคำตอบว่าจะมีการอธิบายอะไรอย่างเป็นทางการหรือไม่

สุดท้ายจริง ๆ ในฐานะคนนอกผู้สนใจและใส่ใจ คงได้แต่พยายามหาคำอธิบายกันต่อไป และรอเพียงคำตอบอย่างเป็นทางการจากปากของผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งแหล่งทุน ผู้ก่อตั้งหนังสือ และกองบรรณาธิการ เหลือเพียงแต่ว่าพวกเขาจะพูดหรือไม่พูดเท่านั้น

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท