Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-9 มิ.ย.48เชียงใหม่ประเดิมเปิดตัวโรงงานไบโอดีเซลชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย ผลิตเพื่อผสมสูตรบี 2 ให้ได้วันละ 100,000 ลิตร ขณะที่ผลศึกษาด้านมลพิษยังไม่มีการสรุปแน่ชัด ทำให้หลายฝ่ายกังวลกันว่า จะส่งผลทำให้เกิดโอโซนทำให้โลกร้อน อากาศเป็นพิษ พืชผลทางการเกษตรเสียหาย

นายบุญทอง อึ้งตระกูล หัวหน้าโครงการวิจัยสาธิตผลิตไบโอดีเซลจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าโรงงานไบโอดีเซลชุมชน บี 2 แห่งแรกของประเทศ โดยตั้งอยู่ที่ด้านหลังของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เป็นความร่วมมือของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับหลายหน่วยงานก่อตั้งขึ้น เพื่อวิจัยและผลิตไบโอดีเซลเพื่อทดลองนำร่องให้รถสองแถวรับจ้างได้ทดลองใช้ และจะมีการเปิดตัว อย่างเป็นทางการ ในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีมาเป็นประธานกดปุ่มเดินเครื่อง

"ขณะนี้ ได้นำน้ำมันพืชใช้แล้วจากโรงงานฟิร์โตเลย์และลีโอฟู๊ด มาผลิตเป็นไบโอดีเซลได้วันละ 2,000 ลิตร และผสมกับน้ำมันดีเซลทั่วไปในอัตราส่วน 2 ส่วนต่อ 98 ส่วน ทำให้ได้น้ำมันไบโอดีเซลวันละ 100,000 ลิตร จำหน่ายในราคาประหยัดกว่าดีเซลปกติลิตรละ 50 สตางค์ ซึ่งรถสี่ล้อแดงจำนวน 1,000 คันในเชียงใหม่ได้ใช้งาน ซึ่งไม่เกิดผลกระทบต่อเครื่องยนต์ ควันดำลดลง เพราะได้มาตรฐานของอเมริกาและยุโรป" นายบุญทอง กล่าว

อย่างไรก็ตาม ไบโอดีเซลบี 2 ตามโครงการนำร่องนี้ จำหน่ายในเชียงใหม่วันละ 5,000 ลิตรเนื่องจากมีสถานีจำหน่ายอยู่ 2 แห่งคือสถานีบางจาก ย่านถนนมหิดล และสถานีปตท.ย่านหายยา แต่จากสต็อกน้ำมันที่เหลือ ในเดือนมิถุนายนนี้ จะเพิ่มสถานีบริการเพิ่มอีก 3 สถานี คือบางจาก และปตท.ย่านสันกำแพง และปตท.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเปิดให้รถยนต์ทั่วไปได้ใช้บริการ

หลังจากนั้น จะมีโครงการทดลองสูตรผสมบี 5 และ บี 10 ต่อไป เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนของประเทศในอนาคต โดยจะได้นำน้ำมันพืชใช้แล้วจากการทอดแคบหมู ทอดปาท่องโก๋ และจากร้านอาหารมาอยู่ในกระบวนการผลิตด้วยต่อไป ซึ่งในกระบวนการผลิตยังได้กรีเซอรีนบริสุทธิ์ ที่จะใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสบู่หรือแชมพูชุมชนในอนาคต
"ขณะนี้ต้นทุนการผลิตไบโอดีเซลของเชียงใหม่ ราว 80 % อยู่ที่วัตถุดิบ ซึ่งคือน้ำมันพืชที่ราคาไม่สูงราว10 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเมื่อผลิตใบโอดีเซลแล้วจะได้ต้นทุน 16.50 บาทต่อลิตร และจำหน่าย 18.80 บาท ซึ่งก็ถูกกว่าราคาตลาดลิตรละ 50 สตางค์"หัวหน้าโครงการวิจัยสาธิตผลิตไบโอดีเซลจังหวัดเชียงใหม่ ระบุ

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศระหว่างปี 2548-2555 คาดว่าในปี 2555 ประเทศไทยจะต้องใช้ดีเซล 85 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นจะต้องผลิตไบโอดีเซลทดแทนราว 10 % ซึ่งหมายถึง 8.5 ล้านลิตรต่อวัน โดยจะมีแผนก่อสร้างโรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ภาคใต้ ภาคกลาง และภาคอีสานต่อไป

อย่างไรก็ตามการผลิตพลังงานไบโอดีเซลที่กำลังมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นนั้น ทำให้นักวิชาการหลายคน มีความวิตกกังวล ถึงเรื่องปัญหาการควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจากไบโอดีเซล ซึ่งจะส่งผลกระทบในเรื่องการเกิดโอโซนในชั้นบรรยากาศมากขึ้น

ในงานวิจัยของ ดร.สาวิตรี การีเวทย์ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เปิดเผยถึงผลงานวิจัยที่ระบุถึงไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ว่า จะส่งผลให้เกิดปัญหาก๊าซโอโซนที่ทำลายพืชทางด้านเกษตรและสุขภาพของคนในเมืองใหญ่ เนื่องจาก ปัจจุบัน เมืองอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น ระยอง ปทุมธานี สมุทรปราการ ได้เกิดปัญหาก๊าซโอโซนขึ้น

โดยบางแห่งสามารถตรวจวัดค่าสูงสุดได้มากถึง 130 พีพีบี (ส่วนในพันล้านส่วน) จากค่ามาตรฐานที่ 100 พีพีบี โดยระบุถึงรายงานการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาพบว่า การใช้พลังงานชนิดนี้ส่งผลให้เกิดก๊าซโอโซนเพิ่มมากขึ้นเพราะพลังงานชีวมวล นั้นได้ปล่อยก๊าซไฮโดรคาร์บอนที่มีออกซิเจนสูงกว่าพลังงานชนิดอื่น ซึ่งนำไปสู่การเกิดก๊าซโอโซนได้ โดยรัฐแคลิฟอร์เนียและลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สั่งห้ามการใช้พลังงานทั้งสองชนิดแล้ว

ทั้งนี้ ข้อเสียของพลังงานไบโอดีเซล ก็คือ ก่อให้เกิดก๊าซไฮโดรคาร์บอน ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ซึ่งทำให้รูโอโซนกว้างขึ้น ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังก่อให้เกิดการสูญเสียธาตุอาหารในดิน และเกิดมลพิษทางอากาศส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนได้ในอนาคต ซึ่งมีนักวิชาการหลายฝ่ายออกมาเสนอแนะว่า ควรมีการศึกษาผลกระทบของพลังงานไบโอดีเซลให้มากขึ้น และศึกษาหาพลังงานทางเลือกอื่นๆ ที่ปลอดภัยกว่า และเกิดผลกระทบน้อยที่สุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net