Skip to main content
sharethis

โพลไม่ใช่มติมหาชน
บทสรุปทางวิชาการด้านการทำวิจัยของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
นพดล กรรณิกา
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล

ความเป็นมาของ "โพล"

คำว่า "โพล" ในหนังสือ An Introduction to Survey Research, Polling, and Data Analysis แต่งโดยคณาจารย์จาก Ohio State University ปี ค.ศ. 1996 ระบุไว้ชัดเจนว่า การทำโพลเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ที่ครอบคลุมการสำรวจความคิดเห็น (Opinion) ทัศนคติ (Attitude) ความเชื่อ (Belief) และพฤติกรรม (Behavior) ของประชาชนต่อปรากฎการณ์ทางสังคมทั้งที่เกิดขึ้นแล้วหรืออาจยังไม่เกิดขึ้นก็ได้ นอกจากนี้การทำโพลยังหมายรวมไปถึงการสำรวจข้อเท็จจริงทางสังคม (social facts) ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครระบุได้ว่าการทำสำรวจโพลครั้งแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่หลักฐานที่ปรากฏในคัมภีร์ของชาวคริสต์ระบุว่าการทำสำมะโน (Census) เกิดขึ้นโดยโมเสสที่ภูเขาซีนาย ต่อมา ชาวโรมันได้อาศัยสำมะโนเหล่านี้เพื่อจัดเก็บภาษีจากประชาชน นอกจากนี้การทำสำมะโนแรกๆ ในปี ค.ศ.1086 หรือ พ.ศ. 1629 ประเทศอังกฤษใช้เพื่อทำบัญชีรายชื่อผู้ครอบครองที่ดิน
จากนั้นในช่วงท้ายของศตวรรษที่ 19 การทำสำรวจทางสังคม (Social Survey) ได้เกิดขึ้นจำนวนมากโดยนักวิจัยอิสระและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลในประเทศอังกฤษและอเมริกา เพื่อศึกษาค้นหาเงื่อนไขทางสังคมและแก่นแท้ของความยากจน ต่อมาไม่นานนัก หนังสือพิมพ์และพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มทำโพลแบบง่ายๆ ในอเมริกา ขณะที่การทำวิจัยตลาดเองก็เริ่มต้นขึ้นด้วย

ในช่วงต้นๆ ของศตวรรษที่ 20 นักวิจัยจำนวนมากเริ่มทำสำรวจวิจัยในลักษณะเดียวกันกับระเบียบวิธีที่พวกเรารู้จักในปัจจุบันนี้ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1950 หรือ ปี พ.ศ. 2493 การทำโพลของสำนักต่างๆ ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรป (Herbert F.Weisberg and others, An Introduction to Survey Research, Polling, and Data Analysis, ค.ศ.1996 หน้า 3)

สำหรับในประเทศไทย การสำรวจผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทางการเมืองที่เริ่มมีการจัดทำและเผยแพร่อย่างเป็นกิจจะลักษณะได้แก่ การเลือกตั้งในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2518 โดย "นิด้าโพล"ได้ทำการสำรวจ 9 เขตเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร จากนั้นนิด้าโพลก็ยังได้ทำการสำรวจเพื่อทำนายผลการเลือกตั้งในวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2519 ยังผลให้มีหน่วยงานและสถาบันหลายแห่งได้เข้าสู่วงการสำรวจคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นนับจากนั้นเป็นต้นมา (อ้างในบทความของ เทวินทร์ ขอเหนี่ยวกลาง)

นอกจากนี้ โพลที่มีผลกระทบอย่างชัดเจนในทางการเมืองสมัยที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับแรงกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนายธีรยุทธ บุญมี หรือต่อมาเป็นที่รู้จักกันในนาม "ธีรยุทธโพล" ผู้ทำโพลและวิพากษ์วิจารณ์การเมืองประกอบผลโพลอย่างตรงไปตรงมาในทุกยุคสมัยของ รัฐบาลชุดต่างๆ ที่ผ่านมา

"สวนดุสิตโพล" เป็นสำนักโพลที่ถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการและมีผลสำรวจด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา 8 - 9 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ "เอแบคโพล" และ "กรุงเทพโพล" ก่อกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันหรือประมาณ 3 - 4 ปีที่ผ่านมา

โพลไม่ใช่มติมหาชน

ผู้เขียนได้อ่านบทความเรื่อง "ผลสำรวจจากโพลคือ "มติมหาชน" ?" เขียนโดย ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ซึ่งเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 มิถุนายน 2543 ที่ผ่านมา จึงใคร่ขอแบ่งปันความรู้และประสบการณ์บางส่วนที่ศึกษาและพบเจอมาในภาคปฏิบัติจริงให้สาธารณชนทราบ

ตามจริงคำว่าโพลถูกคนบางกลุ่มหรือแม้แต่นักวิชาการบางคนให้คำแปลที่ไม่ถูกต้อง โดยแปลกันไปว่าเป็น "สาธารณมติ" "มติมหาชน" หรือบางคน ไปไกลกว่านั้นถึงกับบอกว่าเป็น "การสำรวจประชามติ" ซึ่งคำเหล่านี้เป็นการแปลที่ไม่ถูกต้องเพราะ "ผลสำรวจจากโพล" เป็นข้อมูลที่ได้จากตัวอย่าง ของกลุ่มประชากรเป้าหมาย ซึ่งมีความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้ทุกขั้นตอนในการทำโพลตั้งแต่การตั้งหัวข้อเรื่องหรือประเด็นที่ทำสำรวจ การกำหนดวัตถุประสงค์ การสร้างแบบสอบถาม การกำหนดประชากรเป้าหมาย และขอบเขตในการศึกษา การกำหนดขนาดตัวอย่าง กระบวนการเลือกตัวอย่าง การเก็บรวบรวมข้อมูล การจัดเตรียมข้อมูลเพื่อประมวลผล การประมวลผลข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการตีความผลสำรวจเพื่อเขียนรายงานสรุป

ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้มีโอกาสของความคลาดเคลื่อนและอคติ (bias) เกิดขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น นักทำโพลอาจตั้งหัวข้อเรื่อง ประชาชนคิดอย่างไร ต่อผลงานรัฐบาลทักษิณ การตั้งหัวข้อเช่นนี้ไม่ถูกต้องเพราะมันไม่มีความชัดเจนว่า "ประชาชน" ในที่นี้ครอบคลุมถึงใคร ที่ใดบ้าง ผลที่ตามมาก็คือ คนที่อ่านผลสำรวจจากโพลนี้ก็จะเข้าใจคลาดเคลื่อนกันไปต่างๆ นานาว่า เป็นประชาชนทั่วประเทศหรือเฉพาะพื้นที่

ผู้เขียนจึงขอเสนอการตั้งหัวข้อให้ชัดเจนดังนี้ "ประชาชนคิดอย่างไรต่อผลงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ" จะเห็นได้ว่า การตั้งหัวข้อดังกล่าวนี้ช่วยลดทอนความคลาดเคลื่อนไปได้ค่อนข้างมากเลยทีเดียวเพราะชัดเจนว่าประชาชนในที่นี้ครอบคลุมใครและขอบเขตของการศึกษาอยู่ที่ใด

คราวนี้ลองมาพิจารณาความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากการสร้างแบบสอบถามที่มีอคติและชี้นำโดยจำกัดให้คนตอบไปในทิศทางที่นักทำโพลต้องการ เช่น ถ้าว่า ท่านพอใจระดับใดต่อผลงานของรัฐบาลในเรื่องกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งละ 1 ล้านบาท โดยมีตัวเลือกให้ผู้ตอบว่า พอใจ ไม่ค่อยพอใจ ไม่พอใจ จะเห็นว่า ตัวเลือกจะเอนเอียงไปในทางลบต่อผลงานรัฐบาล ยิ่งไปกว่านั้นเวลาสรุป ถ้าสรุปผลโดยนำเอา ไม่ค่อยพอใจ กับไม่พอใจไปรวมกันอีก ก็จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนอย่างมาก

ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขคือ ต้องมีตัวเลือกที่สร้างความสมดุลในคำตอบอย่างไม่เอนเอียง โดยควรมีตัวเลือกใหม่ดังนี้ คือ พอใจ ค่อนข้างพอใจ ไม่ค่อยพอใจ ไม่พอใจ และนักออกแบบสอบถามควรเพิ่มไปอีกหนึ่งตัวเลือกคือ ไม่มีความเห็น ผลที่ตามมาก็คือ ผู้ตอบพอใจมีตัวเลือกที่สมดุลและผู้ตอบบางคนไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตอบจึงอาจเลือกระบุไปว่ายังไม่มีความเห็น

ประเด็นสำคัญที่ต้องระมัดระวังสำหรับนักทำโพลคือ กระบวนการเลือกตัวอย่าง และการกำหนดขนาดตัวอย่าง ซึ่งถือได้ว่าทั้งสองขั้นตอนนี้เป็นหัวใจสำคัญ ที่จะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนหรืออคติในผลสำรวจ ส่งผลให้ผลสำรวจที่ได้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงอย่างมากมาย โดยที่ขั้นตอนนี้ของการทำโพลต้องการ นักสถิติ (statistician) หรือนักสุ่มตัวอย่าง (sampler) มาช่วยในการคิดคำนวณขนาดตัวอย่างที่เหมาะสมกับโครงการ และวิธีการเลือกตัวอย่าง ที่คำนึงถึงความเป็นไปได้ทางสถิติในการเป็นตัวแทนที่ดีของประชากรเป้าหมาย ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหาของความเข้าใจที่คลาด
เคลื่อนอย่างมากในกลุ่มคนที่อ่านผลโพล และแม้กระทั่งนักทำโพลเอง เพราะคนส่วนมากเชื่อว่าต้องเก็บตัวอย่างเป็นจำนวนมากจึงจะน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เนื่องจากจำนวนตัวอย่างที่มาก เพียงอย่างเดียวกลับจะสร้างความผิดพลาดคลาดเคลื่อนในผลสำรวจ

ตัวอย่างเมื่อ 60 ปีที่แล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา นักการเมืองออกมาเรียกร้องให้ทำโพลโดย เก็บข้อมูลจากประชาชนให้มากๆ จึงมีสำนักโพลแห่งหนึ่งเกิดบ้าจี้ทำตาม เก็บมากถึง 10 ล้านคน ผลปรากฏว่า ข้อมูลทำนายผลการเลือกตั้งผิดพลาดอย่างมากมาย ในขณะที่สำนักโพลอื่นๆ เก็บเพียงแค่ 1 พันกว่าตัวอย่างเท่านั้น

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมสำนักโพลที่เก็บตัวอย่างเพียงพันกว่าตัวอย่างจึงถูกต้องเที่ยงตรงมาก
กว่าสำนักโพลที่เก็บเป็นล้านๆ คน คำตอบก็คือว่า การกำหนดขนาดตัวอย่างจำเป็นต้องสอดคล้องกับกระบวนการเลือกตัวอย่าง (process of sample selection) ด้วย ซึ่งจะได้มาก็ต้องอาศัย การคำนวนด้วยสูตรทางสถิติ

และถ้าหากมีการเลือกตัวอย่างหลายช่วงชั้น (multistage sampling) ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงค่าผลกระทบ (design effect) จากการเลือกตัวอย่างด้วย มิฉะนั้นความคลาดเคลื่อนก็จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมายเช่นกัน

คำถามที่ตามมาคือ ทำไมสำนักโพลที่เก็บตัวอย่างเพียงพันกว่าตัวอย่าง จึงถูกต้องเที่ยงตรงมากกว่าสำนักโพลที่เก็บเป็นล้านๆ คน คำตอบก็คือว่า การกำหนดขนาดตัวอย่างจำเป็นต้องสอดคล้องกับกระบวนการเลือกตัวอย่าง (process of sample selection) ด้วย ซึ่งจะได้มาก็ต้องอาศัยการคำนวนด้วยสูตรทางสถิติ และถ้าหากมีการเลือกตัวอย่างหลายช่วงชั้น (multistage sampling) ก็จำเป็นต้องคำนึงถึงค่าผลกระทบ (design effect) จากการเลือกตัวอย่างด้วย มิฉะนั้นความคลาดเคลื่อนก็จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมายเช่นกัน

ตัวอย่างที่จะยกมาให้เห็นที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเป็นห่วงวงการทำโพลในประเทศไทย ก็เพราะว่ามี หน่วยงานราชการแห่งหนึ่ง ต้องการให้สำรวจความพึงพอใจของลูกค้าต่อการให้บริการ จึงได้เรียกสำนักโพลต่างๆ จำนวนมากมานำเสนอเทคนิคและระเบียบวิธี ซึ่งพบว่า สำนักโพลเหล่านั้น เสนอขนาดตัวอย่างตามสูตรของนักสถิติท่านหนึ่งในลักษณะของสูตรสำเร็จรูป โดยหารู้ไม่ว่าสูตรเหล่านั้นเป็นสูตรกำหนดขนาดตัวอย่างที่เหมาะสมกับ การเลือกตัวอย่างแบบง่าย (simple random sampling) ไม่ใช่เหมาะกับทุกวิธีของการเลือก ตัวอย่าง คราวนี้ถ้าหน่วยงานราชการแห่งนั้นได้ผลสำรวจไป และเชื่อตามก็อาจตัดสินใจผิดพลาดได้อย่าง น่าเป็นห่วง

ตามจริงแล้วยังมีอีกหลายขั้นตอนแต่คงต้องการเวลาที่มากพอในการอธิบาย อย่างไรก็ตามขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งที่น่าพิจารณาคือ การเก็บรวบรวมข้อมูล (data collection) ที่อาจมีปัญหาความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งๆ ที่นักสถิติจะออกแบบการเลือกตัวอย่างและกำหนดขนาดตัวอย่างได้อย่างเหมาะสมเพียงไร แต่ถ้าในกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลมีปัญหาต่อไปนี้ก็จะทำให้ ผลสำรวจนั้นผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้ ดังตัวอย่างเหตุปัจจัยต่อไปนี้อย่างน้อย 3 ประการคือ ประการแรก พนักงานเก็บข้อมูลสร้างข้อมูลเท็จ หรือที่เรียกว่า นั่งเทียนเขียน ประการที่สอง ประชาชนผู้ตกเป็นตัวอย่างไม่ยอมตอบ (non - response) ประการที่สาม พนักงานเก็บข้อมูลไม่สามารถติดต่อกับกลุ่มตัวอย่างได้ (non - contact) ซึ่งนักวิจัยและนักสถิติจะต้องนำปัญหาเหล่านี้มาพิจารณาและควบคุมมิให้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของข้อมูลผล สำรวจได้

นอกจากนี้ ผู้เขียนขอกล่าวถึงความคลาดเคลื่อนที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการสุ่มตัวอย่าง (non - sampling errors) ซึ่งได้ กล่าวถึงไปบ้างแล้วบางส่วนแต่คงต้องรวมไปถึงความคลาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นจากการลงรหัส ข้อมูล การป้อนข้อมูล และการประมวลผลข้อมูลที่เกิดความผิดพลาดขึ้น และส่งผลทำให้ผลสำรวจผิดเพี้ยนไปได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เมื่อทำนายผลการเลือกตั้งจำนวนที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ผ่านมา สำนักโพลทุกสำนักกำหนดยอมรับความคลาดเคลื่อนจากการสุ่มตัวอย่างไว้ที่บวกลบร้อยละ 5 โดยมีช่วงความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95 แต่พอผลการเลือกตั้งจริงออกมา จะเห็นว่าโพลทุกสำนักผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากตัวเลขเดิมที่กำหนดไว้ ซึ่งพบว่า สำนักโพลบางแห่งมีความคลาดเคลื่อนสูงเกือบร้อยละ 30 ในขณะที่ สำนักโพลแห่งหนึ่งคลาดเคลื่อนไปร้อยละ 8 ทั้งๆ ที่นักวิจัยและนักสถิติกำหนดความคลาดเคลื่อนจากการสุ่มตัวอย่างไว้ที่ร้อยละ 5 จึงเห็นได้ว่า นอกจากความคลาดเคลื่อนจากการสุ่มตัวอย่างแล้วยังต้องพิจารณาความคลาดเคลื่อนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสุ่มตัวอย่างด้วย จึงเรียกความคลาดเคลื่อนทั้งสองนี้ว่า ความคลาดเคลื่อนรวบยอด (total errors) ซึ่งไม่มีใครรู้ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเท่าใด

ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนหวังว่าคงจะมีเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนผู้อ่านผลโพลหรือได้ยินได้ฟังผลสำรวจต่างๆ เห็นได้ว่า ผลสำรวจ จากโพลไม่ใช่มติมหาชน แต่มันเป็นเพียงข้อมูลประเภทหนึ่งที่ผู้อ่านหรือพบเห็นต้องมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ซึ่งถ้าจะเชื่อก็ควรนำผลสำรวจจากโพล ไปประกอบกับแหล่งความเป็นจริงด้านอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่แนะนำให้เชื่อแต่แนะนำให้รับฟังไว้อย่างมีสติ โดยระลึกอยู่เสมอว่าผลโพลไม่ใช่ กรรมการตัดสินชี้ขาด และนักทำโพลเองก็ต้องไม่ให้น้ำหนักกับผลโพลเป็นเสมือน "คำพิพากษา"

นอกจากนี้ ข้อมูลที่นักทำโพลได้มาจากการทำสำรวจก็เป็นเพียงแค่ภาพปรากฏทางสังคม (social phenomena) ไม่ใช่ "ความเป็นจริงทางสังคม" (social reality) ในตัวมันเอง ดังนั้นผลสำรวจที่นักทำโพลได้จึงไม่ใช่ความเป็นจริง มันเป็นเพียงแค่เปลือกของความเป็นจริงเท่านั้น เพราะ ปรัชญาของความเป็นจริงคือ ความเป็นจริงคืออะไร เป็นสิ่งที่ไม่มีใครรู้ได้ (reality is unknown) อย่างไรก็ตาม ประชาชนก็ไม่ควร ปฏิเสธหรือมองข้ามผลสำรวจจากโพลโดยสิ้นเชิง เพราะโพลเองก็มีประโยชน์ในฐานะที่สำรวจมาจากตัวอย่าง (sample survey) ซึ่งถ้า มีกระบวนการเลือกตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีของประชากรเป้าหมายและมีการควบคุมคุณภาพของการสำรวจอย่างดี ผลสำรวจจากตัวอย่างก็จะเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามหาศาลต่อสังคมประเทศ เพราะถ้าผู้มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินฟังผลสำรวจความรู้สึกนึกคิดของ ประชาชนบ้าง ก็ยังดีกว่าตัดสินใจอะไรตามอารมณ์หรือความรู้สึกของคนเพียงไม่กี่คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net