แก่นแท้การรับเพื่อนใหม่ของธรรมศาสตร์ที่ถูกลืมไปจากใจนายกฯ อมธ. ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เรียน บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท และฝากถึงนายกองค์นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.)

เรื่อง แก่นแท้การรับเพื่อนใหม่ของธรรมศาสตร์ที่ถูกลืมไปจากใจนายกฯ อมธ. ?

ช่วงเวลานี้ ข่าวคราวร้อนที่สุดในวงการสื่อสารมวลชน นอกจากเรื่องคุณเสนาะ เทียนทอง และกรณีคอรัปชั่นเครื่องเอ็กซเรย์ CTX แล้ว คงไม่มีข่าวไหนร้อนแรงเท่ากับข่าวการรับน้องตามสถาบันอุดม
ศึกษาต่างๆ ที่ปรากฏ ทั้งกรณีการหามรุ่นน้องปีหนึ่งเข้าโรงพยาบาล หรือแม้กรณีที่ยังไม่ชัดเจนอย่างการฆ่าตัวตายของ "น้องหมู" นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทางครอบครัวเชื่อว่า มาจากสาเหตุการรับน้องที่กดดันสภาพจิตใจตามที่เป็นข่าว

เมื่อวานนี้ ผมมีโอกาสดูรายการ "ถึงลูกถึงคน" ของคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา มีการเชิญนายกองค์การนิสิต/นักศึกษาของสถาบัน "ชั้นนำ" ของประเทศเข้ามาถกเรื่องคำสั่งของ สกอ. (สำนักงานคณะกรรม
การการอุดมศึกษา) ที่ขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ยกเลิกการรับน้องในปีนี้ โดยเฉพาะการ "ว้าก" และการกระทำที่หมิ่นเหม่จะเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพในตัวของรุ่นน้อง

น่าสนใจว่า หนึ่งในผู้รับเชิญเข้าร่วมรายการคือ "นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" (อมธ.) คนปัจจุบัน ที่มีทัศนะปรับเปลี่ยน และเปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่น่าเชื่อและสำหรับในความเห็นของผมแล้ว เขาไม่น่าจะเข้าใจคำว่า "ธรรมศาสตร์" และ"เสรีภาพทุกตารางนิ้ว" ในดินแดนโดมดีพอ

ความคิดต่างในสังคมนั้น เป็นเรื่องที่ผมยอมรับว่า ต้องมี และเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมและประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อคืนผมรู้สึกรับไม่ได้กับอะไรบางอย่างในคำกล่าวของนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนปัจจุบันอย่างยิ่ง จึงต้องขออนุญาตเขียนมาแสดงความคิดเห็น

ตลอดการดำเนินรายการของคุณสรยุทธนั้น นายกองค์การนักศึกษาของธรรมศาสตร์ ที่ต่อไปนี้ผมจะขอเรียกว่า "นายกอมธ." นั้น ได้แสดงตัวประหนึ่งว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีกิจกรรมการรับน้อง
โดยเฉพาะในแบบที่เรียกว่า "การว้าก" เป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งในความจริง

หากเราหันกลับมาสำรวจบริบททางประวัติศาสตร์ และบริบททางวัฒนธรรมของ "ธรรมศาสตร์" จะพบว่า ที่แห่งนี้ไม่มีการ "รับน้อง" ในความหมายของการว้าก หรือ "ห้องเชียร์" ที่นายก อมธ. ได้พยายามอธิบายต่อผู้ดำเนินรายการแต่อย่างใด

เรามีแต่การ "รับน้อง" ในความหมายของการ "รับเพื่อนใหม่" ซึ่งหมายถึงการต้อนรับนักศึกษาใหม่อย่างสร้างสรรค์และสวยงาม เคารพในสิทธิเสรีภาพของกันและกันผ่านกิจกรรมที่มีประโยชน์

ยิ่งในปีนี้ อมธ. ได้ประกาศตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์เน้นให้น้อง "คิดต่างอย่างสร้างสรรค์" (เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ 9 พ.ค. 2548) ตามรายละเอียดการให้สัมภาษณ์ของ "ธนาชัย สุทรอนันตชัย" นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนเดียวกันกับที่พยายามชี้ให้เห็นข้อดีของการว้ากในรายการถึงลูกถึงคนที่ว่า

"จุดประสงค์ของงานมีสองอย่าง หนึ่งคือเป็นวันที่น้องๆ จะได้เจอพี่ รู้จักมหาวิทยาลัย รู้จักพื้นที่รอบๆ รู้ว่าอีก 4 ปี เค้าต้องเจออะไรบางอย่าง สอง วันที่ 11 พ.ค. เป็นวันพ่อปรีดี พนมยงค์ เราจะบอกน้องๆ ถึงประวัติของ อ.ปรีดี ว่าท่านทำอะไรไว้บ้าง อุดมการณ์ของธรรมศาสตร์คืออะไรและให้รู้ว่า ทำไม 'ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน' "

และประโยคที่สำคัญยิ่งที่นายกอมธ. กล่าวออกมาคือ "ที่ธรรมศาสตร์เราเคารพสิทธิของทุกคน เราไม่มีคำว่าโซตัส เพราะน้องๆ ทุกคนเป็นเพื่อนใหม่ เราเคารพซึ่งกันและกัน"

แต่การแสดงท่าทีในรายการถึงลูกถึงคนเมื่อวานนี้ (13 มิ.ย. 2548) คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หากกลับไปกรอเทปดูรายการ นายก อมธ. คนเดียวกัน กลับทำตัวเป็นประหนึ่งว่าธรรมศาสตร์มีการรับน้องและการ ว้ากนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาของธรรมศาสตร์ ที่ควรจะธำรงไว้

ผมจะไม่กล่าวถึงมหาวิทยาลัยอื่นในที่นี้ แต่จะกล่าวถึงจุดกำเนิดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในคำของท่านผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์นั้น ที่ว่า "มหาวิทยาลัยอุปมาประดุจบ่อน้ำบำบัดความกระหายของราษฎร..." นั้นกำเนิดขึ้นมาจากการต้องการให้การศึกษาทางด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่เพิ่งจะได้รับการสถาปนาขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2475 และธรรมศาสตร์ก็เป็นผลพวงโดยตรงของการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ( ก่อตั้ง พ.ศ. 2477 )
โดยส่วนตัวของผม จากการรับฟังและสอบถามผู้ใหญ่หลายท่านในรุ่นนั้น การเรียนของธรรมศาสตร์ในยุคแรกก็คือ การลงทะเบียนเรียน ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าห้องเรียนยกเว้นในบางรายวิชา และเมื่อถึงเวลาก็มาสอบ

ดังนั้นคนที่ลงทะเบียนเรียนนั้น ก็มีตั้งแต่ระดับอายุ 20 ไปจนถึงข้าราชการที่อยู่ในวัยใกล้เกษียณ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นมีความ "เคารพ" ซึ่งกันและกันตามธรรมเนียมไทยที่ผู้น้อยจะเคารพผู้อาวุโสอยู่ก่อนแล้ว

ถึงตรงนี้คงจะหนักแน่นพอที่ผมจะบอกว่าเรา "ไม่มี" การ "รับน้อง" โดยรากเหง้าของมหาวิทยาลัย เพราะครั้งแรกเราเป็น "ตลาด" วิชา ที่มุ่งเน้นสอน "วิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" และแน่นอน ในเนื้อหาย่อมสอน "สิทธิ เสรีภาพ" ซึ่งประชาชนมีในระบอบประชาธิปไตยด้วย

จนมาในช่วงที่เป็นมหาวิทยาลัยปิดราวต้นทศวรรษ 2500 และถ้าจำไม่ผิดจากการค้นคว้าก็ยังไม่ปรากฏว่า มีการรับน้องยกเว้นในคณะอย่างรัฐศาสตร์และคณะนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดก่อกำเนิดความคิดที่ว่า "สิงห์แดง" "เสือเหลือง" ที่บางครั้งถึงขนาดยกพวกตีกันก็มี (โปรดดูในงานวิจัย "ธรรมศาสตร์และการเมือง" ของ ดร. ชาญวิทย์ และคณะ)

แต่โดยรวมนั้น เราไม่มีการ "รับน้องแบบว้าก" แน่นอน เรามีแต่ "รับน้อง" ในความหมายของการ "รับเพื่อนใหม่"

ทำไมผมจึงต้องเขียนระบุมุ่งตรงไปยังนายกฯ อมธ.?

อาจจะเป็นความหวังส่วนตัวลึกๆ ในตัวแทนมหาวิทยาลัยของตนเอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ในยุคที่พลังนักศึกษาเข้มแข็งนั้น นายกอมธ. ถือเป็นผู้นำที่สำคัญคนหนึ่งในขบวนการนักศึกษาที่เรียกร้องประชาธิปไตยจากเผด็จการเมื่อปี 2516

ไม่รู้ว่านายก อมธ. คนนี้จะได้เคยอ่านประวัติศาสตร์หรือไม่ ว่า ณ จุดที่ตนเองยืนอยู่นั้นการแสดงออกหรือมีท่าทีอะไรสักอย่างนั้นมันอาจหมายถึงเท่ากับ "ท่าทีของนักศึกษา" ส่วนมากของธรรมศาสตร์

ผมยังมีคำถามอีกว่า นายก อมธ. เคยอ่านหรือในเรื่องประวัติศาสตร์ที่ว่าสมัยหลัง 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษาเกือบทุกมหาวิทยาลัยได้เล็งเห็นถึงความ "อดสู" ของระบบการรับน้องที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพและพยายามที่จะยกเลิกมันไปหรือไม่

ขณะที่ผมลงมือเขียนจดหมายถึงท่านบรรณาธิการฉบับนี้ ในช่วงเย็น มีการประชุมของนักศึกษาทั้งหมด 14 สถาบัน ที่ธรรมศาสตร์รับเป็นเจ้าภาพเพื่อ "แลกเปลี่ยนทัศนคติ" เกี่ยวกับกิจกรรมการรับน้อง แต่ผลปรากฏออกมาจากการระดมสมองของปัญญาชนว่า "จากการประชุมในวันนี้ นิสิต
นักศึกษาของแต่ละสถาบัน ได้มีการแลกเปลี่ยนทัศนคติกันเกี่ยวกับกิจกรรมการรับน้องของแต่ละสถาบัน แลกเปลี่ยนจุดยืนในการจัดกิจกรรมรับน้องซึ่งกันและกัน

โดยในที่ประชุม เรามีความคิดร่วมกันว่า เนื่องจากในการประชุมวันนี้ ยังมีนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ไม่ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก

ฉะนั้นในที่ประชุมเห็นว่า ยังไม่ควรมีข้อสรุปอย่างชัดเจน แต่ทุกๆ สถาบันที่เข้าร่วมประชุมเห็นว่า ในเรื่องของการรับน้อง เราควรจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป ซึ่งคงจะมีการพูดคุยอีกในอนาคต"

ผมตั้งคำถามว่า 14 สถาบัน ระดับนากยกองค์การนักศึกษายังไม่มีข้อสรุป? โดยอ้างว่า "การแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาในแต่ละสถาบัน ในเรื่องของการรับน้องนั้นถือว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัว
เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล มิใช่เป็นตัวแทนของนักศึกษาทั้งหมด จึงอยากให้ทางสื่อเสนออย่างเป็นกลางในเรื่องนี้"

คำถามมีว่า เราจะมีนายกองค์การนักศึกษาไปทำไม และในเมื่อ 14 สถาบันมารวมกันได้เช่นนี้แล้วยังคิดอะไรไม่ออก ต้องรอให้นักศึกษานับพัน(?) ที่เลือกพวกเขามาเป็นตัวแทนกลับไปคิดอีกหรือ

ถ้าเช่นนั้นทำไมจึงไม่จัดประชาพิจารณ์ไปเสียเลยในระดับมหาวิทยาลัยในนักศึกษาทุกคน

คำถามของอาจารย์ภาวิช เลขา สกอ. ในรายการ "ถึงลูกถึงคน"
พวกเขาเองยังไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างกระจ่างชัด ในเรื่องของ "สิทธิ" อะไรที่รุ่นพี่มีในการไปสั่งและขู่บังคับรุ่นน้อง ต่อให้รุ่นน้องยินยอมถ้าเขาเป็นอะไรขึ้นมาจะเอาอะไรไปรับผิดชอบ?

ผมกำลัง "เป็นห่วง" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมองไปยังรุ่นน้องจากสถาบันที่ผมจบมาซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึง "นายก อมธ." เพราะ "ธรรมศาสตร์" สถาบันนี้เคยเป็น "ป้อมปราการ" ของผู้ที่รักสิทธิ เสรีภาพมากที่สุด 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519 ตึกทุกตึก หญ้าทุกต้นในสนามฟุตบอลเป็นพยานเรื่องนี้ได้ดี...

อย่าเอาดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ไปประกาศสนับสนุนระบบที่กดขี่และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์

ผมจบธรรมศาสตร์ รหัสนักศึกษา 4306710684 ไม่เคยผ่านกระบวนการรับน้อง....
แต่ผมผ่านการ "รับเพื่อนใหม่"

ทุกวันนี้ผมยังรัก "ธรรมศาสตร์" ของผมไม่เสื่อมคลาย ผมทำงานในโลกภายนอกได้

โดยไม่ต้องมีใคร...หรือระบบอะไรมาบีบบังคับ !

สุเจน กรรพฤทธิ์
ศิษย์เก่าคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อดีตประธานชุมนุมวรรณศิลป์ปี 2545

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท