ฟันธง" ประชานิยม-การคลัง" ทักษิณ ดึงศก.ไทยเสี่ยงเจ๊ง

ประชาไท - 14 มิ.ย.48 "โครงการประชานิยม และมาตรการกึ่งการคลังซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลทักษิณที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง จะกลายเป็นมรดกทางการเมืองของสังคมการเมืองไทย ที่ทุกพรรคต้องเดินตาม ซึ่งกระทบกับเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคระยะยาว และอาจทำให้ไทยประสบกับวิกฤตการณ์วัฏจักรธุรกิจการเมืองแบบเดียวกับประเทศแถบลาตินอเมริกาได้"

ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวในการนำเสนอบทความเรื่อง "ยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถี : ความสำเร็จและความล้มเหลว" ร่วมกับ ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย ในงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2548 ของคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. เรื่อง การปฏิรูปสังคมเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ.2540 : ความก้าวหน้าและความล้มเหลว

ดร.ดวงมณี ขยายความว่า โครงการประชานิยมรวมถึงมาตรการกึ่งการคลัง หรือการตั้งงบกลางเพื่อใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณของรัฐบาลนั้นมุ่งเน้นความนิยมทางการเมือง แต่ไม่ผ่านการพิจารณาถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม และภาระทางการคลัง นำไปสู่การใช้ทรัพยากรรัฐอย่างไร้ประสิทธิภาพ บิดเบือนไม่ให้โครงการที่จำเป็นกว่าเกิดขึ้น เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน กลับมาก่อนโครงการทางการศึกษา

โดยสัดส่วนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณปี 2545 รัฐบาลทักษิณ ใช้เงินนอกงบประมาณราว 1.9 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) ในขณะที่ปี 2547 เพิ่มเป็น 8.7% ของจีดีพี และหากเทียบกับงบประมาณปกติประจำปีพบว่า ปี 2545 รัฐบาลใช้จ่ายเงินงบประมาณคิดเป็น10.1% ของงบประมาณประจำปี ในขณะที่ปี 2547 เพิ่มเป็น 49% ของงบประมาณประจำปี

"ในต่างประเทศกรณีแบบนี้นำไปสู่การขาดวินัยทางการคลัง เกิดความไม่โปร่งใสและมีแนวโน้มจะก่อหนี้สาธารณะในอนาคต พูดอย่างถึงที่สุด การใช้มาตรการกึ่งการคลังคือ การเลี่ยงกติกาทางการคลัง รัฐสภาตรวจสอบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวงเงินหรือรายละเอียดของโครงการ จึงควรรวมเอามาตรการกึ่งการคลังมาเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงภาระรายจ่ายของรัฐบาล และนำเสนอต่อรัฐสภาด้วย" ดร.ดวงมณีกล่าว

ชี้ "บรรทัดฐานทางกม." รบ.ทักษิณ ดิ่งเหว

ดร.อภิชาต กล่าวถึงหัวข้อธรรมาภิบาลกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่า สังคมที่มีธรรมา
ภิบาลที่ดีจะเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว ซึ่งหากดูจากดัชนีชี้วัดของธนาคารโลกจะพบว่าเรื่องบรรทัดฐานทางกฎหมาย หรือ rule of law นั้น รัฐบาลทักษิณแย่ลงกว่าเดิมอย่างชัดเจน

"นอกจากนี้ในยุทธศาสตร์ทวิวิถีของรัฐบาลยังมีการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจลึกไปถึงระดับจุลภาค ซึ่งประเทศเกาหลีใต้หรือไต้หวัน ก็ดำเนินนโยบายแบบเดียวกัน แต่รัฐบาลเขามีอิสระในการกำหนดนโยบาย ไม่ถูกครอบงำจากกลุ่มการเมืองและมีระดับความสามารถสูง ขณะที่ไทยมีการแทรกแซงมากขึ้นแต่ทั้ง 2 อย่างไม่ดีขึ้น จึงมีความเสี่ยงในการกำหนดนโยบายผิดพลาด และสร้างต้นทุนทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลต่อไป" ดร.อภิชาตกล่าว

ดร.อภิชาตสรุปการประเมินผลยุทศาสตร์ทางเศรษฐกิจแบบทวิวิถี หรือ Dual Track ของรัฐบาลทักษิณที่ผ่านมาว่า ข้ออ้างที่ว่ายุทธวิธีการกระตุ้นตลาดภายในที่รัฐบาลต้องการเพิ่มความสำคัญมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทดแทนการพึ่งพิงการส่งออก เพื่อลดความเสี่ยวจากความไร้เสถียร ภาพของตลาดโลกนั้นไม่เป็นจริง เพราะผลการศึกษาพบว่ายุทธศาสตร์ทวิวิถีได้เปลี่ยนเศรษฐกิจไทยให้เป็นระบบทุนนิยมมากขึ้นในอัตราเร่ง โดยเน้นการส่งออกอยู่เช่นเดิม

"การกระตุ้นเศรษฐกิจก็เพียงผ่านการบริโภค แต่ไม่สามารถจัดการกับอุปทานเพื่อยกระดับกำลังซื้อที่ยั่งยืนไปทดแทนการส่งออกได้ ขณะที่รัฐบาลแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ธรรมาภิบาลแย่ลง และมีอำนาจเบ็ดเสร็จมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงที่จะตัดสินใจทางนโยบายผิดพลาด สรุปก็คือ ความเสี่ยงของสังคมเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะเพิ่มขึ้น" ดร.อภิชาตกล่าว

มุทิตา เชื้อชั่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท