พลิกหนังสือคลี่ปมปัญหาใต้

หลายฝ่ายคลายปมปัญหาใต้
ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ดูเหมือนว่าจะทำให้มีผู้สนใจเรื่องราวของพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น เห็นได้ชัดว่าช่วงสองปีนี้มีหนังสือใต้ออกสู่ตลาดหลายเล่มที่พยายามอธิบายที่มาของปัญหา

บ้างก็พูดถึงบทบาทของตัวเองในการแก้ปัญหาใต้ เช่นหนังสือของ พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี เป็นต้น หรือเป็นการเอางานวิชาการที่เคยทำมาก่อนในอดีตมาตีพิมพ์ใหม่ก็มี หรือไม่ก็ศึกษาประวัติศาสตร์สามจังหวัด

นวลน้อย ธรรมเสถียร แห่งบีบีซีหยิบหนังสือสองสามเล่มขึ้นมาพิจารณา พบว่าหนังสือเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ส่วนใหญ่ยังสะท้อนภาพความพยายามแสวงหาคำตอบว่าใครคือคนลงมือก่อความรุนแรง และทำไม

หะยีสุหลง
ที่น่าสังเกตคือมักจะพูดถึงการต่อสู้ที่ผ่านมาโดยเฉพาะสมัยหะยีสุหลงซึ่งถือกันว่ามีส่วนสำคัญมากในแง่ของการต่อสู้ของคนในสามจังหวัดภาคใต้ เช่น หนังสือชื่อ หะยีสุหลง

อับดุลกาเดร์ กบฏหรือวีรบุรุษแห่งสี่จังหวัดภาคใต้ โดยเฉลิมเกียรติ ขุนทองเพชร ผู้เขียนบอกว่า แม้จะถูกมองว่าเป็นกบฏ แต่สำหรับคนในพื้นที่ไม่น้อยเขาคงเป็นวีรบุรุษ ที่น่าสนใจคือหนังสือให้ภาพรายละเอียดการดำเนินคดีหะยีสุหลงในชั้นศาลให้เห็นกันชัดๆ ถึงวิธีการฟ้องร้องพิจารณาคดีทำให้จากข้อหากบฏ ในที่สุดถูกตัดสินเหลือแค่จำคุกสามปี แต่ว่าในที่สุดหะยีสุหลงก็หายไป และผู้คนเชื่อกันว่า ถูกเจ้าหน้าที่ฆ่า

ผู้เขียนสรุปว่า กรณีหะยีสุหลงทำให้รัฐทุ่มงบพัฒนาพื้นที่นับสิบล้านบาท แต่ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ว่า การที่รัฐกระทำรุนแรงต่อผู้นำท้องถิ่นทำให้พวกเขากลายสัญญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมไป

ผลอย่างหนึ่งของกรณีหะยีสุหลงนี้ มันโซ สาและ กับคอยริน อันวาร์ พูดถึงไว้ในหนังสือชื่อ ไฟใต้ฤาจะดับว่า มีส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไทยทุกยุคทุกสมัยฝังใจว่า ผู้นำศาสนาในท้องถิ่นคือคนที่เผยแพร่ความคิดแบ่งแยกดินแดน เพราะการเคลื่อนไหวของหะยีสุหลง มีโต๊ะครูร้อยคนสนับสนุน เมื่อการต่อสู้ทางการเมืองไม่ประสบผล บรรดาโต๊ะครูเหล่านี้หนีออกนอกประเทศ และหันแนวทางการต่อสู้ไปจับอาวุธแทน

รากเหง้าปัญหา

รากเหง้าปัญหาใต้ยุคใหม่เป็นความขัดแย้งระหว่างข้าราชการกับคนเชื้อสายมลายู อย่างไรก็ตามผู้เขียนบอกว่า รากเหง้าของปัญหาภาคใต้ยุคก่อนเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองในปัตตานีกับในกรุงเทพฯ แต่ในยุคใหม่เป็นความขัดแย้งระหว่างข้าราชการกับประชาชนเชื้อสายมลายู

นอกจากคู่ความขัดแย้งจะเปลี่ยนไป หลายคนเห็นตรงกันว่า ผู้ลงมือก่อความรุนแรงในปัจจุบันไม่ใช่คนกลุ่มเดิมอีกต่อไป

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี, ดอน ปาทาน กับทีมข่าวเดอะเนชั่น เขียนไว้ในหนังสือสันติภาพในเปลวเพลิงว่า นักสู้สมัยใหม่ยืดหยุ่น ไม่ต้องมีที่ประจำการ ไม่ต้องสนิทสนมกัน แค่ได้รับการปลูกฝังด้านจิตสำนึกและอบรมแล้วก็ออกปฏิบัติการตามลำพังได้ การที่ไม่รู้จักกันมากทำให้รักษาความลับได้และเจ้าหน้าที่เชื่อว่าวิธีการนี้พัฒนามาจากธุรกิจขายตรง พวกเขายังขยายพื้นที่การต่อสู้ออกไปทั้งทางศาสนาและเชื้อชาติคือโจมตีพลเรือนและพระด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนหนังสือทั้งสองเล่ม ดูจะไม่ค่อยเชื่อเรื่องความสามารถในการแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มขบวนการต่างๆ โดยระบุว่าวิธีการที่พวกเขาใช้ ไม่สามารถจะนำทางไปสู่เป้าหมายใหญ่อย่างนั้นได้ เพราะไม่สามารถเรียกเสียงสนับสนุนได้ เช่นบางคนบางกลุ่มก็ใช้วิธีการที่โหดร้าย

แต่ผู้เขียนหนังสือทั้งสองเล่มเห็นตรงกันว่าในสมัยนี้ นักสู้ในภาคใต้เดี๋ยวนี้อิงแนวคิดทางศาสนามากขึ้น อย่างเช่นมีการเปลี่ยนชื่อกลุ่มเดี๋ยวนี้มีคำว่าอิสลามรวมอยู่ด้วย

หรือหนังสือ การต่อสู้ที่ปัตตานี ที่เจ้าหน้าที่เก็บได้จากที่เกิดเหตุในการต่อสู้ที่กรือเซะ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง

หนังสือเล่มนี้เอง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องไปขอความร่วมมือจากผู้รู้ด้านศาสนาออกมาตอบโต้ แต่ผู้เขียนหนังสือเสนอว่า คนที่ออกมาพลีชีพในกรณีกรือเซะนั้นอาจจะเป้นเหมือนภูเขาน้ำแข็ง คือยังมีอีกมากก็เป็นได้

พันธมิตรนักสู้

ในส่วนความเกี่ยวข้องกับต่างประเทศนั้น หลายๆ คนพูดถึงเรื่องที่เคยมีมุสลิมในภาคใต้ ที่ไปร่วมรบที่อาฟกานิสถาน สร้างพันธมิตรกับกลุ่มนักสู้จากหลายประเทศ เมื่อกลับประเทศก็สร้างเครือข่ายขึ้นมาได้

อย่างหัวหน้ากลุ่มมูจาฮิดีปัตตานีของไทย ผู้เขียนหลายคนก็เชื่อว่าเป็นรุ่นเดียวกันกับหัวหน้ากลุ่มเคเอ็มเอ็มในมาเลเซียที่ไปร่วมรบมาด้วยกัน

แต่นักเขียนหลายคนเชื่อว่า กลุ่มเหล่านี้จะได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศจริงหรือไม่ก็ตามแต่พวกเขาก็ต้องได้รับแรงบันดาลใจหรือเลียนแบบการต่อสู้จากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ดร.รุ่ง แก้วแดง เตือนว่า ปัญหาภาคใต้ปล่อยไว้นาน อาจจะกลายเป็นสงครามความขัดแย้งระหว่างพุทธกับมุสลิม

ไทยยังไม่เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

ในหนังสือชื่อสงครามและสันติสุขที่ชายแดนภาคใต้ ดร.รุ่งบอกว่า ตอนนี้ความไม่ไว้ใจกันระหว่างสามฝ่ายคือคนพุทธ มุสลิมและข้าราชการมากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่เศรษฐกิจย้ำแย่ ผู้คนย้ายออกนอกพื้นที่ ระบบราชการแทบจะเป็นอัมพาตเพราะดูแลคนไม่ได้ สันติภาพหายไปความเกลียดชังเข้าไปแทนที่ ผู้คนเจอแรงกดดันเพราะปัญหาความปลอดภัย ภายใต้สภาพตึงเครียดแบบนี้ถ้าปล่อยไว้อาจจะเกิดสงครามของคนสองศาสนา

ดร.รุ่งเสนอให้ปฏิรูปการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์เพื่อให้เข้าใจคนร่วมชาติมากขึ้น

ผู้เขียนบอกว่า ไทยนั้นขาดการศึกษาเรื่องคนกลุ่มน้อย และไม่เรียนรู้วิธีแก้ปัญหา ทั้งชี้ว่าไทยน่าจะเรียนรู้ได้จากประสยบการณ์ของชาติที่มีคนหลายกลุ่มอาศัยด้วยกันได้ อย่างในมาเลเซียนั้นจนปัจจุบันก็ยังมีกลุ่มคนไทยพุทธอยู่ในกะลันตันได้โดยไม่มีปัญหาอะไร

นักเขียนหลายคนชี้ว่างานนี้เกี่ยวพันกับความขัดแย้งระหว่างมุสลิมกับตะวันตกและผลกระทบจากสงครามต่อต้านการก่อการร้าย
ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เขียนไว้ในหนังสือ วิกฤติใต้สู้ด้วยยุทธศาสตร์และปัญญา ว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายนั้นในสายตามุสลิมเป็นสงครามต่อต้านอิสลาม ทำให้เกิดการรวมตัวข้ามพรมแดนความเป็นรัฐ

ผู้เขียนบอกว่า จะแก้ปัญหานี้ได้รัฐไทยต้องเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงในโลกมุสลิม การจัดการปัญหาต้องไม่ใช่อารมณ์นำแล้วปราบปรามจนเข้าสู่กับดักของสงครามก่อการร้าย

ที่มา :http://www.bbc.co.uk/thai/highlights/story/2005/06/050602_bookreview.shtml

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท