Skip to main content
sharethis

จากที่ "พักสงฆ์ทุ่งตึก" ซึ่งเป็นที่มาของข้อกังขาเรื่องการครอบครองกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน 170 ไร่ บนเกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งเดิมเกาะคอเขามีค่าเพียงเพื่อทำเหมือง ขุด เจาะ ค้นหาแร่ มาถึงปัจจุบันกลายเป็นเกาะที่มีชายหาดงดงาม และทุกตารางนิ้วมีราคา

ชาวบ้านบนเกาะคอเขาเล่าย้อนอดีตให้ฟังว่าบริเวณทุ่งตึก มีการค้นพบซากอาคารโบราณสถานรูปทรงคล้ายตึกโบราณ บ้างก็ว่าเป็นวิหาร โดยขุดค้นพบหลายแห่งด้วยกัน อีกทั้งยังพบเทวรูป เศษกระเบื้องเคลือบของชาวจีน ลูกปัดและเหรียญเงินของชาวอินเดีย ต่อมาได้มีนักวิชาการมาตรวจ สอบโดยสันนิษฐานว่า บริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นเมืองท่าโบราณ

"จากเมืองท่าโบราณ ปัจจุบันเกาะคอเขาเป็นเช่นไร"

ชาวบ้านคนดังกล่าวเล่าว่า หลังจากหมดยุคสัมปทานเหมืองแร่ เกาะคอเขาเงียบเหงาไปชั่วระยะหนึ่ง จนกระทั่งธุรกิจการท่องเที่ยวเริ่มเฟื่องฟู บวกกับสภาพภูมิทัศน์ของเกาะคอเขาเป็นหาดทรายที่สวยงามจึงเริ่มมีการซื้อขาย จับจองที่ดินเพื่อสร้างและขยับขยายโรงแรม

"เนื้อที่บนเกาะ 60 ตารางกิโลเมตร ตอนนี้เป็นของใคร"

เกาะคอเขาเนื้อหอมมากขึ้นเมื่อภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว และเกาะคอเขามีโครงการจะสร้างคาสิโนขนาดใหญ่ขึ้นที่นี่ ธุรกิจการโรงแรมจึงเริ่มมีการแข่งขันกันมากขึ้น แต่เนื้อที่บนเกาะยังเท่าเดิม การช่วงชิงที่ดินบนเกาะจึงทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อมีการช่วงชิงปัจจัยสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรบนเกาะคือ "เงินและอำนาจ" ผู้ที่มีอิทธิพลเท่านั้นจึงจะได้ครอบครอง

โฉมหน้าของเกาะเริ่มเปลี่ยนแปลง เกาะคอเขาอยู่ในการครอบครองดูแลของผู้มีปัจจัย และเปลี่ยนเกาะแห่งนี้กลายเป็นเกาะอิทธิพล และครอบครองได้อย่างเบ็ดเสร็จมากขึ้นเมื่อ "ผู้ครองเกาะ" เข้าสู่ระบบการเมืองท้องถิ่น เข้ากุม "ที่ดิน" ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุด

"เขาเข้ากับนักการเมืองและข้าราชการตั้งแต่ระดับล่างจนถึงระดับสูงได้ดี เขาใช้วิธีแบ่งที่ดินบนเกาะให้คนใหญ่คนโต ผมไม่แปลกใจหากมีการตรวจสอบแล้วพบว่า วันนี้ที่ดินป่าสงวนบนเกาะคอเขาอยู่ในมือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ระดับจังหวัด หรือแม้แต่อยู่ในมือของนักการเมืองระดับประเทศ" ชาวบ้านคนดังกล่าวเล่า

"เขา" คนที่ชาวบ้านกล่าวถึงเป็นผู้มีอิทธิพลที่ชาวคอเขารู้จักกันดี แต่ไม่อยากแม้จะเอ่ยชื่อกับคนต่างถิ่น เนื่องจากเกรงภัยอันตรายถึงตัว

"ชาวบ้านอย่างพวกเราจะทำอะไรได้ เรารู้อยู่เต็มอกว่าใครเป็นใคร ใครทำอะไรบนเกาะนี้ แต่จะพูดมากก็ไม่ได้ เพราะเขาบอกว่า หากยังอยากอยู่บนเกาะนี้อย่างมีลมหายใจก็ไม่ต้องพูดมาก" ชาวบ้านเกาะคอเขากล่าวและให้ข้อมูลเพิ่มว่า

อย่างกรณีที่ 170 ไร่ของ ที่พักสงฆ์ทุ่งตึก อยู่ๆก็มีการออกเอกสารที่ดินและถูกเปลี่ยนมือจากผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น ไปเป็นของลูกหลานนักการเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลในจังหวัดทางภาคตะวันออกของประเทศ เขาเหล่านั้นจะเปลี่ยน "ที่ดิน" บริเวณที่พักสงฆ์แห่งนี้ให้กลายเป็นโรงแรม

พื้นที่บนเกาะคอเขาปัจจุบันเหมือนขนมที่ถูกแบ่งเป็นชิ้นๆ ชั้นผู้น้อยได้นิดหน่อย ผู้ใหญ่ขึ้นมาได้มากขึ้น คนใหญ่คนโตก็ได้ขนมชิ้นใหญ่ไปครอบครอง

"ที่ผมพูดมาอย่างนี้ไม่ใช่ว่าไม่กลัวนะ ผมเองก็รักชีวิต ยังอยากมีลมหายใจอยู่บนเกาะ อยู่กับครอบครัว แต่หากนิ่งเงียบทำไม่รู้ไม่เห็นเหมือนเมื่อก่อนก็คงไม่ได้ ผมคิดว่ากรณีที่พักสงฆ์ทุ่งตึกเป็นปัญหาใหญ่ ผมไม่อยากให้ที่ดินบนเกาะกลายเป็นโรงแรมหมด จนไม่มีแม้ที่ๆจะให้พระสงฆ์องค์เจ้าอยู่" ชาวบ้านเกาะคอเขากล่าวทิ้งท้าย

แม้แต่พระก็อยู่ยาก

พระอาจารย์จบ หรือพระครูสมุห์บรรจบ กนฺตจาโร วัย 72 ปี เจ้าอาวาสที่พักสงฆ์ทุ่งตึก กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาหลังจากเกิดคลื่นยักษ์ชาวบ้านบนเกาะไม่ค่อยกล้ามาช่วยเหลือเหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากทราบดีถึงปัญหาระหว่างที่พักสงฆ์กับเจ้าของโรงแรมหรู

"อาตมาเข้าใจว่าเขาก็คงรักชีวิต ไม่อยากมามีปัญหา สำหรับการบูรณะซ่อม แซมวัดอาตมาก็ทำเท่าที่จะมีแรงทำ เรื่องที่ดินก็ต้องรอดูว่าเขาต้องการยังไง" พระอาจารย์กล่าวและว่า ความจริง คลื่นยักษ์มาทำโรงแรมใหม่ของเขาซึ่งใกล้จะเปิดเสียหาย แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยกวาดล้างกุฏิ และศาลาวัดซึ่งเกะกะอยู่ข้างๆให้เตียนเรียบหายไปกับคลื่นเหมือนกัน

"ไม่มีที่พักสงฆ์อยู่ เขาก็คงได้ฤกษ์เอาพระออก" พระคุณเจ้ากล่าวแบบยิ้มๆ

สำหรับกุฏิที่สร้างเสร็จพระอาจารย์เล่าว่า มีฝรั่งชาวต่างชาติที่เป็นอาสาสมัครข้ามเกาะมาช่วยสร้างร่วมกับคนไทยที่มาจากที่อื่นเพราะคนบนเกาะนี้บ้านเรือน ชีวิต และทรัพย์สินเสียหายจึงต้องซ่อมแซมบ้านเรือนของตน อีกทั้งไม่อยากมีปัญหากับผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นจึงไม่มีใครกล้ามาช่วยบูรณะซ่อมแซม

"2-3 วันก่อนมีลูกศิษย์มาบอกข่าวว่า เขาจะย้ายอาตมาไปที่อื่น ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะมาอุ้มอาตมาไปไว้ไหน แต่ถึงยังไงอาตมาก็ยังบูรณะซ่อมแซมที่นี่อยู่ดีแหละ" พระคุณเจ้ากล่าวอย่างอารมณ์ดี

นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนเกาะคอเขา เกาะซึ่งมีอาณาบริเวณงดงามและเป็นเกาะในฝันของนักลงทุนทั้งหลาย พื้นที่ซึ่งในวันนี้ชาวบ้านธรรมดา หรือแม้แต่ พระสงฆ์ ก็ยังยากที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขได้

ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net