Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 20 มิ.ย. 48 วันนี้สหพันธ์องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค(สอบ.) ร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค และกลุ่มศึกษาพลังงานทางเลือกเพื่ออนาคต ได้ยื่นหนังสือต่อ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะอนุกรรมการด้านพลังงานและอุตสาหกรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อขอให้ตรวจสอบการเอาเปรียบผู้บริโภคจากการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขึ้นค่าไฟฟ้าอย่างไม่เป็นธรรม

เนื่องด้วย 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ได้อนุมัติให้ขึ้นค่าไฟในส่วนของค่าเอฟที 3.55 สตางค์ โดยให้เหตุผลว่าในช่วงที่ผ่านมามีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น และกฟผ.ไม่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอ นอกจากนั้น นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ยังเปิดเผยว่าจะมีโครงการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่อีกด้วย ซึ่งทำให้ประชาชนต้องร่วมจ่ายค่าไฟฟ้าในวงเงินถึง 4,800 ล้านบาท

นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า "พวกเราขอให้คณะกรรมการสิทธิฯ ตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้น โดยตั้งข้อสังเกตไว้หลายประการ คือ การอ้างว่าจำเป็นต้องขึ้นค่าไฟฟ้าเนื่องจากประชาชนมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นนั้น ขัดแย้งกับข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งมีข้อมูลบ่งชี้ว่าใน 4 เดือนที่ผ่านมามีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพียง 6.44 % จากที่ประมาณการณ์ไว้ถึง 7.86%"

ประการต่อมา ทางผู้เรียกร้องตั้งข้อสงสัยว่า ขณะที่น้ำมันแพงขึ้น แต่ปตท.กลับมีนโยบายให้ทางกฟผ.หยุดการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติแหล่งบงกช ทำให้ต้องใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาแทนซึ่งมีราคาแพง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงมากขึ้นด้วย นั่นแสดงถึงการขาดการวางแผนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะปตท.ที่มีการวางแผนผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับต้นทุนพลังงานที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคต้องเป็นผู้รับภาระ โดยที่ผ่านมาไม่มีการตรวจสอบที่โปร่งใสและประชาชนไม่เคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมแม้แต่น้อย

นอกจากนี้ นางสาวสายรุ้ง กล่าวต่อว่า "ปตท.มีกำไรสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2548 มีมูลค่าสูงถึง 25,996 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 112% ซึ่งดูผิวเผินแล้วปตท.มีกำไรดีมาก เพราะเป็นผู้ผูกขาดเพียงรายเดียว โดยเอาปัญหาและข้อบกพร่องต่างๆ มาผลักภาระให้กฟผ.และกฟผ.เองได้ผลักให้ประชาชนอีกทอดหนึ่ง ทำให้ผู้บริโภคต้องรับผิดชอบ ซึ่งเหตุผลในการขึ้นค่าไฟที่แท้จริงเป็นอย่างไรนั้นประชาชนไม่เคยได้มีส่วนร่วมเลย ทั้งที่เราต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มด้วยทุกครั้ง"

ผู้จัดการสอบ.ยังตั้งข้อสังเกตว่า การที่กฟผ.จะเก็บค่าไฟจากประชาชนอีก 4,800 ล้านบาท โดยนำมารวมกับโครงสร้างค่าไฟฐานที่จะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ โดยอ้างว่าเป็นภาระจากการตรึงค่าไฟของกฟผ.ในอดีตนั้น ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เพราะที่ผ่านมาได้เคยเก็บเงินค่าไฟล่วงหน้าจากประชาชนไปแล้ว ซึ่งเท่ากับติดหนี้ประชาชนอยู่ถึง 6,023 ล้านบาท แต่กลับไม่นำมาลดค่าไฟแก่ประชาชน

อย่างไรก็ตาม นายจรัล ดิษฐาอภิชัย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า "คุณภาพชีวิตของประชาชนจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับไฟฟ้าเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงถือเป็นสิทธิของประชาชนที่จะมีไฟฟ้าใช้ อย่างทั่วถึงและมีราคาถูกด้วย ซึ่งก็น่าจะเข้าข่ายสิทธิพลเมืองที่ควรได้รับบริการสาธารณะจากรัฐอย่างดี ถูกต้อง พอเพียง และมีราคาถูกด้วย ซึ่งเรื่องนี้ยังเข้าข่ายสิทธิของผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 อีก ผมจะรับเรื่องไว้และนำเข้าที่ประชุมต่อไป"

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net