Skip to main content
sharethis

ประชาไท-20มิ.ย.48 "ลุงยงค์" รับกฎหมายรองรับสภาปราชญ์ชาวบ้านยังไม่ไปไหน คาดอนุฯ ร่างกฎหมายไม่เกิน 2 ปี ก่อนมอบให้รัฐบาลพิจารณาออกเป็นพ.ร.บหรือพ.ร.ก.รองรับต่อไป

นายประยงค์ รณรงค์ หรือ ลุงยงค์ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น หรือสภาปราชญ์ชาวบ้านเดิม กล่าวว่า หน้าที่หลักของคณะกรรมการฯ คือการนำข้อมูลที่ทางคณะกรรมการฯ มีไปเสริมนโยบายของรัฐบาล เพราะนโยบายเพียงอย่างเดียว เมื่อนำสู่การปฏิบัติอาจไม่มีประสิทธิภาพ

แม้ว่าขณะนี้ทางคณะกรรมการฯ จะยังไม่มีกฎหมายรองรับสถานะ เพราะเป็นเพียงทีมก่อตั้ง มีวาระเพียง 2 ปี แต่พร้อมมอบหน้าที่ให้คณะอนุกรรมการดูแลเรื่องการร่างกฎหมาย โดยคาดว่าไม่น่าเกิน 2 ปี ระเบียบต่างๆ จะเสร็จสิ้น จากนั้นจะมอบให้รัฐบาลพิจารณาออกเป็นพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกา ต่อไป เพื่อก่อตั้งคณะกรรมการฯ ให้เกิดขึ้นอย่างถาวรในอนาคต

ส่วนในเรื่องอำนาจของคณะกรรมการฯ ในการเรียกหน่วยงานราชการชี้แจงข้อมูลนั้น นายประยงค์ กล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้ อาจทำได้แค่เพียงร้องขอข้อมูลตามที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ให้ แต่ก็เป็นสิทธิ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะให้ข้อมูลที่ร้องขอหรือไม่

สำหรับการประชุมวันนี้ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นายประยงค์ กล่าวว่า เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ของคณะกรรมการฯ โดยแบ่งยุทธศาสตร์เป็น 2 ข้อด้วยกัน คือ 1. พัฒนาระบบพึ่งพาตนเองของชุมชน และ 2. พัฒนาและติดตามนโยบายของรัฐบาล

นายประยงค์ กล่าวต่อว่า จากการประชุมในครั้งนี้ ทางพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ฝากให้คณะกรรมการฯ ช่วยตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ที่ทางรัฐบาลได้อนุมัติเพื่อแก้ปัญหาให้กับชุมชนว่ามีข้อบกพร่องตรงไหนบ้างและจะปรับปรุงอย่างไร ทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย เช่น บ้านมั่นคง บ้านเอื้ออาทร ฯลฯ ในเรื่องที่ดินทำกิน และเรื่องการแก้ไขปัญหาความยากจน

ในเรื่องการทำบัญชีรายจ่ายของชุมชน นายกรัฐมนตรี เห็นว่าควรมีการปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันเพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ส่วนเรื่องปุ๋ยอินทรีย์ ตามวาระแห่งชาติที่รัฐบาลต้องการให้ทำทุกอำเภอ เกษตรกรเห็นด้วยในหลักการ แต่รายละเอียดของวิธีการจะต้องมีการแก้ไข ต้องดูความพร้อมและความเหมาะสม ขณะที่เรื่องการศึกษานั้น ชาวบ้านเห็นว่านอกจากการศึกษาในระบบที่มีอยู่แล้ว ควรมีระบบการศึกษาที่ชาวบ้านจัดขึ้น เพื่อให้ผู้ที่อยู่ในชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

นอกจากนี้นายประยงค์ได้กล่าวถึงปัญหาที่พบจากการประชุมคือ คณะกรรมการฯ ยังคงมีความเข้าใจไม่ตรงกันเกี่ยวกับทางออกในการแก้ปัญหาของชุมชนบางประการ ซึ่งภายในเดือนก.ค.นี้ทางคณะกรรมการฯ จะมีการจัดสัมมนาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

อนึ่ง สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2548 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับ ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดตั้งสภาผู้นำชุมชนฯ ในเรื่อง 1. การใช้อำนาจในการเรียกเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูล 2. เรื่องโครงสร้างของสภาผู้นำชุมชนฯ ไม่ควรมาจากการเลือกตั้ง และ 3 ในระยะแรกยังไม่อยากให้ใช้คำเรียกว่า "สภาผู้นำชุมชนฯ" เพราะยังไม่มีกฎหมายรองรับ

แม้ว่าในปัจจุบันสภาผู้นำชุมชนท้องถิ่น ได้จัดตั้งขึ้นภายใต้ชื่อ คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยผู้นำชุมชนท้องถิ่น ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 50 คน มีนายประยงค์ รณรงค์ เป็นประธาน แต่ในเรื่องกฎหมายรองรับสถานะของคณะกรรมการฯ ก็ยังไม่เป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ข้อเสนอเกี่ยวกับอำนาจในการเรียกเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูลนั้น เหลือเพียงสิทธิ์ในการร้องขอข้อมูลตามที่รัฐธรรมนูญระบุ

นพพร ชูเกียรติศิริชัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net