Skip to main content
sharethis

บทวิเคราะห์
โดย สุทธิดา มะลิแก้ว

การเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกาของนาย ฟาน วัน ขาย นายกรัฐมนตรีของเวียดนามในสัปดาห์นี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างทางประวัติศาสตร์ของเวียดนาม แน่นอนว่า นี่เป็นการเดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งแรกอย่างเป็นทางการของผู้นำเวียดนามในรอบ 30 ปีหลังจากสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง แต่ใช่เพียงเวียดนามเท่านั้นที่เห็นว่าการเยือนครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญ ด้านสหรัฐฯเองก็ให้ความสำคัญกับการมาเยือนของผู้นำเวียดนามครั้งนี้มิใช่น้อย อาจเรียกว่าน่าจะให้ความสำคัญกว่าการเยือนของผู้นำจากประเทศใดๆในอาเซียนด้วยซ้ำ

ถึงแม้ว่าเวียดนามกับสหรัฐฯนั้นอาจจัดได้ว่าเคยเป็นศัตรูตัวฉกาจของกันและกันแต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปการอาศัยพึ่งพิงและการแข่งขันกันทางเศรษฐกิจย่อมมีมากขึ้น เวียดนามย่อมเล็งเห็นความสำคัญของสหรัฐฯว่า จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการช่วยฉุดให้เศรษฐกิจของเวียดนามดีขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็โดยการช่วยผลักดันให้เวียดนามได้มีโอกาสเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(WTO) รวมไปถึงการเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐฯในอนาคต ดังนั้นการเดินทางในครั้งนี้จึงเป็นการเล็งผลเลิสในเชิงเศรษฐกิจ

ทว่า หากจะมองในส่วนสหรัฐฯแล้ว สหรัฐฯเล็งผลในการเปิดสัมพันธ์เปิดประตูต้อนรับเวียดนามขนาดนี้มีหวังเพียงเพื่อความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจด้วยกระนั้นหรือ ก็คงไม่ใช่เพราะเป็นขนาด (scale) ของประเทศที่เทียบกันไม่ได้ แต่การเข้ามาคบหากับเวียดนามนั้น ด้วยเหตุว่าสหรัฐฯนั้นยังกริ่งเกรงในมหาอำนาจเอเชียอยู่นั่นคือ จีน สหรัฐฯนั้นหวังว่า เวียดนามนั้นจะมาเป็น" ประตูหลัง" ให้ตัวเองในการที่จะเข้าประมือกับจีน เพราะหากมองมาที่ประเทศในอาเซียนหรือแม้แต่ในเอเชียแล้ว ประเทศที่หาญกล้าที่จะต่อกรกับจีนนั้นก็มีแค่อินเดียที่ใหญ่พอๆกันเท่านั้น และอีกประเทศหนึ่งที่กล้าพอแม้เล็กกว่าก็คือเวียดนาม

ดังนั้น การเปิดตัวเข้าหากันในครั้งนี้จึงเป็นสมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย หรือ ที่เรียกว่า win-win situation นั่นเอง

ถึงแม้ว่าการเปิดความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา กับเวียดนามจะเริ่มมาตั้งแต่ปี 1995 ที่สหรัฐฯการยกเลิกการปิดล้อมทางการค้ากับเวียดนาม และมีการตั้งสถานทูตของแต่ละประเทศ แต่การเดินทางไปเยือนสหรัฐฯของนายกรัฐมนตรีเวียดนามในครั้งนี้ย่อมีความหมายมากขึ้นและมีนัยสำคัญ

หากจะถามถึงภาคประชาชนแล้วประชาชนทั้งสองฝ่ายเห็นด้วยกับความสัมพันธ์นี้มากน้อยแค่ไหน ผู้คนต่างลืมความเป็นศัตรูหรือลืมประวัติศาสตร์ไปสิ้นแล้วหรือไร ก็มีบ้างประปรายที่ได้เห็นสีสันของการออกมาประท้วงของกลุ่มชาวอเมริกาที่ยังคงจำภาพสงครามเวียดนามอันโหดที่เรียกว่าเป็นโรคเวียดนาม ซินโดรม ก็มีอยู่ หรือ กลุ่มต้อต้านรัฐบาลเวียดนามที่อยู่ในสหรัฐฯออกมาแสดงอาการไม่ต้อนรับ หรือ สหพันธ์นักข่าวนานาชาติ ( International Federation of Journalists) ก็ได้ออกมาเขียนจดหมายเรียกร้องไปยังประธานาธิบดี จอร์จ บุช ให้พิจารณาเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยว่าเวียดนามนั้นได้จับตัวผู้สื่อข่าวไปกักขังไว้โดยเรียกร้องให้เจรจาให้ปล่อยตัวออกมา

แต่เชื่อเถอะว่า เรื่องนี้กลับกลายเป็นแค่น้ำจิ้มเล็กๆจะไม่ถูกนำมาพูดถึงหรือปล่อยเป็นสาระใดๆ เพราะในขณะนี้เมื่อนโยบายการเมืองต่างประเทศของบุชนั้น ได้เล็งเห็นอยู่แล้วว่าเวียดนามจะเป็นประโยชน์เชิงของการเป็นฐานในการต่อกรกับจีนจะเห็นว่า มีการออกมากล่าวชื่นชมว่าเวียดนามมีการปรับปรุงเรื่องสิทธิมนุษยชนดีขึ้น หรือแม้การจัดอันดับเรื่องความคืบหน้าเรื่องการค้ามนุษย์เมื่อไม่นานมานี้ได้ยกระดับให้เวียดนามขึ้นมาอยู่ที่ tier 2 ( ระดับเดียวกับไทย) พร้อมคำชมว่ามีพัฒนาการอย่างมากก็แสดงให้เห็นเจตจำนงของอเมริกาที่วางไว้ก่อนแล้ว (เพราะในทางปฎิบัติจริงในระดับคนทำงานนั้นก็รู้ดีว่าอาจมีการทำงานเรื่องนี้บ้างแต่ไม่ได้ดีมากขนาดที่สหรัฐฯกล่าวชมเอาไว้)

แน่นอนว่าในสงครามเวียดนามนั้นมีคนอเมริกาจำนวนไม่น้อยที่ต้องสูญเสียชีวิตไปในเวียดนามหรือหลายคนกลับมาพร้อมกับอาการไม่ปกติ คนอเมริกาสูญเสียชีวิตผู้คนไปประมาณกว่า 5 หมื่นคน ในขณะที่ฝ่ายเวียดนามนั้นสูญเสียชีวิตผู้คนไปนับล้าน มากว่าหลายเท่านับ แถมยังโรคที่มาจากฝนเหลือที่ยังคงอยู่ทุกวันนี้ แต่ว่า ความเจ็บปวด หรือ เจ็บช้ำน้ำใจของสหรัฐฯนั้นกลับมีมากกว่าเวียดนาม ทั้งนี้เพราะว่า การสูญเสียของสหรัฐฯนั้นไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย ในขณะที่ฝ่ายเวียดนามนั้นกลับได้ความภาคภูมิใจและได้มาตุภูมิกลับคืนมา

ดังนั้นถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 30 ปี ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่ยังคงติดอยู่กับโรค เวียดนาม ซินโดรม ในขณะที่ คนเวียดนามไม่ได้เป็นโรค อเมริกา ซินโดรม เลย และนอกจากนั้น หากพูดถึงเรื่องสงครามแล้ว ในทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เวียดนามเองนั้นพร้อมที่จะเผชิญกับสงครามเมื่อใดก็ได้ เพราะหากเทียบความขมขื่นแล้ว เวียดนามพบมานักต่อนัก การต้องตกอยู่ภายใต้การกดขี่ของจีนมานานนับพันปี และทำสงครามกันมาโดยตลอด และ การอยู่ภายใต้ฝรั่งเศสเกือบร้อยปีแห่งการต่อสู้ ในขณะที่สงครามกับอเมริกานั้นนับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นๆเพียงประมาณสิบกว่าปีเท่านั้น

กระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่ขมขื่นเพียงแต่ว่าเวียดนามสามารถกล้ำกลืนความขมขื่นเหล่านี้ไว้ได้ดีกว่าเพื่อการ "ก้าวไปข้างหน้า" เพราะหลังจากที่เวียดนามเปิดประเทศในทางเศรษฐกิจและนำนโยบายเศรษฐกิจใหม่ หรือ โดย เหม่ย มาใช้นั้นก็ยืนยันที่จะเป็นมิตรกับทุกประเทศในโลก และสหรัฐอเมริกานั้นก็ยักษ์ใหญ่ในโลกเศรษฐกิจเวียดนามจึงไม่ได้เสียหายอะไรที่จะผูกสัมพันธ์กับอเมริกา และจังหวะก้าวที่เลือกใช้ก็เหมาะสม เริ่มตั้งแต่ใช้โอกาสที่ครบรอบ 30 ปีการสิ้นสุดสงครามเวียดนามมาเปิดศักราชใหม่ที่เน้นย้ำความสัมพันธ์ หลังจากที่ได้แลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการทูตมาครบ 10 ปี และในโอกาสที่จีนกับสหรัฐฯกำลังดูเหมือนจะไม่ค่อยประสานกันได้ดีนัก

กระนั้นก็ใช่ว่าเวียดนามจะให้ความสำคัญกับสหรัฐฯเพียงลำพังก้าวย่างของเวียดนามนั้นไม่ว่าจะเป็นการเมืองในประเทศหรือต่างประเทศก็ล้วนตั้งอยู่ในความสมดุล ดังนั้นการเยือนสหรัฐฯจึงไม่ได้เป็นประเทศเดียวในการสร้างความสัมพันธ์กับมหาอำนาจ เพราะได้มีการจัดวางก้าวย่างเอาไว้อย่างเหมาะสม กล่าวคือเมื่อเดือนที่ผ่านมา นายหน่ง ดึ้ก แหม่ง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามก็ได้เดินทางไปเยือนฝรั่งเศส ส่วนในเร็วๆนี้ นายเจิ่น ดึ้ก เลือง ประธานประเทศก็กำลังเตรียมตัวเดินทางไปจีน

แม้ว่าทั้งสามประเทศล้วนสร้างรอยร้าวให้กับเวียดนามทั้งสิ้น แต่ทั้งสามต่างเป็นประเทศที่จะสามารถทรงอิทธิพลในด้านต่างๆทั้งสิ้นและเวียดนามก็เล็งเห็นความสำคัญในข้อนี้การกลืนความขมขื่นเอาไว้ และหันมาก้าวย่างต่อไปข้างหน้าจึงเป็นสิ่งที่เวียดนามต้องทำ และยุทธศาสตร์ที่ใช้นั้นก็แยบยลนัก

เวียดนามแม้จะเล็กกว่าจีนแต่ก็จัดว่าเป็นมังกรเช่นกัน และเมื่อมังกรน้อยเริ่มขยับตัวก็ใช่ว่าจะไร้ความสำคัญในระดับสากล เสียทีเดียวจังหวะก้าวของเวียดนามจึงเป็นก้าวที่น่าติดตามยิ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net