Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 มิถุนายน 2548 ที่โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จัดประชุมทั่วไปและการประชุมธุรกิจ ในการประชุมใหญ่สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 48 มีนายกเทศมนตรี และปลัดเทศบาลทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 400 คน โดยนายวีระวัฒน์ ภักตรนกร นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ เป็นประธาน

นายวีระวัฒน์ ได้สรุปประเด็นปัญหาจากการอภิปรายกลุ่ม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2548 ว่า ในส่วนของปัญหาและอุปสรรคในการบริหารงาน การเลือกตั้งผู้บริหารสมาชิกสภาเทศบาล สืบเนื่องจากกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หนังสือสั่งการ สมาชิกให้สันนิบาตเทศบาลฯ ผลักดันและเร่งรัดให้มีการแก้ไขร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองท้องถิ่น พ.ศ. .… ให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมคณะกรรมาธิการบริหาร สมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ

นายวีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล สืบเนื่องจากกฎหมาย ระเบียบ หรือมาตรฐานทั่วไป มีข้อสรุปว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เข้ามากำกับดูแลองค์กรปกครองท้องถิ่น เกินขอบเขตที่กำหนดไว้ การเสนอข้อราชการ/การกำกับดูแลเทศบาลตำบล ไม่ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายอำเภอ ควรให้ขึ้นตรงต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เช่นเดียวกับเทศบาลเมือง เทศบาลนคร

จากนั้น นายวีระวัฒน์ ได้ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมนำข้อสรุปนี้เสนอต่อรัฐบาล ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ พร้อมกับมีมติให้จัดประชุมใหญ่สมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ ครั้งที่ 49 ประจำปี 2549 ที่กรุงเทพมหานคร โดยให้เทศบาลทุกแห่งในจังหวัดนนทบุรี เป็นเจ้าภาพ

ต่อมา นายวีระวัฒน์ได้มอบหมายให้ชาลี กางอิ่ม นายกเทศมนตรีเทศบาลนครตรัง ในฐานะอุปนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ รายงานผลการดำเนินงานของสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ และการจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายของสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ ประจำปีงบประมาณ 2549 ของสำนักเลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ ซึ่งมีประมาณการรายจ่าย 51,579,390 บาท ที่ประชุมอนุมัติตามเสนอ

จากนั้น นายชาลีได้แจ้งมติสำคัญของกรรมาธิการบริหาร สมาคมสันนิบาตเทศบาลฯ ต่อที่ประชุมว่า ตลอดช่วงที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการบริหาร ได้มีมติให้แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ แบบแผนในการกระจายอำนาจ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและหลักการกระจายอำนาจ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1. ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. …..

มีมติให้ยกเลิกกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และสารวัตรกำนันในเขตเทศบาล เนื่องจากทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับนายกเทศมนตรี ประกอบกับในเขตเทศบาล มีคณะกรรมการชุมชนดั้งเดิม ตามระเบียบนโยบายของกระทรวงมหาดไทย การคงอย฿ของกำนัน - ผู้ใหญ่บ้าน ก่อให้เกิดความสับสนแก่ประชาชน

ยกเลิกการกำหนดวาระของผู้บริหารท้องถิ่นที่กำหนดให้อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 2 วาระ ติดต่อกัน ซึ่งขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ยกเลิกอำนาจวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัด และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้ผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น พ้นจากตำแหน่ง หรือสมาชิกภาพ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้เสีย หรือมีพฤตืกรรมส่อไปไปในทางทุจริต หรือประพฤติมิชอบ หรือกระทำการฝ่าฝืนความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะการให้อำนาจบุคคลเพียงคนเดียวอาจใช้ดุลยพินิจผิดพลาด หรือใช้อำนาจมิชอบได้ จึงควรให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยในกรณีดังกล่าว

ขอแก้ไขให้ผู้บริหารท้องถิ่น ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากครบวาระ อยู่รักษาการต่อไป จนกว่าจะมีผู้บริหารคนใหม่เข้ามารับหน้าที่ เพราะการกำหนดให้ปลัดเทศบาล หรือปลัดองค์การฯ ปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวระหว่างการเลือกตั้ง ขณะที่บางท้องถิ่นเลือกตั้งเป็นปีแล้ว ยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้ง ทำให้โครงการต่างๆ สะดุดหยุดลง ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ควรจะได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้กำกับดูแลเทศบาลทุกประเภท ไม่ควรแยกเทศบาลตำบลให้อยู่ในความดูแลของนายอำเภอ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลาง มีฐานะเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับเทศบาล ขณะที่นายอำเภอไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล กฎ ระเบียบต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทย ไม่เคยให้อำนาจใดๆ กับนายอำเภอ การเข้ามากำกับดูแลขอลนายอำเภอ จึงก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ ทำให้งานล่าช้า

2. ร่างระเบียบบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ….

- ประธานคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น และอนุกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นจังหวัด ให้มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ โดยวิธีสรรหา

- เมื่อตำแหน่งบริหารว่างลง ให้ท้องถิ่นบรรจุแต่งตั้งภายในเวลาที่คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นกำหยด ถ้าไม่แต่งตั้งให้คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นบรรจุแต่งตั้ง

- ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น เป็นส่วนราชการในสำนักนายกรัฐมนตรี เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน โดยให้เลขาธิการฯ มีฐานะเทียบเท่ากับอธิบดี เป็นผู้บังคับบัญชา

- แก้ข้อกำหนดการจ่ายเงินเดือนและค่าจ้างไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ โดยไม่รวมเงินอุดหนุนหรือเงินอื่นใด เป็นไม่สูงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี จากฐานรายได้จริง ทั้งจากรายได้ที่จัดเก็บเอง และเงินอุดหนุนทั่วไปจากรัฐบาล

- การสรรหาคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น ให้ใช้ระบบไตรภาคี โดยมีผู้แทนมาจากคณาจารย์ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐ ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

- การสอบแข่งขันทุกตำแหน่ง สอบคัดเลือกทุกตำแหน่ง ให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักการการกระจายอำนาจ

3. ร่างกฎหมายการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่น

- ให้คงหลักการการจัดสรรรายได้ให้แก่ท้องถิ่นไม่ต่ำกว่า 35 เปอร์เซ็นต์

- การกำหนดหน้าที่ระหว่างท้องถิ่นกับรัฐบาลกลาง หรือระหว่างท้องถิ่นด้วยกัน ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติกระจายอำนาจ หรือพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อมีการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่น ต้องไม่มีการย้อนกลับไปแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีก ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการใช้อำนาจหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net