Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์พิเศษ ดร.วิชัย ตุรงค์พันธ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ท่ามกลางข่าวคอรัปชั่นอย่างหนาหูในบรรดาโครงการขนาดใหญ่ทั้งหลาย หลายคนอาจเบาใจว่าอย่างน้อยที่สุด "โครงการกองทุนหมู่บ้าน" ซึ่งรัฐหว่านเงินไปแล้วกว่า 74,652 ล้านบาทก็น่าจะเป็นโครงการที่ดีเพราะ "คนรากหญ้า" ได้รับอานิสงส์โดยตรง และยิ่งเป็นนิมิตหมายอันดีที่รัฐจะยกระดับกองทุนเงินล้านนี้เป็นธนาคาร ให้ชาวบ้านได้เป็นนายแบงก์กันถ้วนหน้าอีกด้วย

แต่งานวิจัยของ ดร.วิชัย ตุรงค์พันธุ์ผู้ อำนวยการโครงการปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) "โครงการประเมินผลนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และทางเลือกเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ" ให้ภาพรวมของกองทุนหมู่บ้านในมุมกลับ แม้จะจำกัดขอบเขตเฉพาะภาคอีสานก็ตาม

ทั้งสภาพการณ์ปัจจุบันที่ข้างนอกสดใส ข้างในเป็นโพรง รวมทั้งการส่งสัญญาณว่า หากบริหารจัดการไม่ดีในอัตราเร่งราวเหาะอย่างที่เป็นอยู่ ว่าที่นายแบงก์น้อยๆ ทั้งหลายอาจกลายสภาพเป็นเหยื่ออันโอชะภายใต้ระบบทุนนิยมนี้

ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่และชุมชนเมือง (สทบ.) ให้ข้อมูลว่า สมาชิกกองทุนหมู่บ้านมีการจ่ายหนี้คืน 80-90% แต่ดร.วิชัยระบุว่าในความเป็นจริงตัวเลขดังกล่าวคำนวณจากจำนวนคนที่เดินเข้ามาคืนเงินกู้เพื่อกู้ต่อ หาใช่เม็ดเงินกู้ที่ออกไปแล้วส่งกลับคืนมาแท้จริง

นอกจากนี้งานวิจัยยังฉายให้เห็นการใช้จ่ายเงินที่ลงไปว่า มีการนำเงินกู้ไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่กระทบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ซื้อหวย ปล่อยกู้ต่อ นำไปใช้หนี้ ฯลฯ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 40.8
ส่วนร้อยละ 25.7 นำไปใช้บริโภค เช่น ซื้อมอเตอร์ไซด์ รถปิกอัพ มือถือฯ นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ซื้อปุ๋ย ซื้อวัตถุดิบ ร้อยละ 12.6 และนำไปลงทุนขยายกิจการเดิม หรือสร้างกิจการใหม่ ร้อยละ 20.9

"นั่นหมายความว่าเงินกู้ในส่วนการบริโภคและการลงทุนรวมกันเกือบครึ่งของเงินทั้งหมด จะส่งผลกระทบทันทีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงไม่แปลกที่ 3 ปีแรกของโครงการจะทำให้จีดีพีโตกว่า 3 หมื่นล้าน ดังนั้นถ้าจะพัฒนาต่อต้องถามว่าจะพัฒนาการลงทุน 21% ให้เพิ่มขึ้นได้หรือไม่"

ธนาคารหมู่บ้าน...เราจะโต เราจะโต ?

อย่างไรก็ตาม ประมาณการช่วงแรกของรัฐบาล ทำเอาหลายคนตกอกตกใจ เพราะมีนโยบายจะพัฒนาให้เป็นธนาคารชุมชนทั่วประเทศในปีนี้ราว 7,400 แห่งจากทั้งหมด 76,000 แห่ง ด้วยข้อมูลของ แต่ถึงตอนนี้ตัวเลขก็ได้ปรับลดลงมาสู่ความเป็นจริงมากขึ้นแล้วที่ 99 แห่งทั่วประเทศ

โดยมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และอาจรวมถึงธนาคารกรุงไทย เป็นพี่เลี้ยงดูแลวางระบบและฝึกสอนระหว่างตั้งไข่ เนื่องจากต้องเพิ่มเติมหน้าที่จากเดิมในการจัดสรรการปล่อยกู้เงิน 1 ล้านบาทที่ได้มาแก่สมาชิก มาเป็นการรับฝากเงิน และการกู้ยืมเงินด้วย

"ก็ไม่รู้ว่ามันจะมีประสิทธิภาพขนาดไหน เพราะที่ผ่านมาการทำบัญชีง่ายๆ ก็ยังมีปัญหา" ดร.วิชัยกล่าวถึงข้อกังวล หลังจากเห็นข้อเท็จจริงในพื้นที่ ประกอบกับกฎเกณฑ์การยกระดับไปเป็นธนาคารหมู่บ้านของทุกธนาคารที่จะเป็นพี่เลี้ยง ดูเหมือนยังมีความไม่ชัดเจนและไม่ไม่ตรงกันเท่าไรนัก

ความไม่ชัดเจนประการแรกที่ดร.วิชัยมองเห็นก็คือ โครงสร้างของธนาคารจะเป็นอย่างไร มีกรรมการ 15 คนเช่นเดิมหรือไม่ หรือจะมีผู้บริหาร 1 คนที่มีความรู้เรื่องแบงก์ดึงตัวมาหรือออมสินเทรนมาโดยเฉพาะ มานั่งเป็นหัวขบวนและหัวหน้ากองทุนต่างๆ ที่มารวมเป็นธนาคารก็จะเป็นผู้จัดการกองทุน (hedge fund) ซึ่งหากโครงสร้างไม่ชัดก็จะก่อปัญหาได้

"ถ้าผลประกอบการของผมดี คนที่เข้าไปรันการทำงาน ถ้าจะให้แฟร์ก็ควรจะได้ผลตอบแทนที่ดีด้วย แต่ประเด็นนี้ก็พูดลำบาก เพราะจะมีคนบอกว่าทำให้ชุมชนมองตัวเงินเป็นที่ตั้ง ผมว่ากำลังสับสนอะไรบางอย่างหรือเปล่า เพราะธนาคารมันคือการจัดการเงินและคุณบอกจะทำให้เป็นระบบ แล้วใช้อาสาสมัคร ถ้าวันไหนผมอารมณ์ไม่ดี ทะเลาะกับเมียเลยไม่มา มันจะเป็นระบบได้ยังไง มันก็ต้องว่าจ้างกันให้แน่นอน เพื่อการวางแผนกำลังคน รวมถึงกลไกการดำเนินงานด้วย" หัวหน้าโครงการวิจัยให้เหตุผล

ในขณะที่เรื่องใหญ่ซึ่งน่าจับตามองอย่างมาก แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือ การตรวจสอบการดำเนินงานและการประกันความเสี่ยง โดยที่การประกันความเสี่ยงนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญที่สุดสำหรับเงินก้อนเล็กๆ ของบรรดาคนเล็กๆ ทั่วประเทศ

ดังนั้น คำถามใหญ่คือ ธนาคารหมู่บ้านล้มได้ไหม?

"อย่างไทยพาณิชย์ กรุงเทพ ล้มไม่ได้ ล้มแล้วยุ่งมากเลย แต่ว่ากันจริงๆ แบงก์ล้มได้ แต่ไม่ควรล้ม เพราะมันจะเจ๊งกันทั้งหมด จึงพูดง่ายๆ ว่าแบงก์ล้มไม่ได้ ถ้าล้มไม่ได้แล้วธนาคารหมู่บ้านมีอะไรมาประกัน หรือถ้ามันล้มได้ผลที่จะเกิดขึ้นคืออะไร ใครจะจ่ายเงินคืนให้ชาวบ้าน เพราะแบงก์ทั่วไปถูกกำกับด้วยแบงก์ชาติที่ดูแลกำกับการดำเนินงานของแบงก์ต่างๆ อยู่ ธนาคารหมู่บ้านมันก็ไม่ควรล้มเช่นกัน เพราะมันเป็นความเข้มแข็งของชุมชน" ดร.วิชัยกล่าว

นั่นคือระบบประกันเงินฝาก (deposit insurance) ซึ่งดร.วิชัยระบุว่า ประเทศไทยยังไม่มี แต่ขณะนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังหาหรือเรื่องนี้อยู่ และกำลังจะกำหนดมาตรการออกมาเร็วๆ นี้

"ถ้ามีระบบประกันเงินฝากแล้วจะมีระบบตรวจสอบภายใจที่ละเอียดขึ้นอัตโนมัติ" ดร.วิชัยระบุ

ระวังสภาวะ "รากหญ้าเน่า"

นักวิชาการจากนิด้าตั้งข้อสังเกตด้วยว่า สทบ.มักจะชี้แจงเรื่องนี้ตลอดว่าให้ชาวบ้าน "คิดเอง ทำเอง" ซึ่งหากชาวบ้านที่เก่งมากๆ ก็ดีไป แต่งานจะเพิ่มขึ้นเยอะมาก ทั้งการฝาก การถอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุน เพราะการบริหารธนาคารนั้นยุ่งยากและสลับซับซ้อนกว่าลักษณะที่เป็นกองทุนมากนัก

นอกเหนือจากโจทย์เกี่ยวกับการบริหารธนาคารหมู่บ้านแล้ว ยังมีประเด็นสำคัญว่าคนนอกฝากหรือกู้ได้ไหม? ...คำถามนี้สำคัญอย่างไร?

"เมื่อเงินฝากก้อนโตขึ้นเพราะคนเห็นว่าได้ดอกเบี้ยดี แบงก์โดยทั่วไปก็ต้องเอาเงินไปลงทุนยังจุดต่างๆ เพื่อให้ได้ดอกผล วิธีง่ายที่สุดก็คือ ให้คนอื่นกู้ คำถามของผมคือ นอกจากให้กู้แล้วคิดอย่างอื่นเป็นไหม และมาตรการก็ไม่ได้กำหนดด้วยว่าต้องเป็นคนในชุมชน ถ้าคนนอกจะเข้ามากู้ อย่างผมก็จะเช็คทั่วประเทศเลยว่ากองทุนไหนให้กู้ต่ำสุด แล้วผมก็เริ่มระดมทุนการกู้ มี 100 ที่ก็กู้ให้หมด 100 ที่ แล้วเอามาลงทุนเปิดร้านอาหารของผมที่กรุงเทพฯ"

หากจะตีความข้อกังวลของดร.วิชัยอย่างเลวร้ายที่สุด กองทุนหมู่บ้านก็จะกลายเป็น "เหยื่ออันโอชะ"
ของนักลงทุน นักธุรกิจจากส่วนกลางซึ่งมีความสลับซับซ้อนในวิธีการลงทุน และอยู่ใกล้ชิดกับข้อมูลมากกว่า

ดร.วิชัยเสนอว่าการลงทุนที่ดีที่สุดอีกทาง คือ เข้าไปเชื่อมโยงกับสถานบันที่มีโครงการให้ความช่วยเหลือ เช่น โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตร โครงการโอท็อป ซึ่งโครงการเหล่านี้ต้องช่วยคนเหล่านี้ให้นำไปทำการลงทุนที่ดี หรือไม่ก็ควรนำก้อนเงินฝากไปลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ซื้อพันธบัตรหรือตราสารหนี้ ติดแต่เพียงว่าชาวบ้านรู้หรือไม่ว่ามีตราสารหนี้อะไร นี่คือคำตอบว่าทำไมจึงต้องเร่งสร้างการเรียนรู้เพื่อสร้างทางเลือกในการบริหารจัดการให้กับชาวบ้าน

นอกจากนี้เขาเสนอด้วยว่า ช่วงแรกควรให้ชุมชนกู้หรือทำอะไรที่ใกล้เคียงกับในอดีต เช่น หากโตมาจากกองทุนหมู่บ้าน ก็ควรให้บริหารการให้กู้ในงบ 1 ล้าน ส่วนเงินฝากทั้งหลาย ในช่วงแรกอย่าเพิ่งนำไปลงทุน

"ผมไม่อยากให้มันเป็นเอ็นพีแอล ถ้าเอาเงินที่ประชาชนออมไปลงทุนแล้วมันล้มเหลว นี่แหละคือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น"

เงินกองทุน "บ่แม่น" เงินทักษิณ

ส่วนกรอบระยะเวลาที่ดร.วิชัยเสนอไว้ให้จ่ายเงินทุน 1 ล้านบาทคืนให้แก่รัฐคือราว 15 ปี ซึ่งอาจจะไม่ทันใจรัฐบาล แต่เขายืนยันว่าการค่อยเป็นค่อยไปจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า

"หลังจากนั้นต้องเริ่มแบ่งเงินบางส่วนกลับรัฐบาล เพราะเงิน 1 ล้านบาทที่ให้ไป ไม่ได้ให้ฟรี แต่ชาวบ้านคิดว่าให้ฟรี บางคนยังคิดว่าเป็นเงินนายกฯ และตอนนี้ยังไม่มีใครบอกว่าเมื่อไร ปัญหาคือเมื่อรัฐบาลไม่บอก คนก็ไม่คิดเรื่องนี้ แต่ถ้าบอกไว้แล้วมีการทยอยเงินหมด ที่เหลือก็จะเป็นเงินที่แท้จริงของชุมชน มีเงินหมุนเวียนจากเงินฝาก ทำให้เกิดการให้เงินปันผล และสวัสดิการต่างๆ ในชุมชน" ดร.วิชัยกล่าวทิ้งท้าย

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ในสภาพการณ์ที่ระบบเศรษฐกิจไทยหาความมั่นคงที่ยั่งยืนได้ยากยิ่ง ผู้คนจำนวนมากเริ่มกังวลกันอีกครั้งว่าวิกฤตเศรษฐกิจอาจคืบคลานเข้ามาใกล้อีกครั้ง

คราวที่แล้วสถาบันการเงินล้ม บริษัทเจ๊ง คนเล็กคนน้อยยังมี "บ้าน" ให้กลับ แต่วิกฤตครั้งหน้า คนค่อนประเทศอาจหาที่ไปไม่เป็น !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net