Skip to main content
sharethis

นานาชาติชี้การที่ผู้นำว้าประกาศเลิกปลูกฝิ่น อาจส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปกครองของ UWSA กว่า 2 ล้านคน ได้รับความเดือดร้อน เมื่อถูกสั่งเลิกอย่างกะทันหัน ทั้งที่เป็นอาชีพที่ยึดทำมายาวนาน

สำนักข่าว S.H.A.N รายงานว่า เนื่องจากวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก และเป็นวันที่นายเปาโหย่วเฉียง ผู้นำสูงสุดของกองทัพสหรัฐว้า UWSA จะประกาศให้พื้นที่ปกครองของตนเป็นเขตปลอดยาเสพติด ตามที่ได้ประกาศให้สัญญากับชาวโลกไว้ก่อนหน้านี้

โดยเครือข่ายนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวนานาชาติ ที่มีสำนักงานอยู่ที่เมืองแอมสเทอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับคำประกาศของผู้นำว้าว่า อาจส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปกครองของ UWSA กว่า 2 ล้านคน ประมาณ 3.5 หมื่นครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากอาชีพที่พวกเขายึดทำมายาวนานจะถูกสั่งเลิกอย่างกะทันหัน

ขณะที่เครือข่ายสถาบันข้ามชาติ หรือ TNI ซึ่งดำเนินโครงการเกี่ยวกับยาเสพติดและประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เปิดเผยว่า คำประกาศยกเลิกการปลูกฝิ่นของกองทัพสหรัฐว้า UWSA เกิดขึ้นจากการกดดันของประชาคมโลก โดยที่ผู้ประกอบอาชีพไม่มีสิทธิออกเสียงในการตัดสินใจใดๆ
เมื่อปี 2541 มีการจัดประชุมพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยปัญหายาเสพติด ซึ่งทุกฝ่ายต่างตกลงกันว่า จะให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนเข้าร่วมด้วย แต่ปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าหลักการดังกล่าวถูกลืมไปอย่างสิ้นเชิง ดังเช่น ในพื้นที่ปกครองของกลุ่มหยุดยิงโกก้างในรัฐฉาน หลังจากมีคำสั่งยกเลิกการปลูกยาเสพติดเมื่อปี 2546 ส่งผลให้ประชากร 1 ใน 4 ต้องอพยพออกนอกพื้นที่เนื่องจากไม่มีงานทำ

ในขณะที่โครงการอาหารโลกระบุว่า ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ปกครองกลุ่มหยุดยิงโกก้างต้องอพยพออกนอกพื้นที่มากกว่า 1 ใน 3 และในส่วนที่ยังอยู่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ต้องประสบกับการขาดสารอาหารอย่างหนัก โดยบางส่วนพยายามเอาตัวรอดด้วยการบริโภคพืชผักในป่าแทน และมีจำนวนไม่น้อยต้องขายบ้าน ที่ดิน ไร่ นา และแม้กระทั่งบุตรสาวของตนให้กับผู้อื่น ยิ่งไปกว่านั้นบุตรหลานของพวกเขาก็ต้องเลิกเรียนกลางคัน รวมทั้งเลิกใช้บริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาลและคลินิก ซึ่งทั้งหมดนี้มีสาเหตุมาจากการห้ามปลูกฝิ่นอย่างกะทันหัน
นาย มาร์ติน เจลส์มา หนึ่งในบรรณาธิการเขียนรายงานเกี่ยวกับยาเสพติดและการขัดแย้งในพม่าเมื่อปี 2546 กล่าวว่า การประกาศห้ามปลูกฝิ่นนั้น มันเป็นคำที่น่าฟังสำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามยาเสพติด แต่สำหรับผู้ที่ยึดอาชีพนี้มายาวนาน จะต้องได้รับผลกระทบอย่างใหญ่

ขณะเดียวกัน กลุ่มเครือข่าย TNI ได้ให้คำแนะนำเพื่อความเป็นไปได้และเพื่อให้ถูกหลักสิทธิมนุษยธรรม 4 ข้อด้วยกันคือ 1.ให้ผ่อนผันกำหนดเส้นตาย 2.วางรากฐานอาชีพใหม่ให้กับชาวบ้านที่มีอาชีพปลูกฝิ่น 3.ให้นานาชาติเข้าไปให้ความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาความยั่งยืนและมีพื้นฐานในชุมชน และ4.ให้อำนาจแก่สังคมพลเรือนให้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจในอนาคตของตัวเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net