Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-29 มิ.ย.48 นายกสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย(ศวท.) เผยปัญหาเรื่องสัญชาติ ล้วนมาจากนโยบายรัฐที่ขาดความชัดเจน รวมทั้งการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานผิดพลาด และฉกฉวยโอกาสเรียกร้องจากชาวบ้าน ชี้ให้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ โดยมีตัวแทนภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรชาวบ้านที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหาและรายงานถึงคณะรัฐมนตรีโดยตรง

นายชูพินิจ เกษมณี นายกสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย(ศวท.) กล่าวว่า ปัญหาในเรื่องสัญชาติ การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของกลุ่มคนบนพื้นที่สูงที่ผ่านมา สาเหตุหลักก็คือมาจากตัวบทกฎหมาย และนโยบายของรัฐ ที่ยังไม่มีความเหมาะสมและชัดเจนในการแก้ไขปัญหา โดยจะเน้นในเรื่องความมั่นคงของชาติ รวมไปถึงมีนโยบายที่มุ่งเน้นการปราบปรามและควบคุมเป็นหลัก ทำให้เกิดความสับสน และมีความเข้มงวด เร่งรัด ขีดเส้นตายกับพี่น้องชนเผ่ามากเกินไป

"กฎหมายและนโยบายเช่นนี้ ยิ่งไปตอกย้ำชาวบ้านมากขึ้น อีกทั้งยังกลายเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนกระทำกับกลุ่มคนชนเผ่าในลักษณะที่ปิดประตู ซึ่งมีแนวโน้มที่พร้อมจะฉกฉวยโอกาสที่จะเรียกร้องจากชาวบ้านได้ตลอดเวลา โดยไม่ได้เข้าใจและไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน" นายชูพินิจ กล่าว

นายชูพินิจ กล่าวอีกว่า ปัญหาที่มองเห็นชัดอีกปัญหาหนึ่งก็คือ เรื่องการสำรวจประชากรบนพื้นที่สูงที่ผ่านมา ไม่มีความแม่นยำ ยังมีความคลุมเครือ มีการตกหล่นอยู่อีกเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ชาวไทยภูเขาดั้งเดิมติดแผ่นดินไม่ได้รับสถานะบุคคล ต้องกลายเป็นคนไร้สัญชาติ

"นอกจากนั้น ยังมีปัญหาในเรื่องการยื่นคำร้องขอสัญชาติ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่นั้นล้วนมาจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อชาวบ้านไปยื่นคำร้องเอาไว้อำเภอ แต่เอกสารข้อมูลคำร้องสูญหาย ซึ่งเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ แต่ปัญหากลับตกอยู่ที่ชาวบ้าน ทำให้มีการยื่นคำร้องซ้ำซาก ต้องเสียเวลาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บางรายถูกผู้ใหญ่บ้านเรียกร้องให้จ่ายเงินเป็นค่าเซ็นรับรองให้ รายละ2,000-10,000 บาท" นายชูพินิจ กล่าว

ทั้งนี้ นายกสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย ได้เสนอให้เพิ่มกฎหมายบางอย่าง เพื่อเปิดช่องช่วยเหลือผู้ที่ตกหล่นในประเทศไทย ให้สามารถร้องขอสัญชาติได้ และขอให้ผู้มีอำนาจระดับสูง ได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจในการจัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคล เพื่อทำหน้าที่ติดตาม เร่งรัด ให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ และสามารถนำเสนอเชื่อมไปถึงคณะรัฐมนตรีโดยตรง และควรทำในรูปแบบภาคี โดยมีหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และเครือข่ายองค์กรประชาชนบนพื้นที่สูงที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้แก้ไขปัญหาร่วมกัน เชื่อว่า การผลักดันในการปฏิบัติก็จะเป็นจริง

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net