ปิดฉากประชุมถ่านหินโลก ต่อยอดธุรกิจพลังงาน

ประชาไท—25 ม.ค. 48 การประชุมถ่านหินโลกจบลงแล้วในวันนี้ โดยผู้เข้าร่วมประชุมบางตาลงไปพอสมควร ทั้งนี้ ในตอนเช้ามีโปรแกรมตีกอล์ฟ สำหรับผู้เข้าร่วมการประชุมบางส่วน และบางส่วนที่อยู่ในโรงแรมจับกลุ่มเจรจากัน โดยผู้จัดการประชุมได้จัดเตรียมห้องสำหรับการเจรจาอย่างสะดวกสบายไว้ด้วย

อนึ่ง ภายในงานประชุม นอกจากจะมีการประชุมกึ่งวิชาการว่าด้วยเทคโนโลยีเกี่ยวกับถ่านหินแล้ว ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในสายพลังงานถ่านหินด้วย จำนวน 8 บูธ และบริษัทของไทยหรือบริษัทที่มีสาขาในประเทศไทย จำนวน 5 บูธ ได้แก่ บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด มหาชน บริษัทมอเตอร์เวอร์ค จำกัด บริษัท มินคอมจำกัด และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ประชาไทใช้เวลาช่วงท้ายการประชุม สอบถามตัวแทนจาก 4 บริษัทเอกชนถึงผลสัมฤทธิ์จากการจัดนิทรรศการในการประชุมครั้งนี้ ส่วนใหญ่ค่อนข้างพอใจ เนื่องจากการจัดนิทรรศการของบริษัทถือเป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายลูกค้าใหม่พร้อมทั้งรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมไปด้วย

นิตยา กาศเกษม เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) อธิบายกับประชาไทว่า บริษัทบ้านปูฯ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจเหมืองถ่านหินในประเทศไทยและอินโดนีเซีย และเป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 50% ของโรงไฟฟ้า BLCP ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินนำเข้าแห่งแรกของประเทศ อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่ จ.ระยอง

การมาจัดนิทรรศการของบริษัทครั้งนี้ถือเป็นการรักษาและสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า และในงานนี้ก็มีการเจรจาเรื่องการซื้อขายถ่านหินอยู่บ้าง

นายมานะ จิรกิตติ ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัทบางกอกมอเตอร์เวอร์ค จำกัด ผู้จำหน่ายรถตักและรถขนถ่านหินขนาดใหญ่ ยี่ห้อ โคมัทสึ ซึ่งมีโรงงานประกอบอยู่ที่จังหวัดอยุธยา บอกว่า ลูกค้าของบริษัทมีทั้งภาครัฐและเอกชน ถ้าเป็นภาครัฐจะสั่งซื้อในลักษณะนาน ๆ ครั้ง เพราะว่า รถของบริษัทมีอายุการใช้งานนานเป็น 10 ปีขึ้นไป แต่ถ้าเป็นลูกค้าเอกชนจะมีการสั่งบ่อยครั้งกว่า

ภายในนิทรรศการของบริษัทบางกอกมอเตอร์เวอร์คฯ แสดงตัวอย่างสินค้าอย่างสมจริง และแสดงให้เห็นความหลากหลายของสินค้าซึ่งมีหลายขนาดบรรจุ และหลากหลายรูปแบบการใช้งาน ที่น่าสนใจที่สุดน่าจะได้แก่รถขนถ่านหินขนาดบรรจุ 360 ตัน ซึ่งมีราคานับร้อยล้านบาท

นายชัยวัฒน์ เครือชะเอม รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส จำกัด (มหาชน) ผู้นำเข้าถ่านหินจากแหล่งอินโดนีเซีย เพื่อขายให้กับลูกค้าในประเทศ กล่าวว่าถ่านหินของบริษัท ส่วนใหญ่นำเข้ามาเพื่ออุตสาหกรรมอื่น เช่น ปูนซีเมนต์ เป็นต้น ไม่ได้ส่งให้กับการผลิตไฟฟ้า

นายชัยวัฒน์เปิดเผยว่าได้ลูกค้าเพิ่มเติมจากการประชุมครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม บริษัทคงไม่ไปร่วมในการประชุมถ่านหินโลก ซึ่งจะไปจัดอีก 2 ครั้ง ที่ประเทศอินเดีย และจีนในปีนี้ เพราะฐานลูกค้าของบริษัทอยู่ในประเทศไทย

ด้านบริษัทมินคอม จำกัด เป็นบริษัทใหญ่จากออสเตรเลีย และมีสาขาอยู่ในประเทศไทย โดยพื้นที่การตลาดของสาขาประเทศไทยกินอาณาบริเวณตั้งแต่แถบเอเชียตะวันนออกเฉียงใต้ จนถึงเอเชียกลาง

เจ้าหน้าที่ของบริษัทมินคอมอธิบายกับประชาไทว่า บริษัทมินคอมเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจซอฟแวร์ในการทำเหมืองแร่ รวมถึงการวางแผนการดำเนินการ การกำหนดสเปคของเครื่องมือ การวางยุทธศาสตร์ และการออกแบบและดูแลระบบการทำเหมืองทั้งหมด

"จริง ๆ แล้วบริษัทไม่ได้ทำซอฟท์แวร์สำหรับเหมืองเท่านั้น แต่ยังทำซอฟแวร์ของกองทัพในประเทศออสเตรเลีย การขุดเจาะน้ำมัน ฯลฯ"

เมื่อถามถึงลูกค้าภายในประเทศไทยของบริษัทมินคอม จำกัด เจ้าหน้าที่คนเดิมตอบว่า ลูกค้ารายใหญ่ในประเทศไทยก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตนั่นเอง

การประชุม "ถ่านหินโลก" ในประเทศไทย ได้ปิดฉากลงแล้วในวันนี้ อย่างไรก็ตาม การประชุมลักษณะนี้ก็จะถูกจัดขึ้นอีกในหลายประเทศ ซึ่งมีตลาดรองรับสินค้าและธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหิน เจ้าหน้าที่จากหลายบริษัทยืนยันว่าอนาคตของถ่านหินมีความสดใส เพราะว่ายังมีแหล่งถ่านหินเหลืออีกมากมายในโลก เพียงแต่ "ใคร"จะเป็นผู้ "เข้าถึง" และ "ลงทุน" เท่านั้น

พิณผกา งามสม
ประชาไทรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท