Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รายงาน


 


ในระยะ 2 - 3 ปีนี้ ประเทศไทยถูกรุมเร้าด้วยปัจจัยลบหลายด้าน ที่ส่งผลกระเทือนต่อภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เป็นตัวดึงเม็ดเงินเข้าประเทศในอันดับต้น ๆ ต้องอยู่ในภาวะซบเซาและบอบช้ำมาเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พิษโรคซาร์ส ไข้หวัดนก ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ สึนามิ และล่าสุดกับวิกฤติราคาน้ำมัน


 


หากโฟกัสมาที่จังหวัด "เชียงใหม่" ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวส่วนใหญ่กำลังอยู่ในภาวะหายใจไม่ทั่วท้อง เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง หลายฝ่ายเริ่มกังวลว่าภาวะเช่นนี้อาจซึมยาวไปอีกหลายปี ส่วนผู้ประกอบการบางรายยังมีความกังวลในเรื่องความไม่แน่นอนของสถิตินักท่องเที่ยวที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการขยายตัวด้านการลงทุนและบริการท่องเที่ยวในอนาคตได้


 


ททท.ฉายภาพท่องเที่ยว Q 1


นักท่องเที่ยวยุโรป-เอเชียวูบ


 


นางสาวอังคณา พุ่มผกา ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ เขต 1 เปิดเผย "พลเมืองเหนือ" ว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2548 จากการรวบรวมข้อมูลสถิติการเข้าพักของนักท่องเที่ยวของโรงแรมในเชียงใหม่จำนวน 280 แห่ง พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 823,194 คน เป็นนักท่องเที่ยวไทย 363,637 คน เพิ่มขึ้น 26.91 % และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 459,557 คน ลดลง 10.03 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้ พบว่าปริมาณนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปและเอเชียที่เดินทางมาเชียงใหม่ไตรมาสแรกของปีนี้ลดลงมาก ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา 20,246 คน ลดลง 42.71 % จากช่วงเดียวกันปี 2547 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 35,339 คน เบลเยี่ยม 8,133 คน ลดลง 35.46 % จากปีที่ผ่านมาจำนวน 12,601 คน ออสเตรีย 4,729 คน ลดลง 39.45 % จากปีที่ผ่านมา 7,810 คน ขณะที่นักท่องเที่ยวในแถบเอเชีย ก็ลดลงมากเช่นกัน เช่น นักท่องเที่ยวฮ่องกงมีจำนวนเพียง 1,738 คน  ลดลงถึง 81.85 % เทียบกับปีที่แล้วที่มีจำนวน 9,574 คน เช่นเดียวกับไต้หวัน มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพียง 4,321 คน ลดลง 81.58 % เทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกันที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 23,464 คน เกาหลี 5,675 คน ลดลง 57.54 % จากปีที่ผ่านมาที่มีนักท่องเที่ยว 13,367 คน จีน 6,076 คน ลดลง 16.2 % จากปีที่ผ่านมา 7,257 คน มาเลเซีย 8,681 คน ลดลง 44.91 % จากปีที่ผ่านมามีจำนวน 15,757 คน อินเดีย 2,590 คน ลดลง 57.59 % จากปีที่แล้วที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากถึง 6,107 คน เป็นต้น


 


สาเหตุประการสำคัญที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไตรมาสแรกลดลงมาก น่าจะมาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะผลกระทบด้านจิตใจจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้  ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักมองภาพรวมทั้งประเทศว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นคือประเทศไทยทั้งหมด ทำให้การเดินทางต้องหยุดชะงักไป ส่วนนักท่องเที่ยวแถบเอเชีย เช่น ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวันหรือจีน ค่อนข้างมีความรู้สึกอ่อนไหวมากเกี่ยวกับเหตุการณ์สึนามิ มีความเชื่อเรื่องวิญญาณมากกว่านักท่องเที่ยวแถบยุโรปหรืออเมริกา


 


อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกปีนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งที่มีอัตราการเดินทางมายังเชียงใหม่เพิ่มขึ้น 5 ลำดับแรกคือ 1.สหรัฐอเมริกา มีจำนวนนักท่องเที่ยว 92,286 คน เพิ่มขึ้น 35 % จากตัวเลขช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 68,362 คน 2.อังกฤษ 48,534 คน เพิ่มขึ้น 34 % จากปีที่แล้วมีจำนวน 36,208 คน 3.ฝรั่งเศส 46,616 คน เพิ่มขึ้น 28.44 % จากปีที่ผ่านมามี 36,295 คน 4.ญี่ปุ่น 39,786 คน เพิ่มขึ้น 22.97 % จากปีที่ผ่านมามีจำนวน 32,353 คน 5.เยอรมัน 38,046 คน ลดลง 29.55 % จากปีที่ผ่านมามีจำนวน 54,004 คน


 


นางสาวอังคณา กล่าวว่า สถิติข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวที่ ททท.รวบรวมมาจาก 2 ส่วนคือ การเข้าพักของนักท่องเที่ยวในโรงแรมต่าง ๆ ดังกล่าว อีกส่วนคือ จากสถิติของด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และสถานีขนส่งผู้โดยสาร (อาเขต) โดยพบว่าไตรมาสแรกปีนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 983,963 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวไทย 489,198 คน นักท่องเที่ยวต่างชาติ 494,765 คน


 


ผู้ประกอบการหวั่นกระทบยาว


ชี้ รร.ห้าดาวเป็นกลไกเชิงบวก


 


นายบุญเลิศ เปเรร่า ประธานฝ่ายวิชาการ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ เปิดเผย "พลเมืองเหนือ" ว่า ในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมาต้นทุนทั้งระบบของธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณ 20 % ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมาตั้งแต่กลางปี 2547 อีกทั้งยังมีผลสืบเนื่องมาจากหลาย ๆ เหตุการณ์ที่รุมเร้าประเทศไทยในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งโรคซาร์ส ไข้หวัดนก ปัญหาทางภาคใต้ และเหตุการณ์สึนามิ ซึ่งถือเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุด ทั้งนี้ จากที่มีการอ้างถึงว่านักท่องทางภาคใต้ที่ลดลงมากได้เปลี่ยนเส้นทางมายังภาคเหนือ นั้น อาจมีบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวไทยมากกว่า ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาเชียงใหม่ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเอเชียและยุโรป และปัจจุบันพบว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เบนเข็มไปเที่ยวในกลุ่มอินโดจีนและจีนมากขึ้น ทำให้ขณะนี้ไทยต้องเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับประเทศในกลุ่มนี้ไปอย่างเลี่ยงไม่ได้


 


"ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหลายรายเริ่มหวั่นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะข้ามยาวไปถึงปีหน้า แต่ส่วนใหญ่ก็คาดหวังว่าจะไม่เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าจะหวังว่าจะมีปีทองการท่องเที่ยวไทยเกิดขึ้นคงเป็นเรื่องยากมาก ตอนนี้ผู้ประกอบการต้องนึกถึงการรวมกลุ่มกันให้ได้และลดการแข่งขันซึ่งกันและกัน เช่นการตัดราคา"


 


 นายบุญเลิศ กล่าวว่า การลงทุนของโรงแรมระดับห้าดาวหลาย ๆ แห่งในเชียงใหม่ คือทิศทางที่ตอบตลาดได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นกลไกเชิงบวกของการท่องเที่ยวในภาวะที่ทุกอย่างกำลังชะลอ ด้วยสไตล์และจุดขายที่โดดเด่นของโรงแรมระดับห้าดาว จะสามารถตอบสนองลูกค้าระดับบนที่มีกำลังซื้อสูง ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมาเชียงใหม่ขาดโรงแรมระดับนี้ ซึ่งเมื่อมีโรงแรมระดับนี้เกิดขึ้นมาก ๆ ก็จะทำให้เชียงใหม่สามารถขายตัวเองได้มากขึ้น และเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ให้สูงขึ้น ทั้งยังเป็นส่วนกระกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวอีกระดับหนึ่งเข้ามาเชียงใหม่มากขึ้น


 


ด้านแหล่งข่าวที่ประกอบธุรกิจด้านบริการท่องเที่ยวรายหนึ่ง กล่าวว่า ททท.ควรเปิดเผยตัวเลขนักท่องเที่ยวที่แท้จริงว่าลดหรือเพิ่มมากน้อยอย่างไร ไม่ใช่บอกว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวยังอยู่ในภาวะที่ดี ทั้ง ๆ ที่มีปัจจัยหลายอย่างเข้ามากระทบ โดยเฉพาะในระยะที่ผ่านมามีกลุ่มทุนเข้ามาลงทุนสร้างโรงแรมห้าดาวและธุรกิจด้านบริการท่องเที่ยวกันมาก ซึ่งหาก ททท.นำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงและสอดคล้องกับสถานการณ์ ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการรู้สถานการณ์จริงและสามารถวางแผนในอนาคตได้


หวั่นท่องเที่ยวเชียงใหม่ทรุด


 


นายขจรวิทย์ บุญสม กรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์ทวีลส์ เร้นท์ อะ คาร์ จำกัด ผู้ให้บริการรถยนต์เช่ารายใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แน่นอนว่าธุรกิจท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ย่อมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับภาคธุรกิจอื่น ๆ ข้อเท็จจริงด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ค่อนข้างย่ำแย่มาก ซึ่งภาครัฐยังเข้าใจว่าการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ขณะนี้เติบโตถึง 26 % ในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ น่าจะเหลือเพียง 26 % มากกว่า ยิ่งเจอกับผลพวงปัจจัยลบด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาราคาน้ำมัน เหตุการณ์สึนามิ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก


 


ทั้งนี้ การท่องเที่ยวของเชียงใหม่ยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง ในระยะหลายปีที่ผ่านมาไม่มีการลงทุนด้านการท่องเที่ยวเลย โดยเฉพาะการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ด้านการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวเที่ยวที่จะเดินทางกลับมาท่องเที่ยวซ้ำอีกมีปริมาณที่น้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย เพราะแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ไม่มีแรงดึงดูดมากพอ


 


ททท.เร่งปรับแผนใหญ่


มุ่งเป็นฮับท่องเที่ยวเอเชีย


 


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงแผนการตลาดการท่องเที่ยวประจำปี 2549 ประกาศวิสัยทัศน์ยังคงมุ่งพัฒนาและส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของเอเชีย (Tourism Capital of Asia) โดยเน้นคุณภาพของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพจากต่างประเทศที่ 15.12 ล้านคน รายได้ 5.33 แสนล้านบาท ขณะที่เป้านักท่องเที่ยวคนไทย 79.33 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 3.8 แสนล้านบาท โดยวางจุดขายสินค้าท่องเที่ยว 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มหาดทราย ชายทะเล กลุ่มเมือง ชุมชน และประวัติศาสตร์ กลุ่มสินค้าประเภทธรรมชาติ กลุ่มสินค้าความสนใจพิเศษ และกลุ่มเทศกาลประเพณี ซึ่งเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยวที่ตรงกับความสนใจ รสนิยมและพฤติกรรมของกลุ่มตลาดเป้าหมายทั้งในและต่างประเทศ


 


โดยมุ่งทำตลาดเชิงรุกเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นรายตลาด เจาะกลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) ให้มากขึ้น อาทิ กอล์ฟ สุขภาพ ดำน้ำ ฮันนีมูน ผู้มีรายได้สูง กลุ่มตลาดสตรี ผู้สูงอายุ ฯลฯ และมุ่งความสนใจไปที่ตลาดภูมิภาคเอเชีย และยุโรป รวมทั้งตลาดระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง และตลาดอาเซียน คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ซึ่งเป็นตลาดที่สามารถตัดสินใจท่องเที่ยวได้ในระยะสั้น


 


นอกจากนี้จะเปิดแนวรุกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอย่างยุโรปตะวันออก รัสเซีย ยูเครน กลุ่ม CIS และกลุ่มตลาดระดับบนของอินเดีย ตะวันออกกลาง และอัฟริกา เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงกรีนซีซั่น เพื่อกระจายนักท่องเที่ยวในทุกฤดูกาล ส่วนด้านตลาดในประเทศ ยังคงดำเนินการภายใต้แคมเปญ "เที่ยวที่ไหนไม่สุขใจเท่าบ้านเรา" ควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจังหวัดทั้งภายในภูมิภาคและระหว่างภูมิภาคของประเทศให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการกระจายการเดินทางท่องเที่ยวจากภาคกลางและเมืองหลัก ให้เกิดการเดินทางข้ามภูมิภาค และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน การจัดกิจกรรมและแคมเปญพิเศษต่าง ๆ ที่มีความน่าสนใจตรงกับความต้องการในปัจจุบัน เช่น กีฬา บันเทิง โดยดึงพันธมิตรที่เป็นภาคเอกชนเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งในการขยายฐานตลาด ตลอดจนการเพิ่มช่องทางต่างๆในด้านข้อมูลข่าวสารให้มีความทันสมัย เน้นการใช้ประโยชน์จากสื่ออิเล็กทรอนิกส์และการส่งเสริมการขายผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่หันมาใช้อินเตอร์เน็ตในการหาข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น นอกจากนี้ จะเร่งเสริมศักยภาพให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความรู้ด้านการบริหารและการตลาดให้มากขึ้นด้วย.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net