Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


 








"ตอนนี้เกือบ 1 ปีแล้ว  แต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น  ตั้งแต่มีโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่เข้ามา  ชาวบ้านต่างมีชีวิตอยู่อย่างลำบากและตะขิดตะขวงใจ  ทำอะไรก็ไม่ได้เหมือนแต่ก่อน"นายจักรพงษ์  มงคลคีรี  ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าว

 


หมู่บ้านห้วยปลาหลด    เป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าล่าหู่ หรือ มูเซอ  ตั้งอยู่หมู่ที่ 8  ต.ด่านแม่ละเมา  อ.แม่


สอด  จ.ตาก  ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช  ห่างจากตัวจังหวัดตาก ไปตามทางหลวงสายตาก-แม่สอดประมาณ 35  กิโลเมตรมีประชากรทั้งหมดประมาณ 500 คน  จาก 124  ครอบครัว  ซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม  ปลูกข้าวไร่  กาแฟ  พืชไร่และขายสินค้าการเกษตรนำไปวางขายที่ตลาดดอยมูเซอ  บริเวณทางเข้าหมู่บ้าน

แต่สุดท้ายหมู่บ้านแห่งนี้ต้องเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่ทันตั้งตัว  เมื่อทางการได้ประกาศให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบของโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี  เมื่อวันที่ 27 ก.ค.2547และเมื่อวันที่ 10  ส.ค.2547 ที่ได้เห็นชอบให้มีการดำเนินการ โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ตามแนวพระราชดำริ  โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) ได้แก่กรมป่าไม้  กรมอุทยานแห่งชาติ  สัตว์ป่าและพันธุ์พืชและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ซึ่งมีภารกิจรับผิดชอบโดยตรง โครงการดังกล่าวมีพื้นที่เป้าหมายที่ครอบคลุมไปทั้งหมด  10,866  หมู่บ้านในพื้นที่  70  จังหวัดของประเทศ

 


พ่อหลวงจักรพงษ์  มงคลคีรี  ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด  ได้เล่าถึงความเป็นมาของโครงการป่าไม้แผนใหม่ ให้ฟังว่า  โครงการดังกล่าวได้เริ่มเข้ามาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2547 โดยมีเจ้าหน้าที่เข้ามาอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่า  ขณะนี้ทางรัฐบาลได้เฟ้นหาหมู่บ้านที่มีป่าไม้สมบูรณ์เพื่อที่จะประกาศให้เป็นป่าไม้แผนใหม่ ถ้าหมู่บ้านได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการโครงการ ก็จะได้เป็นโครงการต้นแบบทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ 


 


"หลังจากเกิดโครงการนี้  ชาวบ้านไม่รู้เลยว่าชาวบ้านจะได้อะไร ไม่มีการทำประชาคมหมู่บ้าน  และจู่ๆ  ก็มีคำสั่งของอุทยานแห่งชาติตากสินมหาราช  เข้ามาบอกว่า ให้ชาวบ้านห้วยปลาหลดลดพื้นที่ทำกินที่มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 4,000ไร่ ให้เหลือครอบครัวละไม่ถึง 2  ไร่  ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก" ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด กล่าว


 


นอกจากนั้น  ทางรัฐยังพยายามเร่งรัดและเร่งทำการประชาสัมพันธ์  มีการจ้างสื่อเข้าไปทำโฆษณาเพื่อนำออกสื่อทางโทรทัศน์อีกว่า  หมู่บ้านห้วยปลาหลดซึ่งเป็นโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ได้คืนพื้นที่ทำกินให้รัฐเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าลดพื้นที่ทำกินแล้วชาวบ้านสามารถอยู่กันได้อย่างมีความสุข  ร่าเริงใจ  แต่เมื่อสอบถามชาวบ้านกลับบอกว่า เป็นความทุกข์และลำบากใจมากกว่า


 


รายงานแจ้งว่า  เจ้าหน้าที่รัฐพยายามเร่งดำเนินการโครงการอย่างรีบเร่ง เพื่อให้ทันเปิดตัวโครงการในวันที่ 18  ต.ค.เพราะจะมีคณะรัฐมนตรีสัญจรมาในพื้นที่ มีการเข้าไปติดป้ายไว้ตามข้างทาง เพื่อให้คณะรัฐมนตรี สื่อมวลชน มาศึกษาดูงานเข้าใจว่า  นั่นคือผืนป่าที่ชาวบ้านคืนให้ ซึ่งจริงๆแล้ว  ชาวบ้านต่างยืนกรานเป็นเสียงเดียวว่า ไม่ได้คืนให้ 


 


"ข้อมูลตรงนี้ ยังเกิดความสับสนเพราะว่า  ก่อนการเปิดโครงการทางเจ้าหน้าที่ป่าไม้  ได้เข้ามาในหมู่บ้าน  เพื่อที่จะมาวัดพื้นที่ต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ป่า พื้นที่ทำกิน แล้วชาวบ้านต้องการวัดพื้นที่ทีพวกเขามีอยู่ ที่เขาสามารถเก็บหายาสมุนไพรได้ เก็บหาหน่อไม้ได้ โดยที่ตรงนี้สมัยก่อนเป็นป่าหญ้าคาและชาวบ้านได้ช่วยกันดูแล ตามหลวงพ่อที่บอกกับชาวบ้านว่า  ต้องรักษาป่าแข่งกับเจ้าหน้าที่รัฐและอยากให้เจ้าหน้าที่วัดพื้นที่ให้ด้วย แต่เจ้าหน้าที่ไม่วัดให้บอกว่าชาวบ้านโกหกเจ้าหน้าที่พื้นที่ป่านี้เป็นป่าธรรมชาติ  ไม่ใช่ป่าที่ชาวบ้านสร้างขึ้น ถ้าชาวบ้านสร้างต้องเป็นแถวเป็นแนว" 


 


"ชาวบ้านก็คัดค้านเสียงแข็ง ว่าเป็นพื้นที่ป่าที่เราช่วยกันปลูก ช่วยกันดูแลจริงๆ และพยายามให้เหตุผลว่า  พวกเราไม่มีความรู้  พื้นที่ไหนว่างก็ปลูก ไม่ได้คำนึงถึงต้องเป็นแถวเป็นแนว แต่รู้ว่าเขตแดนของใครอยู่ตรงไหน มีการป้องกันรักษาไฟป่าในเขตแดนของแต่ละคน  ทำให้ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ แต่สุดท้ายทางราชการกลับเข้ามาใช้เป็นข้ออ้าง" พ่อหลวงจักรพงษ์กล่าวยืนยัน


 


หนำซ้ำ  หลังจากโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่เข้ามา เริ่มมีความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับชาวบ้าน  เมื่อชาวบ้านเข้าไปในพื้นที่และเข้าไปเก็บของป่าได้ แต่เมื่อเก็บของป่าออกมาขายปรากฏว่า  เจ้าหน้าที่ดักรอเพื่อจะจับกุม  ไม่ส่งฟ้อง  แต่จะเป็นการปรับที่สำนักงานแทน


 


"ชาวบ้านได้ช่วยกันปลูกป่า ดูแลรักษาป่าเอาไว้ประมาณ 4,000  ไร่  มีการเข้าไปใช้ประโยชน์จากป่า ไม่ว่าในเรื่องไม้ใช้สอย  ขุดหน่อไม้ หาสมุนไพร  แต่จู่ๆ  เจ้าหน้าที่รัฐก็ไปประกาศต่อสื่อมวลชนว่า  ชาวบ้านยกพื้นที่ป่าให้ 4,000 ไร่และสามารถใช้พื้นที่ทำกินเพียง  2 ไ ร่ ก็สามารถอยู่ได้ ไม่มีปัญหาอะไร ซึ่งความจริงแล้วมันไม่ใช่ ทุกวันนี้ชาวบ้านกำลังเดือดร้อน  " 


 


นอกจากนั้น อาชีพเดิมของชาวบ้านคือการทำไร่หมุนเวียนต้องหยุดชะงัก  เนื่องจากไม่มีการส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน ไม่มีอาชีพอะไรมารองรับ และที่สำคัญสิ่งที่ทางโครงการได้รับปากเอาไว้ว่า จะส่งเสริมพัฒนาคุณ


ภาพชีวิตในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การสร้างถนน สถานีอนามัย  การพัฒนาอาชีพหรือการท่องเที่ยว  หากทว่าในห้วงขณะนี้  ยังไม่มีกิจกรรมใดๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง  แม้กระทั่งเรื่องการท่องเที่ยวที่ชาวบ้านอยากได้เพื่อมาชดเชยกับการหยุดทำไร่หมุนเวียน  แต่เมื่อไปถามเจ้าหน้าที่กลับถูกปฏิเสธว่า  ดำเนินการไม่ได้เนื่องจากอยู่ในเขตอุทยานจะทำการท่องเที่ยวไม่ได้ 


 


ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด ยังแสดงความเป็นห่วงอีกว่า ปัญหาในขณะนี้ก็คือ  เรื่องการตรวจพิสูจน์สิทธิ์การครอบครองที่ดินทำกิน  เจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าไปรังวัดในเฉพาะพื้นที่ที่เตียนโล่งเท่านั้น  แต่ที่เป็นไร่หมุนเวียน  หรือพื้นที่ไร่ที่ปลูกกาแฟ ปลูกพืชไร่เอาไว้  เขาก็ไม่วัดให้  จนทำให้ชาวบ้านหลายคนเข้าใจว่า  จะต้องทำพื้นที่ให้เตียนโล่งเท่านั้น เจ้าหน้าที่จึงจะทำการรังวัดให้ ตอนนี้ชาวบ้านบางกลุ่มพากันเข้าไปถางไร่เพิ่มขึ้นเพื่อให้เตียน  ซึ่งถือว่าวิธีการของเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปนั้น  ไม่สอดคล้องกับโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ แต่ยิ่งไปสร้างความสับสนกับชาวบ้าน จนอาจทำให้พื้นที่ป่าถูกทำลายมากยิ่งขึ้น


 


"เกือบครบ 1 ปีแล้ว แต่โครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  เพราะว่าทางเจ้าหน้าที่อ้างว่าทางรัฐบาลได้ตั้งงบประมาณไว้เฉยๆ  ยังไม่มีการโอนเงินงบประมาณมาให้พื้นที่ ทั้งที่มีการประกาศว่า มีงบเข้ามาให้หมู่บ้านละ 5 แสนบาท ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ถ้าเป็นไปได้ชาวบ้านไม่ต้องการโครงการนี้ อยากอยู่เหมือนเมื่อก่อน" เสียงของนายจักรพงษ์ มงคลคีรี ผู้ใหญ่บ้านห้วยปลาหลด กล่าวทิ้งท้าย


 


นี่เป็นเสียงสะท้อนของ ชาวบ้านห้วยปลาหลด อ.แม่สอด จ.ตาก ที่อยู่ในโครงการต้นแบบของโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ ตามมติ ครม.วันที่ 27 ก.ค.2547  และวันที่ 10 ส.ค.2547  ที่มีเป้าหมายดำเนินการทั้งหมด  10,886 หมู่บ้านใน 70 จังหวัด โดยใช้งบประมาณทั้งสิ้นสูงถึง  1,510 ล้านบาท  ซึ่งโครงการนี้  พยายามชูแนวคิดที่ว่า ให้มนุษย์อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างกลมกลืน สมดุล และยั่งยืนมีความสุขและร่าเริงใจ  ทว่าหมู่บ้านห้วยปลาหลดซึ่งเป็นหมู่บ้านนำร่อง 10 เดือนผ่านไป กลับสะท้อนให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวได้ทำให้พวกเขามีชีวิตอยู่อย่างลำบาก มีความทุกข์ และสลดใจ.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net