Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แถลงการณ์ด่วนฉบับที่ 1 เรื่อง คัดค้านการนำกองทุนประกันสังคมไปควบรวมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพ
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

ตามที่คณะกรรมการพิจารณาการปฏิรูประบบโครงการประกันสุขภาพซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2548 ให้กองทุนประกันสังคม กองทุนรักษาพยาบาลของข้าราชการและรัฐวิสาหกิจ ไปรวมกับโครงการหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาล ภายใต้การบริหารกำกับดูแลของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไป แต่จะไม่เกิน 1 มกราคม ปีหน้า

สำหรับเหตุผลในการรวมกันนั้นอ้างว่า ปัจจุบันคนไทยมีระบบประกันสุขภาพหลากหลาย ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันทั้งในด้านสิทธิประโยชน์และคุณภาพ งบประมาณ และส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพโดยรวม รวมทั้งให้ประชาชนเข้าถึงบริการสาธารณดีสุขยิ่งขึ้น

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เห็นว่าเหตุผลดังกล่าวไม่น่าจะตรงกับความเป็นจริง และมีเงื่อนงำที่ซับซ้อนไม่เปิดเผยความจริง แต่น่าจะเกิดจากรัฐบาลมีปัญหาด้านงบประมาณที่ประสบความล้มเหลวในการนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค และเกิดความล้มเหลวในการบริหารจัดการโครงการ ซึ่งรัฐบาลยังไม่ยอมรับความจริงในความล้มเหลวของโครงการดังกล่าว จึงพยายามรวมกองทุนอื่นเข้ามาบริหารและจัดการ เพื่อดึงเงินจากกองทุนอื่นมาร่วมเฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล แต่จะสร้างปัญหาให้เกิดผลกระทบกับกองทุนอื่น ๆ อย่างแน่นอน และอาจทำให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลที่ดีอยู่แล้วให้ต่ำลง ถึงแม้ว่าจะกล่าวว่าหลังรวมกันแล้วก็ยิ่งได้รับสิทธิเท่าเดิมหรือดีกว่า ถ้าไม่ดีกว่ายกเลิกได้ คำกล่าวเช่นนี้ไม่มีหลักประกันอะไรเป็นเพียงคำกล่าวลอย ๆ เท่านั้น

กองทุนประกันสังคม ไม่เหมือนกับกองทุนอื่น ที่รัฐเป็นผู้จ่ายจากงบประมาณ ซึ่งมาจากเงินภาษีของประชาชน แต่กองทุนประกันสังคมเกิดจากการเรียกร้องของคนงานตั้งแต่ปี 2475 และจัดตั้งกองทุนประกันสังคมสำเร็จเมื่อปี 2533 โดยเก็บเงินสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลออกเงินสมทบในสัดส่วนน้อยกว่า สำหรับลูกจ้างนั้นนอกจากจะจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมแล้วยังจะต้องเสียภาษีทางตรงให้กับรัฐบาล โดยถูกหัก ณ ที่จ่ายด้วย และจะไม่เป็นธรรมกับลูกจ้างเป็นอย่างยิ่งหากนำเอากองทุนประกันสังคมไปรวมบริหารด้วยกันกับโครงการประกันสุขภาพ แล้วเป็นเหตุให้ความมั่นคงของกองทุนเปลี่ยนไป มาตราฐานการรักษาพยาบาลเปลี่ยนไป ซึ่งอนาคตเป็นไปได้สูงยิ่ง และอาจเก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่มสูงขึ้นเมื่อการรวมกองทุนมีปัญหา

ดังนั้นเราจึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ได้นำมติดังกล่าวไปทบทวนยกเลิก เพื่อมิให้เกิดความวิตกกังวลแก่ลูกจ้างผู้ประกันตนจำนวน 8 ล้านคน ซึ่งมีความคิดว่ารัฐบาลกำลังทำลายอนาคตและความมั่นคงในการทำงาน ทำลายสวัสดิการของลูกจ้าง ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้อย่างแน่นอน

อนึ่งในขณะนี้ลูกจ้างประสบกับความเดือดร้อน อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้น สินค้าทุกชนิดปรับขึ้นราคา สาธารณูปโภคทุกอย่างก็ปรับราคาสูงขึ้น รัฐบาลไม่เคยคิดที่จะเพิ่มค่าจ้าง ค่าครองชีพใดๆ ให้กับลูกจ้างภาคเอกชนเลย เว้นแต่ลูกจ้างของรัฐที่ได้รับการช่วยเหลือตลอดมา และซ้ำยังจะมานำเอากองทุนที่ลูกจ้างได้สะสมไว้เพื่อเป็นสวัสดิการในอนาคตไปใช้จ่ายบริหารจัดการอีก มันเป็นธรรมกับคนงานที่ยากจนหรือไม่ ?

และขอเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม ได้ยุติการแสดงความคิดเห็นใด ๆ หรือการกระทำในเชิงการสนับสนุนการรวมกองทุนในครั้งนี้ เพราะจะทำให้ผู้ประกันตนคิดว่าท่านมีส่วนในการสมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาล ทั้ง ๆ ที่ท่านยังมิได้สอบถามความรู้สึกและความคิดเห็นใด ๆ จากลูกจ้างผู้ประกันตนเลยแม้แต่น้อย

อนึ่งขอให้ผู้ประกันตนทุกคนได้ติดตามความคืบหน้าของการคัดค้านในครั้งนี้ และขอให้ทุกคนพิจารณาการนำเสนอข้อมูลของรัฐบาลอย่างละเอียด อย่าได้หลงเชื่อคำชักชวนใด ๆ จากผู้มีอำนาจทั้งหลาย จนกว่าจะได้มีการพิสูจน์และตรวจสอบรัฐบาลอย่างชัดเจน เพื่อนำไปสู่การยกเลิกในที่สุด

จึงแถลงการณ์เพื่อทราบมาโดยทั่วกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net