ยอดครึ่งปี 2005 ผู้สื่อข่าวถูกสังหารถึง 40 คน

ประชาไท- อาจเรียกได้ว่า 2005 เป็นปีที่เลวร้ายอีกปีหนึ่งในโลกของผู้สื่อข่าว จากการรวบรวมของสถาบันสื่อมวลชนนานาชาติ ( IPI) พบว่า สถิติการสังหารสื่อมวลชนที่เกิดขึ้นตามที่ต่างๆในโลกจนถึงครึ่งปีแรก มีสื่อมวลชนถูกสังหารไปแล้วทั้งสิ้น 40 คน ส่วนใหญ่ทำข่าวขุดคุ้ยเรื่อง คอรัปชั่น การค้ายาเสพติด และการกระทำต่างๆที่ผิดกฎหมาย เทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารไปทั้งสิ้น 78 คน

IPI รายงานว่าในจำนวนผู้สื่อข่าว 40 คนที่ถูกสังหารนี้มีผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับงานสื่อถูกสังหารในอิรักมากที่สุด คือ 11 คน รองลงมาคือฟิลิปปินส์ 6 คน ในบังคลาเทศ บราซิล โคลัมเบีย ไฮติ เม็กซิโก ปากีสถาน และ โซมาเลีย ประเทศละ 2 คน นอกจากนั้นผู้สื่อข่าวยังถูกสังหารในอีก 9 ประเทศ

หากดูตามพื้นที่แล้ว ขณะนี้มียอดของผู้สื่อข่าวถูกสังหารไปแล้ว 13 คน ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและอัฟริกาเหนือ (MENA) ซึ่งอิรักจัดเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดในโลกในการทำงานในฐานะผู้สื่อข่าว ผู้สื่อข่าวหลายคนถูกยิงในระหว่างที่มีการสู้รบระหว่างกองกำลังพันธมิตรและฝ่ายก่อการร้าย และมีจำนวนมากที่ถูกฆาตกรรมเนื่องจากว่าผู้สื่อข่าวเหล่านี้ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์หรือสื่อที่มีชาวตะวันตก หรือ สหรัฐฯเป็นเจ้าของ

นอกเหนือจากยอดผู้ถูกสังหาร 11 คนในอิรักแล้ว ยังมีสื่อมวลชนถูกสังหารใน ลิเบีย และเลบานอน ที่ซึ่ง ซามีร์ กาสซีร์ คอลัมนิสต์ชื่อดังของหนังสือพิมพ์ นาร์ฮา หนังสือพิมพ์รายวันชั้นแนวหน้าของเลบานอน และ ผู้ซึ่งเป็นนักวิจารณ์ฝีปากกล้าและสนับสนุนระบอบซีเรีย-เลบานอน ได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมาโดยระเบิดที่ถูกวางได้ใต้ที่นั่งคนขับในรถของเขาเอง

ในกลุ่มลาตินอเมริกาจนถึงครึ่งแรกของปี 2005 นี้ มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารไปแล้ว 9 คน ซึ่งถูกสังหารใน บราซิล โคลัมเบีย ไฮติ และ แมกซิโก ประเทศละ 2 คน ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวสารจากชิลี ( ลา โบซิน่า) ถูกสังหารในเอควาดอร์ ในขณะที่กำลังติดตามรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดี ลูซิโอ กูเตอเรซ

ในเอเชีย มีผู้สื่อข่าวถูกสังหารไปแล้ว 14 คน เฉพาะในประเทศฟิลิปปินส์ประเทศเดียวมีผู้สื่อข่าวถูกสังหารทั้งสิ้น 6 คน ทั้งนี้นับตั้งแต่ฟิลิปปินส์ได้ฟื้นฟูประชาธิปไตยขึ้นมาในปี 1986 ปรากฎว่ามีผู้สื่อข่าวถูกสังหารไปแล้วอย่างน้อย 62 คน ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่ที่ถูกสังหารมักจะเป็นผู้ที่ตามข่าวประเด็นการคอร์รัปชั่น และการกระทำกิจกรรมต่างๆที่ผิดกฎหมาย และเกือบจะทั้งหมดของผู้สังหารไม่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ผู้สื่อข่าวถูกสังหารในบังคลาเทศและปากีสถานประเทศละ 2 คน และในอัฟกานิสถาน เนปาลและประเทศไทย ประเทศละ 1 คน

ในยุโรปมีผู้สื่อขาวถูกสังหารประเทศละ 1 คน ใน อาเซอร์ไบจัน และ ดาเกสถานแห่งสาธารณรัฐรัสเซียใต้

มีผู้สื่อข่าวถูกสังหาร 2 คน เขตซับ-ซาฮาร่า ของอัฟริกา ทั้งคู่ถูกสังหารในโซมาเลีย ซึ่งเป็นประเทศเดียวกันกับที่ เคท เปย์ตัน โปรดิวเซอร์ชื่อดังของ BBC ถูกยิงตายเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ด้านหน้าของโรงแรมที่เธอพักในโมกาดิสชูโดยผู้ชายที่สวมหมวกไอ้โม่ง

โจฮัน พี. ฟริทซ์ กล่าวถึงแนโน้วของสถานการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวว่า "ผู้สื่อข่าวหลายคนก็ถูกยิงโดยเป็นอุบัติเหตุในระหว่างการรายงานข่าวการสู้รบแต่ในขณะที่มีอีกจำนวนมากที่ตกเป็นเป้าอย่างตั้งใจ และการสังหารส่วนใหญ่จะก็จะรอดพ้นจากการลงโทษ ทั้งหมดหรืออาจจะเกือบทั้งหมดที่ไม่มีหลักฐานหรือมีหลักฐานน้อยมากที่จะแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่กำลังปฎิบัติการเพื่อจะค้นหาและนำตัวผู้ที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมเหล่านั้นเข้าสู่การดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม"

"ความล้มเหลวของรัฐบาลทั่วโลกในการที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการสืบสวนคดีการสังหารเหล่านี้อย่างทันทีทันใด เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้" ฟริทซ์กล่าว

------------------------------------------------------------
เรียบเรียงโดย ประชาไท
ที่มา: IPI Death Watch
เผยแพร่ใน :http://www.scoop.co.nz/stories/WO0507/S00195.htm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท