บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตั้งคำถามถึงความลับในการเจรจา

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ตั้งคำถามถึงความลับในการเจรจา "ทำไมสิ่งที่ปฏิบัติในไทยจึงช่างแตกต่างกับทางสหรัฐอย่างมาก"

บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการโครงการยุทธศาสตร์นโยบายฐานทรัพยากร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
--------------------------

"สมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และส.ว. แต่ละท่านบอกว่า ยังไม่ทราบข้อมูลอะไรมากนัก เป็นการวัดได้ในระดับหนึ่งว่าแม้สมาชิกรัฐสภายังไม่มีโอกาสรับรู้"

ถาม - หลังเจรจารอบ ๓ มีประเด็นไหนที่น่าสนใจบ้าง

ตอบ - ในการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐมีทั้งสิ้น ๒๓ หัวข้อ แต่ละประเด็นก็มีรายละเอียดที่น่าจับตาแตกต่างกันไป เรื่องหลักๆที่ภาคสังคมไทยน่าจะต้องติดตามอย่างมากคือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ที่สหรัฐเรียกร้องค่อนข้างสูงมาก ในรอบ ๔ จะเรียกร้องประเด็นที่ยังไม่เคยคุยคือ หมวดสิทธิบัตร เรื่องสิ่งแวดล้อม ก็น่าสนใจ และเรื่องการคุ้มครองการลงทุน

ถาม - ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นใดน่าติดตามเป็นพิเศษ

ตอบ - เรื่องที่จะเป็นปัญหามากคือ สิทธิบัตร เพราะที่สหรัฐทำเอฟทีเอกับสิงคโปร์ ซึ่งสหรัฐประกาศว่าจะมาใช้กับไทยด้วยนั้น จะบังคับให้ไทยรับสิทธิบัตรสิ่งมีชีวิตทุกชนิดซึ่งปัจจุบันไทยคุ้มครองแค่สิทธิบัตรจุลินทรีย์เท่านั้น ไม่คุ้มครองสิทธิบัตรพืชและสัตว์ และให้ยืดอายุสิทธิบัตรให้คุ้มครองกว่า ๒๐ ปี ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เราล่าช้า ถ้าช้า ๕ ปีก็ ๒๐ บวก ๕ ปี เป็น ๒๕ ปีเป็นต้น

ถาม - แล้วประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมีประเด็นอะไรที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษบ้าง

ตอบ - ๒ เรื่องสหรัฐต้องการเข้ามาติดตามและตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยว่าบังคับใช้มีประสิทธิภาพได้ผลเพียงใด ถ้าไม่ดีจะมีการปรับเป็นจำนวนเงิน แล้วเอาเงินนั้นมาแก้ไขปัญหาที่เรายังไม่สามารถแก้ไขเป็นผลสำเร็จ

ถาม - ฟังดูดี

ตอบ - สิ่งที่น่าห่วง คือ การบังคับใช้กฎหมายแต่ละประเทศเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศนั้นๆ สหรัฐเรียกร้องเข้ามาขอตรวจสอบ ดูเหมือนเป็นการละเมิดอธิปไตยส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือ เพิ่มต้นทุนแก่ผู้ประกอบการในบ้านเรา ซึ่งในบางสาขายังไม่มีความพร้อม เราไม่ปฏิเสธว่าการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรทำ แต่ความพร้อมจะทำเมื่อไร ทำกิจกรรมประเภทใด ตรงนั้นควรเป็นอิสระของแต่ละประเทศ ไม่ใช่มีประเทศอื่นมาแทรกแซง

ถาม - ดูเหมือนว่าสหรัฐจะดับเบิ้ลสแตนดาร์ด เพราะอ้างว่าให้ไทยบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อม แต่อีกด้านหนึ่งในการคุ้มครองการลงทุน ระบุว่ากฎหมายสิ่งแวดล้อม แรงงานและกฎหมายอื่นๆจะต้องไม่เป็นอุปสรรคการลงทุน ถึงขั้นว่า อาจยกเลิกบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมบางส่วน

ตอบ - จะมีความขัดแย้งระหว่างตัวข้อเรียกร้องด้านสิ่งแวดล้อม และการลงทุนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เข้าใจได้ เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับฝ่ายไทย ขณะที่ทางฝ่ายผู้ลงทุนสหรัฐไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของเขาอยู่แล้ว ต้นทุนบ้านเขาจึงสูง ฉะนั้นที่เขามาลงทุนในประเทศไทย แล้วไทยจะบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด นักลงทุนสหรัฐคิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะเขาจ่ายได้ แต่จะเพิ่มภาระให้นักลงทุนไทย เหตุผลเบื้องหลัง คือ เมื่อสหรัฐยอมลดภาษี เขาต้องพยายามหาทางเพิ่มต้นทุนของคู่แข่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีภาระสูงขึ้น

ถาม - กระบวนการเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐดีขึ้นบ้างไหม หลังจากที่ภาคประชาสังคมออกมาเรียกร้องให้เปิดเผย

ตอบ - ลองพยายามติดตามจากสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส.และส.ว. แต่ละท่านบอกว่า ยังไม่ทราบข้อมูลอะไรมากนัก เป็นการวัดได้ในระดับหนึ่งว่าแม้สมาชิกรัฐสภายังไม่มีโอกาสรับรู้

ถาม - คณะเจรจาฝ่ายไทยบอกว่าให้นอนใจ เราควรนอนใจได้หรือเปล่า

ตอบ - เป็นเรื่องน่าแปลกใจ เพราะผลจากเอฟทีเอจะส่งผลวงกว้างถึงทุกคน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ต้องได้รับทราบ ที่ผ่านมาสหรัฐใช้เวลาเจรจาแต่ละเอฟทีเอ ๒ ปี ถ้านับประเทศไทยนี่ก็ประมาณครึ่งทางแล้ว แต่ประชาชนสมาชิกรัฐสภา นักวิชาการยังไม่ได้รับทราบดูไม่สมควร

ถาม - เท่าที่ติดตาม คณะเจรจาได้ใช้ข้อมูลวิจัยเพื่อประกอบการเจรจาบ้างไหม

ตอบ - มีหลายส่วนพยายามทำงานวิจัย แต่ถูกจำกัดเรื่องการเข้าถึงข้อมูล เข้าถึงตัวเอกสารในการวิเคราะห์ ตั้งแต่การเจรจารอบแรกระหว่างไทยกับสหรัฐ ทางสหรัฐได้เรียกร้องให้ไทยลงนามความตกลงรักษาความรับ แม้ว่าไทยไม่ได้ลงนาม แต่ก็ให้คำมั่นสัญญาว่าจะรักษาความลับ ฉะนั้นก็กลายเป็นข้อจำกัดกับการเปิดเผยข้อมูล หรือแม้แต่การที่คณะเจรจาจะขอคำปรึกษากับแวดวงวิชาการ เพราะเกรงกันจะละเมิดข้อตกลงรักษาความลับ นี่เป็นแทกติกการเจรจาของฝ่ายสหรัฐ ไม่ให้ฝ่ายไทยปรึกษาหารือ หรือใช้ความรู้ข้างนอกประกอบการเจรจา

ฉะนั้นในรอบที่ ๔ เรื่องแรกเลยที่คณะเจรจาต้องทำ คือไปขอยกเลิกการรักษาความลับเพื่อที่จะได้มีกระบวนการภายหลังในการรักฟังความคิดเห็น โปร่งใส เพื่อศึกษาข้อมูล

ถาม - แล้วฝ่ายสหรัฐต้องรักษาความลับหรือเปล่า

ตอบ - เมื่อครั้งเจรจารอบ ๓ ฝ่ายสหรัฐได้ขอเข้าพบคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา เราตั้งคำถามกับผู้แทนสหรัฐว่า ประเทศเขาทำอย่างไรกับเรื่องนี้ คำตอบของเขาสร้างความแปลกใจกับเรามาก

หนึ่ง โดยกลไกรัฐสภา กลไกกฎหมายของเขา ฝ่ายรัฐบาลต้องนำข้อมูลไปชี้แจงต่อรัฐสภา ซึ่งข้อมูลก็อาจกระจายไปจากส่วนนี้โดยทางการอยู่แล้ว

สอง จะมีคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่แต่งตั้งโดยรัฐสภา ซึ่งมีตัวแทนภาคสังคมเข้าไป เขาไม่รับประกันว่า ข้อมูลที่คณะกรรมการที่มีตัวแทนฝ่ายต่างๆ รับไปนั้น จะเอาข้อมูลไปเผยแพร่ที่ไหนบ้าง

สาม กรณีเรื่องสิ่งแวดล้อม มีข้อบังคับเป็นกฎหมายของสหรัฐว่าจะต้องมีการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะตามมาจากเอฟทีเอ และต้องเอารายงานั้นมาจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งช่องทางต่างๆ เหล่านี้จะทำให้ข้อมูลไหลไปสู่สาธารณะ เราแปลกใจว่า ทำไมสิ่งที่ปฏิบัติในไทยจึงช่างแตกต่างกับทางสหรัฐอย่างมาก

นี่คือข้อเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้มีความโปร่งใส่ในการเจรจา คณะกรรมาธิการการต่างประเทศวุฒิสภา ก็เรียกร้องมาโดยตลอด ผู้แทนไทยควรไปยกเลิกการคำสัญญาว่าจะรักษาความลับนี้ ยกเหตุผลที่ทางสหรัฐตอบกับประชาชนไทยว่าสหรัฐก็ปฏิบัติเช่นนี้ และการที่เรารักษาความลับก็ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ในการให้ประชาชนมีส่วนร่วม ฉะนั้นมีเหตุผลอย่างเพียงพอที่จะไปยกเลิกการรักษาความลับ

คงต้องติดตาม เพราะทางคณะเจรจาฝ่ายไทยได้ให้คำมั่นสัญญาว่า เมื่อกลับมาจากการเจรจารอบที่ ๔ จะจัดพูดคุยกับภาคส่วนต่างๆ เช่นคณะกรรมการสิทธิฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท