Skip to main content
sharethis

คลิ๊กที่ภาพ      คลิ๊กที่ภาพ

เทยิบาห์ เทเลอร์
------------------------------------------------------------------
นางเทยิบาห์ เทเลอร์ บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณานิตยาสารอาซิซาห์ ซึ่งเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หนึ่งเดียวของมุสลิมในสหรัฐอเมริกา ที่นำเสนอภาพของสตรีมุสลิม เพื่อขจัดภาพผิดๆ ที่คนภายนอกมองมุสลิม เธอได้เดินทางมาเยือน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อบรรยายหัวข้อมุสลิมในอเมริกา ตามคำเชิญของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

นางแอน คันนิ่งแฮม เจ้าหน้าฝ่ายข่าวและประชาสัมพันธ์ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวถึงการเดินทางมาเมืองไทยของนางเทยิบาห์ว่า เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการเข้าถึงมุสลิม(Muslim outreach program) ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามมาบรรยายให้กับชาวมุสลิมในประเทศไทยฟัง ในหัวข้อความหลากหลายของมุสลิมในอเมริกา เพี่อสร้างความเข้าใจที่ดีต่อสหรัฐอเมริกา และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมุสลิมในประเทศไทยกับมุสลิมสหรัฐอเมริกาและชาวอเมริกัน ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2546 ทางสถานทูตสหรัฐ
อเมริกาประจำประเทศไทยได้เชิญ นางเฮดีส์ มิราห์มาดีย์ ประธานสภาสตรีมุสลิมสหรัฐอเมริกามาบรรยายในหัวขอเดียวกัน ตามสถาบันการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมอื่นๆ อีกที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยจัดขึ้นเป็นประจำ โดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาบรรยายที่เมืองไทย เช่น ข้อตกลงเขตการค้าเสรีสหรัฐอเมริกา - ไทย เทคโน โลยี ดนตรี เป็นต้น ทั้งนี้สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาแต่ละแห่ง จะมีภารกิจนี้อยู่ด้วย

จากนี้ วันที่ 14 กรกฎาคม 2548 นางเทยิบาห์จะเดินทางไปบรรยายที่สำนักงานงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ และที่กรุงเทพมหานคร ก่อนเดินทางกลับสหรัฐอเมริกา

ในการนี้ ทางสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เปิดโอกาสให้ "มูฮำหมัด ดือราแม" ผู้สื่อข่าว "ประชาไทออนไลน์" สัมภาษณ์พิเศษนางเทยิบาห์ โดยมีประเด็นน่าสนใจ ดังนี้

-การเดินทางมาครั้งนี้มีที่มาอย่างไร

สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เชิญมาบรรยายเกี่ยวกับชีวิตชาวมุสลิมในประเทศสหรัฐ อเมริกา พูดให้คนไทยได้เข้าใจว่าที่จริงมุสลิมในอเมริกา มีความเป็นอยู่อย่างไร เนื่องจากก่อนหน้านี้ คนทั่วไปเกิดความสงสัยว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ตามมุมมองของเขาคิดว่ามุสลิมในประเทศสหรัฐอเมริกาอาจจะประสบปัญหา ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

-มุสลิมในสหรัฐอเมริกากับในเมืองไทยต่างกันอย่างไร
ดิฉันเดินทางมาเมืองไทยได้เพียง 2 วัน สัมผัสอะไรได้ไม่มาก พบปะกับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วิทยาลัยอิสลามยะลา และที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พบปะกับประชาชนทั่วไปน้อยมาก เท่าที่สัมผัสพบว่า มุสลิมไทยมีความเป็นมิตรมาก เด็กๆ ก็สนใจที่จะเรียนรู้เรื่องราวในประเทศสหรัฐอเมริกา

ส่วนที่มีความแตกต่าง คือ เรื่องของสังคมมุสลิมในสหรัฐอเมริกา จะมีความหลากหลายมากกว่าในประเทศไทย ส่วนชุมชนมุสลิมจะมีลักษณะที่คล้ายกัน และมีเอกลักษณ์ที่เหมือนกัน

-ก่อนเดินทางมามีมุมมองต่อพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
ก่อนเดินทางก็ได้ยินมาว่า เป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งและเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่ดิฉันไม่รู้หรอกว่าเกิดจากอะไร มีที่มาอย่างไร ก่อนมาที่นี่ เพื่อนๆ และคนรู้จักหลายๆ คน ก็เตือนให้ระวัง เพราะอาจจะโดนลักพาตัว หรือโดนระเบิด แต่ดิฉันก็ไม่รู้สึกวิตกอะไรมากนัก

-คิดว่าการมาครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่

การเดินทางมาครั้งนี้ เป็นเรื่องของการให้ความรู้ ให้การศึกษา คงทำอะไรได้ไม่มาก วัตถุประสงค์ คือ มาพูดให้เข้าใจว่า มุสลิมในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างไร ความต้องการ คือ จะให้คนที่มีวัฒนธรรมต่างกันสามารถที่จะมาร่วมด้วยช่วยกันได้หรือไม่ อยากให้หลักการทางศาสนาทำให้เกิดความสงบสุขร่วมกันได้ จากการพบปะกับเด็กๆ ในพื้นที่แล้ว คิดว่าทำได้เพราะพวกเขายังต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่

-คิดอย่างไรกับการเดินทางมา ในขณะที่กิจกรรมต่างๆ ของสหรัฐอเมริกาในพื้นที่นี้กำลังถูกจับตามอง

วัตถุประสงค์ของการเดินทางมาครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องการปรับมุมมองของคนทั่วไปที่ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาต่อต้านมุสลิม วัตถุประสงค์อีกแง่หนึ่ง คือ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับชาวมุสลิมในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากหลังเหตุการณ์ 9/11 เกิดความสับสนขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกาว่า เหตุการณ์นั้นมีสาเหตุมาจากอะไร จากศาสนา หรืออะไรกันแน่

เราจึงต้องการมีส่วนช่วยให้ผู้คนมีมุมมองที่ดีต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกา อย่างน้อยก็ไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากไปกว่านี้ เพราะอย่างน้อยก็ได้รู้ว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและคนอเมริกันเป็นเช่นไร

เพราะฉะนั้น ที่บอกว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาต่อต้านมุสลิมนั้น ความจริงไม่ใช่ เราก็ยังใช้ชีวิตปกติ ก็หวังว่าคนอื่นจะเข้าใจดีขึ้น แต่เราไม่ใช่ตัวแทนของรัฐบาล จึงมีสิทธิเสรีภาพที่จะพูดอะไรก็ได้

หลังจากเหตุการณ์ 9/11 แน่นอนว่ามุสลิมมีปัญหา เกิดความสับสนมากมาย เพราะคนไม่เข้าอิสลาม อิสลามเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา คิดว่ามุสลิมเป็นพวกชอบความรุนแรง และคิดว่าเหตุรุนแรงเช่นนั้นจะเกิดขึ้นอีก เกิดความสงสัยว่ามุสลิมเป็นผู้ก่อการร้าย นั่นคือ สิ่งที่รัฐบาลไม่เข้าใจ

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ได้รับบทเรียนมาแล้ว สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกองทัพญี่ป่นบุกถล่มสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นจึงมีการกวาดจับชาวญี่ปุ่นทั้งหมด แต่สำหรับมุสลิมรัฐบาลถือว่า เป็นคนละเรื่องกัน รัฐบาลจึงไม่จับมุสลิมเหมือนในอดีต
เมื่อไม่นานมานี้มีการจับผู้ต้องสงสัยรายหนึ่ง ที่ลอบก่อวินาศกรรมในสหรัฐอเมริกา ซึ่งคนทั่วไปคิดว่ามุสลิมเป็นคนทำ แต่ปรากฏว่าผู้ต้องสงสัยคนดังกล่าว เป็นชาวอินเดียนับถือศาสนาซิกส์ ไว้หนวดเครายาวเช่นกัน ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลก็ยังไม่เข้าใจมุสลิมว่าที่แท้จริงคือใคร

ส่วนผลกระทบที่มีต่อมุสลิมหลังเหตุการณ์ 9/11 คนจะเหมารวมว่ามุสลิมเป็นคนก่อเหตุ จึงถูกทำร้ายทางกายและทางวาจา จึงทำให้มุสลิมไม่อยากออกจากบ้าน สตรีมุสลิมบางคนถึงกับถอดฮิญาบ (ผ้าคลุมศรีษะ) ออก แต่นั่นมันก็เป็นเรื่องของคนทั่วไปที่ไม่เข้าใจ ไม่ใช่การกระทำของรัฐบาล

ระหว่างที่มีการโต้เถียงไปมา ระหว่างผู้นำศาสนาของแต่ละศาสนาในสหรัฐอเมริกาว่า ความรุนแรงเกิดจากอะไร ต่อมาผู้นำศาสนาอิสลามจึงได้เชิญผู้นำศาสนาอื่น ไม่ว่าคริสต์ หรือยิว เข้ามาคุยและทำความเข้าใจถึงในบ้าน จึงทำให้สถานการณ์ดังกล่าวดีขึ้นเรื่อยๆ

และยังทำให้คนสนใจอิสลามมากขึ้น ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการเปิดสอนอิสลามศึกษามากขึ้น บางแห่งมีการเพิ่มอาจารย์สอนวิชาศาสนาอิสลาม จนทำให้อาจารย์ด้านอิสลามศึกษาหายากมากขึ้น

ปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจก็ยังมีอยู่ เนื่องจากรัฐบาลมีบัญชีรายชื่อผู้ก่อการร้าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชื่ออิสลามจำนวนมาก คนทั่วไปจึงยังคิดว่ามุสลิมชอบความรุนแรง ทำให้ชาวมุสลิมที่มีชื่ออิสลามพื้นๆ เช่น มูฮำหมัด ยูซุฟ หรืออับดุลเลาะ พลอยถูกสงสัยไปด้วย อย่างเช่นกรณีของเคจ สตีเว่น อดีตนักร้องชื่อดังของอังกฤษ ต่อมาเข้ารับอิสลามแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ยูซุฟ อิสลาม ก็ยังถูกสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดข้อสงสัยต่อมุสลิม หรือการทำร้ายมุสลิม ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของคนทั่วไปที่ยังไม่เข้าใจ รัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้สิทธิเสรีภาพทางศาสนามาก ต่างกับบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ที่มีการออกกฎหมายห้ามสตรีมุสลิมคลุมศีรษะ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่รัฐบาลกระทำต่อมุสลิม

เรื่องราวของมุสลิมเป็นเรื่องใหม่ของคนสหรัฐอเมริกา อย่างกรณีทหารสหรัฐอเมริกายิงถล่มใส่งานแต่งงานของชาวอิรัก จนทำให้มีคนตายจำนวนมาก เพราะคิดว่าเป็นการซ่องสุมกำลัง โดยที่ไม่รู้ว่างานแต่งงานของชาวอิรักจัดเวลากลางคืน ต่างกับที่สหรัฐอเมริกาที่จัดในเวลากลางวัน หากมีความเข้าใจ เหตุการณ์เช่นนี้ก็ไม่เกิดขึ้น

รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น โดยพยายามทำความเข้าใจและทำความรู้จักกับมุสลิม มีการส่งคนไปตามสุเหร่าต่างๆ เพื่อขอความรู้ รวมทั้งในพื้นที่ภาคใต้ของไทยก็ส่งคนมาทำความรู้จักและเรียนรู้ไปด้วย บางครั้งแม้จะมีเอฟบีไอ เข้ามาสร้างความสัมพันธ์กับคนในพื้นที่บ้าง ก็ถือว่าเขามาเรียนรู้มากกว่า

เพราะฉะนั้น แนวทางแก้ปัญหาความไม่เข้าใจทางหนึ่ง คือ เมื่อจะจับกุมใครก็ตาม รัฐบาลต้องหาหลักฐานอย่างเพียงพอและชัดเจน รวมทั้งเข้าหาชาวมุสลิมมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน

-ทราบว่าขณะนี้มุสลิมในสหรัฐอเมริกามีอยู่หลายกลุ่ม ไม่ทราบว่ามุสลิมออร์ธอด็อกส์ เป็นอย่างไร

มุสลิมในสหรัฐอเมริกามีความหลากหลายมากกว่าในเมืองไทย บางคนเขาบอกว่าตัวเองเป็นมุสลิม แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามกิจวัตรที่มุสลิมควรปฏิบัติ เช่น การละหมาด เพราะฉะนั้น มุสลิมอเมริกามีความหลากหลายและแยกย่อยหลายกลุ่ม จึงมีคำที่ใช้เรียกกลุ่มที่แยกย่อยเหล่านี้ แต่ละกลุ่มไม่แตกต่างมากนัก

คำว่ามุสลิมออร์ธอด๊อกส์ ดิฉันใช้เรียกมุสลิมกลุ่มหนึ่งที่ปฏิบัติตามวัตรปฏิบัติของมุสลิมที่ดี ไม่ใช่มุสลิมกลุ่มใหม่ ที่นับถืออิหม่ามแทนการนับถือศาสดามูฮำหมัด

-มุมมองต่อสตรีมุสลิมในเมืองไทยเป็นอย่างไร

จากที่มีโอกาสได้สัมผัส พบว่ามุสลิมที่นี่มีสิทธิเสรีภาพเช่นเดียวกับที่สหรัฐอเมริกา แต่ส่วนใหญ่ชอบอยู่แต่ในบ้าน แต่ละส่วนมีลักษณะเหมือนกันหมด ไม่มีความหลากหลายอย่างที่สหรัฐอเมริกา

-ก่อนหน้านี้เคยมาเมืองไทยหรือไม่

ครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2547 เคยเดินทางไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย ตามคำเชิญของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ สำหรับเมืองไทย ดิฉันชอบหาดทรายกับทะเลมาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net