Skip to main content
sharethis

 

คลิ๊กที่ภาพ


นายนิตย์ พิบูลสงคราม
หัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย เอฟทีเอไทย-สหรัฐ
ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปสหรัฐ ในรายการเช้าทันโลก FM 96.5 MHz



"ถ้าเป็นการยกภาคเกษตรให้กับสหรัฐทั้งหมดเราคงรับไม่ได้ จะไปตีความว่าเราจะไปยกให้เขาทั้งหมดคงไม่ได้ ให้นอนใจซักนิด"


ถาม - ประเด็นสำคัญในการเจรจารอบ ๔

นิตย์ - มีหลายเรื่อง เรื่องที่เป็นประโยชน์ คือ เรื่องสินค้าต่างๆ ทั้งเกษตรและอุตสาหกรรม เรื่องที่ตามมาคือมาตรฐานสุขอนามัย (SPS) ถ้าเราสามารถเจรจาได้ผลเราจะสามารถส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปสหรัฐเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ส่วนอุตสาหกรรมมีประเด็นเรื่องข้อกีดกันทางเทคนิคทางด้านการค้า

ถาม - ประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาหลายฝ่ายห่วงว่าการเจรจาจะทำให้ไทยเสียเปรียบ

นิตย์ - คงไม่เพราะถ้าเสียเปรียบคงไม่เอา แต่หลายเรื่องไม่ใช่เสียเปรียบหรือได้เปรียบโดยตรง เช่นกรณีสิทธิบัตรยา ผมขอรับฟังข้อห่วงใยที่วิตกกัน ถ้ายาต้องแพงขึ้น ปัญหาที่จะได้ยามายากขึ้นก็ร้ายแรงต้องดูอย่างละเอียด แต่เขายังไม่เสนอมาในประเด็นนี้ ส่วนสิทธิบัตรอื่นๆ ต้องดูก่อน

ถาม - ผลกระทบต่อเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพของไทย

นิตย์ - เขาคงไม่น่าจะเสนออย่างนั้น ถ้าเป็นการยกภาคเกษตรให้กับสหรัฐทั้งหมดเราคงรับไม่ได้ จะไปตีความว่าเราจะไปยกให้เขาทั้งหมดคงไม่ได้ ให้นอนใจซักนิด มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับสนธิ
สัญญาระหว่างประเทศบางอันมันอำนวยประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ เราจะให้ผู้เชี่ยวชาญเราดู ข้าราชการก็รู้ดี นอกจากนั้นมีที่ปรึกษาที่ติดต่ออยู่เพื่อหาท่าทีที่เหมาะสม

ถาม - ข้อกังวลเรื่องข้อหอมมะลิ

นิตย์ - เราให้ความสำคัญกับข้าวหอมมะลิ ในชั้นนี้ยังไม่มีข้อเสนอที่ทำให้ข้าวหอมมะลิของท่าหายไป แต่ถ้าถามว่ามีคนต่างชาติเอาข้าวหอมมะลิไปทำวิจัย ก็มี แต่มีทั้งๆที่ไม่มีเอฟทีเอ ถ้าจะเอาสิ่งของที่ประดิษฐ์ใหม่มาบังคับเรา คงรับไม่ได้

ถาม - เรื่องที่จะถูกกดดันให้เป็นภาคีในอนุสัญญา UPOV

นิตย์ - UPOV ตอนนี้เรายังไม่มีท่าทีจะรับ แต่น่าศึกษาให้ลึกซึ้งในหลายประเด็น ซึ่งมันอาจจะต้องใช้ความสันทัดกว่านี้ การเป็นหรือไม่เป็นไม่ใช่คำนิตย์เดียว ตอนนี้เรายังไม่เป็น แต่ถ้าเป็นแล้วเราจะได้ประโยชน์ในทางอ้อมอื่นๆหรือเปล่า

ถาม - เช่นอะไรบ้าง

นิตย์ - เช่น ถ้าเป็นภาคี UPOV มีสิทธิได้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ประเทศภาคีอื่นเขาเปิดรับ เป็นต้น สมมุติว่าเขาได้บางสิ่งบางอย่างไปแล้ว ประเทศภาคี UPOV อื่นๆมีสิทธิรับรู้รับทราบ เอาไปใช้ได้เหมือนกัน แล้วเราไม่มีสิทธิที่ไปเอาของคนอื่นมาเลย เราไม่มีสิทธิ เอาอย่างนี้ ประเด็นนี้ผมขอเรียนว่า เป็นประเด็นที่เรารับทราบ หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องมีความสันทัดอย่างมากๆ ถ้าเราเห็นสมควรจะรับก็เพราะเป็นสิ่งที่ดี กับประเทศไทย ก็จะต้องมีเหตุผลที่จะชี้แจงให้ประชาชนคนไทยได้รับทราบ

ถาม - การที่สหรัฐอุดหนุนสินค้าเกษตรของเขาอย่างมาก

นิตย์ - การอุดหนุนสินค้าส่งออกเรารับไม่ได้ และสหรัฐเองพูดมาตลอดว่า เขาไม่มี จะลดสินค้าส่งออก อย่าลืมนะว่า บางตัวเป็นประโยชน์กับไทย มันทำให้สินค้าเกษตรบางตัวถูกลงเพราะไทยเราผลิตเองไม่ได้ มันคงพูดคลุมตลอดคงไม่ได้ พูดลำบากเหมือนกัน แต่ถ้ากระทบสิทธิ อำนาจหน้าที่ ความสามารถของไทยที่จะผลิตแข่งขันเราคงรับไม่ได้ และไม่รับ

ถาม - เรื่องกลไกระงับข้อพิพาท

นิตย์ - เรื่องมีอำนาจเหนือศาลของเราคงรับไม่ได้ แต่การใช้อนุญาโตตุลาการระบบศาลไทยก็ยอมรับตลอดมา 40 ปี จะว่าเสียอำนาจอธิปไตยทางศาลคงไม่จริง การมีเป้ฯสิ่งที่ดี เราเป็นภาคีสหประชาชาติที่ตัวบทเรื่องการรับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรื่องเสียอำนาจทางศาลยังไม่ง่ายขนาดนั้น ทางทีมกฎหมายของเรา อยากเรียนให้มีความอุ่นใจว่า เขามีความรู้ เรื่องที่อ้างถึงกรณีเม็กซิโกและแคนาดา คำพิพากษาก็ไม่ใช่เป้นอย่างที่เราคิด

ถาม - ทางวุฒิสมาชิกค่อนข้างเป็นห่วง เวลาที่เจรจา เราได้วาระก่อนล่วงหน้าแค่ไม่กี่วัน แล้วเราก็ไปรักปากว่าจะไม่เปิดเผยเนื้อหาต่อสาธารณะชน


นิตย์ - เรามีประเด็นข้อเจรจา ๒๒ เรื่องก็เปิดเผยอยู่แล้ว เราก็เคยไปชี้แจงต่อรัฐสภาว่า ระบบการปกครองของเขากับเราไม่เหมือนกันทีเดียว บางเรื่องเราก็เกรงกันว่าต้องไปตามเขาทำไม ผมยังสงสัย กรณีนี้เป็นประเพณีปฏิบัติตามความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับฝ่ายบริหารของเขา แต่สิ่งที่จะเปิดเผยนั้น อยากเรียนว่าตามกฎหมายไทยและของนานาชาติจะมีเรื่องที่ตีชั้นความลับ เหล่านี้ในประเพณีปฏิบัติระหว่างประเทศต้องเคารพซึ่งกันและกันเพราะฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลเขาตีมาเป็นขีดความลับขั้นหนึ่ง ขั้นที่ไม่เปิดเผย ที่จริงแล้วมันผิดทั้งประเพณี และผิดกฎหมายระหว่างประเทศในทางนัยยะ เราไม่มีสิทธิไปเปิดเผยของเขา เช่นเดียวกันเราก็ไม่อยากให้เขาเอาของเราไปแฉโพยให้กับบริษัทห้างร้าน เราถือว่ามีความละเอียดอ่อน ถ้าจะเรียกร้องให้ผมเปิดเผยเอกสารของฝ่ายสหรัฐ ถ้าเปิดเผยได้ ก็จะเห็นฝ่ายเดียวอยู่ดี และเป็นแค่ข้อเสนอขั้นต้น ยังไม่ใช่ข้อตกลงวาระสุดท้าย

อยากเรียนว่า ต้องตระหนักว่าเราเจรจากับสหรัฐ เราเจรจาในฐานมิตร ต้องการเป็นหุ้นส่วนระยะยาว เอื้อประโยชน์แต่ละฝ่ายที่ทัดเทียมกัน เราเจรจากับมิตรประเทศก็ยังมีความหวัง หลายเรื่องที่เขาต้องการ เราก็ทำอยู่แล้ว เช่น เรื่องกฎระเบียบ แรงงาน สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สินทางปัญญา โทรคมนาคม อยากเรียนประเด็นความโปร่งใส แม้จะไม่ได้ดูแต่ละคำที่เขายื่นมา ต้องทราบว่า สารัตถะมีตัวแทนประชาชนที่มีความเชี่ยวชาญมาดูแล ถ้ามีการแก้ไขกฎหมายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา


หมายเหตุ UPOV คือ อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (The International Convention for the Protection of New Varieties of Plants (1991) ปัญหาของการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาที่ว่านี้คือ คนที่จะได้รับการคุ้มครองเป็นอย่างดี ก็คือ บริษัท หรือนักปรับปรุงพันธุ์พืชที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง หรือที่เราเรียกกันทั่วไปว่า เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ (Modern Technology) ส่วนเกษตรกรอยู่ห่างไกลจากการคุ้มครองมากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ ... เจษฎ์ โทณะวณิก : ข้อตกลงการค้าเสรี "เกื้อหนุน" หรือ "ทำลาย" เกษตรกรไทย ? http://www.localtalk2004.com/file_pdf/a1_06072005_01.pdf

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net