Skip to main content
sharethis

การแถลงข่าวเรื่อง


การออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  .. 2548 


โดย


นายวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี


นายบวรศักดิ์  อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี


คุณพรทิพย์  จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
ณ ศูนย์แถลงข่าวทำเนียบรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 เวลา 11.30 น.


 


รองนายกรัฐมนตรี


                        ครับ คือที่จริงเรื่องการเตรียมที่จะออกกฎหมาย  เพื่อใช้ในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นหรือฉุกเฉินนั้นเป็นข่าวมาเป็นระยะ ๆ ถ้าท่านจำได้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว  ก็มีข่าวครั้งหนึ่ง เรื่องที่ทางฝ่ายความมั่นคงเขาเสนอว่า  ถ้าหากจะมีการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เขาขอกฎหมายใหม่ออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือทดแทนกัน  มิฉะนั้นจะเกิดช่องว่างขึ้น  เราก็หารือหลายฝ่าย  สุดท้ายก็มีการเตรียมทำกฎหมายไว้  แต่ยังไม่คิดถึงว่าจะมีความจำเป็นต้องรีบออก  และตอนนั้นก็คิดว่าอาจจะต้องเสนอเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติตามปกติ  พอดีตอนนั้นเตรียมจะเลือกตั้งหมดสมัยประชุม  หมดอายุสภาฯ  ครั้นพอเริ่มการเลือกตั้งมาใหม่  กฎหมายที่ได้ทำเตรียมไว้ก็มีอยู่ในมือ  แต่ว่ายังไม่แน่ใจว่ามีความจำเป็นมากมายขนาดไหน  แต่อย่างไรก็ตามในระยะ 3 เดือนหลังที่ผ่านมานี้  เราพบว่าสถานการณ์นั้นอยู่ในขั้นที่เชื่อว่าวันหนึ่งจะต้องมีการใช้กฎหมายแน่  เพียงแต่ว่าจะออกเป็นพระราชบัญญัติคือเสนอเข้าสู่สภาตามปกติ  หรือจะสมควรออกเป็นพระราชกำหนด  เพราะว่ามีความจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 218 เรายังไม่แน่ใจ  จนกระทั่งในระยะประมาณ 7 วันที่ผ่านมา  มีสัญญาณส่อไปในทางว่าสถานการณ์อาจจะรุนแรงขึ้น  ฟางเส้นสุดท้ายที่นับว่าสำคัญก็คือเหตุการณ์เมื่อประมาณ 1 ทุ่มเมื่อคืนนี้  กรณีที่ได้มีการก่อความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในจังหวัดยะลา  และได้ทราบว่าตั้งแต่เมื่อคืนจนกระทั่งถึงเช้านี้  ได้จับตัวควบคุมตัวผู้เกี่ยวข้องไว้ได้จำนวนหนึ่ง  จากการสอบปากคำพบว่ามีแนวโน้มที่จะพาดพิงไปถึงเรื่องอื่น ๆ  ได้อีกหลายเรื่อง  ขณะนี้ท่านรองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก ชิดชัย วรรณสถิตย์ ลงไปในพื้นที่   และเตรียมที่จะทำสิ่งที่เขาเรียกว่าขยายผลเพื่อหาข้อเท็จจริงให้ชัดเจนขึ้น  อันนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลต้องพิจารณาเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วนเมื่อเช้าวันนี้เวลา 10.00 .เพื่อประมวลสถานการณ์ทั้งหมด  และตัดสินใจว่ากฎหมายที่เราเตรียมไว้นั้นจะสมควรนำออกมาใช้อย่างฉุกเฉินเร่งด่วนหรือไม่ประการใด 


                        ผมต้องเล่าตรงนี้นิดหนึ่งครับว่า  การแก้ปัญหาสถานการณ์ภาคใต้โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น  รัฐบาลได้ใช้มาตรการต่าง ๆ หลายมาตรการตลอดเวลาที่ผ่านมา  มาตรการทางการเมือง  มาตรการทางการปกครอง  มาตรการทางสงครามจิตวิทยาและมวลชน  และมาตรการทางกฎหมาย  ในส่วนของมาตรการทางกฎหมายนั้นต้องเข้าใจว่า  เจ้าหน้าที่ของรัฐมีกฎหมายอยู่ในมือประมาณ 7 ฉบับที่ใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการ  และนี่คือสิ่งที่เราได้พยายามพูดมาตลอดว่าน่าจะเพียงพอ  กฎหมายฉบับที่ 1. คือรัฐธรรมนูญ  กฎหมายฉบับที่ 2. คือกฎอัยการศึก  กฎหมายฉบับที่ 3. คือประมวลกฎหมายอาญา  ฉบับที่ 4. คือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  ฉบับที่ 5. คือพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ  ฉบับที่ 6. คือพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  และฉบับที่ 7. ซึ่งนับว่าสำคัญมากเหมือนกันคือ  พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.. 2495 ช่วยจำชื่อนี้ไว้ให้ดีครับ  พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.. 2495 ออกเมื่อปี 2495  ยังมีชีวิตอยู่จนถึงนาทีนี้  และก็เป็นกฎหมายที่รัฐบาลหลายรัฐบาลได้เคยเอามาใช้เมื่อเกิดความไม่สงบขึ้น  เช่น อาจารย์สัญญาฯ (อดีตนายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์  สัญญา  ธรรมศักดิ์) ท่านเคยเอามาใช้เมื่อเกิดกรณีโรงพักพลับพลาไชย  ในปี 2517 เคยนำมาใช้กรณีท่านนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ ใช้เมื่อคราวเผาโรงงานแทนทาลั่มที่จังหวัดภูเก็ต  และเคยใช้ในกรณีเกิดพฤษภาทมิฬ 


                        เราก็พยายามติดตามดูตลอดเวลาที่ผ่านมาว่า  เมื่อมีกฎหมายอยู่ในมืออย่างน้อยถึง 7 ฉบับนี้  น่าจะเพียงพอ  แล้วเกิดปัญหาอะไรขึ้น  พบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นอยู่หลายข้อด้วยกัน  คือ 1. การที่เราใช้กฎอัยการศึกเป็นตัวนำในวันนี้  ทำให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ดี  เพราะว่าเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเหนือฝ่ายพลเรือน  พอมีกำลังทหารเข้าไป  มีคนแต่งกายแต่งเครื่องแบบสีเขียวเดินทั่วไป  พกพาอาวุธกันอยู่ทั่วไป  ฝ่ายหนึ่งก็เกิดความสะดุ้งสะเทือนไม่สู้จะสบายใจ  จนกระทั่งข่าวคราวออกไปถึงในต่างประเทศว่าประเทศไทยโดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกาศใช้กฎอัยการศึก  ซึ่งคำว่ากฎอัยการศึกที่ฝรั่งเรียกว่า Martial Law นี้เขาจะใช้เฉพาะในสถานการณ์ที่รุนแรงใกล้ ๆ สงคราม  พอมีว่า 3 จังหวัดภาคใต้ใช้กฎอัยการศึก  เขาก็รู้สึกว่ามันมีสถานการณ์ใกล้เคียงกับสงครามหรืออย่างไร   ทำให้ไม่เป็นไปตาม  ไม่เอื้อต่อบรรยากาศในสังคมประชาธิปไตยและสังคมที่ต้องการสมานฉันท์  นั่นข้อที่ 1.เป็นอุปสรรค  เท็จจริงผมไม่พูดนะ  แต่ว่าเขาประมวลมาว่ามีอย่างนี้   2. การที่เรามีกฎหมายอย่างน้อย 7 ฉบับนั้น  ถ้าพูดถึงพอ  ก็พอ  แต่ถ้าพูดถึงกระจัดกระจายมันก็กระจายกันจริง ๆ เพราะกฎหมายบางฉบับเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจทหาร  บางฉบับให้ตำรวจ  บางฉบับให้พลเรือน  บางฉบับให้ฝ่ายปกครอง  และพลเรือนเองก็มีพลเรือนกระทรวงหนึ่งกับพลเรือนอีกกระทรวงหนึ่ง  เช่น กฎหมายสอบสวนคดีพิเศษให้อำนาจพลเรือนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ  กระทรวงยุติธรรม  บัดนี้เราพบว่าปัญหาภาคใต้นั้นมีความไม่เข้าใจส่วนหนึ่งจากการที่เจ้าหน้าที่ที่ลงไปปฏิบัตินั้นไม่สามารถที่จะบูรณาการการใช้อำนาจ  โดยเฉพาะบูรณาการกฎหมายที่กระจายกันอยู่ให้เขามาอยู่ในมือ  และใช้ร่วมกันอย่างเป็นปึกแผ่นได้  ซึ่งแน่นอนครับเป็นปัญหาในเชิงบริหาร  ต้องแก้กันไปในเชิงบริหาร  อีกส่วนหนึ่งคือเราอย่าพูดถึงว่าปัญหาบ้านเมืองเรานี้มีเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  กรณีสึนามิที่เกิดนั้นเป็นบทเรียนหนึ่งว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างนั้น  ซึ่งประเทศไทยนาน ๆ เกิดที  แต่พอเกิดแล้วนั้น  ขนาดท่านนายกรัฐมนตรี  หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ลงไปแก้ปัญหาสึนามิ  ก็ไม่สามารถจะบูรณาการการใช้อำนาจที่กระจายกันอยู่ได้  ไม่ใช่เพราะว่าเจ้าหน้าที่ขัดขืน  แต่เขาไม่สามารถจะทำอะไรบางอย่างให้ได้  เช่น อำนาจบางอย่างเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทย  บางอย่างเป็นอำนาจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  บางอย่างเป็นอำนาจกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  แม้ว่ารองนายกรัฐมนตรีที่ลงไปซึ่งจำเป็นต้องสั่งให้สำเร็จเด็ดขาดนั้น  ท่านได้รับความร่วมมือจากระดับเจ้าหน้าที่  แต่ท่านจะไปใช้อำนาจทางกฎหมายซึ่งเป็นของหน่วยงานอื่นไม่ได้  ยินดีมอบให้ทำก็ทำไม่ได้  มอบไม่ได้   เป็นอุปสรรค  แล้วเราก็นึกว่าถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุอย่างนี้ขึ้นอีก  เราพยายามจะนึกถึงสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Scenario ภาษาไทยเรียกว่าฉากสมมติเหตุการณ์  แล้วถ้าเกิดกรณีอย่างถล่มตึก World Trade Center  กรณีอย่างกรุงลอนดอน  กรณีอย่างสึนามิอีกสักรอบหนึ่ง  หรือแม้แต่กรณีพายุไต้ฝุ่นเข้า Florida อย่างเช่นเมื่อไม่กี่วันมานี้  หรือกรณีเกิดไฟไหม้สำคัญที่เกิดขึ้นที่ชานเมืองลอสแอนเจลิสเมื่อไม่กี่วันมานี้  ซึ่งในกรณีอย่างนั้นนานาประเทศเขาใช้กฎหมายหนึ่งเข้าไปจัดการทั้งสิ้น  ที่เรียกกันว่ากฎหมายว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน  ภาษาอังกฤษเรียกว่า State of Emergency เราก็คิดว่าเมืองไทยคงจะจำเป็นต้องมีกฎหมายแบบนี้เกิดขึ้น  จะบอกว่ามีอยู่แล้วแต่มันกระจายและไม่สามารถบูรณาการ  แล้วถึงเวลาก็แก้ปัญหาไม่ได้  ไม่ทันท่วงที  ทั้งหมดนำมาสู่การเตรียมทำกฎหมายเพื่อบูรณาการ  แปลว่าดึงเอากฎหมายที่กระจัดกระจายกันอยู่มาใส่ไว้ในที่เดียวกัน  และมีพนักงาน  มีเจ้าหน้าที่  มีผู้บังคับบัญชา  มีหัวหน้าในการดูแลและสั่งการ  โดยรับรองว่าไม่ได้สร้างมาตรการใดให้หนักข้อหรือรุนแรงไปกว่าที่มีอยู่แล้วในกฎหมายปัจจุบันเลย  และที่สำคัญคือต้องไม่ให้ขัดรัฐธรรมนูญ  ที่สำคัญต้องไม่ให้ขัดความเข้าใจของสังคมประชาธิปไตยหรือหลักสิทธิมนุษยชนที่ยอมรับกันในนานาประเทศ


                        วันนี้ได้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีว่ากฎหมายมีอยู่ในมือ  และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้มีการแก้ไขภายใน 24 ชั่วโมงที่เพิ่งผ่านมานี้  เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์และพร้อมที่จะดำเนินการต่อ  จะสมควรมีกฎหมายนี้หรือไม่  ข้อที่ 1. ถ้าสมควรจะออกเป็นพระราชบัญญัติ  คือเสนอสภาฯ ตามปกติ  หรือเสนอออกเป็นพระราชกำหนดเพราะว่ามีความจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วน  คณะรัฐมนตรีได้รับฟังสถานการณ์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดยะลาเมื่อคืนนี้  และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีสัญญาณมาเป็นลำดับ  และแนวโน้มที่อาจจะเกิดต่อไปแล้ว  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในวันนี้ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญมาตรา 218 ว่า  ให้ออกพระราชกำหนด  ซึ่งเป็นพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  คราวนี้ก็มาถึงกฎหมาย  กฎหมายนี้มีชื่อว่าพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.. 2548  คำว่าสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นหมายถึงสถานการณ์ทุกชนิดที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ  กระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน  ชีวิตความเป็นอยู่ ความปลอดภัย  และรวมไปถึงแม้กระทั่งภัยธรรมชาติที่กระทบต่อสาธารณชนด้วย  และภัยทุกชนิดด้วย


                         เพราะฉะนั้นจะครอบคลุมตั้งแต่เกิดการขบถ เกิดจลาจล  เกิดภัยธรรมชาติ  เกิดสึนามิ  เกิดเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  จนกระทั่งเกิดสถานการณ์สงคราม  ก็มีปัญหาว่าทำไมต้องใช้คำว่าสถานการณ์ฉุกเฉิน  คำตอบคือในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้  ยอมให้มีการล่วงล้ำกล้ำเกินสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อยู่ใน 3 กรณีใหญ่ ๆ เท่านั้น เช่น  ถ้าใครดูมาตรา 51 จะเห็นความข้อนี้ คือ 1. จะต้องเป็นสถานการณ์แห่งการลดหรือการสงคราม  ซึ่งวันนี้เราก็ไม่คิดว่ามีสถานการณ์นั้นอยู่ 2. เมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึก  แสดงว่ากฎอัยการศึกนั้นไปล่วงล้ำกล้ำเกินสิทธิเสรีภาพคนได้  แต่วันนี้เราก็ไม่ชอบใจกฎอัยการศึกเสียแล้ว  และข้อ 3. เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  คำนี้เป็นคำสุดท้าย  เป็นทางเลือกเหลือทางเดียวที่เหลืออยู่  ที่ต้องเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์  เพราะฉะนั้นกฎหมายจึงต้องเป็นกฎหมายที่ชื่อว่าการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Emergency สถานการณ์ฉุกเฉินคืออะไร  ผมได้เรียนให้ทราบแล้ว  ถามว่าในกฎหมายนี้กำหนดหลักเกณฑ์อย่างไร  ฟังให้ดีครับ หลักเกณฑ์จะมีดังต่อไปนี้ 


                           เมื่อมีความเข้าใจว่าเกิดสถานการณ์ที่น่าจะฉุกเฉินขึ้น  ไม่ว่าฉุกเฉินธรรมดา ฉุกเฉินมากอะไรก็ตามที  มีกรรมการชุดหนึ่ง  ย้ำอีกครั้งหนึ่งครับ  มีกรรมการชุดหนึ่ง  กรรมการนี้เกิดขึ้นพร้อมกับพระราชกำหนดนี้เลย  ชื่อว่ากรรมการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  มีรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นประธาน  มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  3 คนนี้เป็นรองประธาน  มีปลัดกระทรวงมหาดไทย  ปลัดกระทรวงกลาโหม  ปลัดกระทรวงยุติธรรม  ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ  ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  อัยการสูงสุด  ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ผู้บัญชาการทหารสูงสุด  ผู้บัญชาการทหารบก  ผู้บัญชาการทหารเรือ  ผู้บัญชาการทหารอากาศ  ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ  อธิบดีกรมการปกครอง  อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  เป็นกรรมการ  และมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ  กรรมการนี้เป็นกรรมการถาวร  เกิดขึ้นทันทีเลยครับ


                         เพราะฉะนั้นกรรมการนี้จะเป็นคนคอยดูเหตุการณ์  ถ้ารู้สึกว่ามีเหตุการณ์ที่ถึงขั้นเกิดความไม่สงบ  หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน  กรรมการนี้จะแนะนำนายกรัฐมนตรีว่าสมควรประกาศสถานการณ์   ฉุกเฉินในพื้นที่ใด  นายกรัฐมนตรีจะนำเข้าหารือคณะรัฐมนตรี  แสดงว่าเป็นด่านล็อก ๆ กันอยู่นะครับ    ด่านตัวที่ 1. กรรมการนี้เสนอ  ด่านที่ 2. นายกรัฐมนตรีเห็นชอบ ด่านที่ 3. คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ  นายกรัฐมนตรีก็จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทันที  โดยระบุพื้นที่ เป็นตำบล เป็นอำเภอ เป็นจังหวัด  ถ้าเป็นสถานการณ์รุนแรง เช่น สงคราม  อาจจะประกาศทั้งประเทศก็ได้  เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ใดแล้ว  ให้มีผลไป 3 เดือน  แล้วหมดอายุ  แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นว่าสถานการณ์ยังรุนแรงต่อ  ก็ต่ออายุได้อีกภายใน 3 เดือน ๆ ไปเรื่อย ๆ ทั้งหมดนี้ยกเว้นว่าถ้าจำเป็นฉุกเฉินเร่งด่วนจนกระทั่งถึงขนาดเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีไม่ทันท่วงที  และคณะกรรมการฉุกเฉินที่ว่านี้แนะนำมาแล้ว  นายกรัฐมนตรีก็อาจจะประกาศสถานการณ์สถานการณ์ฉุกเฉินไปก่อนได้  และให้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วัน  เดี๋ยวนี้ก็ได้  คืนนี้ก็ได้  และคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบกับการประกาศนั้น  ก็ให้การที่ประกาศไปแล้วสิ้นสุดลง  ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ  ก็ให้มีอายุไป 3 เดือนอย่างที่ว่า  หมดอายุก็ต่อได้อีกคราวละ 3 เดือน  เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วเกิดอะไรขึ้น  ผลที่ตามมา  ผลก็คือ


                        ข้อที่ 1. คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินที่ผมเล่าให้ฟังเมื่อสักครู่นี้  เขาจะทำหน้าที่คอยติดตามดูเหตุการณ์  ประเมินเหตุการณ์  ซึ่งก็ดูรอบคอบรัดกุมกว่ากรณีที่ทหารใช้กฎอัยการศึก  ผลที่ตามมาคือ  นายกรัฐมนตรีสามารถที่จะออกคำสั่งหลายคำสั่งได้  เช่น ห้ามออกนอกบ้าน  ห้ามเข้าเขต     ห้ามออกนอกเขต  ควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ได้  คล้าย ๆ กับที่เขาเขียนไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.. 2495  ซึ่งกฎหมายนั้นจะต้องถูกยกเลิกไป  เมื่อมีการใช้พระราชกำหนดนี้  ก็แปลว่าเราเอาเนื้อความในพระราชบัญญัติฉบับนั้นมาใช้ในพระราชกำหนดนี้นั่นเอง  ถ้าหากว่าสถานการณ์นั้นเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นมีการก่อการร้าย   นายกรัฐมนตรีก็อาจจะ     ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเช่นเดิมอีก  ประกาศให้เป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง  คือแรงขึ้นกว่าเดิม  เมื่อประกาศให้เป็นสถานการณ์ที่มีความร้ายแรง  นายกรัฐมนตรีก็จะสั่งให้ทำสิ่งต่าง ๆ ได้อีกหลายอย่าง เช่น ควบคุมตัวคนไว้ได้  มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 7 วันโดยขออนุญาตจากศาล  ถ้าครบ 7 วันยังต้องควบคุมต่อ  ก็ขออนุญาตศาลต่อได้ทีละ 7 วัน ๆ เบ็ดเสร็จรวมไม่เกิน 30 วัน  ซึ่งก็เป็นขั้นตอนธรรมดาที่มีหลักประกันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน  รวมทั้งอำนาจในการที่จะติดตามดักฟังทางโทรศัพท์ก็ได้  แต่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ  แปลว่าต้องร้องขออธิบดีศาลอาญาให้เป็นผู้อนุญาต  ซึ่งในกฎหมายสอบสวนคดีพิเศษ  ถ้าใครคุ้นกับกฎหมายฉบับนั้นจะทราบว่าเขาให้อำนาจในการดักฟังโทรศัพท์ได้  แต่จะต้องขอต่ออธิบดีศาลอาญา  ถ้าอธิบดีศาลอาญาไม่อนุญาตก็ไม่ได้  เราก็เอาหลักเดียวกัน  ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบในกฎหมายนั้นแล้ว  มาใช้แล้ว  มาใช้กับกฎหมายนี้โดยอนุโลม  นอกนั้นจะมีอำนาจอย่างอื่นอีกที่สำคัญคือ  บรรดาอำนาจทั้งหลายในระหว่างที่มีการประกาศอย่างที่ว่านี้  ซึ่งเป็นของรัฐมนตรีใด ๆ ก็ตามที  ถ้าหากเป็นเรื่องของการฟื้นฟู ช่วยเหลือ  อนุญาต อนุมัติ  ระงับ ยับยั้ง สั่งการ  ซึ่งความจริงเป็นอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เมื่อประกาศสถานการณ์ที่ว่าแล้ว  อำนาจนี้ให้โอนมาเป็นของนายกรัฐมนตรีตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด  เขาจะบอกว่าให้อำนาจอะไรโอนมา    แล้วพอโอนมานายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจนั้นเอง   หรือมอบให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดลงไปใช้อำนาจต่อก็ได้  เพราะบทเรียนเกิดคราวสึนามินั้นเองว่าเป็นอำนาจของกระทรวง  เราต้องการให้ Transfer คือโอนมาเป็นของนายกรัฐมนตรี  และนายกรัฐมนตรีก็จะมอบต่อให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดลงไปสั่งการแก้ปัญหาได้  ทั้งหมดมีเงื่อนไข มีเงื่อนเวลา มีพื้นที่  มีอายุ สิ้นสุดก็เลิก  ก็จบ  ใหญ่ ๆ ก็จะมีเพียงแค่นี้  เดี๋ยวรายละเอียดท่านเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา  ท่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะได้ชี้แจงเพิ่มเติม  แต่ผมย้ำเป็นเรื่องสุดท้ายว่า  เมื่อมีการประกาศพระราชกำหนดนี้ไปแล้ว  ถ้าได้มีการประกาศแล้ว  ก็จะนำไปสู่การยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  และรัฐบาลจะมาพิจารณาก่อน  มาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  และผลต่าง ๆ จะเริ่มตามมาตามลำดับมาเอง  ซึ่งขณะนี้ฝ่ายทหาร ฝ่ายความมั่นคง  กำลังเตรียมอยู่ว่าจะรับสถานการณ์ทดแทนช่องว่างเพื่อยกเลิกกฎอัยการศึกอย่างไร


                         ถามว่ากฎหมายนี้  ซึ่งผมเชื่อว่ามีคำถามว่าสุดท้ายก็ไม่ได้ต่างอะไรจากกฎอัยการศึกไม่ใช่หรือ  ต่างครับ  ความต่างที่สำคัญคือกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่จะออกใหม่นี้  ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนมากกว่าอำนาจฝ่ายทหาร  ทหารจะเข้ามาเป็น Staff เป็นส่วนหนึ่งของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการ  ไม่ใช่ว่าทหารมีอำนาจเหนือพลเรือนโดยอัตโนมัติเหมือนกฎอัยการศึก


                        ข้อที่ 2. นอกจากจะเป็นการเปลี่ยนอำนาจจากทหารมาสู่มือของพลเรือนแล้ว  เดิมทีนั้น  กฎอัยการศึกเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจผู้บัญชาการทหารในพื้นที่ เช่น แม่ทัพภาค  ประกาศใช้เองได้โดยไม่ต้องปรึกษากับรัฐบาล  วันนี้เราต้องการให้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  ซึ่งอาจจะไปล่วงล้ำกล้ำเกินสิทธิเสรีภาพประชาชนบ้างนั้น  มาเป็นความรับผิดชอบในระดับของคณะรัฐมนตรี  ซึ่งต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อสภา  ผู้บัญชาการทหาร  แม่ทัพ   ท่านไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองต่อใคร   ท่านประกาศกฎอัยการศึก ในตำบล  ในอำเภอ ในจังหวัดใดท่านประกาศเองได้  และท่านก็ประกาศกันไปแล้วทั้งนั้น  วันนี้เราให้อำนาจอย่างนี้มาอยู่ที่รัฐบาล  คือนายกรัฐมนตรี  คณะรัฐมนตรี  และเมื่อประกาศก็ต้องรับผิดชอบต่อสภาฯ  สภาฯ สามารถตรวจสอบควบคุมได้ตามกลไกของรัฐธรรมนูญ 


                        เหตุการณ์ต่อไป  สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นคำสากลที่รัฐธรรมนูญยอมให้ทำได้  และก็ไปจำกัดสิทธิ์คนได้ในช่วงนั้น  ไม่มีการขัดกับรัฐธรรมนูญ  และก็เป็นคำสากลที่ใช้อยู่  ในต่างประเทศเขาก็มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  และใช้กำลังต่าง ๆ เข้าไปจัดการได้  ซึ่งเป็นการล่วงล้ำกล้ำเกินสิทธิเสรีภาพประชาชนหลายอย่างทีเดียว  อันนี้ก็เป็นหลักใหญ่  เป็นความแตกต่างที่สำคัญ  และขณะเดียวกันพอเราทำกฎหมายใหม่ตรงนี้แล้ว  ก็ต้องสร้างกลไกควบคุมการใช้อำนาจของรัฐบาล  ฉะนั้นหลายเรื่องต้องไปที่ศาล  หลายเรื่องจะต้องไปที่คนมากกว่า 1 คน  เช่น ไปที่กรรมการ  ไปที่คณะรัฐมนตรี  และหลายเรื่องไปที่สภาฯ  คือสภาฯ เข้ามาตรวจสอบได้  และแน่นอนที่สุดกลไกต่าง  ๆ ที่ใช้นี้ต้องกำหนดเวลา  กำหนดเงื่อนไข  และกำหนดทางเลือกให้ประชาชนที่เกิดความรู้สึกว่าตัวเองถูกเสียสิทธิเสรีภาพไป  ก็ต้องมีวิธีที่จะร้องเรียน  หรือฟ้องร้อง หรือดำเนินคดี  หรือเรียกค่าเสียหายได้  หลักทั้งหมดจะเป็นแค่นี้  รายละเอียดอื่นเดี๋ยวให้ท่านเลขาฯ ทั้งสองช่วยกรุณาชี้แจงก่อนครับ  แล้วเดี๋ยวค่อยถาม  ท่านเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเพิ่มเติมอะไร  เชิญครับ


เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา


                        คงเป็นเรื่องที่ต้องการจะปรับปรุงกฎหมายเดิม  ที่ใช้มานานแล้วให้ทันสมัยขึ้น  และให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน  โดยอำนาจหน้าที่อย่างที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้กรุณาชี้แจงแล้วว่า  ไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ที่เกินเลยไปกว่าที่เคยมีในปัจจุบัน  เพียงแต่ว่าเพื่อให้มีการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างบูรณาการ  และสามารถทำได้โดยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นเท่านั้นเอง 


รองนายกรัฐมนตรี


                        เชิญท่านเลขาธิการคณะรัฐมนตรีครับ 


เลขาธิการคณะรัฐมนตรี


                        ท่านรองนายกรัฐมนตรีชี้แจงไปหมดแล้ว  ขอเรียนอย่างนี้ว่า  ความจริงเรื่องการใช้กฎอัยการศึกนั้น  ถ้าใครเป็นนักกฎหมายก็จะรู้ว่าเวลาพูดว่า Martial Law ออกไปที่ต่างประเทศ  เขาไม่ได้นึกอย่างบ้านเราว่ามันยิงกันคนหนึ่งวันนี้  ยิงกันคนหนึ่งพรุ่งนี้  แต่เขานึกว่าเกิดสภาวะสงคราม  เพราะฉะนั้นกฎอัยการศึกซึ่งจริง ๆ แล้วอำนาจที่เขียนอยู่ในนี้เป็นอำนาจที่มีอยู่ในกฎอัยการศึกเป็นอันมากนี้  มี  แต่ว่าก็ไม่ได้ใช้   เพราะเหตุว่าไม่เกิดการสงครามจริง ๆ ทีนี้เมื่อเกิดสถานการณ์สะสมมาจนกระทั่งถึงเมื่อคืนนี้สถานการณ์ไม่ใช่สถานการณ์ปกติแล้ว  เพราะถึงขนาดที่ผู้ก่อการอุกอาจ  เข้ามาก่อการในเมือง  ในเขตจังหวัด   ในเขตเทศบาล  และไม่ได้ทำที่เดียวแต่ทำเป็นขบวนการ  ระเบิดเสาไฟฟ้าทำให้ไฟฟ้าดับ  ไปวางระเบิดอีกหลายสิบจุด  ไปวางเรือใบไปจุดไฟเผาทุกที่  แทบจะลุกลามไปใหญ่โต  สถานการณ์อย่างนี้จึงมีความจำเป็นอย่างที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีวิษณุฯ พูดว่าจะต้องมาพิจารณารัฐธรรมนูญกันว่าเป็นเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนในอันที่จะรักษาความมั่นคงของชาติ  รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน  เพราะฉะนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้กราบบังคมทูลพระกรุณาเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชกำหนด  ซึ่งกำลังจะใช้อยู่นี้ 


                        ผมอยากเรียนท่านสื่อมวลชนว่าจริง ๆ แล้วความจำเป็นแห่งสถานการณ์ทำให้ต้องออกพระราชกำหนดนี้  เพื่อที่จะให้เกิดการบูรณาการกันอย่างเป็นเอกภาพ  ท่านรองนายกรัฐมนตรีวิษณุฯ พูดแล้วนะครับว่าอำนาจอยู่ในกฎหมาย 7 ฉบับ  แต่ว่าท่านทราบหรือไม่ว่าในการบริการกฎหมายเหล่านั้นมีความยุ่งยากอย่างไร  มีคนเคยถามว่าทำไมท่านพลเอก ชวลิต  ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  ซึ่งได้รับมอบหมายจากท่านนายกรัฐมนตรี  ลงไปอยู่ปักษ์ใต้เป็นเดือนแล้วทำไมถึงแก้ไม่ได้  มีคนไปถามรองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก ชิดชัยฯ ว่าทำไมท่านรองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก ชิดชัยฯ ไม่ลงไปอยู่ปักษ์ใต้แก้ปัญหา  คำตอบคือว่าเพราะเหตุที่มีอำนาจอยู่ตามที่ต่าง ๆ แล้วไม่มีการบูรณาการ  ต่อให้นายกรัฐมนตรีลงไปนั่งอยู่ที่ปักษ์ใต้เองก็แก้ปัญหาไม่ได้  อำนาจในการจัดการศึกษาอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ   อยู่ที่นี่  ซึ่งไม่ได้ลงไปอยู่ที่ปักษ์ใต้ด้วย  อำนาจในการสอบสวนคดีพิเศษ  ตำรวจธรรมดา  ไม่มีทหาร  ไม่มี  ต้องมาอาศัยกรมสอบสวนคดีพิเศษ  และคณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ  ก็เป็นอย่างนี้ทุกเรื่อง  เพราะฉะนั้นการบริหารแก้ปัญหาปักษ์ใต้เวลานี้ของรองนายกรัฐมนตรี พลตำรวจเอก ชิดชัยฯ  ก่อนที่จะมีพระราชกำหนด  เลยต้องทำสองที่  วิ่งไปวิ่งมาสองที่  ถ้าจะว่ากันในเชิงนโยบายและเชิงอำนาจก็ต้องมาเชิญประชุมที่กรุงเทพฯ และเป็นมติ  เสร็จแล้วเอาเข้าคณะรัฐมนตรี  สั่งทีละเรื่อง ๆ ๆ ซึ่งบางครั้งก็ไม่ทันการ  พอลงไปพื้นที่ก็ได้แต่ไปรับทราบปัญหา  เพราะว่าอำนาจที่จะบูรณาการนั้นอยู่ตรงกลาง  แต่เมื่อมีพระราชกำหนดนี้ออกมาแล้ว  ในพระราชกำหนดนี้อย่างที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีวิษณุฯ พูดว่า  สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นทำให้สามารถทำสิ่งที่กฎหมายปัจจุบันนี้ทำไม่ได้  คือการมอบอำนาจในกฎหมายปัจจุบันนี้ต้องมอบจากผู้ที่สูงกว่าลงไปสู่ผู้ที่ต่ำกว่า  เช่น มอบจากนายกรัฐมนตรีไปรองนายกรัฐมนตรี  ไปสู่รัฐมนตรี  ไปสู่ปลัดกระทรวง  ไปสู่อธิบดี  ระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันนี้ไม่เคยรู้จักการมอบอำนาจขึ้น  เช่น ปลัดกระทรวงจะไปมอบอำนาจให้รัฐมนตรีไม่มี  รัฐมนตรีจะไปมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรี  หรือนายกรัฐมนตรี  ไม่ได้  กฎหมายฉบับนี้ก็บอกว่าเพื่อบูรณาการการแก้ปัญหาให้เป็นเอกภาพ   เป็นหนึ่งเดียว  เป็นศูนย์ Command เดียว  เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกแล้ว  นายกรัฐมนตรีอาจประกาศให้มีการโอนอำนาจทั้งหลายตามกฎหมายของรัฐมนตรีทั้งปวง  มาไว้ที่นายกรัฐมนตรี  แล้วท่านนายกรัฐมนตรีก็มอบให้ใครคนใดคนหนึ่ง  ซึ่งอาจจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี  รวมทั้งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์นั้น  ใช้อำนาจนั้นแทนไปเลย  ต่อไปนี้ถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว  การจัดการที่เกี่ยวกับการศึกษาทั้งหมด  ก็ไม่ต้องไปรอให้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้ความเห็นชอบ  เพราะอำนาจโอนมาอยู่ที่นี่แล้ว  อำนาจในการจัดการเกี่ยวกับคดีพิเศษทั้งหลาย  ซึ่งเมื่อก่อนอยู่ที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษและคณะกรรมการคดีพิเศษ  ก็จะได้มาอยู่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบที่ว่านี้  ทั้งหมดนี้จริง ๆ แล้วคือเพื่อให้เกิดความมีเอกภาพและความทันต่อสถานการณ์ต้องแก้ปัญหา  มิฉะนั้นจะมีปัญหาเรื่องที่ว่าบูรณาการกฎหมายกันไม่ได้อย่างที่เกิดมาในอดีตครับ


 


รองนายกรัฐมนตรี


                        คำถามที่ไม่มีใครถาม  แต่ผมถามเองตอบเองก่อนมีอยู่ 2 ข้อ ข้อที่ 1. ได้ดูกันมาดีละเอียด รอบคอบ  ใครได้ดูกันมาบ้างหรือไม่  ขอตอบว่า  เรื่องนี้ความที่ได้เตรียมการทำกันมานาน  แล้วปรับปรุงมาเรื่อย  บางอย่างก็รื้อเอาออกไป  ไม่เอามาใช้ในครั้งนี้  บางอย่างก็เพิ่งเพิ่มกันมาเมื่อคืนนี้เอง  ได้ดูกันมากับฝ่ายกฎหมาย  อันนี้เป็นของแน่  แม้กระทั่งทางผู้มีหน้าที่ใช้กฎหมาย  คือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด  ก็ได้ร่วมในการหารือ  หรือร่างมาโดยตลอด  กระทรวงการต่างประเทศได้ดู  โดยเฉพาะกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย  ได้พยายามดูกฎหมายที่ใช้อยู่ในหลายประเทศมาเทียบเคียง  ไม่ว่าจะเป็น Internal Security Act ของมาเลเซีย  หรือของสิงคโปร์  และล่าสุดคือ Patriot Act ของสหรัฐอเมริกาก็เอามาดูด้วย  เขาเพิ่งออกมาหลังเหตุการณ์ 911 นี่เอง  แต่ก็ไม่ได้เอามาตามของเขาหมด  เพราะภัยของเราไม่ได้มากเหมือนอย่างของเขา  แต่ว่าได้เอามาใช้เพื่อที่จะดูมาตรฐานหลายอย่าง  นอกจากนั้นฝ่ายความมั่นคงก็ได้เข้ามาร่วมดูโดยตลอด  ไม่ว่าจะเป็นกรมพระธรรมนูญ  กองทัพภาคที่ 4 กองบัญชาการทหารสูงสุด   สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม  กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ   ถ้าเราได้ตั้งหลักว่ากฎหมายว่านี้ไม่ได้เอามาใช้เพื่อเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  เราเผื่อถึงสึนามิ  เผื่อถึงแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด  อะไรก็ตามทีที่จะมีได้ต่อไป  เพราะฉะนั้นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์   กรมประชาสงเคราะห์ ฯลฯ มาช่วยกันดูจนกระทั่งคิดว่าใช้แก้ปัญหาของตัวที่จะมีได้    โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเหตุการณ์ 3 จังหวัดภาคใต้  มันถึงจุดที่เราอุ่นใจว่าด้วยความเห็นชอบพร้อมกันทั้งหมดแล้ว โดยมีสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นเจ้าภาพใหญ่ 


                        คำถามข้อที่ 2. กฎหมายนี้ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพอะไรหรือไม่  จำกัดครับ  บอกเลยว่าจำกัด  เพราะว่าเป็นกฎหมายที่ออกมารับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน  คำว่าสถานการณ์ฉุกเฉินคือสถานการณ์ที่เป็นภัยกับความมั่นคงของรัฐ  กระทบกระเทือนต่อชีวิตความเป็นอยู่  ความปลอดภัยสาธารณะของประชาชน  ไม่ใช่นาย ก. นาย ข . แต่เป็นคนหมู่มาก  เพราะฉะนั้นก็ต้องมีวิธีการที่จะเข้าไปจัดการล่วงล้ำกล้ำเกินสิทธิของประชาชนแน่  เราระวังแต่เพียงว่า 1. เข้ากับมาตรฐานสากลของโลก หรือหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่  2. ขัดรัฐธรรมนูญไหม  3. ขัดต่อบรรยากาศประชาธิปไตยและเอื้อต่อความรู้สึกสมานฉันท์เพียงใด  นี่คือสิ่งที่เรากังวล  ถามว่าจำกัดสิทธิไหม  จำกัดสิทธิแน่  อย่างน้อยการห้ามออกนอกบ้าน  ห้ามเข้าเขต กำหนดห้ามทำโน่น  ห้ามทำนี่  สั่งไม่ได้  แม้กระทั่งในเรื่องของหนังสือพิมพ์เอง  เราไปสั่งในส่วนสื่อมวลชนตรง ๆ ไม่ได้  แต่สมมติว่าเกิดมีการเสนอข่าว เสนอภาพ  เสนอข้อเขียน เสนอบทความ  ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์  วิทยุ  โทรทัศน์อะไรก็ตามที  ที่ไปล่วงล้ำกล้ำเกิน  ทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในพื้นที่  และพอประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วก็สามารถสั่งได้ เช่น ห้ามจำหน่าย ไม่ใช่เรียกมาตรวจข่าว หรือเซ็นเซ่อร์  อันนั้นเราทำไม่ได้  แต่ในเขตของรัฐธรรมนูญเขาให้อำนาจแค่ไหน  เราก็ทำไปตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ  คือสั่งได้ภายในกำหนดที่ว่านั้น  และภายในเงื่อนไขที่ว่านั้น  และถ้าประชาชนหรือสื่อสิ่งพิมพ์รู้สึกว่าตัวเองถูกบั่นทอนสิทธิเสรีภาพ  ก็เป็นเรื่องที่ท่านสามารถร้องต่อศาลได้อีก  ให้ศาลสั่งอนุญาตหรือศาลสั่งยกเลิกตรงนั้นเสียก็ได้  ก็ไปหาทางออกทางนั้นเอาเอง  เพราะว่าเราได้ประมวลในนั้น  ข้อที่เขาเสนอมาก็พบว่าหลายเรื่องเข้าไปเกี่ยวพันกับสื่ออยู่เหมือนกัน  ล่าสุดมีผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศตั้งข้อสังเกตมา  ซึ่งไม่ใช่เป็นผู้ใหญ่ในรัฐบาล  ว่าทำไมเกิดเหตุการณ์ถล่มที่ลอนดอน  เราดูโทรทัศน์จะเป็น CNN หรือ BBC ยากที่เห็นศพสักหนึ่งศพโผล่ออกมาทางโทรทัศน์  แต่ว่าในสื่อของเรา  ผมไม่ได้พูดถึงสื่อหนังสือพิมพ์นะครับ  สื่อโทรทัศน์ก็ตัวดี  ในกรณีที่ได้มีการนำเอาภาพต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปะติดปะต่อเข้า  แล้วก็บางครั้งไปเอาภาพตัดหัวตัดคอตั้งแต่เมื่อปีที่แล้วมารายงานแทรกเข้าไป  พร้อมกับการเสนอข่าวยะลาเมื่อคืนนี้  ตรงนี้เป็นเรื่องที่แน่นอนครับ  จรรยาบรรณหรือ จริยธรรมก็ว่ากันไปในส่วนนั้น  แต่ว่าถ้าเราประกาศเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินก็ต้องพูดกันได้  ขอร้องได้ว่าคุณงดเสนออย่างนั้น  คุณไปเสนอที่อื่นคุณเสนอก็แล้วกัน  คุณเสนอที่นี่ไม่ได้  เพราะจะเกิดปัญหาสะเทือนต่อความรู้สึก  ขวัญ กำลังใจ  และนำไปสู่  กระทบกับความมั่นคงอะไร  เคยมีภาพมีข่าวออกมากรณีที่กระทบต่อการกระทำศาสนกิจ  พิธีละหมาดของพี่น้องมุสลิมของเรา  ทำให้เกิดปัญหาขึ้น  รวมทั้งมีบทความทางวิทยุ  จะชุมชนหรือไม่ชุมชน  อ่านออกมาในทางที่ทำให้ความสมานฉันท์หายไปหมดเลย  ก็ต้องสามารถที่จะขอให้หยุดดำเนินการได้  คุณไปทำที่อื่นไม่เป็นไร  แต่ที่นี่คุณอย่ามาทำ  เพราะว่า Sensitive มาก  อย่างนี้เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก็ห้ามกันได้  และถ้าใครรู้สึกว่าการห้ามนั้นปราศจากเหตุอันสมควร  ก็ร้องขอต่อศาล  ฉะนั้นกระบวนการทั้งหมดจะมีสิ่งที่ประสาน  ซึ่งเขาเรียกว่าดำเนินไปสู่กระบวนการยุติธรรม  ก็ต้องมีเปิดทางไว้ให้  ฉะนั้นถามว่าจำกัดสิทธิหรือไม่  จำกัดแน่  แต่ไม่ใช่นึกจะจำกัดก็จำกัดกันเล่น ๆ ง่าย ๆ มีกลไกทางศาลในการควบคุม  มีกลไกการเมืองคอยดู  และที่สำคัญคือกลไกมวลชน  ไม่มีรัฐบาลไหนหรอกครับที่จะงัดเอาอำนาจแปลกประหลาดขึ้นมาใช้เล่น ๆ โก้ ๆ เพราะเพียงเมื่อคืนฝันร้าย  เมื่อเช้าท้องไม่ดีอะไรอย่างนี้  จะต้องมีความเข้าใจตรงกันแล้วว่าบัดนี้เกิดความจำเป็นขึ้น 


เลขาธิการคณะรัฐมนตรี


                        ผมขออนุญาตเสริมนิดหนึ่งครับ เรื่องอำนาจควบคุม  คือเวลานี้ตามกฎหมายปัจจุบัน มีอำนาจควบคุมตัวโดยไม่ต้องมีการแจ้งข้อหาตามกฎหมายกฎอัยการศึก   มีอยู่ 7 วัน  โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารควบคุมได้  แต่ว่าต้องปฏิบัติต่อเขาอย่างไม่ใช่ผู้ผิด  พูดง่าย ๆ คือกฎหมายกฎอัยการศึกปัจจุบัน  ทหารทำได้  สงสัยใครว่าเป็นผู้ก่อการหรืออะไร  และยังไม่มีหลักฐานจะแจ้งข้อหา  ไปเชิญตัวมาไว้ได้ 7 วัน  และปล่อยไป 1 วัน ไปเชิญมาอีก 7 วันได้  โดยไม่มีการตรวจสอบ  ในกฎหมายฉบับนี้บอกว่าเงื่อนไขครับ ข้อที่ 1. เมื่อมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง เพราะมีการก่อการร้าย เพราะมีการประทุษร้ายต่อชีวิต ต่อร่างกาย ต่อทรัพย์สินของประชาชนเป็นอันมาก จะต้องมีเงื่อนไขนี้เสียก่อน เจ้าพนักงานก็มีสิทธิ มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับหรือควบคุมตัวคนที่สงสัยว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด หรือเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา แล้วนำมาควบคุมได้   ถามว่าเจ้าพนักงานไปจับเองจากกฎอัยการศึกได้หรือไม่ คำตอบคือ "ไม่ได้" เงื่อนไขข้อสองที่กฎหมายฉบับนี้วางไว้ก็คือ ก่อนที่จะไปจับหรือควบคุมตัวคนมาไว้ แล้วปฏิบัติต่อตัวเขาที่ยังไม่ใช่ผู้ต้องหา พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องไปยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจ หรือศาลอาญา เพื่อขออนุญาตในการดำเนินการ


                        กฎอัยการศึก เวลานี้เจ้าหน้าที่ทหารไปเชิญมาได้เลย เอาไว้ 7 วัน พอครบ 7 วัน ปล่อยไปหนึ่งวันก่อน แล้วไปเชิญมาอีก 7 วัน บัดนี้กฎหมายนี้บอกว่าไม่ได้ จะต้องไปร้องขอต่อศาลใน 3 จังหวัดภาคใต้ หรือร้องต่อศาลใน 3 จังหวัดภาคใต้ไม่ได้ ก็ร้องขอต่อศาลอาญา ไปเชิญตัวคนมา แล้วเงื่อนไขข้อ 3 บอกว่าในการเชิญตัวนั้น กลัวว่าจะอุ้มกันไป กฎหมายฉบับนี้เขียนไว้ว่าเป็นการวางเงื่อนไขในการใช้อำนาจ ซึ่งเวลานี้ตามกฎอัยการศึกไม่มี คือให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับการควบคุมตัวเสนอต่อศาล และจัดสำเนารายงานไว้ ณ    ที่ทำการของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ญาติของทุกคนนั้นสามารถขอดูรายงานดังกล่าวตลอดเวลาได้ คือให้รู้ว่านำไปคุมที่ไหน ใครคุม ใครทำ เวลานี้กลัวกันว่าจะเกิดปัญหาว่านำไปคุมตัวแล้วหายไป ตอบว่าในกฎหมายฉบับนี้ไม่หายแน่ และมีหลักฐานแน่นอน


                        แล้วเงื่อนไขข้อ 4 ที่จะต้องพูดให้ชัดตรงนี้ คือกฎหมายกำหนดไว้ว่าต้องคุมไว้ในสถานที่ที่ไม่ใช่ในสถานีตำรวจ ที่คุมขัง ที่ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ แล้วจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะที่เป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้  พูดง่ายๆ คือว่าจากกฎอัยการศึกเดิมที่สามารถคุมตัวคนไว้ 7 วันโดยไม่ต้องแจ้งข้อหาและคุมโดยทหาร กฎหมายฉบับนี้มาเพิ่มเงื่อนไขใส่เข้าไป 4 เปาะ ล็อกไว้ ทั้งหมดคือเพื่อให้นำศาลเข้ามาคานอำนาจการคุมตัวคน และต้องทำรายงานการคุมตัว ไม่ใช่อยู่ดีๆ มาเชิญตัวเขาไปคุมแล้วหายไป ต่อไปนี้ รายงานนั้นอยู่ที่ศาล รายงานต้องอยู่ที่เจ้าหน้าที่ที่ทำการ ญาติของเขาไปขอดูเมื่อไรก็ต้องให้ดู ขอให้ทำความเข้าใจด้วย เดี๋ยวจะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นมาตรการที่ไม่มีระบบตรวจสอบ


 


------------------------------------


 


รองนายกรัฐมนตรีตอบข้อซักถามสื่อมวลชน


 


สื่อมวลชน  :  พระราชกำหนดนี้จะมีผลบังคับใช้สมบูรณ์เมื่อไร


รองนายกรัฐมนตรี


                        อันนี้ผมตอบไม่ได้ เพราะว่าเมื่อในชั้นของรัฐบาลทำส่วนของรัฐบาลเสร็จ ก็นำความกราบบังคมทูลฯ เมื่อทรงพิจารณาลงพระปรมาภิไธยแล้ว ก็จะประกาศใช้โดยเร็ว เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้ออยู่ทุกวัน เมื่อประกาศใช้โดยเร็ว ทางทหารจะพิจารณาเลิกกฎอัยการศึก   รัฐบาลก็จะพิจารณาในการที่จะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินบางพื้นที่เท่าที่มีความจำเป็น และผลก็จะตามมาตามลำดับ กระบวนการจะไปของมันโดยเราไม่สามารถจะคิดไว้ล่วงหน้าได้  อย่างไรก็ตาม กำลังคิดอยู่ว่าบางทีการยกเลิกกฎอัยการศึกอาจจะล่าช้าอยู่เหมือนกัน เช่น คิดเดี๋ยวนี้ จะเลิกชั่วโมงหน้าไม่ได้ เพราะตามกฎหมายแล้ว เรื่องเหลือเชื่อคือว่าการประกาศกฎอัยการศึกในพื้นที่ใด แม่ทัพภาคประกาศเอง  แต่พอยกเลิกกฎอัยการศึกที่แม่ทัพภาคประกาศ ให้ทำเป็น   พระบรมราชโองการ ใช้เวลาหลายวัน


เลขาธิการคณะรัฐมนตรี


                        จะส่งสำนักราชเลขาธิการวันนี้ แต่สำนักราชเลขาธิการมีขั้นตอนภายในของท่าน ต้องเสนอคณะองคมนตรีอะไรก็แล้วแต่ จะทูลเกล้าฯ เมื่อไรนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แต่เป็นหน้าที่ของสำนักราชเลขาธิการ เราส่งสำนักราชเลขาธิการวันนี้


สื่อมวลชน  :  เมื่อพระราชกำหนดมีผลบังคับใช้แล้ว  รัฐบาลจะสั่งให้ยกเลิกการประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ต่าง ๆ  หรือไม่             


รองนายกรัฐมนตรี


                        ก็คิดอยู่อย่างนั้น แต่ต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ที่อธิบายกันมากมาย คือนายกรัฐมนตรีจะประกาศเองไม่ได้ ไม่เหมือนกับกฎอัยการศึกที่แม่ทัพภาคประกาศเองได้ อันนี้ต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และต้องให้กรรมการต่างๆ เป็นผู้เสนอแนะด้วย


สื่อมวลชน  : เหตุการณ์ไหนที่จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นคนประกาศ  หรือว่าเหตุการณ์ไหนจะเป็นอำนาจของกรรมการฯ  เป็นผู้พิจารณา


รองนายกรัฐมนตรี


                        กรรมการประกาศเองไม่ได้ กรรมการต้องเสนอนายกรัฐมนตรีให้ประกาศ แล้วนายกรัฐมนตรีจะประกาศได้ก็ต้องให้กรรมการเสนอก่อน เพราะกรรมการเป็นฝ่ายประจำ ฝ่ายปฏิบัติ แต่ถ้าฉุกเฉิน เร่งด่วน จำเป็น จนกระทั่งคอขาดบาดตายจริงๆ และไม่ทำ กว่าจะให้กรรรมการเสนอ กว่าจะให้คณะรัฐมนตรีประชุมกันครบ 36 คน ถ้าเป็นเช่นนั้น นายกรัฐมนตรีอาจจะสั่งไปก่อน แล้วเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีภายใน 3 วัน แต่ครั้งนี้ท่านนายกรัฐมนตรีประกาศเมื่อเช้านี้ว่า ท่านจะขอนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพูดกัน เพราะไม่ได้ฉุกเฉิน เร่งด่วนขนาดนั้น ถ้าเร่งด่วนเท่าที่ผมเห็นจริงๆ เป็นกรณีภัยธรรมชาติกระทันหัน จำเป็นจริงๆ จะให้พายุรอก่อน มีการประชุมคณะรัฐมนตรีก่อน เราก็ห้ามไม่ได้


สื่อมวลชน  :  คณะรัฐมนตรีเชื่อว่าให้อำนาจแก่พลเรือนแล้วจะแก้ปัญหาได้ 


รองนายกรัฐมนตรี


                        ไม่มีที่ไหนให้อำนาจพลเรือน ซึ่งในกองกำลังที่ทำกันอาจจะมีทั้งตำรวจ พลเรือน ทหาร แต่พลเรือนจะเข้ามามีส่วน และไม่ใช่มีใครใหญ่กว่าใคร เพราะเราพบแล้วว่าในกรณีถ้าเราแบ่งหน้าที่ให้ถูกต้อง เรื่องบางเรื่องฝ่ายปกครองทำได้ดีกว่า เช่น มาตรการทางจิตวิทยา มาตรการทางกฎหมาย แต่ถ้าเป็นมาตรการใช้กำลังถืออาวุธ ก็ต้องใช้ทหารอยู่ดี แต่วันนี้ถ้าประกาศกฎอัยการศึก ทหารใช้อำนาจหมดทุกมาตรการเลยครับ และกฎหมายที่ออกมาก็ไม่ใช่ว่าไม่ไว้วางใจทหาร แต่เป็นเพราะว่าเขาก็ลำบาก เขาก็ล้าเต็มทีเหมือนกันในการดำเนินการ


                        แล้ววันนี้ในตอนเช้าผมได้สรุปให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า เหตุการณ์ที่จะนำมาสู่ว่าจะต้องออกกฎหมายนี้เสียแล้ว และเป็นพระราชกำหนดเสียด้วย มีอยู่ 6 - 7 เหตุการณ์ ปะติดปะต่อกัน ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบ แล้วเหตุการณ์ฟางเส้นสุดท้ายก็คือเหตุการณ์เมื่อเวลา 19.00 . คืนที่ผ่านมา


สื่อมวลชน  :  จะมีการขอย้ายออกจากพื้นที่ 3  จังหวัดชายแดนภาคใต้เพิ่มขึ้นหรือไม่ 


รองนายกรัฐมนตรี


                        ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่สิ่งที่เราคิดว่ามีความจำเป็นต้องกฎหมายนี้ ทั้งหมดผู้สื่อข่าวเป็นคนลงไปเองทั้งนั้น ครูขอย้ายออกจากพื้นที่ พระขอย้ายออกจากวัด ราษฎรขอย้ายออกจากจังหวัด ข้าราชการ     คนใหม่ไม่ขอย้ายลงไปอยู่ในเหตุการณ์ ทั้งหมดก็จะมีแนวโน้มเกิดขึ้นอย่างนี้ทุกวัน อันนี้ก็เป็นเหตุอย่างที่เราคิดว่าจะต้องระงับยับยั้งโดยเร็ว สามารถที่จะจัดการอะไรได้โดยเร็ว ให้ความอุ่นใจ ให้ความมั่นใจเขาโดยเร็ว


สื่อมวลชน  :  เมื่อออกพระราชกำหนดแล้ว   กฎอัยการศึกจะยกเลิกโดยปริยายหรือจะยังคงมีอยู่


รองนายกรัฐมนตรี


                        ไม่ใช่ครับ ตัวกฏอัยการศึกมีมาตั้งแต่สมัยแผ่นดินในรัชกาลที่ 6 และยังอยู่ แต่กฎอัยการศึกมีอยู่อย่างนั้น แต่พอจะไปใช้ในที่ใด เขาก็ใช้วิธีประกาศ การประกาศใน 3 จังหวัดนั้นคงจะต้องถอยออกมา  ซึ่งต้องทำเป็นพระบรมราชโองการถอนออกมา คือยกเลิก 


เลขาธิการคณะรัฐมนตรี


                        ท่านรองนายกรัฐมนตรีครับ ขออนุญาตเสริมตรงนี้ ท่านผู้สื่อข่าว เพราะฉะนั้น ช่วงที่มีการกราบบังคมทูลฯ ขึ้นไป เพื่อขอทรงมีพระมหากรุณาประกาศราชโองการยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก อาจจะมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน คาบอยู่บางส่วน บางเวลาได้ ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลต้องการให้ทัน แต่กระบวนการขั้นตอนที่ส่งสำนักราชเลขาธิการในการเลิกการประกาศการใช้กฎอัยการศึกจะใช้เวลานานเท่าใด  เราไม่อาจจะรู้ได้ เพราะเป็นพระราชอำนาจ ซึ่งท่านรองนายกรัฐมนตรีพูดแล้ว กฎอัยการศึกนั้น เขาต้องการเผชิญกับการรบ การสงครามเฉพาะหน้า ดังนั้น เกิดเหตุเมื่อไร แม่ทัพภาคประกาศได้เลย แต่พอจะเลิกต้องกราบบังคมทูลฯ เป็นประกาศราชโองการ ต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองกราบบังคมทูลฯ ขึ้นไป ซึ่งตรงนั้นใช้เวลา เมื่อใช้เวลา เราอาจจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรองรับไว้ก่อน เพราะพอโปรดเกล้าฯ ประกาศราชโองการยกเลิกกฎอัยการศึกจะได้ไม่มีช่องว่าง ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เพราะรัฐบาลมีเจตจำนงจะไปใช้กฎหมาย 2 ฉบับให้พัวพัน เราไม่ต้องการอย่างนั้น แต่มีความจำเป็นโดยเหตุที่ไม่อาจจะคาดหมายได้ว่าเมื่อใดจึงจะมีการโปรดเกล้าฯ ให้เลิกกฎอัยการศึก


เลขาธิการนายกรัฐมนตรี


                        ตรรกะมีอยู่ง่ายๆ ว่าเราอุตส่าห์ออกเป็นพระราชกำหนดแสดงว่า ต้องมีอะไรที่เร่งด่วนฉุกเฉินใช่ไหม ฉะนั้น เมื่อเร่งด่วนฉุกเฉิน พอประกาศพระราชกำหนดใช้ไปแล้ว ยังคาอยู่ ไม่เห็นประกาศสถานการณ์ ฉุกเฉินให้เห็นเป็นตัวอย่างสัก 1 - 2 ที่ ก็จะย้อนกลับมาถามว่า แล้ว ณ วันที่ 15 กรกฎาคม พ.. 2548 คุณออกพระราชกำหนดไปทำไม ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด เพียงแต่ผมบอกไม่ได้ว่าวันไหนทำอะไรเท่านั้น


สื่อมวลชน  :  กลัวไหมว่าจะไปจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป เช่น การดักฟังโทรศัพท์


รองนายกรัฐมนตรี


                        เราไม่กลัว เพราะทุกวันนี้ก็ดักฟังได้อยู่แล้ว ตามกฎหมายสอบสวนคดีพิเศษ มีเงื่อนไขว่าคุณจะต้องร้องอธิบดีศาลอาญา ถ้าอธิบดีศาลอาญาไม่ให้ดักฟัง คุณก็ทำไม่ได้ แล้วในกฎหมายที่เราจะออกกันใน 1 - 2 วันนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าไปดักฟังเลย ไม่ใช่นะครับ ให้นำกฎหมายสอบสวนคดีพิเศษมาใช้โดยอนุโลม ก็คือไปร้องอธิบดีศาลอาญา ดังนั้น การันตีจึงอยู่ที่อธิบดีศาลอาญา  และอธิบดีศาลอาญาเท่านั้น   ไม่ใช่ศาลจังหวัดยะลา   ถ้าท่านบอกไม่ให้ฟัง  ก็ฟังไม่ได้  เราคิดว่าการจำกัดเสรีภาพต้องมีเป็นธรรมดา  แต่ทำอย่างไรจึงจะให้มีมาตรฐาน  และมีหลักประกันที่สุดเท่าที่จะทำได้   ซึ่งเราก็วางไว้ให้    ถ้าท่านเคยไปต่างประเทศเมื่อวันสองมานี้   ท่านจะรู้ว่าวันนี้ในหลายประเทศ  ผมไปนิวยอร์กมาเมื่อเดือนที่แล้ว  ตัวอย่างชัดที่สุดเลยว่า  พออีก  1  ชั่วโมงจะถึงสนามบินจอห์น เอฟ เคนเนดี้  นิวยอร์ก ห้ามผู้โดยสารลุกออกจากที่นั่งบนเครื่องบินเป็นอันขาด  ห้องน้ำก็ไปไม่ได้  เพราะเขากลัวว่า  การจี้เครื่องบินจะจี้ตอนที่เครื่องบินจะลง   ให้นั่งอยู่กับที่   และเขาจะเตือนตลอดว่า อีก 1 ชั่วโมงจะถึงนิวยอร์ก   ใครจะเข้าห้องน้ำกรุณาเข้าเสีย   อะไรอย่างนี้   ถามว่าจำกัดเสรีภาพหรือไม่ก็จำกัดก็จำเป็น


เลขาธิการนายกรัฐมนตรี


                        เขาใช้คำอย่างนี้ว่า เพื่อที่จะรักษาสิทธิและเสรีภาพของคนส่วนใหญ่  จำเป็นเหมือนกันที่จะต้องจำกัดเสรีภาพของคนบางคน   แต่เป็นการจำกัดภายใต้การตรวจสอบ  อย่างกรณีที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีพูดเรื่องการดักฟัง  ต้องไปร้องขอต่ออธิบดีศาลาอาญา  หรือจะควบคุมตัวคนเอาไว้โดยไม่มีข้อหา   ต้องไปขอความเห็นชอบจากศาลที่มีเขตอำนาจและต้องทำรายงานการเชิญตัวเขาไว้ให้ญาติพี่น้องเขารู้ด้วย


รองนายกรัฐมนตรี


                        คือต้องโปร่งใส  ระหว่างนั้นไม่ให้เป็นผู้ต้องหา  ใส่โซ่ใส่ตรวนไม่ได้  ห้ามขังในคุกในเรือนจำ  อาจจะต้องอยู่ในบ้านในโรงพยาบาล 


รองนายกรัฐมนตรี


                        ถ้าไม่มีกรรมการนี้  ทีแรกผมไม่นึกว่าจะมี   บังเอิญพอปล่อยข่าวออกไปโยนหินถามทางว่านายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เป็นคนสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  และตอนประกาศเสร็จจะใช้มาตรการ  หนึ่ง  สอง  สาม   สี่  ห้า   ก็มีเสียงกลับมาว่า ติดหนวด ติดคิ้ว ที่สื่อไปลงกัน  เราจึงสร้างกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง  ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารเหล่าทัพ  อัยการสูงสุด  ฝ่ายความมั่นคง  ฝ่ายกฎหมาย  ฝ่ายสังคมสงเคราะห์  อยู่ในนั้นหมด  และเป็นคนเสนอแนะ  เราคิดว่าเป็นหลักประกันพอสมควรแล้ว  


รองนายกรัฐมนตรี


                        วันนี้คงจะประมวลทุกอย่างมาพูดไม่ได้  และคนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์คงจะเป็น    ผู้ประมวลมาและเราหวังว่ากรรมการที่ตั้งขึ้นจะเป็นตัวประมวลดีที่สุด   ซึ่งกฎหมายอัยการศึกเป็นกฎหมายที่รุนแรงที่สุด   ถ้าผมพูดอย่างอุปมาคือปืนใหญ่ถล่ม บางเหตุการณ์ไม่จำเป็นต้องเอาปืนใหญ่ไปถล่ม  ปืนเล็กยาวก็พอ   แต่ถ้าเหตุการณ์ถึงขั้นต้องเอาปืนใหญ่ถล่ม  ก็ต้องถล่มด้วยปืนใหญ่จะทำอย่างไร และกฎอัยการศึกก็มีทั่วโลก   ผมยังไม่เห็นประเทศไหนไม่มีกฎอัยการศึก  เพียงแต่เขาไม่ประกาศใช้   ของเราไปประกาศคนจึงข้องใจ


สื่อมวลชน  :  ฝ่ายค้านต้องการมีส่วนในการพิจารณากฎหมาย เพราะเป็นกฎหมายสำคัญของชาติ 


รองนายกรัฐมนตรี  


                        เห็นใจครับ  คุณจำได้ไหมว่า ตอนเปิดสภาฯ ใหม่ๆ  หลังเลือกตั้ง  รัฐบาลได้ขอเปิดอภิปราย    ทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ  เพื่อฟังการแก้ปัญหาภาคใต้  เราอย่าแยกว่าฝ่ายค้านหรือฝ่ายไม่ค้าน  ที่พูดขึ้นในสภาฯ  ว่าประเทศไทยควรยกเลิกกฎอัยการศึกใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้   และมีกฎหมายพิเศษออกมาอย่างนี้ เราก็รับฟังในวันนั้นและนำมาใช้ด้วย  และในที่สุดพระราชกำหนดนี้ ต่อไปต้องเข้าสภาฯ  ถ้าสภาฯ  ไม่เห็นชอบก็คว่ำเสีย   ส่วนที่บอกว่าแล้วทำไมไม่เข้าสภาฯ เสียเลย  ก็คิดถึงความยาวนานของเหตุการณ์  และเมื่อประกอบเข้ากับสัญญาณบางอย่างที่เรารู้สึกว่าเรารอไม่ได้   คุณรอมาตั้ง  6  เดือนแล้ว  ไม่อย่างนั้นออกมาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว   ผมยังไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า เมื่อคืนถ้าไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นจะออกพระราชกำหนดหรือไม่ 


----------------------------------------


ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก


 


 


 


 


                       


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net