Skip to main content
sharethis

ประชาไท- 18 ก.ค. 48      ตัวแทนสถานทูตยุโรปตั้งคำถามต่อการที่ประเทศไทยออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548  มุ่งประเด็นเรื่องความจำเป็น และการกำกับดูแลการใช้อำนาจ


 


นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ แถลงแก่ผู้สื่อข่าว ภาย หลังการจากที่กระทรวงการต่างประเทศบรรยายสรุปเรื่องการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต่อคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย โดยปลัดกระทรวงการต่างประเทศในวันนี้ (18 ก.ค. 48)


 


นายสีหศักดิ์ กล่าวว่าตัวแทนจากสถานทูตยุโรป เช่น นอร์เวย์ และฝรั่งเศส ได้ตั้งคำถามถึงความจำเป็น และกระบวนการกำกับดูแลการใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.ก.หากมีการนำไปปฏิบัติจริง


 


โดยนายกฤษณ์ กาญจนกุญชร ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงว่า จากการประเมินสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นที่จังหวัดยะลา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลเห็นว่าจำเป็นต้องมีการบูรณาการอำนาจที่กระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ เพื่อให้การแก้ปัญหามีประสิทธิภาพ


 


ส่วนเรื่องกระบวนการกำกับดูแลการใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.ก. นั้น ทางปลัดกระทรวงการต่าง ประเทศชี้แจงว่า ที่จริงแล้วทุกอย่างใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมีการส่งให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาหลังการเปิดประชุมสภาในเดือนสิงหาคม เพื่อออกเป็น พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และ พ.ร.ก.ฉบับนี้จะต้องเป็นไปตามกติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง ที่ประเทศไทยเป็นภาคี


 


นายสีหศักดิ์กล่าวว่า การบรรยายสรุปเรื่องการออก พ.ร.ก.ฯ ในวันนี้เป็นไปตามแนวทางที่ นายวิษณุ เครืองาม ได้แถลงข่าวกับสื่อมวลชน ทั้งในเรื่องความจำเป็นที่รัฐบาลต้องประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในการดูแลปัญหาสถานการณ์ฉุกเฉินให้มาอยู่ที่ฝ่ายพลเรือน


 


โดยประเด็นสำคัญคือการชี้แจงให้เข้าใจว่า การใช้อำนาจที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ไกลกว่ากฎหมายอัยการศึกที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  


                                                                                                                          


สำหรับบรรยากาศในการบรรยายสรุปเรื่อง พ.ร.ก.ฯ วันนี้ มีตัวแทนจากสถานทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย รวมทั้งตัวแทนองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม 58 คน โดยมีเอกอัครราชทูตเข้าร่วม 12 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net