เปิดรายงานชี้แจง "สิทธิมนุษยชนไทย" ของภาคประชาสังคม

ในบรรดาหน่วยงานที่เข้าร่วมชี้แจง "สถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย" ตามที่คณะกรรมการสิทธิแห่งสหประชาชาติ ตั้งคำถาม 26 ประเด็นในวันที่ 18-20 ก.ค.นี้ กลุ่ม Thai-Can (Thai Civic Action Network) ได้รับเชิญให้เสนอรายงานและเข้าร่วมชี้แจงด้วย

 

กลุ่มดังกล่าวจัดตั้งขึ้นเพื่อเรียนรู้กลไกในการจัดทำรายงานและปฏิบัติตามพันธกรณีหลังประเทศไทย เข้าเป็นภาคีในกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) เนื่องจากปีนี้ถือเป็นปีแรกในการจัดทำรายงาน

 

Thai-CAN ประกอบด้วยตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชน และองค์กรพัฒนาเอกชน จำนวน 10 คน และได้เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการสร้างความเข้มแข็งในการนำข้อเสนอจากสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนไปปฏิบัติ ผ่านการหนุนเสริมมาตรการการป้องกันในระดับประเทศ จัดโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

รายงานฉบับนี้มีการชี้แจงหลายประเด็นที่น่าสนใจ  โดย Thai-CAN ชี้แจงคำถามเกี่ยวกับสถาน การณ์ภาคใต้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการสอบสวนหรือชดเชยให้แก่ผู้เสียชีวิตในสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เคยให้สัมภาษณ์ยอมรับว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐฆ่าประชาชนไปมากกว่า 100 คน โดยไม่มีการเปิดเผยข้อมูล

 

เช่นเดียวกับกรณีการเสียชีวิต 32 ศพที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี 19 ศพที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และการปราบปราบหน้า สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส มีผู้เสียชีวิต 7 คน จากการปราบปรามและ 78 คนที่เสียชีวิตระหว่างการขนย้าย

 

ส่วนเรื่องการปราบปรามใน "สงครามยาเสพติด" ในช่วงแรกของรัฐบาลทักษิณ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2546 นั้น มีผู้ต้องสงสัยว่าค้าและเสพยาเสพติดถูกฆ่าตัดตอนไปถึง 2,598 ราย โดยเจ้าหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวนไปเพียง 752 ราย ในจำนวนนี้มีหมายจับจำนวน 117 ราย ผู้ต้องสงสัยที่ยังดำเนินคดีอยู่ 90 คน ที่เหลืออีก 1,639 คดีนั้นไม่มีการพูดถึง เพราะขาดพยานหลักฐานที่ชัดเจน

 

ขณะที่ Thai-CAN เสนอแนะว่า รัฐบาลต้องทำการสืบสวนสอบสวนในกรณีที่เหลือต่อไป เพื่อนำผู้กระทำผิดมาสู่กระบวนการยุติธรรม และให้ค่าชดเชยแก่กรณีที่เป็นการฆ่าผิดตัว การลงโทษผิด และการริบทรัพย์ผิด

 

ส่วนเรื่องการเยียวยาต่อผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิหรือผู้เสียชีวิตจากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายนั้น Thai-CAN เสนอว่า รัฐบาลควรอนุญาตให้มีการสืบสวนสอบสวนอย่างอิสระในเหตุการณ์วันที่ 28 เมษาฯ และควรเริ่มมาตรการพิเศษ เช่น กฎหมายในการชดเชยเหยื่ออาชญากรรม เพื่อให้ความช่วยเหลือกับญาติผู้เสียชีวิตในสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ รวมถึงผู้เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 เม.ย.และสงครามปราบปรามยาเสพติด

 

ส่วนกรณีผู้เสียชีวิต 85 คนที่ตากใบ แม้รัฐจะจ่ายค่าชดเชยให้แล้ว แต่ญาติยังคงเชื่อว่า การฆ่านั้นไม่ยุติธรรม และควรชดเชยแก่ผู้บาดเจ็บ พิการที่สูญเสียโอกาสในการทำงานด้วย

 

นอกจากนี้ควรยกเลิกกฎอัยการศึกและปล่อยผู้ต้องสงสัยที่ถูกกักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ในค่ายอิงคยุทธบริหาร เพื่อให้กระบวนการสมานฉันท์ก้าวหน้าไปได้

 

ขณะที่คำถามเรื่องการคุกคามองค์กรสิทธิมนุษยชน และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนนั้น Thai-CAN ได้ชี้แจงกรณีผู้นำชุมชนในการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสร้างการส่วนร่วมจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ที่เสียชีวิตถึง 19 คน ตั้งแต่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 2001 พร้อมทั้งเสนอว่า ภาคประชาสังคมต้องการให้รัฐบาลบังคับใช้มาตรการอย่างเข้มงวด ในการปกป้องชีวิตประชาชนผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน และตั้งองค์การอิสระโดยเฉพาะเพื่อจัดการกรณีที่เกิดขึ้น โดยรัฐต้องดำเนินการอย่างจริงใจเพื่อให้เกิดความยุติธรรม  และไม่ให้เกิดวัฒนธรรมของการยกเว้นโทษ

 

รวมถึงการตั้งกองทุนพิเศษเพื่อชดเชยให้แก่ครอบครัวของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกฆ่าตาย ที่สำคัญรัฐต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการที่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนตามกติกาของ ICCPR

 

สำหรับประเด็นคำถามเรื่องเสรีภาพของสื่อมวลชนนั้น ได้มีการชี้แจงกรณีการใช้เครื่องมือของรัฐในการข่มขู่กดดันหนังสือพิมพ์และองค์กรด้านสื่อ ไม่ว่าจะเป็นกรณีการที่ผู้จัดรายการ "คนข่าวเล่าขาน" สถานีวิทยุรัฐสภากล่าวโจมตี "นวลน้อย ธรรมเสถียร" ผู้สื่อข่าวบีบีซี ที่รายงานข่าวกรณีตากใบว่า สร้างความแตกแยกภายในชาติ กรณีนายกรัฐมนตรีต่อว่าการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์มติชนเรื่องการจัดอันดับธรรมาภิบาล ทำให้ประเทศเสียความน่าเชื่อถือ กรณีที่ป.ป.ง.ตรวจสอบบัญชีของผู้จัดการของหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น แนวหน้า ไทยโพสต์ รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2545 เนื่องจากหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับนี้มักวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรีอยู่เสมอ

 

นอกจากนี้ยังมีการกดดันข่มขู่สื่อทางเลือกทั้งการปิดเว็บไซต์ www.thai-insider.com ที่วิพากษ์ วิจารณ์รัฐบาล และเว็บไซต์ www.fm9225.com ของสถานีวิทยุชุมชนที่มักวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเช่นกัน รวมถึงการใช้กฎหมายขัดขวางสถานีวิทยุชุมชน

 

ไม่เพียงเท่านี้ คณะกรรมการสิทธิฯ ยูเอ็นยังตั้งคำถามกรณีที่บริษัท ชิน คอร์ปฯ ฟ้องน.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)ที่วิพากษ์วิจารณ์เครือข่ายธุรกิจครอบครัวนายกรัฐมนตรี โดย Thai-CAN ยังได้เพิ่มเติมกรณีการฟ้องร้องไทยโพสต์ และกรณีไอทีวี ซึ่งลูกชายและน้องสาวของนายกรัฐมนตรีถือหุ้นใหญ่ ฟ้องร้อง ผศ.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ จากมหาวิทยาลัยรังสิต และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สืบเนื่องจากบทความเกี่ยวกับไอทีวีที่ผศ.ธำรงศักดิ์เขียนลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท