Skip to main content
sharethis

 


 


*หมายเหตุ* : รายงานประเมินผลการปฏิบัติตามพันธกรณีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทย ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) ที่นำไปชี้แจงและหารือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ณ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตีพิมพ์ในมติชนฉบับวันที่ 18 ก.ค.2548 หน้า 2


 


 


ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 โดยมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 ในการเข้าเป็นภาคี รัฐบาลไทยมีพันธกรณีที่จะต้องส่งรายงานต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) ฉบับแรกภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่กติกามีผลใช้บังคับกับประเทศไทย โดยรายงานจะต้องระบุถึงสถานการณ์ความก้าวหน้าในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านต่างๆ ที่รับรองในกติการะหว่างประเทศ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคที่ปรากฏ


 


ประเทศไทยได้ส่งรายงานฉบับแรกแก่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ซึ่งคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอิสระจำนวน 18 คน ได้มีคำถามเพิ่มเติมจำนวน 26 ข้อมายังประเทศไทยโดยทางคณะกรรมการจะมีการตรวจสอบรายงานดังกล่าวในระหว่างวันที่ 19-20 กรกฎาคม 2548 นี้ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) จึงได้จัดทำรายงานประเมินผลการปฏิบัติตามพันธกรณีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในประเทศไทยขึ้น และกำหนดที่จะพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ณ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์


 


**กสม.ได้ประเมินผลในภาพรวมรายงานการประเมินผลฉบับนี้ ใช้ข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.นับตั้งแต่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ การตรวจสอบ การลงพื้นที่ การศึกษา การจัดเวทีสัมมนา รายงานประจำปี และงานของอนุกรรมการชุดต่างๆ รวมทั้งข้อมูลที่ได้รับจากองค์กรเครือข่ายในประเทศและระหว่างประเทศ รายงานแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ


 


          ส่วนที่ 1 ถ้อยแถลงตีความและกระบวนการ จัดทำรายงาน


          ส่วนที่ 2 การปฏิบัติตามพันธกรณีหลักที่ปรากฏในสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไทยเป็นภาคี


          ส่วนที่ 3 เรื่องสำคัญที่อยู่ในความกังวลของ กสม.


          และส่วนที่ 4 ได้แก่ ข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการในอนาคต


 


**จากการประเมินการปฏิบัติตามพันธกรณีหลักที่ปรากฏในสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยเป็นภาคี กสม.มีข้อกังวลต่อสิทธิและสถานการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งยังมี "ช่องว่าง" ระหว่างสิ่งที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศกับการปฏิบัติจริงในหลายด้าน ได้แก่


 


1.ยังมิได้มีการออกกฎหมายเพื่อรองรับสิทธิตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศ กฎหมายที่ล้าสมัยและขัดกับรัฐธรรมนูญยังมิได้มีการแก้ไขให้ สอดคล้อง และกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้ต้องมีการประกันว่าจะไม่ไปลดทอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชน


 


2.ปัญหาในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะในหลายส่วนของระบบราชการ ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีการใช้กำลังและอาวุธที่เกินกว่าเหตุหลายครั้งโดยไม่คำนึงถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน และไม่มีการนำผู้รับผิดชอบมาลงโทษ ซึ่งจะนำไปสู่วัฒนธรรมการไม่ต้องรับผิด (Culture of Impunity)


 


3.นโยบายและโครงการสาธารณะมักให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคง มากกว่าการเคารพสิทธิมนุษยชน ทั้งที่เป็นเรื่องที่มีผลระหว่างกัน ทำให้กระบวนการกำหนดนโยบายและปฏิบัติขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนและท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ


 


4.ยังมีกลุ่มบุคคลที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในประเทศไทย เนื่องจากสถานะหรือสภาพ ทำให้ถูกเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อน ซึ่งรัฐบาลควรมีนโยบายและให้ความสนใจเป็นพิเศษเพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มคนเหล่านั้น


 


          **สรุปสาระของรายงานใน 4 ส่วน


 


- ส่วนที่ 1 ถ้อยแถลงตีความ เนื่องจากตอนที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองนั้น รัฐบาลได้ทำถ้อยแถลงตีความเรื่องการห้ามการลงโทษผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (ข้อบทที่ 6 วรรค 5) ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้แก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องแล้ว จึงควรถอนถ้อยแถลงตีความดังกล่าว นอกจากนี้ ประเทศและการนำตัวผู้ต้องหาเข้าสู่การพิจารณาคดีโดยพลัน โดยยังให้อำนาจพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาก่อนนำตัวไปศาลได้ 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาที่ผู้ถูกจับเดินทางถึงที่ทำการพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และสามารถขยายเวลาการควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน หลังจากนั้นต้องนำตัวมาขออนุญาตศาลเพื่อฝากขังต่อไป ซึ่งต่อมารัฐธรรมนูญได้กำหนดให้เจ้าพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาได้เพียง 48 ชั่วโมง ซึ่งรัฐบาลควรแจ้งให้รัฐภาคีอื่นได้ทราบ โดยแก้ไขหรือถอนถ้อยแถลงตีความดังกล่าว


 


สำหรับกระบวนการตัดทำรายงาน กสม.ได้ให้ความสำคัญว่ากระบวนการจัดทำรายงานได้มีกระบวนการที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยให้ภาคประชาสังคมได้เข้ามีส่วนร่วมในการจัดทำรายงาน เพื่อเป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และร่วมมือกันในการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป


 


- ส่วนที่ 2 การปฏิบัติตามพันธกรณีหลักที่ปรากฏในสนธิสัญญาต่างๆ ที่ไทยเป็นภาคี ในรายงานได้มีการกล่าวถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยยังเผชิญอยู่ เช่น ปัญหาในสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง การเลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะต่อกลุ่มเสี่ยง ทั้งในด้านกฎหมาย และการปฏิบัติ ได้แก่ ชนกลุ่มน้อย สตรี ผู้ที่รับผลกระทบจาก HIV/AIDS หรือการที่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเป็นผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น และผู้แสวงหาที่พักพิง หรือแรงงานย้ายถิ่นฐานปัญหาของสิทธิในการมีชีวิต เกี่ยวกับการลงโทษด้วยการประหารชีวิต โดยเฉพาะมีความกังวลเกี่ยวกับแนวความคิดของกรมราชทัณฑ์ที่จะมีการถ่ายทอดการประหารชีวิต ซึ่งเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง


         


- ส่วนที่ 3 เรื่องสำคัญที่อยู่ในความกังวลของ กสม.ในรายงานได้กล่าวถึงความกังวลใจเรื่องเสรีภาพในความคิด การแสดงออก และการชุมนุมโดยสันติ และเห็นว่าในปัจจุบันมีกฎหมายใหม่หลายฉบับที่มีแนวโน้มจะกระทบ/จำกัดสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ เช่น ร่าง พ.ร.บ.ทางหลวง การที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการสลายการชุมนุมต่างๆ เช่น กรณีการสลายการชุมนุมคัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย


 


กสม.ยังมีความกังวลในเรื่องการห้ามการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย และควรมีการประกันว่า การทรมานเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายอาญา รวมทั้งให้มีการสอบสวนที่เป็นอิสระ การห้ามการนำคนลงเป็นทาสและปัญหาการค้ามนุษย์ซึ่งยังเป็นปัญหาที่พบในสังคมไทย ปัญหาโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นตัวอย่างของโครงการสาธารณะขนาดใหญ่ที่ขาดการคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสังคมและสิทธิของบุคคล รวมถึงชุมชนท้องถิ่น ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากสงครามยาเสพติด ที่มีผลกระทบต่อหลักนิติรัฐและกระบวนการยุติธรรม และปัญหาความรุนแรงในภาคใต้


 


- ส่วนที่ 4 ข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินต่อไป กสม.ได้เสนอให้รัฐบาลและรัฐสภาพิจารณาให้มีกฎหมาย/แก้ไขกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และพันธกรณีระหว่างประเทศ และให้มีการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการแม่บทด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง รวมทั้งขอให้รัฐบาลดำเนินการในเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา ให้สิทธิมนุษยชนศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และรัฐบาลควรจัดตั้งกลไกระดับชาติที่มีความเป็นอิสระในการประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐในการปฏิบัติตามพันธกรณี ICCPR รวมทั้งการประเมินสถานการณ์และการเสนอมาตรการที่จำเป็นแก่รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิมีผลในทางปฏิบัติต่อไป รวมถึงการจัดทำรายงาน ให้มีกระบวนการที่เปิดกว้าง ให้ประชาสังคมเข้าร่วม เพื่อที่จะได้สะท้อนปัญหาที่แท้จริง และเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และทำงานร่วมกันต่อไป


 


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


15 กรกฎาคม 2548


         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net