Skip to main content
sharethis

เวลาประมาณ 10.00 น. วานนี้ (19 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะอนุกรรมการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ มีพระไพศาล วิสาโล เป็นประธาน



ภายหลังการประชุม คณะอนุกรรมการฯ ได้ออกแถลงการณ์เรื่องพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ว่า การออกพระราชกำหนดดังกล่าว ทำให้เกิดความวิตกกังวลอย่างยิ่งว่า รัฐบาลยังยึดแนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาภาคใต้ดังที่เคยประกาศไว้หรือไม่ และพระราชกำหนดฉบับนี้ มีความสอดคล้องต่อการขับเคลื่อน และสนับสนุนแนวทางสันติวิธีในพื้นที่สามจังหวัดเพียงใด เนื่องจากพระราชกำหนดอาจจะลดทอนเงื่อนไขให้ผู้ใช้สันติวิธีทำงานในพื้นที่ได้น้อยลง โดยเฉพาะการชุมนุมอย่างสงบ และการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น



"พระราชกำหนดนี้ให้อำนาจแก่รัฐบาลอย่างกว้างขวาง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องใช้อำนาจตามพระราชกำหนดนี้ ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง อีกทั้งควรมีมาตรการ ที่ให้หลักประกันว่า จะไม่มีการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฉบับนี้ในการละเมิดกฎหมายตามหลักนิติธรรม หรือใช้วิธีการนอกขอบเขตรัฐธรรมนูญ" แถลงการณ์ของคณะอนุกรรมการฯระบุ



แถลงการณ์ดังกล่าวยังเสนอมาตรการจัดการความขัดแย้งไว้ว่า 1. ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน และตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดฉบับนี้ เป็นไปตามหลักนิติธรรมและสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี 2. รัฐบาลไม่ควรออกคำสั่งที่เป็นการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการชุมนุมโดยสงบ และในการแสดงความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งปิดกั้นการทำงานของสื่อมวลชน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้สันติวิธียังสามารถทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ทั้งในภาครัฐ และภาคประชาชน



น.ส.นารี เจริญผลพิริยะ กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ในฐานะอนุกรรมการการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีความเห็นที่หลากหลายต่อพระราชกำหนดฉบับนี้ โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับดังกล่าว ที่ประชุมจึงได้สรุปเฉพาะประเด็นที่เห็นตรงกัน เพื่อเตรียมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ในเวลา 15.00 น. วันที่ 19 กรกฎาคม 2548 ที่กระทรวงการต่างประเทศ   


นายมูหัมมัด อาดำ ผู้บริหารโรงเรียนนูรุลอิสลามภูมิวิทยา อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี ในฐานะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ เปิดเผยว่า การประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากกรรมการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดฉบับนี้ การที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการฯ เสนอให้ยกเลิกกฎอัยการศึก ไม่ได้หมายความว่าให้ใช้กฎหมายร้ายแรงฉบับอื่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนกฎอัยการศึก


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net