Skip to main content
sharethis

 

 

 

 

 

 

 

 

ประชาไท - 19 ก.ค. 48     นายไชยยงค์ มณีพิลึก นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้ ยืนยันหลังรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 สื่อมวลชนได้ถูกสั่งห้ามทำข่าวภาคใต้แล้ว นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้บอกกับผู้สื่อข่าวว่านับจากนี้หากต้องการข่าวจากตำรวจ  ต้องไปด้วยตนเองที่โรงพัก

 

 

 

 

 

นายไชยยงค์ กล่าวว่า เมื่อวานนี้(18 ก.ค.) มีกรณีการฆาตกรรมผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าด่าน อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี แต่สื่อมวลชนทุกแขนง กลับถูกห้ามเข้าไปถ่ายรูปทำข่าว โดยอ้างว่ามีการประ กาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว

 

 

 

 

 

นายไชยยงค์ แสดงความเป็นห่วงว่า 2 ปีที่ผ่านมา ภายใต้กฎอัยการศึก แม้ว่าทางกองทัพภาคที่ 4 จะใช้อำนาจเพียงครึ่งเดียว ยังทำให้เกิดผลกระทบขึ้นมหาศาลต่อประชาชน หากใช้ พ.ร.ก. ฉบับนี้อย่างเต็มรูปแบบ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าสื่อมวลชนก็คือ คนในพื้นที่ (3 จังหวัดภาคใต้) เนื่องจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกิดปัญหาการอุ้มฆ่าประชาชน แต่เมื่อสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามข้อเท็จจริง ทำให้เรื่องดังกล่าวซาไป

 

 

 

 

 

นายไชยยงค์ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาสื่อมวลชนทุกแขนงไม่ได้นำเสนอข้อมูลเกินความเป็นจริง และเหตุการณ์ความไม่สงบไม่ได้เกิดขึ้นเพราะสื่อ เพราะในความเป็นจริงยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงอีกมากที่สื่อไม่ได้นำเสนอ เพราะถ้าหากมีการนำเสนอจริงๆ สิ่งที่สังคมจะได้รับรู้จะเลวร้ายกว่านี้

 

 

 

 

 

นายศุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวอาวุโส หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นกล่าวว่า พรก. ฉบับนี้ เป็นการบรรจุข้อกังวลของรัฐบาลเกี่ยวกับสื่อมวลชนลงไปในพ.ร.ก. โดยไม่มีบริบทที่เกี่ยวข้อเชื่อมโยงกันเลย

 

 

 

 

 

ด้านนายพัฒนะพงศ์  จันทรานนทวงศ์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ กล่าวต่อที่ประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดท่าทีต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ทางสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ สภาการหนังสือ พิมพ์แห่งชาติ และสื่อมวลชนทุกแขนง ควรประกาศจุดยืนต่อสาธารณชน ว่าสิ่งที่สื่อมวลชนทำคือ กลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจ ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบต่อไป เพราะการเข้าถึงความจริงจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้

 

 

 

 

 

ประการต่อไป สื่อมวลชนควรสร้างความเข้าใจกับประชาชนว่า เสรีภาพของประชาชน ก็คือเสรีภาพของสื่อมวลชน พร้อมรณรงค์ ผลักดันแก้ไขเปลี่ยนแปลง พ.ร.ก. ฉบับนี้ และประการสุดท้าย นายพัฒนพงศ์ ยืนยันว่า ในส่วนของสื่อมวลชน ที่ผ่านมาไม่ได้งอมืองอเท้า แต่มีการแก้ปัญหาการทำงาน มีการทำโครงการหลายโครงการ ซึ่งในอนาคตจะมีการตั้งคณะทำงานในภาคใต้ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงให้ดียิ่งขึ้น

 

 

 เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net