Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนที่ 1


 


แพร  ศิริศักดิ์ดำเกิง **


 


เนื่องจากบทความนี้ต้องการพูดถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมกับคนต่างชาติพันธุ์ ซึ่งอาจจัดเป็นกรณีศึกษาในเชิงมุสลิมศึกษา จึงขอชี้แจงให้เห็นถึงความต่างระหว่างศาสตร์ 2 ศาสตร์ คือ อิสลามศึกษา และ มุสลิมศึกษา ที่อาจนำพาความสับสนให้แก่ผู้ที่กำลังให้ความสนใจในวัฒนธรรมและสังคมของชาวมุสลิม


 


"อิสลามศึกษา" และ "มุสลิมศึกษา" เป็นกิจกรรมทางวิชาการสองชนิดที่แตกต่างกัน  ในขณะที่ "อิสลามศึกษา" เป็นการศึกษาอิสลามโดยให้ความสำคัฐกับสภาวะศักดิ์สิทธิ์และศรัทธาของชาวมุสลิม "มุสลิมศึกษา" มุ่งศึกษาชาวมุสลิมในบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ การให้ความสนใจกับ "มุสลิมศึกษา" หมายถึงการให้พื้นที่ทางวิชาการที่สามารถใช้แนวคิดทฤษฎีหรือลู่ทางการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ได้เต็มที่ (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2541 : 1)  


 


โดยทั่วไปแล้วคนต่างชาติพันธุ์จะอาศัยกันเป็นกลุ่มหรือย่าน ในงานของฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ (1982 : 223) แสดงให้เห็นถึงการอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นย่านของกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี กล่าวคือคนจีนจะอาศัยในย่านการค้าในเมือง      คนไทยอาศัยอยู่ใกล้กับสถานที่ราชการ ส่วนชาวมลายูมุสลิมอาศัยอยู่พื้นที่รอบๆ เมือง ซึ่งรูปแบบการแบ่งพื้นที่อยู่อาศัยเช่นนี้ ทำให้พรมแดนทางชาติพันธุ์แปรเปลี่ยนเป็นพรมแดนทางภูมิศาสตร์ไปโดยปริยาย


ผู้เขียนเป็น "เด็กยะลา" เติบโตในชุมชนชาวจีน แทบไม่มีเพื่อนบ้านเป็นคนต่างชาติพันธุ์เลย และน่าจะเหมือนกับคนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้คนต่างชาติพันธุ์เลือกอาศัยอยู่เป็นกลุ่มย่านมากกว่าจะอาศัยปะปนกัน ทั้งนี้อาจเนื่องจากความแตกต่างทางด้านความเชื่อ ทำให้ผู้คนต่างตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มโดยมีศูนย์กลางของย่านเป็นศาสนสถาน เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ หรืออาจเนื่องจากการประกอบอาชีพที่แตกต่างกันของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นตัวกำหนดการเลือกตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน  


 


พื้นที่พบปะสังสรรค์ของผู้คนต่างชาติพันธุ์


โดยทั่วไปย่านที่อยู่อาศัยหรือศาสนสถานของท้องถิ่นเป็นพื้นที่สำหรับผู้คนในชุมชนมาพบปะสังสรรค์กัน แต่ย่านที่อยู่อาศัย วัดและมัสยิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อาจไม่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าว ผู้คนต่างความเชื่อและวัฒนธรรมทำความรู้จักกับความแตกต่างและหลากหลายผ่านการใช้พื้นที่อื่นๆ ในท้องถิ่น  ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงพื้นที่สาธารณะ 3 แห่ง คือ โรงเรียน ตลาด และศาลเจ้า โดยเป็นกรณีศึกษาเฉพาะอำเภอเมือง จังหวัดยะลา


 


โรงเรียน : สถาบันการเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม


โรงเรียนนอกจากเป็นสถาบันการศึกษาในวิชาความรู้แขนงต่างๆ อย่างเป็นทางการ เป็นสถาบันบูรณาการความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของกลุ่มคน เป็นสถาบันที่ดำเนินการขัดเกลาทางสังคมแล้ว โรงเรียนยังมีหน้าที่แฝงในการเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในความคล้ายคลึง ความแตกต่างและหลากหลายตั้งแต่เยาว์วัยอีกด้วย


โรงเรียนในอำเภอเมือง จังหวัดยะลาอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ คือ โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนเอกชน ซึ่งแบ่งแยกย่อยออกเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนที่มีการสอนภาษาจีน (โรงเรียนมูลนิธิยะลาบำรุงผดุงประชา) โรงเรียนในศาสนาคริสต์  (โรงเรียนมานะศึกษา) และโรงเรียนปอเนาะ หากพิจารณาโรงเรียนทั้ง 3 แบบข้างต้นแล้ว เห็นได้ว่าโรงเรียนที่น่าจะเปิดโอกาสสำหรับการเรียนรู้ความแตกต่างทางความเชื่อน่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐบาล* และโรงเรียนมูลนิธิยะลาบำรุงผดุงประชา (โรงเรียนจีน)


จากความทรงจำของผู้เขียน เมื่อครั้งเริ่มเรียนในระดับอนุบาลและประถมศึกษาในโรงเรียนมูลนิธิยะลาบำรุงผดุงประชา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีการสอนภาษาจีน จำได้ว่ามีเพื่อนทั้งที่เป็นคนจีน คนมลายู และคนไทย สิ่งแรกที่ได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างในความคล้ายคลึงคือ เรื่องภาษา นักเรียนในโรงเรียนต่างพูดภาษาไทยกลางไม่ค่อยชัด หากแต่ไม่ชัดต่างกันออกไป เด็กๆ ชาวจีนไม่ได้พูดภาษาไทยด้วยสำเนียงและหางเสียงจีนอย่างพ่อแม่หรือบรรพบุรุษ หากแต่เราพูดไม่ชัดด้วยติดคำศัพท์ในภาษาถิ่นใต้ยะลา ในขณะที่เพื่อนชาวไทยจะพูดภาษาไทยกลางด้วยสำเนียงถิ่นใต้ เพื่อนชาวมลายูจะพูดคำไทยห้วนสั้นด้วยสำเนียงภาษามลายู ความไม่ชัดเหล่านี้จะทำให้เราพอรู้ว่าเพื่อนคนนั้นเป็นใคร และแม้ในบางครั้งความไม่ชัดเจนที่แตกต่างเหล่านี้อาจจะนำมาสู่การล้อเลียน แต่ไม่ได้กระทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด "เป็นอื่น" ไปในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน แต่หากว่าเราไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใดหนึ่งในที่นี้ พกพา "ความไม่ชัด" ดังกล่าวมายังเมืองหลวง  ภาษาไทยกลางที่ไม่ "แข็งแรง" ของเราจะเป็นป้ายประทับตราเราว่า "บ้านนอก" ในทันที


ความแตกต่างต่อมาที่ผู้เขียนได้เรียนรู้คือ เรื่องอาหาร ร้านอาหารในโรงเรียนจะมีอาหารเฉพาะ สังเกตง่ายๆ จากแม่ค้าจะคลุมผ้าคลุมผมเหมือนแม่ค้าหลายคนในตลาด นั่นเป็นสัญลักษณ์บางอย่างที่สื่อออกมาให้ลูกจีน ลูกไทยรู้ว่าร้านอาหารเหล่านั้นจะไม่มีเนื้อหมูเป็นส่วนประกอบ เพื่อนๆ ชาวมลายูมุสลิมจะเป็นลูกค้าหลักของร้านเหล่านั้น ส่วนลูกค้ารองลงมาคือนักเรียนคนอื่นๆ ในโรงเรียน  ในวัยเด็กอาจไม่รู้จักว่าศาสนาอิสลามคืออะไร เหตุใดจึงไม่รับประทานเนื้อหมู หากสิ่งที่เรียนรู้คือ เพื่อนชาวมุสลิมไม่ทานหมู และส่วนใหญ่ไม่ทานอาหารร่วมกับคนที่รับประทานหมู แต่ถึงแม้จะไม่ได้รับประทานอาหารร่วมกันในเวลากลางวัน  ภายหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว นักเรียนต่างจับกลุ่มเล่นกัน โดยไม่ได้แบ่งว่าใครรับประทานหมูหรือไม่รับประทานหมูเลย (ยกเว้นเวลาที่ทะเลาะกัน หมูอาจเป็นเครื่องมือในการเอาชนะเด็กชาวมลายูได้อย่างง่ายดาย)


การเรียนรู้วันสำคัญต่างๆ จากโรงเรียนเอกชนของคนจีนเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจ เนื่องจากโรงเรียนมูลนิธิยะลาบำรุงผดุงประชา เป็นโรงเรียนที่สนับสนุนโดยคนจีนในจังหวัดยะลา ในอดีตนักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานจีน รองลงมาคือลูกหลานไทย และมลายู  วันหยุดของโรงเรียนจึงมีมากกว่าโรงเรียนรัฐบาลอื่นๆ นำไปสู่การเรียนรู้วันสำคัญทางศาสนาและวัฒนธรรมต่างๆ คือ นอกจากทางโรงเรียนจะมีวันหยุดปีใหม่ วันสำคัญต่างๆ ของชาติ วันสำคัญทางพุทธศาสนาตามปฏิทินของชาติแล้ว ทางโรงเรียนยังหยุดเรียนในวันตรุษจีน (วันปีใหม่จีน) ตามปฏิทินจีน และวันฮารีรายอปอซอ  (วันขึ้นปีใหม่ของชาวมุสลิม) ตามปฏิทินอิสลามอีกด้วย  ในทางกลับกันนักเรียนมุสลิมน่าจะได้เรียนรู้พิธีกรรมทางพุทธศาสนา หรือความเชื่อของคนจีนจากการเรียนในโรงเรียนเช่นกัน  


เมื่อเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนประจำจังหวัด โอกาสที่จะได้เรียนรู้ความแตกต่างมีมากขึ้น เรื่องแรก คือ เรื่องปฏิบัติศาสนกิจและพิธีกรรม ในโรงเรียนจะมีห้องห้องหนึ่งติดป้ายว่า "ห้องละหมาด" ในเวลาบ่ายหากเดินผ่านไปแถวห้องละหมาดจะเห็นเพื่อนๆ ชาวมลายูล้างหน้า ล้างมือ ล้างเท้า ก่อนเข้าไปที่ห้องดังกล่าวเพื่อปฏิบัติศาสนกิจตามหลักการของศาสนาอิสลาม และห้องละหมาดนั้นผู้คนต่างศาสนาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไป จากการสอบถามเพื่อนมุสลิมจะเล่าว่าเข้าไปในห้องนั้นเพื่อสวดมนต์ คล้ายที่ชาวไทยพุทธสวดมนต์ แต่ชาวมุสลิมต้องสวด 5 ครั้งต่อวัน 1 ใน 5 ของวัน คือช่วงเวลาบ่ายที่อยู่ในโรงเรียน


ความต่างในทางพิธีกรรมอีกอย่างที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากเพื่อนชาวมลายูมุสลิม ในเวลาเช้าหลังเคารพธงชาตินักเรียนจะต้องสวดมนต์ไหว้พระ เพื่อนชาวมลายูจะไม่ยกมือพนม และท่องบทสวดมนต์เช่นนักเรียนชาวพุทธ บางครั้งในเวลาเรียนวิชาพุทธศาสนานักเรียนชาวมลายูมุสลิมได้รับอนุญาตให้ไม่ต้องเข้าห้องเรียนวิชานั้นด้วย


นอกจากนี้ใน 1 เดือนของทุกปี เพื่อนชาวมลายูมุสลิมจะไม่รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ในตอนกลางวัน บางคนต้องบ้วนน้ำลายตลอดเวลา เรียกช่วงเวลาดังกล่าวตามภาษถิ่นว่า "ปอซอ" (ถือศีลอด) หลังจาก "ปอซอ" เพื่อนชาวมลายูมุสลิมบางคนจะหยุดเรียนในวัน "รายอ" (วันฮารีรายอปอซอ หรือตรุษอิดีลฟิตรี)


เรื่องสุดท้ายที่นักเรียนประถมได้เรียนรู้จักเพื่อนต่างชาติพันธุ์คือ การแต่งกาย ในปัจจุบันเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับใหม่ โดยการให้สิทธิและเสรีภาพแก่นักเรียนในการแต่งกายตามความเชื่อทางศาสนา นักเรียนชาวมลายูมุสลิมทั้งในโรงเรียนต่างๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จึงสามารถแต่งกายตามศาสนบัญญัติมาโรงเรียนได้ หากวันนี้เข้าไปในโรงเรียนทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชนเราจะเห็นนักเรียนชายบางคนนุ่งกางเกงขายาว นักเรียนหญิงบางคนสวมฮิญาป (ผ้าคลุมผม) เสื้อแขนยาว และกระโปรงยาว นั่งเรียน ทำกิจกรรม และเล่นร่วมกับนักเรียนหญิงที่ไม่คลุมผม ใส่เสื้อแขนสั้น นุ่งกระโปรงสั้น และนักเรียนชายที่นุ่งกางเกงขาสั้น


ต่อมาในภายหลังเมื่อผู้เขียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาวมลายูมุสลิมมากขึ้น พบว่าสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเพื่อนๆ ในโรงเรียนนั้น หากสังเกตให้ดีคือการเรียนรู้หลักปฏิบัติทางศาสนาตามช่วงวัยของชาวมุสลิมจากประสบการณ์จริง โดยที่ไม่ต้องไปเปิดอ่านหนังสือเล่มใดๆ เลย


อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้กล่าวว่าชีวิตในสังคมเป็นชีวิตการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด หากเชื่อมโยงความรู้นี้เข้ากับการเรียนรู้ในห้องเรียน โดยให้มีความยืดหยุ่นตามความต้องการในชีวิตของผู้คนซึ่งมีความหลากหลายแตกต่างกัน จะทำให้ผู้คนที่แตกต่างเข้ามาใช้ประโยชน์โรงเรียนในการเรียนรู้เพื่อมีตัวเลือกที่เหมาะสมในการดำเนินชีวิต  (2539 : 138)


การเรียนรู้ความแตกต่างทางความเชื่อและวัฒนธรรมจากเพื่อนๆ ในโรงเรียนไม่ได้อยู่ในหลักสูตรหรือวิชาใด หากเป็นการเรียนรู้โดยธรรมชาติจากการได้พบปะสังสรรค์ ใช้เวลา 8 ชั่วโมงต่อวันอยู่ร่วมกัน เป็นคนรู้จัก เป็นเพื่อน  เด็กๆ ต่างชาติพันธุ์เรียนและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันโดยไม่ได้แบ่งแยกตามความแตกต่างทางความเชื่อแต่อย่างใด และความรู้ที่ได้มาจากการอยู่ร่วมกันในโรงเรียนยังคงติดตัวมาใช้ในการปฏิบัติต่อผู้คนที่แตกต่าง ดำเนินชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จนกระทั่งปัจจุบัน   


 



 


 


บทความนี้ใช้ประกอบงานห้องเรียนสัญจร ครั้งที่ 1 "เข้าใจวิถีมุสลิม" วันที่ 30 กรกฎาคม 2548 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี ร่วมจัดโดย ศูนย์อิสลามและมุสลิมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี โครงการวารสารข่าวทางอินเตอร์เน็ท ประชาไท และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 

 




เชิงอรรถ


*บทความนี้เขียนขึ้นจากประสบการณ์ความทรงจำของผู้เขียน และเรียบเรียงบางส่วนจากวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนเรื่องปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวมลายูมุสลิมและชาวจีนในย่านสายกลาง จังหวัดยะลา


** อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร


***ถึงแม้จะเน้นการถ่ายทอดความเชื่อทางศาสนาพุทธ  หากแต่โรงเรียนรัฐบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังเปิดโอกาสและที่ทางสำหรับชาวมุสลิมอยู่บ้าง เช่นมีห้องละหมาด การให้นักเรียนหญิงคลุมฮิญาป นักเรียนชายนุ่งกางเกงขายาว  


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net