Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แพร  ศิริศักดิ์ดำเกิง


 


ตลาด : พื้นที่การต่อรองและประนีประนอม


ศรีศักร วัลลิโภดม ได้ให้ความเห็นเรื่องการเกิดเมืองในท้องถิ่นต่างๆ ว่า คนจีนมีบทบาททำให้เกิดบ้านตลาด ซึ่งกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนในเมืองขึ้น (2531:34)  ตลาดในเมืองแม้จะเป็นที่อยู่ของคนจีนโดยส่วนใหญ่ แต่ยังคงทำหน้าที่เป็นพื้นที่ของการปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างคนต่างชาติพันธุ์ด้วย


 




 


เมืองยะลามีตลาดขนาดใหญ่ 2 ตลาด คือตลาดสดซึ่งขายอาหารสดและแห้งในตอนเช้า ตลาดเมืองใหม่ขายอาหารสดและแห้งในตอนเย็น และย่านการค้าเครื่องอุปโภคที่เป็นศูนย์กลางของยะลาย่านหนึ่ง ย่านการค้าทั้ง 3 แห่ง เป็นตลาดที่นิยมในการค้าขาย และจับจ่ายซื้อของของคนในจังหวัดยะลา บางอำเภอในปัตตานี และอำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา ทั้งยังเป็นศูนย์กลางตลาดผลไม้ของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย ย่านตลาดเมืองยะลาจึงเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนต่างกลุ่มชาติพันธุ์มาพบปะสังสรรค์เพื่อทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจกันอย่างสม่ำเสมอ และยะลาเป็นเมืองขนาดเล็กทำให้ผู้ที่มาใช้พื้นที่ตลาดมีความรู้จักคุ้นเคยกันพอสมควร ดังนั้นเราจึงสามารถพบสัญลักษณ์หรือปรากฎการณ์บางอย่างที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์และการปรับตัวในการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชนต่างชาติพันธุ์ในย่านตลาดเหล่านี้


ภาษาคือสิ่งแรกที่อาจแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวในการอยู่ร่วมกันของคน ในที่นี่จะขอเล่าถึงภาษาเขียนและภาษาพูด หากเข้าไปในย่านการค้าโดยเฉพาะย่านการค้าของอุปโภคที่เรียกกันว่าย่านสายกลางซึ่งเป็นย่านการค้าแห่งแรกๆ ของเมืองยะลา จะเห็นป้ายร้านค้าเขียนชื่อร้านด้วย 2 - 3 ภาษา หากเป็นร้านค้าชาวจีนจะมีภาษาไทย ภาษาจีน และภาษายาวี ร้านค้าชาวมลายูจะเป็นภาษาไทย และภาษายาวี บางร้านมีภาษาอังกฤษด้วย เพื่อบริการแก่ลูกค้าชาติพันธุ์ต่างๆ ในท้องถิ่น ในส่วนภาษาพูด ความจริงภาษาไทยน่าจะเป็นภาษากลางที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน พบว่าในตลาดยะลาภาษาที่ใช้สื่อสารมีทั้งภาษามลายู ภาษาไทยกลาง ภาษาไทยถิ่นใต้ ภาษาจีน ผู้ซื้อหรือผู้ขายจะตัดสินเลือกใช้ภาษาใดภาษาหนึ่งในนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการหลัก ปัจจัยแรกคือความสามารถทางด้านภาษาของผู้ใช้ เช่นคนมลายูจะสามารถพูดภาษามลายู สื่อสารภาษาไทยกลางได้เป็นพื้นฐาน บางคนสามารถพูดภาษาไทยถิ่นใต้เพิ่มขึ้นอีกภาษา คนไทยจะพูดภาษาไทยถิ่นใต้และไทยกลาง ส่วนคนจีนส่วนใหญ่พูดภาษาจีน ภาษาไทยกลาง บางคนที่เป็นคนดั้งเดิมในท้องถิ่นจะพูดภาษาไทยถิ่นใต้ และสามารถสื่อสารภาษามลายูได้อีกด้วย   ปัจจัยที่สองคือคนๆ นั้นกำลังอยู่ในบทบาทของผู้ขาย หรือลูกค้า หากเป็นผู้ขายมักเลือกภาษาตามที่ลูกค้าพูดมา หากเป็นผู้ซื้อมักเลือกภาษาที่ตนถนัดที่สุด ยกเว้นกรณีของคนจีนที่มีความเชื่อว่าหากพูดภาษาแม่ของผู้ขายได้ ทำให้คนขายสินค้าประทับใจและลดราคาให้เป็นพิเศษ ถ้าหากคนจีนซื้อของร้านคนจีนด้วยกันก็จะพูดภาษาจีนกับผู้ขาย คนจีนซื้อของร้านชาวมลายูจะเปลี่ยนไปพูดภาษามลายู ซื้อของร้านคนไทยจะพูดภาษาถิ่นใต้ และหากซื้อของร้านที่คนที่มาจากภาคอื่นของประเทศจะพูดภาษาไทยกลาง



 


 



 


การที่คนขายและคนซื้อจะสามารถพูดภาษาต่างๆ ได้มากกว่าหนึ่งภาษา ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยามยามที่จะข้ามอุปสรรคในการสื่อสาร และการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันในระดับหนึ่ง แม้ว่าเป้าประสงค์หลักจะเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการค้าก็ตาม


เรื่องถัดมาที่เราสามารถสังเกตเห็นได้ คือ เรื่องผู้ค้าชาวจีนกับลูกค้าชาวมลายู คนจีนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในช่วงแรกที่เกิดตลาดในจังหวัดยะลา พ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีน โดยเฉพาะร้านค้าที่ขายสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่รับเข้ามาจากแหล่งผลิตนอกท้องถิ่น ในอดีตคนจีนจะเดินทางเข้าไปขายของแก่ลูกค้าชาวมลายูมุสลิม ระหว่างเส้นทางการค้านี้ชาวจีนได้เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรม และความเชื่อของชาวมลายูอย่างใกล้ชิด  คนจีนที่เคยเข้าไปค้าขายในหมู่บ้านจะสามารถพูดภาษามลายูได้ดีกว่าคนจีนที่ทำการค้าในเมือง พ่อค้าแม่ค้าชาวจีนจะรู้ว่าสินค้าที่ชาวมลายูไม่บริโภคคืออะไรบ้าง เช่น เนื้อหมู สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สุรา หากเป็นเสื้อผ้าจะไม่ใช้เสื้อผ้าที่มีรูปสัตว์และคน เป็นต้น สินค้าที่เป็นที่ต้องการของชาวมลายูเช่น ผ้าขาวสำหรับห่อศพ ผ้าคลุมผม ผ้าปูละหมาด ผ้าถุง และโสร่ง พ่อค้าแม่ค้าไม่ได้เข้าไปขายของแก่ชาวมลายูเพียงอย่างเดียวหากแต่ยังรับซื้อสินค้าเกษตรกรรม หรือของป่าเพื่อนำกลับมาขายในเมืองอีกด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกัน แต่การเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านนอกจากจะทำให้ได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างกันยังเป็นโอกาสที่จะทำให้คนสองกลุ่มได้สร้างความสัมพันธ์ต่อกันด้วย ความสัมพันธ์นี้ยังคงปรากฏมาจนกระทั่งปัจจุบันแม้พ่อค้าจีนเลิกเดินทางเข้าไปค้าขายในหมู่บ้านมาตั้งร้านค้าถาวรในเมือง ลูกค้าเก่าแก่ดั้งเดิมจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกยังคงตามมาเป็นลูกค้า เถ้าแก่คนเดิมเป็นประจำ บางครั้งความสัมพันธ์มีมากกว่าการเป็นลูกค้า เมื่อมีพิธีกรรมสำคัญ เช่นแต่งงาน  หรือเลี้ยงน้ำชาของลูกค้าชาวมลายูมุสลิม พ่อค้าแม่ค้าชาวจีนจะได้รับเชิญไปร่วมงานด้วยเสมอ


ร้านอาหารในย่านตลาดเป็นอีกพื้นที่ที่สะท้อนถึงการปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์อยู่ 4 - 5 ร้าน  โดยปกติแล้วผู้เขียนมักรับประทานอาหารเช้าสลับไปมาระหว่างร้านอาหารจีนและร้านอาหาร   อิสลาม วันหนึ่งผู้เขียนเห็นร้านอาหารแห่งหนึ่ง หน้าร้านด้านซ้ายตั้งโต๊ะขายข้าวแกงและข้าวยำ  คนขายเป็นหญิงสาวคลุมผ้าฮิญาปสองคนกำลังสาละวนกับการตักอาหาร ส่วนด้านขวามีกะทะขนาดใหญ่และหญิงสาวหนึ่งคนไม่ได้คลุมฮิญาปกำลังทอดปาท่องโก๋ ถัดจากกะทะปาท่องโก๋   ชายผิวคล้ำ ตาโต ผมหยักศก กำลังทอดทอดโรตีและมะตะบะในกะทะแบน เมื่อมองเข้าไปในร้านจะเห็นชั้นวางขวดต่างๆ และแก้วจำนวนมาก ข้างๆ ชั้นเป็นหม้อต้มน้ำร้อนขนาดใหญ่  ครั้งแรกสุดผู้เขียนเข้าใจว่าร้านอาหารแห่งนี้เป็นร้านอิสลาม แต่เมื่อเดินเข้าไปภายในร้านผู้เขียนเห็น "ตี่จู่เอี๊ย" (เจ้าที่จีนสีแดง) ตั้งอยู่บนพื้นใกล้ประตูเล็กที่เป็นทางเดินสู่ภายในบ้าน และป้ายชื่อร้านเหนือประตูบานเดียวกันเป็นภาษาไทย ชื่อว่าร้าน "เม้งฮ้อ" เจ้าของร้านเป็นชายชาวจีนผิวขาว ผู้เขียนไปที่ร้านนั้นอีกหลายครั้งในเวลาต่อมาและสังเกตพบว่าร้านแห่งนี้มีลูกค้าชาวมลายูมุสลิม ชาวจีน และชาวไทยมาอุดหนุนเป็นประจำ ร้านอาหารอีกร้านหนึ่งตั้งอยู่ในย่านตลาดเก่า เป็นร้านเก่าแก่แห่งหนึ่งเรียกกันว่าร้านน้ำชาโกเจง (บ้างเรียกเป็นโกเจ๋ง      บ้างเรียกโกเจ๊ง) เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มชาวมลายูมุสลิมในย่านตลาดเก่า ตลาดและสายกลาง    ร้านแห่งนี้ขายมานาน เล่ากันว่าขายมาตั้งแต่รุ่นพ่อเจ้าของร้านคนปัจจุบันลูกชายเป็นผู้สืบทอดกิจการต่อ หน้าร้านจะมีรถเข็นขายอาหารนานาชนิดของชาวมุสลิมประมาณ 3 คัน ร้านค้าเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการลดพรมแดนทางชาติพันธุ์อันเกิดจากข้อห้ามในการบริโภคอาหาร เสนอทางเลือกให้คนต่างชาติพันธุ์มารับประทานร่วมกันได้


            การเรียนรู้ในเรื่องกลยุทธทางการค้า ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คนมลายูใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ให้ความสนใจกับอาชีพค้าขายมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเกษตรกรรม ประมง หรือทำการค้าขนาดเล็กเช่นนำผลผลิตทางการเกษตรมาขายในตลาด คนมลายูมุสลิมที่เข้ามาประกอบอาชีพค้าขายแบบเปิดร้านค้าถาวรหลายคนเล่าว่าได้เรียนรู้กลวิธีการค้าจากคนจีนผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางการค้า ค้าขายเก่ง พ่อค้าชาวมลายูบางคนเล่าว่าเคยเข้าไปเป็นลูกจ้างร้านคนจีนเพื่อจะได้เรียนรู้กลวิธีทำธุรกิจของคนจีน บางครอบครัวส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนมูลนิธิยะลาบำรุงผดุงประชาเพื่อให้ลูกหลานมีโอกาสได้เรียนภาษาจีน เพราะเชื่อว่าคนจีนมีโอกาสทางธุรกิจดีจากการรับข่าวสารข้อมูลจากหนังสือพิมพ์จีน นอกจากนี้คนมลายูได้เรียนรู้วิธีการอบรมลูกหลานของชาวจีนในส่วนที่เอื้อต่อการทำการค้า เช่น ฝึกให้ลูกหลานช่วยค้าขายตั้งแต่ยังเด็ก เป็นต้น


เรื่องสุดท้ายที่กล่าวถึงในที่นี้คือ เรื่องของลูกจ้างชาวมลายูกับนายจ้างชาวจีน  ในช่วงเวลาประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ร้านค้าต่างๆ เริ่มมีลูกจ้างขายของเป็นหญิงชาวมุสลิม ปัจจุบันร้านค้ากว่าร้อยละ 80 มีลูกจ้างชาวมุสลิม บางร้านมีเฉพาะผู้หญิง บางร้านเป็นชาย บางร้านมีทั้งหญิงและชาย ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า เช่นถ้าเป็นร้านขายเครื่องก่อสร้าง   ลูกจ้างจะเป็นผู้ชาย  ลูกจ้างเหล่านี้มาจากหมู่บ้านนอกเมือง และต่างอำเภอ หรือที่ชาวมลายูมุสลิมมักเรียกว่า "กำปง"  สาเหตุที่เจ้าของร้านชาวจีนจ้างลูกจ้างชาวมุสลิมมากขึ้น ด้วยชาวจีนเชื่อว่าชาวมลายูมุสลิมมีความโดดเด่นในเรื่องของการรักพวกพ้วง ลูกจ้างชาวมุสลิมจะช่วยดึงดูดลูกค้าทั้งที่เป็นญาติ คนหมู่บ้านเดียวกับลูกจ้าง หรือเพื่อน  หรืออย่างน้อยที่สุดลูกค้าชาวมลายูมุสลิม  ดังที่ชาวมุสลิมคนหนึ่งได้เปรียบเปรยว่าคนจีนจ้างคนมุสลิมมาเป็น "หน้าม้า" และ "นางกวัก"


ในการทำงานแต่ละวันลูกจ้างชาวมุสลิมเหล่านี้ยังคงสามารถดำเนินชีวิตประจำวันให้อยู่ในกรอบของหลักศาสนาได้ โดยความยินยอมของนายจ้างชาวจีนในเรื่องของอาหาร             การแต่งกาย และการละหมาด


ลูกจ้างชาวมลายูจะไม่รับประทานอาหารกลางวันกับเจ้าของร้านเนื่องด้วยความไม่สะดวกในเรื่องของอาหารต้องห้ามของชาวมุสลิม เจ้าของร้านบางร้านจะให้ลูกจ้างพักออกไปซื้ออาหารรับประทานนอกร้าน แต่บางร้านพบปัญหาว่าลูกจ้างที่ออกไปรับประทานอาหารข้างนอก  ใช้เวลาในการรับประทานนานเกินกว่าที่ควร  ส่วนใหญ่จึงให้ลูกจ้างนำข้าวกล่องมารับประทานที่ร้าน เจ้าของร้านจะจัดหาน้ำดื่มเตรียมไว้ให้


ในส่วนของการแต่งกายลูกจ้างที่เป็นหญิงสาวจะคลุมฮิญาปมาทำงาน ลูกจ้างชาวมุสลิมเหล่านี้เล่าว่าถ้าหากเด็กสาวจากหมู่บ้านที่เข้ามาทำงานในเมืองไม่คลุมฮิญาปในระหว่างการทำงาน แล้วมีคนในหมู่บ้านมาพบเห็นเมื่อกลับไปยังหมู่บ้านเด็กสาวคนนั้นจะถูกครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านตำหนิ ดังนั้นไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ต้องคลุมฮิญาป ซึ่งในเรื่องนี้เจ้าของร้านชาวจีนส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาหรืออุปสรรคในการทำงานแต่อย่างใด ในทางกลับกัน         เจ้าของร้านชาวจีนรู้สึกว่าผ้าคลุมผมหรือฮิญาปนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของชาวมุสลิมเพื่อดึงดูดลูกค้าชาวมลายูมุสลิม


นอกจากเรื่องของอาหารและการแต่งกายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวมลายูมุสลิม การละหมาดยังเป็นอีกส่วนของชีวิตชาวมลายูมุสลิมด้วย ร้านค้าคนจีนส่วนใหญ่อนุญาตให้ลูกจ้างชาวมุสลิมที่ต้องการละหมาด ทำพิธีละหมาดที่ร้านได้ในเงื่อนไขว่าเวลาที่จะไปทำละหมาดต้องเป็นเวลาที่ลูกค้าเข้าร้านไม่มากนัก ถ้าหากมีลูกค้าเข้าร้านมากให้เลื่อนเวลาในการทำละหมาดไปก่อน 


ส่วนในช่วงเวลาของการถือศีลอดหรือเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม ลูกจ้างชาวมุสลิมจะไม่สามารถทำงานหนักได้เท่ากับช่วงเวลาปกติและจะขออนุญาตกลับบ้านก่อนเวลาเลิกงานเพื่อเตรียมอาหารรับประทานในเวลากลางคืน ซึ่งนายจ้างชาวจีนจะยอมรับและเข้าใจในส่วนนี้       เมื่อสิ้นสุดการถือศีลอด  ชาวมุสลิมจะฉลองวันสิ้นสุดการถือศีลอดในวัน "ฮารีรายอปอซอ"          (อิดีลฟิตรี) ซึ่งเจ้าของร้านชาวจีนเล่าว่า "ในวันนี้ไม่ว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้หยุดงาน      เขา(ลูกจ้างชาวมุสลิม)ก็จะต้องหยุดงานอย่างแน่นอน"


อย่างไรก็ตามลูกจ้างบางคนเห็นว่าเจ้าของร้านชาวจีนบางคนไม่มีความเข้าใจในศาสนาอิสลาม บางครั้งให้ลูกจ้างหน้าร้านไปล้างจานข้าว ซึ่งทำให้อึดอัดใจ แค่ให้ทำความสะอาดร้านก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่บางร้านเจ้าของร้านก็มีความเข้าใจในวัฒนธรรมอิสลามดี ให้ทำงานเพียงหน้าร้าน ปัดกวาดเช็ดถู ไม่ต้องล้างจานหรือซื้อข้าวปลาอาหารให้เจ้าของร้าน ทั้งเจ้าของร้านยังใจดี จ่ายค่าจ้างดี และขึ้นค่าจ้างให้โดยไม่ต้องขอ ลูกจ้างชาวมลายูมุสลิมบางคนเล่าว่าชอบทำงานกับร้านคนจีนเพราะเมื่อถึงวันตรุษจีนจะได้รับเงิน "แต๊ะเอีย" หรือ "อั่งเปา" ด้วย 


เห็นได้ว่าการปะทะสังสรรค์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ของตลาดซึ่งมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง พรมแดนทางชาติพันธุ์บางส่วนเบาบางลงด้วยการมุ่งเป้าหมายไปที่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่า เช่นกรณีของคนจีนที่โดยปกติแล้วจะพูดภาษาไทยหรือจีนในชีวิตประจำวัน แต่ในการทำการค้าคนจีนสามารถจะข้ามพรมแดนทางชาติพันธุ์ในเรื่องของภาษา โดยการเรียนรู้ภาษามลายูและนำมาใช้ในการทำการค้าโดยเฉพาะ แม้กระทั่งชาวมลายูมุสลิมที่ใช้ภาษามลายูในชีวิตประจำวัน แต่เมื่อต้องมาค้าขายแล้วชาวมลายูมุสลิมจะพูดภาษาไทยในการ สื่อสารกับลูกค้าที่ไม่ใช่คนมลายู ตามทัศนะของ Furnivall เห็นว่าสังคมที่ประกอบไปด้วยคนหลายชาติพันธุ์ดำรงอยู่ได้ เนื่องจากผลประโยชน์ในย่านตลาด และตลาดเป็นหน่วยของความสัมพันธ์ของคน โดยที่ Furnivall ให้เหตุผลว่าเพราะกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ได้มีค่านิยมทางวัฒนธรรมขั้นพื้นฐานร่วมกัน (จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง ๒๕๔๓: ๔ อ้างจาก Keyes 1977: 277-278)  เป็นความจริงที่ผลประโยชน์ในย่านตลาดอาจลดพรมแดนและปรับอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของคนกลุ่มต่างๆ ในการเข้ามามีปฎิสัมพันธ์ในมิติทางเศรษฐกิจ ด้วยอำนาจการต่อรองและกำลังซื้อ และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งในการเกื้อหนุนคนต่างชาติพันธุ์ให้ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสงบ


 



 


 


บทความนี้ใช้ประกอบงานห้องเรียนสัญจร ครั้งที่ 1 "เข้าใจวิถีมุสลิม" วันที่ 30 กรกฎาคม 2548 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี ร่วมจัดโดย ศูนย์อิสลามและมุสลิมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฎธนบุรี โครงการวารสารข่าวทางอินเตอร์เน็ท ประชาไท และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net