Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เศรษฐกิจประเทศไทยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังคงอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง ด้วยเพราะมีปัจจัยลบทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เช่น ภัยแล้ง ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เงินเฟ้อ ราคาน้ำมัน รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลง ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบดังกล่าวได้ส่งผลให้เศรษฐกิจในระดับภูมิภาคต้องชะลอตัวลงอย่างเลี่ยงไม่ได้


           


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ และชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ได้จัดเสวนาเรื่อง "หามาตรการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ" ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ โดยมีหน่วยงาน องค์กรภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมเสวนาจำนวน 100 คน และหลายฝ่ายได้สะท้อนมุมมองปัญหา ตลอดจนหาแนวทางแก้ไขปัญหาในแต่ละภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการที่ชัดเจนและตรงกับข้อเท็จจริง โดยจะนำเสนอต่อภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


 


เศรษฐกิจภาคเหนือครึ่งแรกวูบ


หวั่นหนี้ NPL ระดับรากหญ้าพุ่ง


 


นายสมศักดิ์ วงศ์ปัญญาถาวร ผู้บริหารส่วน ส่วนวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ กล่าวว่า ปัจจัยภายในประเทศหลายด้าน เช่น ภัยแล้ง สึนามิ และเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศต้องชะลอตัวลงนับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงินได้รับตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจเหลือเพียง 3.5 - 4.5 % จากเดิมที่ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 4.5 - 5.5 % ขณะที่ปัจจัยราคาน้ำมันที่เริ่มผันผวนตั้งแต่กลางปี 2547 ก็ทยอยปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งระบบอย่างรุนแรง


 


สำหรับเศรษฐกิจของภาคเหนือในภาพรวมครึ่งปีแรกที่ผ่ามาอยู่ในอัตราที่ชะลอตัวลงมาก ประชาชนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยแล้งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของเศรษฐกิจที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของภาคเหนือ ทั้งนี้ พบว่า ผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ข้าว อ้อย ลดลงถึง 12.7 % ส่วนภาคอุตสาหกรรมก็ชะลอตัวจากผลกระทบเรื่องภัยแล้งเช่นกัน ขณะเดียวกันยังพบว่าสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีฐานการผลิตใหญ่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ก็ชะลอตัวลง เนื่องจากความต้องการของตลาดต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ ส่วนในภาคการท่องเที่ยวพบว่า นักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลง จากผลพวงเหตุการณ์สึนามิและเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ทั้งนี้ เมื่อมองแนวโน้มเศรษฐกิจของภาคเหนือในช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากภาวะภัยแล้งจะเริ่มคลี่คลาย นักท่องเที่ยวจะเดินทางกลับเข้ามาเที่ยวในภาคเหนือเพิ่มขึ้น จากแรงกระตุ้นการประชาสัมพันธ์และการรุกเรื่องการตลาดของรัฐบาล 


           


นายวารินทร์ เขื่อนข่าย ประธานชมรมธนาคารจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันคงจะไม่เกิดหนี้เสียหรือ NPL ในระดับบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากได้ผ่านประสบการณ์เมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 มาแล้ว และส่วนใหญ่ได้มีการเตรียมแก้ปัญหาไว้แล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้เสียหรือ NPL ระดับรากหญ้าที่มาจากการใช้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่เกินตัว ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีหนี้ NPL ประเภทนี้สูงมาก หากรัฐบาลไม่เร่งแก้ปัญหานี้ก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้


           


อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีบริษัทใดหรือผู้ประกอบการใดมีการปล่อยสินเชื่อ หรือปล่อยเครดิตในอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินร้อยละ 28 รวมถึงเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อเกิน 5 เท่าของเงินเดือน และประชาสัมพันธ์เชิญชวนตามที่สาธารณะก็ขอให้แจ้งธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เพื่อป้องกันปัญหาหนี้เสียระดับรากหญ้าในอนาคต


 


ภาคธุรกิจครวญกำลังซื้อหด


           


นายอุดม สุวิทย์ศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิ่มซี่เส็ง จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันนิ่มซี่เส็งมีรถขนส่งจำนวน 600 คัน วิ่งให้บริการขนส่งสินค้าทั่วประเทศไทย ซึ่งนับจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่กลางปี 2547 ต้นทุนค่าขนส่งก็เพิ่มมาโดยตลอด นับตั้งแต่ราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 15 บาท ถึงตอนนี้ลิตรละ 23 บาท ทำให้ต้นทุนเฉพาะค่าราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นไปแล้วถึง 50 - 60 % ซึ่งจำเป็นต้องปรับราคาค่าขนส่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วยประมาณ 5 - 10 % ขณะเดียวกันก็ต้องมองหาช่องทางการลดต้นทุนราคาน้ำมันให้ต่ำลง โดยนำพลังงานทดแทนเข้ามาใช้เพิ่มมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมปรับใช้ก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับ ปตท.


           


นายฉัตรชัย ตรีอารยพงศ์ ประธานชมรมผู้ค้าวัสดุก่อสร้างจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมายอมรับว่าผู้ค้าวัสดุก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่เกือบทุกรายได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แม้ภาพของเศรษฐกิจในขณะนี้จะต่างจากเมื่อช่วงฟองสบู่แตกเมื่อปี 2540 คือภาคธุรกิจการลงทุนต่าง ๆ ไม่ปิดกิจการหรือลดจำนวนพนักงาน แต่สิ่งที่เห็นชัดคือ เศรษฐกิจระดับรากหญ้าเริ่มอยู่อย่างลำบากมากขึ้น เพราะรายได้ลดลงแต่ต้องมีรายจ่ายมากขึ้น หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นจากการนำเงินอนาคตมาใช้ ซึ่งกลุ่มคนระดับรากหญ้าและประชาชนทั่วไปคือลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่ชะลอเรื่องการซื้อสินค้าวัสดุก่อขณะที่ภาคธุรกิจการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มชะลอการลงทุนระยะนี้ ดังนั้น แนวทางของความอยู่รอดของกลุ่มผู้ค้าวัสดุก่อสร้างก็คือ ประคองตัว ไม่ขยายกิจการ และอยากเสนอให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ เช่น เร่งเดินหน้าโครงการลงทุนต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนซื้อขายในตลาดวัสดุก่อสร้างมากขึ้น


 


ชี้อนาคตคนเชียงใหม่จะจนลง


ทุนต่างถิ่นยึดแผ่นดินเบ็ดเสร็จ


           


นายวัชระ ตันตรานนท์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน กล่าวว่า เชื่อว่าอนาคตคนเชียงใหม่จะยากจนลง เพราะมีหนี้สินเพิ่มขึ้น และจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายด้าน เช่น ราคาน้ำมันที่ทำให้รายจ่ายของครัวเรือนเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นต่อไปอีก ขณะที่ปัญหาภัยแล้งในระยะที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบเสียหายต่อภาคการเกษตร ทำให้ราคาพืชผลตกต่ำ รายได้เกษตรกรในภาคเหนือลดลงมาก อย่างไรก็ตามแม้ตัวเลขเงินออมของภาคเหนือทั้งหมดมีประมาณ 300,000 ล้านบาท แต่อีกด้านกลับพบว่ามีเงินกู้หรือหนี้สูงถึง 22,000 ล้านบาท เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่มีเงินออมเพียง 100,000 ล้านบาทเท่านั้น


           


ทั้งนี้ ปัจจัยอีกด้านที่น่ากลัวก็คือ การรุกคืบเข้ามาของกลุ่มทุนจากส่วนกลางและต่างชาติ ซึ่งในอนาคตกลุ่มทุนเหล่านี้จะเข้ามาเทกโอเวอร์ธุรกิจหรือกิจการของคนเชียงใหม่มากขึ้น เพราะในระยะไม่กี่ปีมานี้ทั้งกลุ่มทุนโรงแรมห้าดาวก็นำเงินมาลงทุนที่เชียงใหม่กันอย่างครึกโครม และหากมองกลุ่มทุนที่เข้ามาช่วยพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ก็ถือว่าน้อยมาก จะมีก็เพียงการจ้างงานท้องถิ่นเท่านั้น


           


นายวัชระ กล่าวว่า ธุรกิจที่ชัดเจนคืออสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะถนนช้างคลานย่านไนท์บาซาร์ได้ถูกกลุ่มทุนรายใหญ่คือ กลุ่มของเบียร์ช้างเข้ามากว้านซื้อและเทกโอเวอร์กิจการจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าพื้นที่แถบนั้นทั้งหมดเป็นของกลุ่มเบียร์ช้าง 60 - 70 % ซึ่งเมื่อธุรกิจอยู่ในกำมือมากขนาดนั้น ก็เป็นไปได้ว่าสภาพการค้าหรือวิถีชีวิตในปัจจุบันของย่านถนนช้างคลาน อาจถูกเปลี่ยนนโยบายตามใจนายทุนเพื่อทำอะไรก็ได้ในอนาคต


 


แนะทุนท้องถิ่นต้องรวมกลุ่ม


           


นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกประเทศคงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่แนวทางออกสำหรับภาคธุรกิจก็คือ การวิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคตเพื่อชิงความได้เปรียบ เช่น การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจ จากเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่ที่ผ่านมาจะเห็นว่าภาคธุรกิจได้รับความเสียหายอย่างไม่คาดคิดและไม่ทันตั้งตัว ซึ่งหากธุรกิจใดที่ทำประกันภัยไว้ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งจุดนี้คือความเสี่ยงที่ภาคธุรกิจต้องบริหารจัดการให้ได้ และถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ของการทำธุรกิจในยุคนี้


           


ขณะเดียวกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มทุนท้องถิ่นต้องรวมตัวกัน อาจแบ่งเป็นคลัสเตอร์ต่าง ๆ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำและมุ่งแข่งขันกันเหมือนเช่นอดีต


           


นายเฉลิมชาติ นครังกุล รองประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในภาพรวมหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่มองทิศทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวใน 5 ด้านหลักคือ 1.ภาคการเกษตร ทำอย่างไรให้มีระบบจัดการให้สินค้าเกษตรไปสู่ตลาดหลักได้รวดเร็วขึ้น 2.ด้านแรงงาน ซึ่งขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่กำลังประสบปัญหาแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบต่อแรงงานท้องถิ่น 3.ภาคการท่องเที่ยว ทำอย่างไรที่จะทำให้การท่องเที่ยวมีความยั่งยืนและมีระบบการจัดการที่ดี 4.กระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาครัฐ โดยนำเงินภาษีมาสนับสนุนให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความยั่งยืนขึ้น 5.ปัญหาหนี้สินภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานมีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้ง 5 ประเด็นถือเป็นปัญหาสำคัญที่หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่จะนำเสนอให้รัฐบาลช่วยสนับสนุน แก้ไขต่อไป


 


**********************

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net