Skip to main content
sharethis


 


ขณะที่กองทุนต่างๆ กำลังหลั่งไหลอย่างท้วมท้นสู่ประชาชนรากหญ้า  จากแรกเริ่มเดิมทีที่รัฐบาลใช้โครงการพัฒนาต่างๆ ลงไปยังภูมิภาคและท้องถิ่น  จนปัจจุบันได้ขยับขยายสู่การลงเม็ดเงินโดยตรงมากขึ้น  เพราะรัฐบาลเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาความยากจนที่เป็นปัญหาหลักของประเทศได้  โดยหอบหิ้วเงินจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ลงไปส่งให้ถึงหลังคาเรือน


 


แต่เชื่อไหมว่า  กองทุนต่างๆ เริ่มต้นด้วยเม็ดเงินและจบลงด้วยเม็ดหนี้ทุกทีไป


 


กองเงินชุมชน  เติมเท่าไรก็ไม่โต


 


นับตั้งแต่ปี 2538  กองทุนพัฒนาชนบทที่เริ่มจากรัฐบาลให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่คุ้นเคยในนามสภาพัฒนฯ ให้รับผิดชอบนำเม็ดเงินจำนวนหนึ่งให้ตกไปถึงมือประชาชน  แต่ช่องทางขณะนั้นยังไม่เปิดโอกาสให้เข้าถึงได้ง่ายนัก  ในที่สุดธนาคารออมสินก็เข้ามารับหน้าที่ดำเนินการต่อ นั่นคือโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กขคจ.)


 


ขณะที่  นายสุพจน์  อาวาส  ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ  กล่าวถึง โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน หรือกขคจ.ว่า อยู่ในความดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน  ซึ่งทำหน้าที่ขับ เคลื่อนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  โดย กขคจ.เป็นเม็ดเงินที่ส่วนราชการดูแลอยู่ทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด โดยมีวงเงิน 3.7 พันล้านบาท


                                           


ทั้งนี้  กรมการพัฒนาชุมชนเน้นส่งเสริมการออมและจัดการชุมชนเป็นหลัก ซึ่งกขคจ.มีกระบวนการติดตามตรวจสอบตามกฎหมาย และมีข้อดีส่งถึงกองทุนหมู่บ้านในเวลาต่อมา  เพราะทำให้ชาว บ้านมองกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านว่ามีมาตรการเช่นเดียวกัน


 


ขณะที่ประชาชนได้อาศัยเม็ดเงินจำนวนมากมายทั้งเงินกู้ในระบบเช่น  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี)  ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารออมสินเป็นต้น ทั้งนี้ชุมชนเองก็มีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ เช่น  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  กลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์  ฯลฯ โดยส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบกึ่งระบบและกลุ่มพึ่งตนเอง  รวมไปถึงยังมีเงินกู้นอกระบบที่ดูเหมือนจะไม่ลดลงเลย


 


สำหรับความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในปี 2544 สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นโยบายกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน ได้เกิดขึ้นอีกครั้งตามนโยบายการหาเสียงของพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่มากกว่าเดิมหลายเท่าตัวและกระจายอย่างทั่วถึงมากขึ้น  ถือเป็นการหว่านเม็ดเงินครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ 


 


นายสุพจน์ กล่าวถึงกองทุนหมู่บ้านว่า "มี 2 กลไกขับเคลื่อน นั่นคือ สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง(สคบ.) ที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนด้านนโยบายและกิจกรรมส่งเสริมการพัฒนาและกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ให้เงินกู้ โดยสคบ.อนุมัติเงินกู้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ให้ชาวบ้านบริหารขับเคลื่อนกันเองจำนวนกว่า 75,000 หมู่บ้านหรือ 7.5 หมื่นล้านบาท"


 


นายสุพจน์กล่าวต่อไปอีกว่า  การนำกู้เงินจากนอกระบบมาผ่อนชำระเกิดขึ้นจริง เป็นช่องโหว่และช่องว่าง  เนื่องจากประธานกลุ่มกองทุนหมู่บ้านต่างๆ ต้องการให้ภาพพจน์ที่ดูดี  มีการเช่าเงิน  การขายเขียว  และเพื่อลดกระแสเงินกู้นอกระบบก็ได้มีโครงการประนอมหนี้เข้ามา ซึ่งแต่ละจังหวัดมีปัญหาการชำระหนี้เฉลี่ยประมาณจังหวัดละ 3 ราย ประมาณ 1.4 หมื่นบาท


 


"บางจังหวัดมีหนี้ค้างชำระมาก โดยมาจากการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งบางคนมักบอกว่าเป็นเงินนายกไม่ต้องใช้คืน  ซึ่งผมว่าเรายังอ่อนเรื่องประชาสัมพันธ์ในการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน"  นายสุพจน์ กล่าว


 


เอสเอ็มแอล  ทุนใหม่ให้ฟรี


 


ส่วนที่ไล่หลังมาติดๆ คือโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้าน/ชุมชน(เอสเอ็มแอล)  มีลักษณะคล้ายกองทุนหมู่บ้าน แต่เป็นกองทุนให้เปล่าแบบต่อเนื่อง  โดยให้แต่ละชุมชนเสนอโครงการเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาร่วมกัน  ตามขนาดของจำนวนประชากรในแต่ละพื้นที่  โดยแบ่งระดับหมู่บ้านเป็นระดับเล็กไม่เกิน 500 คน  ระดับกลางไม่เกิน 1,000 คนและระดับใหญ่คือตั้งแต่ 1,000 คนขึ้นไป  โดยจะได้รับวงเงินตั้งแต่ 2.5 แสนบาท,3 แสนบาท  และ 3.5 แสนบาทตามลำดับ ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 9 ส.ค. 48 ว่าได้อนุมัติงบประมาณไปแล้ว  1,838,000,000 บาท ซึ่งงบประมาณนี้ยังไม่ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน


 


ทั้งนี้ เอสเอ็มแอลมีความสัมพันธ์เชิงลึกด้านประชาคมมากกว่าทุกกองทุนที่ผ่านมา  ซึ่งนายสุพจน์  เห็นว่าบุคคลหลักที่ขับเคลื่อนก็คือกรมการพัฒนาชุมชนเพราะถือว่าสันทัดเป็นพิเศษ  และอาศัยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านเดิมเป็นแกนร่วมด้วย  เท่ากับเป็นการเสริมเข้ากับเงินกองทุนหมู่บ้าน 


 


ในขณะเดียวกัน  สำหรับหมู่บ้านก็มีอยู่หลายกองทุน  ซึ่งบางครั้งการบริหารยังไม่มีความไม่ชัดเจน และการจัดการกองทุนหมู่บ้านก็ยังไม่เรียบร้อยดีนัก


 


ยิ่งไปกว่านั้น ภายในปี 2551 ธนาคารชุมชน ที่กำลังจ่อคิวรออยู่ที่ประตูบ้าน ก็จะเริ่มทำหน้าที่กวาดเม็ดเงินรอบใหญ่เข้าระบบ หลังจากที่ปล่อยลงหมู่บ้านและชุมชนมามากแล้ว


 


สถาบันการเงินชุมชน  รอกวาดเงินสู่ระบบ


 


ทั้งนี้  ตามบทบัญญัติแห่งรัฐการใช้หรือการจัดตั้งธนาคารชุมชนไม่สามารถทำได้  เพราะขัดระเบียบของพ.ร.บ.ว่าด้วยการธนาคาร  แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  กองทุนหมู่บ้านเดิมก็ทำหน้าที่คล้ายกับการทำงานกับธนาคารอยู่บางส่วน จึงใช้ชื่อว่า  "สถาบันการเงินชุมชน" โดยกวาดเก็บเม็ดเงินหลายก้อนที่ฝังตัวอยู่ในชุมาชนให้เปลี่ยนผันและข้ามขั้นอีกก้าว


 


ขณะที่นายวิชล  มนัสเอื้อสิริ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนอธิบายว่า "สถาบันการเงินชุมชนเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่ง  ชาวบ้านอาจจะเอาไปรวมกับกองทุนหมู่บ้านด้วย ซึ่งอาจใช้มติของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่มีอยู่เดิม  โดยหากมีเงินเหลือหรือขาดเงิน ก็สามารถเอาไปลงทุนร่วมได้"   


 


นอกจากนี้นายวิชลกล่าวว่า  ชุมชนนั้นมีทั้งทุนภายในและทุนภายนอกซึ่งมีความยั่งยืนต่างกัน  สำหรับทุนภายในคือกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  ที่มีการกู้กันเองและให้มีคนค้ำประกัน 2 คนหมุนเวียนกันในกลุ่มสมาชิก  ซึ่งกรมฯ ต้องเชื่อมั่นในหลักประกันดังกล่าว  เพราะชาวบ้านอยู่ในชุมชนเดียวกัน อันจะก่อให้เกิดลักษณะการบีบทางชุมชน ซึ่งกรมฯ ส่งเสริมมากว่า 20 ปีแล้ว


 


"สหกรณ์ออมทรัพย์มักมุ่งคนมีรายได้ประจำแล้วใช้ระบบหักบัญชี  เป็นการหาทางรักษาเงินในชุมชนเพื่อไม่ให้ถูกฉ้อโกง  ส่วนสัจจะสะสมทรัพย์เป็นของเอกชนขึ้นอยู่กับแกนนำ  ไม่มีหน่วยใดควบคุมการเคลื่อน  กรมการพัฒนาชุมชนไม่เกี่ยว  เพราะไม่อยู่ในระบบที่มีการจดทะเบียน  ซึ่งมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)เข้ามาดูแลอยู่"  นายวิชลชี้แจง


 


ขณะเดียวกัน  นายสุพจน์เห็นว่า  ในเบื้องต้นโดยพฤตินัยชาวบ้านมีการบูรณาการทุนอยู่แล้ว  แต่ว่าภายหลังมีการนำเงินกองทุนมารวมและให้ชุมชนกำหนดวงเงินกู้  เอาแผนพัฒนาชุมชนมาจัดระเบียบ  ต่อไปก็จะใช้แผนแม่บทการเงินระดับฐานรากมาเชื่อมยึดโยงให้เข้มแข็งและเป็นเครือข่ายที่กว้างขวางขึ้น


 


เงินก้อนสุดท้าย  ที่รัฐคิดถึงท้ายสุด


 


เม็ดเงินที่ฝังรากอยู่ในชุมชน  ที่มาจากการออมคนละเล็กคนละน้อย  สะสมมาเป็นเวลานานของชาวบ้านเปรียบเป็นพลังเงียบ  ซึ่งขณะนี้รัฐกำลังจับตามดูอย่างใกล้ชิด โดยอ้างว่าเดิมเป็นการจัดการที่สะเปะสะปะหาใครรับผิดชอบไม่ได้  ให้มาอยู่ในรูปสถาบันการเงินชุมชนหรือธนาคารชุมชน  เพื่อให้มีระบบระเบียบและมีความมั่นคงเข้มแข็งขึ้น  นั่นคือการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของเม็ดเงินชาวบ้าน


 


"กองทุนเงินในหมู่บ้าน ภายในชุมชนมีทั้งการระดมเงินออมและกองทุน 1 ล้านบาทรวมกัน โดยมีเงินออมทั่วประเทศประมาณ 6,320  กว่าล้านบาท  ทั้งนี้ 40% มาจากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตเช่น กลุ่มแม่บ้าน  แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบไหมว่าบริบทชุมชนเป็นเช่นไร  ความจริงแล้วมีเงินออมอยู่ในชุมชนมากว่า 3-4 แสนล้านบาท  จากเงินออมหลายประเภทที่รัฐเข้าไปไม่ถึง" ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ กล่าว


 


ทั้งนี้พลเอก  มนัส  อร่ามศรี  กรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภากล่าวว่า  นอกจากกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตแล้ว  ทุกหมู่บ้านก็มีกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ และกิจกรรมทุนต่างๆ ซึ่งเป็นกิจการในระดับล่าง  โดยชาวบ้านเริ่มออมเงินกันมาตั้งแต่ปี 2538 ภายหลัง กรมการพัฒนาชุมชนและธนาคารออมสิน ได้เข้ามาทำโครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาชนบท  สำหรับผู้มีรายได้น้อยหรือรายได้ต่ำ เพื่อให้ผูกโยงกับธนาคาร แล้วทำอย่างไรไม่ให้กองทุนต่างๆ ที่มีอยู่สะเปะสะปะและมีความเสี่ยงเกิดขึ้นในกรณีที่กองทุนปล่อยกู้ การแก้ไขคือต้องมีการรวมศูนย์


 


"ก่อนหน้าในปี 2536 กรมการพัฒนาชุมชนส่งเสริมการออมเป็นหลัก  ภายหลังจึงให้มีการปล่อยกู้และธนาคารออมสินได้ปล่อยทุน  ซึ่งชาวบ้านออมก็ไปฝากธนาคารออมสินได้ดอกเบี้ยร้อยละ 0.75  จึงหันมาปล่อยกู้จากกิจการออมทรัพย์ของชุมชนเองและกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 6.6  ส่วนเงินฝากให้ดอกเบี้ยถึงร้อยละ 3"  พลเอก  มนัส  กล่าว


 


ความเข้มแข็งที่ไม่คุ้นเคย 


 


ดร.ปรเมธี  วิมลศิริ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  อธิบายว่า  ทั้งกองทุนหมู่บ้านและเอสเอ็มแอล  ล้วนมาจากนโยบายรัฐบาล  สร้างความสามารถให้ชุมชนเข้มแข็ง  ซึ่งสมัยก่อนก็มีกองทุนเล็กๆ อย่าง กขคจ. ยังทำไม่ได้ทั่วประเทศ ภายหลังมีกองทุนเงินล้านก็ทำให้ทั่วถึงขึ้น ซึ่งทั้ง 2 กองทุนมาจากรัฐบาลโดยตรง  ส่วนสภาพัฒนฯ มีหน้าที่ติดตามประเมินผลเพียงอย่างเดียว


 


ทั้งนี้สภาพัฒน์ฯได้ชี้แจงถึงกองทุนหมู่บ้าน โดยสำรวจด้วยงบประมาณที่มีอย่างจำกัดไม่ถึง 1,000 ตัวอย่าง  ตั้งแต่ปี 2545-2546  ส่วนใหญ่มีการกู้เพื่อใช้ในอาชีพเดิมประมาณ 60%  ลงทุนอาชีพใหม่  7-10% เท่านั้น กู้เพื่อการบริโภค  17% และกู้เพื่อใช้หนี้ประมาณ 10%  โดยใช้เป็นทุนหมุนเวียนเป็นหลัก  เงินกู้ครึ่งหนึ่งมีประโยชน์แต่ลงทุนอะไรไม่ได้จริงจัง  เนื่องจากสมาชิกเยอะ  แบ่งสันปันส่วนทำให้ต้องกู้จากแหล่งอื่นเพิ่มเติม  แต่สมาชิส่วนใหญ่ 98%  ชำระหนี้กองทุนได้ 


 


"4 ปีที่ผ่านไป  กองทุนส่วนใหญ่กู้ไปทำอาชีพของตัวเอง ไม่ใช่ร่วมคิดร่วมทำในชุมชน ไม่ใช่เพิ่มศักยภาพมากขึ้น  เนื่องจากเราไม่ห่วงเรื่องการบริหารโดยตรง  เมื่อก่อนมีกขคจ.เราเน้นในพื้นที่และชุมชนว่าต้องมีการรวมตัวกัน ร่วมกันคิดเก็บข้อมูลชุมชน พัฒนาพื้นที่ตัวเองได้" ดร.ปรเมธี  กล่าว


 


จากจุดนี้จึงรัฐบาลจึงริเริ่มโครงการเอสเอ็มแอลเพื่อให้ชุมชนได้ร่วมคิดร่วมทำ  และจนมาถึงสถาบันการเงินชุมชนที่หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยนัก


 


ขณะที่  นายสุพจน์  อาวาส  ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ อธิบายให้เห็นว่าสถาบันการเงินชุมชน เป็นนิติบุคคลขณะที่กองทุนหมู่บ้านต้องยังอยู่  โดยกิจการของสถาบันการเงินชุมชนเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของกองทุนหมู่บ้าน  ซึ่งทำได้เฉพาะในหมู่บ้านหรือตำบลเท่านั้น


 


สถาบันการเงินชุมชนทำหน้าที่บริการได้แก่  ระดมเงินออม  ให้กู้ยืมเงิน  กู้ยืมเงิน  และจัดบริการสาธารณะ  การให้บริการทางการเงินเช่น  รับชำระค่าบริหารต่างๆ  ประกันชีวิต จัดสวัสดิการภายในชุมชน  ฯลฯ  ขณะนี้มีกระทรวงการคลังดูแลอยู่   โดยบรรจุกิจการของสถาบันการเงินชุมชนเป็นการเงินฐานราก 


 


"ยังมีการเรียกชื่อที่ทำให้เกิดความไขว้เขว ชาวบ้านคุ้นกับคำว่าธนาคาร ทั้งนี้ขับเคลื่อนเกี่ยวเนื่องกับกองทุนหมู่บ้านที่มีธนาคารเข้ามาร่วมจัดตั้งและดำเนินการด้วย ได้แก่  ธนาคารออมสิน  ธนาคารกรุงไทย  และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร"  นายสุพจน์  ชี้แจง


 


การดำเนินการของกองทุนแห่งชาติให้ทั้ง 3 ธนาคารไปประเมินความพร้อม ดูศักยภาพประชาคมกับชาวบ้าน ดูว่า มีสภาพคล่องมีความพร้อมในการบริหารจัดการสาธารณูปโภค โดยทั้ง 3 ธนาคารต้องการจำลองธนาคารที่สมบูรณ์แบบ เจ้าหน้าที่ธนาคารไปดำเนินการด้วย


 


ทั้งนี้นายสุพจน์ได้ยกตัวอย่าง  ธนาคารออมสินจะไปติดตั้งคอมพิวเตอร์จำนวน 100 เครื่อง  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  มีเป้า 100 แห่ง  ส่วนธนาคารกรุงไทยยังไม่กำหนดเป้าหมายการจัดตั้งสถาบันการเงินชุมชน  เพราะขอให้นำรูปแบบที่ค่อนข้างมั่นใจและจัดสรรระบบให้เรียบร้อยก่อนจัดตั้งทั้งประเทศต่อไป  เพราะถ้าเมื่อนำไปใช้แล้วการบริหารการจัดการใช้ไม่ได้  ก็จะทำเกิดความเสี่ยงขึ้นในชุมชน


 


"ธนาคารและรัฐขับเคลื่อนจัดตั้งแล้วกองทุนหมู่บ้านต้องยังอยู่  สถาบันการเงินชุมชนเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของกองทุนหมู่บ้าน  และทำได้เฉพาะชุมชนในระดับตำบลเท่านั้น  ซึ่งต้องมีความพร้อมสูงจึงจะจัดตั้งได้" นายสุพจน์ กล่าวในที่สุด


 


สถาบันการเงินชุมชน  รีดรวมจากฐานราก


 


จากร่างแผนแม่บทการเงินระดับฐานรากกล่าวไว้ว่า  ปัจจุบันประชาชนในประเทศไทยจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการเงินพาณิชย์ทั่วไปได้  จึงได้รวมกลุ่มเป็นองค์กรการเงินระดับฐานราก  เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกในกลุ่มหรือชุมชน 


 


ทั้งนี้  หลักการทำงานของสถาบันการเงินชุมชน คือ รับฝากเงินจากสมาชิกในลักษณะของการออม  และนำเงินฝากเหล่านั้นไปปล่อยกู้ให้กับสมาชิกที่มีความต้องการใช้เงิน เพื่อนำไปประกอบอาชีพหรือนำไปปลดหนี้เงินกู้นอกระบบ  ทั้งนี้โดยไม่ต้องนำหลักทรัพย์ค้ำประกันและยังมีอัตราดอกเบี้ยและได้รับสวัสดิการต่างๆ


 


สามารถแยกองค์การการเงินในระดับฐานรากได้ 3 กลุ่มหลักได้แก่  กลุ่มในระบบ  กลุ่มกึ่งในระบบ  และกลุ่มพึ่งตนเอง  ซึ่งสถาบันการเงินชุมชนมุ่งเน้นจะเข้ามาดูแลและจัดระบบใน 2 กลุ่มหลังเป็นสำคัญ


 


สำหรับกลุ่มกึ่งในระบบและกลุ่มพึ่งตนเองประกอบด้วย  สหกรณ์  สหกรณ์เครดิตยูเนียน  กลุ่มเครดิตยูเนียน  กองทุนหมู่บ้าน  กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต  และกลุ่มออมทรัพย์ทั่วไป  ซึ่งการบริหารจัดการมีทั้งที่เป็นไปตามระเบียบของทางราชการและที่ประชาชนร่วมกำหนดขึ้น  ซึ่งไม่มีเกณฑ์ความมั่นคงทางการเงิน  และมีที่ไม่เข้มแข็งเพียงพอ  อันอาจก่อให้เกิดปัญหาในสังคมชนบทได้ 


 


เนื่องจากแนวนโยบายของรัฐบาล ได้มุ่งเน้นที่จะส่งเสริมให้องค์กรการเงินระดับฐานรากเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของชุมชน  โดยองค์กรการเงินระดับฐานรากสามารถดำเนินงานด้วยตนเอง  มีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายเพื่อเกื้อกูลช่วยเหลือกันในการพัฒนาระบบการเงินจากระดับฐานรากไปสู่ระบบการเงินระดับชาติ  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายในปี 2551


 


คงต้องรอดูกันต่อไป เม็ดเงินที่กระเซ็นกระสายไปตามหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ กำลังจะถูกจัดระบบใหม่  แล้วเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่แต่ชุมชนเคยจัดการกันเองนี้จะมีเส้นทางอย่างไรต่อไป  หรือว่าการตัดสินใจสุดท้ายจะไม่ใช่อยู่ที่เจ้าของเม็ดเงินเหล่านั้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net