Skip to main content
sharethis

ประชาไท-17 ส.ค. 48       "กระบวนยุติธรรมสมานฉันท์ทำให้เห็นภาพว่าเมื่อมีความขัดแย้งควรจะมีการเปลี่ยนวิธีคิด วิธีจัดการ จากการศึกษาของ กอส. กระบวนการยุติธรรมที่มันมีปัญหาบางครั้ง ส่วนหนึ่งเนื่องจากว่ากระบวนยุติธรรมเป็นฝ่ายกระทำเอง " ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย กล่าวหลังการนำเสนอวิทยานิพนธ์ดีเด่น ประจำปี 2547 เรื่อง "กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์:การปรับกระบวนทัศน์กระบวนยุติธรรมไทย" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) วันนี้(17 ส.ค.)


 


ดร.จุฑารัตน์ กล่าวต่อว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือ การเปลี่ยนวิธีคิดจากการที่มุ่งจัดการปัญหาความขัดแย้งด้วยกฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก มาเป็นสร้างการพูดคุยเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง โดยมีคนกลาง เช่น นักจิตวิทยา หรือบุคคลที่คู่กรณีนับถือเป็นผู้ประสานให้


 


เหตุที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเนื่องจาก การใช้กฎหมายตามกระบวนการยุติธรรมกระแสหลัก ต้องมีการแพ้หรือชนะคดีจนอาจทำให้เกิดความรู้สึกปฏิปักษ์กัน แม้ว่าปัญหาตามกระบวนกฎหมายจะจบแล้วก็ตาม ปัญหาทางความรู้สึกจึงยังไม่ถูกจัดการ ความขัดแย้งที่รุนแรงกว่าอาจเกิดตามมาอีก


 


ดังนั้น ควรต้องเปลี่ยนมุมมองของการกระทำผิดใหม่ คือ ต้องมองการกระทำผิดว่าเป็นการกระทำของคนต่อคน ไม่ใช่การกระทำผิดของคนต่อกฎหมาย แนวคิดดังกล่าวนำมาสู่การเจรจา เพื่อทำให้ผู้กระทำเกิดความสำนึกผิดต่อการกระทำเอง ในขณะเดียวกันก็สร้างกระบวนการรับผิดที่ทำให้ผู้ถูกกระทำพอใจด้วย ประเด็นสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่การให้อภัย


                                                                                                  


ดร.จุฑารัตน์ อธิบายต่อว่า กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ความจริงแล้วเหมือนการที่มีผู้อาวุโสคอยไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในชุมชนทั่วไป การควบคุมแบบชุมชนดังกล่าวทำให้ไม่เป็นคดีความ และเกิดความขัดแย้งสะสม  ที่ยกตัวอย่างรูปธรรมได้ ก็เช่น สภาผู้เฒ่า ในจังหวัดอุบลราชธานี เพียงแต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับเหมือนในต่างประเทศ


 


ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การกระทำของกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักมีปัญหา ว่า บางอย่างที่ไม่ควรกระทำแต่กระทำ ในทางกลับกันบางอย่างที่ควรกระทำในภาวะที่ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้กลับไม่กระทำ  ทำให้เกิดความขัดแย้งเป็นสองขั้วหลักระหว่างรัฐกับคนในพื้นที่


 


แต่หากใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  จะมีคนกลางช่วยประสานความไม่เข้าใจ และชี้ให้เห็นปัญหาจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ จึงคาดว่าอาจทำให้บรรยากาศความขัดแย้งที่เคยมีสูงคลี่คลายลงได้


 


อย่างไรก็ตาม ดร.จุฑารัตน์ มองภาพกว้างตอนนี้ว่า กระบวนยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เริ่มเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากเริ่มมีการมองเห็นขั้วขัดแย้งที่สร้างปัญหากระทบต่อทั้งสองฝ่ายโดยรวม  แต่มีคนกลางตามกระบวนการคอยประสาน ซึ่งก็คือ คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)


 


ส่วนการแก้ความขัดแย้งระดับย่อยในพื้นที่ ควรจะต้องหาคู่กรณีรายย่อยๆก่อน   และหาคนกลางที่มีพลัง มาชักนำมาสู่การหากระบวนการสมานฉันท์ เค้าลางดีที่เห็นตอนนี้ คือ เริ่มมีกระบวนการเยียวยาชดใช้แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีกระบวนการขอโทษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net