Skip to main content
sharethis

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


เรื่อง ข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออก


 


------------------------------------------------


 


            ตามที่ได้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออก โดยเฉพาะในจังหวัดระยองและใกล้เคียงนั้น ซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในจังหวัดระยองเองประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรมและอาชีพอื่นๆ โดยทีประชากรดังกล่าวมีชีวิตผูกพันกับน้ำทั้งด้านการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการประกอบอาชีพด้วย แต่ในขณะเดียวกันในจังหวัดระยองก็ยังมีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่มีความจำเป็นในการใช้น้ำ เช่นเดียวกัน ดังนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้มีการหยิบยกกรณีปัญหาดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา และได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำและแร่เป็นผู้ดำเนินการ


           


ต่อมาคณะอนุกรรมการฯ ได้เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ และรับฟังข้อเท็จจริงจากราษฎรที่อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว และได้มีการจัดประชุมเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงขึ้นในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๔๘ โดยได้เชิญผู้แทนกรมชลประทาน ผู้แทนกรมทรัพยากรน้ำ ผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้แทนบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) และตัวแทนราษฎรกลุ่มต่างๆ ที่อาจได้รับผลกระทบเข้าร่วมประชุม ดังกล่าว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้พบข้อเท็จจริงที่สรุปเป็นเบื้องต้น ดังนี้


           


. จากข้อมูลที่ได้รับคำชี้แจงจากผู้แทนของกรมทรัพยากรน้ำ  ยืนยันว่าข้อมูล ณ วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๘ แหล่งน้ำในภาคตะวันออก ได้แก่ อ่างหนองปลาไหล อ่างดอกกราย อ่างห้วยสะพาน อ่างหนองกลางดง อ่างห้วยขุนจิตอ่างมาบปะชัน อ่างบางพระ และอ่างหนองค้อ ตลอดจนการขุดบอบาดาลในพื้นที่ต่างๆ ยังสามารถส่งน้ำเข้าสู่ระบบของผู้ใช้น้ำทั้ง ๔บริเวณสำคัญคือ ๑.มาบตาพุด-บ้านฉาง-สัตหีบ ๒.ชลบุรี-แหลมฉบัง ๓.พัทยา และ ๔.บ่อวิน ได้อย่างพอเพียงตามความต้องการของผู้ใช้น้ำทุกกลุ่มได้จนกระทั่งถึงสิ้นปีนี้ โดยไม่ต้องผันน้ำจากบริเวณอื่นมาแต่อย่างใด ส่วนการจัดการน้ำโดยการผันน้ำจากแหล่งต่างๆ เป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในปีหน้าและต่อๆ ไป ทั้งนี้ ปรากฏตามแผนผังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกที่ส่งมาพร้อมกันนี้


 


.นอกจากนี้ในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติกรอบและงบประมาณในการแก้ไขปัญหาน้ำดังกล่าว ๑๓ โครงการเป็นการเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง


 


.๑ โครงการสร้างทำนบกั้นน้ำที่แม่น้ำระยอง ณ บริเวณตำบลเชิงเนิน อำเภอเมือง จังหวัดระยอง พร้อมทั้งผันน้ำจากแม่น้ำระยองที่บริเวณคลองใหญ่ วันละประมาณ๑๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร


 


.๒ โครงการผันน้ำจากคลองทับมาตรงบริเวณคลองกิ่ว เข้าสู่คลองน้ำหู และป้อนต่อไปยังนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด


 


.๓ โครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำประแสร์ โดยการวางท่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ซึ่งเริ่มกักเก็บน้ำได้เพียงเล็กน้อย และยังไม่สามารถส่งน้ำให้ภาคเกษตรกรรมใช้ประโยชน์ได้ เพราะการก่อสร้างระบบส่งน้ำยังไม่แล้วเสร็จ


 


ซึ่งโครงการผันน้ำข้างต้นมีวัตถุประสงค์หลักคือ การป้อนน้ำเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมเป็นส่วนใหญ่ แต่โครงการเหล่านี้กลับไม่มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทำนบกั้นน้ำในแม่น้ำระยอง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของระบบ ๓ น้ำ (น้ำจืด-น้ำกร่อย-น้ำเค็ม) ตลอดจนมีผลกระทบต่อป่าแสม ป่าโกงกาง และสัตว์น้ำบริเวณดังกล่าวด้วย อีกทั้งต่อวิถีชีวิตของประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์จากการสร้างทำนบดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ โครงการผันน้ำจากคลองทับมาและอ่างเก็บน้ำประแสร์ ก็อาจมีผลกระทบต่อราษฎรส่วนใหญ่ต้องใช้น้ำเพื่อการดำรงชีวิตและทำการเกษตรในบริเวณดังกล่าวแทบทั้งสิ้น


 


ดังนั้น จากข้อมูลและข้อเท็จจริงข้างต้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงขอเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ เป็นบรรทัดฐาน กล่าวคือ


 


. ให้ชะลอการดำเนินการผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ ในกรณีฉุกเฉิน ไว้ชั่วคราวก่อน ตามที่กรมทรัพยากรน้ำได้ยืนยันข้อมูลว่า ปริมาณน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถใช้ได้จนกระทั่งถึงสิ้นปี


. การผันน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ สำหรับปีหน้าและปีต่อไปนั้น ต้องให้มีการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และการดำรงชีพของชุมชนประกอบด้วยให้เสร็จสิ้นก่อน แล้วจึงนำผลการศึกษาดังกล่าวมาใช้ดำเนินการตอไป


. การบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันและในอนาคตต้องเปิดโอกาสให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาจได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


. ในการดำเนินการกระบวนแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลควรคำนึงถึงประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ไม่อาจแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้เป็นสำคัญ มากกว่าบรรดากลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำลังและความสามารถพึ่งพาตนเองในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เพื่อให้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน และสร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชนกับประชาชนส่วนใหญ่ต่อไป


 


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


วันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๔๘


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net