Skip to main content
sharethis

จดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา


จากคณาจารย์นิติศาสตร์ ๑๒ สถาบัน


เรื่อง  ขอให้พิจารณาไม่อนุมัติพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน  พ.ศ. ๒๕๔๘


                       


ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๑๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘  ต่อมาได้มีการประกาศให้ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง  คณาจารย์ทางนิติศาสตร์จากสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังที่ปรากฏรายนามชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ต่างมีความกังวล และวิตกห่วงใยต่อการใช้อำนาจของรัฐบาลที่ได้แสดงออกถึงการก้าวล่วงในอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการ  เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนต่อหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และหลักสากลในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยมีข้อพิจารณาดังนี้


           


๑. การตราพระราชกำหนดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐


๑.๑  เงื่อนไขการตราพระราชกำหนดไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ


เมื่อพิจารณาถึงเหตุผลของรัฐบาลในการตราพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ในครั้งนี้ที่กล่าวว่า เพื่อบูรณาการการใช้กฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาของ ๓ จังหวัด ชายแดนภาคใต้ พบว่าเหตุผลในการตราพระราชกำหนดดังกล่าวมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


(๑)ในระบอบเสรีประชาธิปไตยต่างยอมรับให้ฝ่ายบริหารสามารถใช้อำนาจเพื่อควบคุมสถานการณ์ได้และต้องใช้ตามความจำเป็นให้เหมาะสมกับสถานการณ์และภายใต้สถานการณ์สงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเป็นความจำเป็นในการรักษาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และการรักษาเอกราชของชาติ   การมีอำนาจพิเศษเพิ่มขึ้นของฝ่ายบริหารในช่วงที่เป็นสถานการณ์สงครามทำให้ฝ่ายบริหารสามารถกระทำการบางอย่างที่ในภาวะปกติแล้วจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และในสถานการณ์ฉุกเฉินฝ่ายบริหารมีความจำเป็นต้องมีอำนาจมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาและคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และการใช้อำนาจพิเศษของฝ่ายบริหารต้องมีกฎหมายที่ตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนของปวงชนมากลั่นกรองความเหมาะสมของการให้อำนาจพิเศษของฝ่ายบริหารเสียก่อน ฝ่ายบริหารจึงจะใช้อำนาจดังกล่าวได้ ถึงกระนั้นก็ตาม หลักการที่ฝ่ายบริหารมีอำนาจเพิ่มขึ้นดังกล่าวนี้ ไม่เป็นเหตุให้ฝ่ายบริหารได้รับเอกสิทธิ์ปลอดจากการตรวจสอบใดๆได้ แต่ในทางตรงกันข้ามฝ่ายบริหารย่อมถูกตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจภายใต้เงื่อนไขของระบบการตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการที่มีความเป็นอิสระ เพื่อเป็นหลักประกันแก่การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนภายใต้หลักนิติรัฐ


(๒) หากมีความจำเป็นต้องตรากฎหมายของฝ่ายบริหารในรูปแบบของการตราพระราชกำหนดที่มีผลบังคับเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติเพื่อให้อำนาจพิเศษของฝ่ายบริหาร รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๑๘ บัญญัติให้ตราพระราชกำหนดได้เฉพาะกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ภัยพิบัติสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ  เท่านั้น  หากแต่ต้องวินิจฉัยความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์อย่างเคร่งครัดให้ได้สัดส่วนกับเงื่อนไขการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ   และเป็นที่ทราบกันแล้วในขณะตราพระราชกำหนดดังกล่าวว่า ก่อนหน้านั้นประเทศไทยมิได้ขาดกฎหมายที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินแต่ประการใดเพราะมีทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๔๙๕  และยังมีพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช  ๒๔๕๗ รวมถึงกฎหมายต่างๆ อีกมากมายที่จะใช้จัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้  ทั้งยังปรากฏว่า ในขณะนั้นได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น การตราพระราชกำหนดนี้จึงมิใช่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ที่ต้องด้วยเข้าเงื่อนไขตามมาตรา ๒๑๘ วรรคหนึ่งและวรรคสองของรัฐธรรมนูญ แต่ประการใด


 


๑.๒  บทบัญญัติของพระราชกำหนดหลายมาตราขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ


นอกจากเงื่อนไขการตราพระราชกำหนดดังกล่าวที่มิได้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติแล้ว   เนื้อหาของพระราชกำหนดหลายมาตราขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ดังเช่น


(๑) บทบัญญัติบางมาตราของพระราชกำหนดดังกล่าวมีเนื้อหาและข้อกำหนดการบังคับใช้เช่นเดียวกับพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินในภาวะสงครามที่มีผลใช้บังคับอยู่ก่อนแล้วและมีการรับรองในมาตรา ๒๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงกล่าวได้ว่าพระราชกำหนดฉบับนี้มีเนื้อหาบางส่วนเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก แต่เป็นการให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารที่ผิดแผกแตกต่างและมากกว่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกเสียอีก โดยตามมาตรา ๕ และมาตรา ๑๑ แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวได้ก่อตั้งอำนาจให้แก่นายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้(เทียบเท่ากับประกาศการใช้กฎอัยการศึก) จึงเป็นการบัญญัติที่ขัดต่อบทบัญญัติและหลักการตามมาตรา ๒๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


(๒) บทบัญญัติมาตรา ๙ (๓) และมาตรา ๑๑(๕)ของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนดที่ "ห้ามเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือสิ่งพิมพ์ หรือสิ่งอื่นใด....." และ "การให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับ หรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใด ..." มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน เกินกว่าขอบเขตที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้   เพราะมาตรา ๓๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้บัญญัติการจำกัดจะทำได้เฉพาะกรณีที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงครามหรือการรบเท่านั้น    


(๓)  การให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการประกาศตามมาตรา ๑๑ (๖) ที่จะประกาศ


ห้ามมิให้กระทำการใดๆ หรือสั่งให้กระทำการใดๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศหรือความปลอดภัยของประชาชน นั้นเป็นการให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างไรและเมื่อใดก็ได้  อันนำไปสู่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพจนกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพ เป็นการขัดต่อบทบัญญัติมาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


(๔) การให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยตามประกาศในมาตรา ๑๑ (๑)  ให้มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกิน ๗ วัน  ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๒ ของพระราชกำหนดนั้น เป็นบทบัญญัติที่ขัดกับมาตรา ๒๓๗ ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้การจับกุมและคุมขังบุคคลจะกระทำได้เมื่อมีคำสั่งหรือหมายของศาล และต้องนำตัวไปศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้จับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อศาลพิจารณาว่ามีเหตุที่จะขังผู้ถูกจับไว้ตามกฎหมายหรือไม่ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ   ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่ไม่นำตัวมาศาลภายใน ๔๘ ชั่วโมง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอันเป็นมาตรฐานสากล


(๕)  บทบัญญัติมาตรา ๑๖  ที่บัญญัติว่าข้อกำหนดประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และมาตรา ๑๗ ที่บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญาหรือทางวินัย เป็นการบัญญัติยกเว้นความผิดและเป็นการปฏิเสธการตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายบริหารโดยองค์กรตุลาการ เป็นการยกเลิกอำนาจศาลปกครองให้หมดไป ซึ่งเป็นการร้ายแรงยิ่งไปกว่าพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้กับสถานการณ์ฉุกเฉินในภาวะสงคราม เพราะตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกนั้น ศาลพลเรือนทุกศาลยังมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเว้นแต่คดีที่อยู่ในบัญชีท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าวเท่านั้นที่ไปเป็นอำนาจของศาลทหาร ไม่มีกรณีใดที่ไม่ได้รับการตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการ  บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารที่ขัดต่อมาตรา ๒๓๔ วรรคสอง และมาตรา ๒๗๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย


 


            ๒. การตราพระราชกำหนดไม่เป็นไปตามข้อตกลงหรือพันธกรณีระหว่างประเทศ


การประกาศใช้พระราชกำหนดดังกล่าวถือเป็นการกระทำของรัฐที่จงใจและฝ่าฝืนต่อพันธกรณีตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองที่นานาอารยประเทศรับรองและประเทศไทยก็เป็นภาคีในกติกาดังกล่าว  ซึ่งประเทศไทยมีความผูกพันต่อพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว และถึงแม้จะมีการยอมรับถึงการมีอำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉินแต่จะมีการกำหนดเนื้อหาในพระราชกำหนดให้ขัดหรือแย้งในข้อ ๔ ข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๘ ข้อ ๑๑ ข้อ ๑๕ ข้อ ๑๖ และข้อ ๑๘ ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง ที่ประเทศไทยมีความผูกพันอยู่ไม่ได้  ซึ่งปรากฏว่าเนื้อหาของพระราชกำหนดมีความขัดหรือแย้งต่อสิทธิของพลเมืองตามที่กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองดังกล่าวข้างต้น


 


            คณาจารย์ทางด้านนิติศาสตร์ดังมีรายนามข้างท้ายนี้  มีความปรารถนาให้ความสันติสุขมาเยือน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยเร็ววัน แต่ปัญหา ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้จนมาถึงปัจจุบันนี้ มิใช่เพราะไม่มีอำนาจตามกฎหมาย หากเป็นเพราะมิได้รับการแก้ไขด้วยรากฐานแห่งความยุติธรรม      ดังนั้น พวกเราทั้งหลายจึงใคร่ขอท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาโปรดใช้วิจารณญาณของท่านอย่างรอบคอบและไม่อนุมัติพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘  เพื่อพิทักษ์ปกปักรักษารัฐธรรมนูญ  หลักนิติธรรม และสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ตามที่ได้ให้สัตย์ปฏิญานเป็นพันธสัญญาร่วมกันไว้ก่อนเข้าทำหน้าที่เป็นสมาชิกรัฐสภา


 


                                                                        ขอแสดงความนับถือ


 


๑. กฤษณะ ชิณฉัตร์                      มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี            


๒.  กฤฏิฎีกา  ทองเพ็ชร                 มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล


๓. กิตติ ชยางคกุล                         มหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเชีย             


๔.  กิตติพงษ์  สุวรรณสน                มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล


๕.  กิตติศักดิ์ ปกติ                         มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                


๖.  ขรรค์เพชร ชายทวีป                  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี        


๗. คมสัน  โพธิ์คง                          มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช              


๘.  เครือรัตน์  กิ่งสกุล                   มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต                 


๙. จรัญ โฆษณานันท์                     มหาวิทยาลัยรามคำแหง                 


๑๐. จริยาวดี    มิตรสูงเนิน              มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล


๑๑.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา                 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์            


๑๒.จันทร์เพ็ญ  หงษ์มาลัย              มหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเชีย


๑๓. เจริญ     คัมภีรภาพ                 มหาวิทยาลัยศิลปากร


 ๑๔.จุฑามาส แก้วจุลกาญจน์          มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์    


๑๕. จุมพล แดงสกุล                      มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 ๑๖. ชนินาฏ  ลีดส์                         มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช               


๑๗.ชาติชาย เชษฐสุมน                             มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์          


๑๘. ชัช วงศ์สิงห์                           มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี                        


๑๙. ธรรมรักษ์  จิตตะเสโน             มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


 ๒๐.ดารุณี พุ่มแก้ว                        มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี               


๒๑. เดือน  จิตรกร                         มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต             


๒๒.ต่อพงศ์  กิติยานุพงศ์                มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์           


๒๓. ณรงค์  ใจหาญ                                   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์      


๒๔. นฤตย์   หม็องพร้า                  มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต                   


๒๕.  นัทมน  คงเจริญ                    มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


๒๖. บรรเจิด  สิงคะเนติ                   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                


๒๗. บัญชา  ศอกจะบก                  มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล


๒๘. ประเทือง ม่วงอ่อน                  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี


๒๙. ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช           มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์               


๓๐. ปฏิเวชย์   ยาวงษ์                   มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


๓๑. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์       


๓๒. ปรียา  วิศาลเวทย์                   มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช     


๓๓. ปิยะบุตร   แสงกนกกุล            มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์      


๓๔. พิรุณา  ติงศภัทิย์                    มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


๓๕. ภาณุศ์   อภิบาลเกียรติกุล        มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  


๓๖ . มานพ  พรหมชนะ                  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์


๓๗. รุจินันท์  วาธีวัฒนารัตน์             วิทยาลัยนครราชสีมา    


๓๘. วนิดา  พรมหล้า                      มหาวิทยาลัยมหาสารคาม                       


๓๙.วลัยรัตน์  โพธิสาร                    มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล


๔๐. วัลภา  สัตยานุชิต                   มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี                  


๔๑.  วีรวัฒน์   จันทรโชติ                 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์          


๔๒. วิจิตรา   วิเชียรชม                   มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                  


๔๓.  สหธน  รัตนไพจิตร                 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์       


๔๔. สถาพร  สระมาลีย์                 มหาวิทยาลัยรามคำแหง                     


๔๕. สาวิตรี สุขศรี                        มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                  


๔๖. สมคิด  เลิศไพฑูรย์                 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์      


๔๗. สมชาย  รัตนซื่อสกุล                                    


๔๘. สมชาย ปรีชาศิลปกุล              มหาวิทยาลัยเชียงใหม่                       


๔๙. สมบัติ วอทอง                       มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี           


๕๐. สมศักดิ์ นวตระกูลพิสุทธิ์          มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์      


๕๑. สมศักดิ์  เธียรจรูญกุล                         มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  


๕๒.สุรพล  นิติไกรพจน์                  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์            


๕๓. สุภาวิณี  จิตต์สุวรรณ์               มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี             


๕๔. สิริพันธ์   พลรบ                     มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช


๕๕. สิทธิชัย  งามชื่นสุวรรณ           มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์        


๕๖ .แสวง  บุญเฉลิมวิภาส              มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์       


๕๗. สุกิจ อยู่ในธรรม                    มหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเชีย


๕๘.ศริญญา สมจริง                      มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์   


๕๙. ศรีราชา  เจริญพานิช                มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 


๖๐. ศักดิ์ณรงค์ มงคล                    มหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเชีย         


๖๑. อมรรัตน์  อริยะชัยประดิษฐ์       มหาวิทยาลัยมหาสารคาม   


๖๒.อภินันท์  ศรีศิริ                         มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี                  


๖๓. เอกลักษณ์ แก้วจันดี                            มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี         


๖๔. เอกบุญ  วงศ์สวัสดิ์กุล             มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  


๖๕. อุดม  รัฐอมฤต                       มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                   


๖๖.  อิทธิพล  ปรีดิประสงค์             มหาวิทยาลัยอีสเทอร์นเอเชีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net