Skip to main content
sharethis





ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อที่ทรงอิทธิพลที่สุดในยุคนี้คงหลีกไม่พ้น "สื่อทีวี" 


จะเห็นได้จากบริษัทโฆษณาจะทุ่มเทงบประมาณให้สื่อทีวีสูงที่สุดในสื่อทุกประเภท    และยิ่งวันสื่อทีวีที่มีอยู่เพียงไม่กี่ช่องก็ผูกขาดความร่ำรวยเพิ่มยิ่งขึ้นไปด้วยตัวเลขรายได้จากโฆษณานับร้อยล้านบาทในแต่ละปี   ยิ่งสื่อผูกขาดก็ยิ่งทำให้การควบคุมเนื้อหาทำได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้น    จึงพบว่าเนื้อหาสาระที่สื่อสารในทีวีล้วนถูกกำหนดจากกลุ่มคนเพียงไม่กี่กลุ่ม  วนเวียนกันมาจัดรายการละคร  โทรทัศน์  รายการข่าว  การสร้างสรรค์สิ่งใหม่     ให้แก่ผู้รับสารก็เกิดขึ้นได้ยาก


 


การที่ผู้ชมรายการโทรทัศน์บ้านเราปล่อยให้สื่อเป็นผู้กำหนดเนื้อหาแต่เพียงฝ่ายเดียว  เป็นผลทำให้สื่อโทรทัศน์ผูกขาดความคิดของคนในสังคมมากขึ้น    เมื่อเร็ว ๆ นี้ในแวดวงนักวิชาการด้านสื่อ  สมเกียรติ  ตั้งกิจวานิช  และเอื้อจิต  วิโรจน์ไตรรัตน์   ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสื่อภาคประชาชนจึงเกิดความคิดว่าเพื่อไม่ให้สถานีโทรทัศน์ผูกขาดความคิดของคนในสังคมจำเป็นต้องมีองค์กรตรวจสอบสื่อโทรทัศน์บ้าง   จึงเกิด  "โครงการศึกษาและเฝ้าระวังสื่อ"  ขึ้น    ทั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนการทำงานระยะเริ่มต้นจากมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ   


 


เอื้อจิต  วิโรจน์ไตรรัตน์  ผู้ประสานงานโครงการดังกล่าวชี้แจงว่าหน้าที่ของโครงการคือจัดกระบวนการให้สังคมมีการวิเคราะห์สื่อโทรทัศน์มากขึ้น  มีหน้าที่เป็นกระจกแท้  ไม่ใช่การเสนอภาพที่บิดเบือน  เราไม่ได้ทำหน้าที่ตัดสินว่าสื่อทีวีรายการแต่ละรายการดีหรือไม่ดี  แต่จะให้ข้อมูลแก่สื่อและสาธารณชน    ส่วนการตัดสินและเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องของสื่อและสาธารณชน


 


รุกผู้รับสารวิเคราะห์สื่อ


 


"การทำหน้าที่ของเราเป็นเพียงการกระตุ้นให้สาธารณะโดยรวมเห็นว่าการรับสื่อต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์  ต้องมีการพินิจพิเคราะห์ "  เอื้อจิต กล่าวถึงบทบาทของผู้บริโภคสื่อที่อยากจะเห็นในอนาคต


 


การทำงานของโครงการเฝ้าระวังสื่อมีเนื้องานสำคัญคือพัฒนาศักยภาพของประชาชนให้เป็นผู้รับสารที่มีประสิทธิภาพ  หมายความว่าจะต้องรู้เท่าทันสื่อ  วิเคราะห์เป็น  โดยจะมีเครื่องมือเฝ้าระวังสื่อ คือ ใช้คอมพิวเตอร์ที่มีความจุสูง  สามารถบันทึกรายการที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ได้ทุกช่องเท่าที่อยากจะเก็บบันทึก   


 


การเก็บบันทึกรายการจะสามารถนำมาฉายย้อนหลังและจับผิดรายการที่ออกอากาศไปแล้วว่ามีการนำเสนอเนื้อหาเป็นอย่างไรบ้าง    ในช่วงแรกโครงการเฝ้าระวังสื่อได้เลือกตรวจสอบช่วงรายการเด็กและเยาวชนก่อน  เพราะมีมติ ครม.ออกมาแล้วว่าช่วงเวลา 16.00-22.00 น. เป็นช่วงเวลาสำหรับรายการเด็กและเยาวชน       โดยโครงการจะบันทึกเทปรายการที่ออกอากาศในช่วงดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3,5, 7, 9,  11  และ ITV     ว่าทำตามมติ ครม.หรือไม่   เพราะจากการประเมินคร่าว ๆ พบว่ารายการโทรทัศน์จำนวนมากยังไม่ใช่รายการสำหรับเด็กและเยาวชนจริง ๆ  เป็นแค่รายการที่มีเด็กและเยาวชนมาร่วมรายการเท่านั้นเอง


 


เอื้อจิต  เผยว่าหลังจากที่บันทึกเทปเสร็จแล้ว  ทางโครงการจะนำมาแยกแยะดูว่ารายการที่นำเสนอในสถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ  มีรูปแบบอะไรบ้าง  ลักษณะรายการเป็นอย่างไร  เนื้อหาเป็นอย่างไร  สัดส่วนที่เป็นเนื้อหาเท่าไหร่  โฆษณาเท่าไหร่  โดยใช้เกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่แล้ว เช่น กระแสสังคมมีความเห็นอย่างไรต่อรายการนั้น ๆ  แต่ไม่ได้ทำจากฐานคิดของตัวเอง  หรือสรุปเอาเอง  เป็นการรวบรวมความเห็นของสังคม หรือ feedback ของทั้งรายการทั้งคำชม คำติ


 


เมื่อได้ข้อมูลมาจะมีกรรมการวิชาการ เช่น อ.ประเวศ  วะสี  ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม  สว.นิรันดร์  พิทักษ์วัชระ ให้คำชี้แนะ     อย่างไรก็ตามจะไม่ใช่งานวิจัยเต็มรูปแบบ แต่จะใช้เกณฑ์การเฝ้าระวังที่เชื่อถือได้ เช่น ถ้าเป็นรายการสำหรับเด็กก็จะนำเกณฑ์ของบีบีซีมาปรับประยุกต์ใช้   คือมีเกณฑ์เรื่องเซ็กส์  ความรุนแรง  และการใช้ภาษาเป็นอย่างไรบ้าง   


 


เอื้อจิต ย้ำว่าบทบาทของโครงการเฝ้าระวังสื่อไม่ใช่บทบาทขององค์กรที่ออกมาปฏิบัติการ  แต่เป็นการทำหน้าที่ศึกษาและเสนอต่อสังคม   ภายหลังที่ศึกษาเสร็จก็จะแถลงข่าวต่อสาธารณชน   


 


"สิ่งที่เราทำคือเป็นกระจกสะท้อนให้สื่อและสาธารณชนเห็นว่า ตอนนี้น้ำหนักคุณเพิ่มขึ้นแล้ว  อ้วนไปหรือผอมไป   เป็นการเอาภววิสัยมาให้ดู  แต่ไม่ได้บอกว่าสาเหตุเกิดจากอะไร จะไม่ใช่การตัดสินสื่อ หรือทำให้เกิดจำเลยของสังคม"  เอื้อจิตกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของโครงการ  ส่วนหลังจากนี้เป็นหน้าที่ของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม และสื่อที่จะต้องร่วมกันปรับปรุงสื่อให้ดีขึ้นเอง


           


ร่วมกันปรับปรุงสื่อ


 


ปัจจุบันโครงการฯ เพิ่งดำเนินการในช่วงเริ่มต้น   แต่ก็นับว่าน่าสนใจไม่น้อยที่จะเปลี่ยนให้ผู้รับสารกลายเป็นผู้รับสารที่มีปฏิบัติการเชิงรุกมากขึ้น  ไม่ต้องทนดู  ทนฟังกับรายการที่ไม่สร้างสรรค์  เนื้อหาวนเวียนซ้ำซากอยู่กับละครน้ำเน่า  เกมโชว์ที่สอดแทรกความรุนแรง  ค่านิยมฟุ้งเฟ้อ  และต่าง ๆ อีกมากมายที่ล้วนถูกกำหนดจากผู้ผลิตรายการโทรทัศน์เพียงด้านเดียว 


 


เอื้อจิต เผยว่าทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าผู้ผลิตสื่อโทรทัศน์ไทยล้ำหน้า  มีศักยภาพมากทั้งด้านการผลิตและการตลาด   แต่จะให้ดียิ่งขึ้นจะต้องมีสังคมคอยช่วยกันเป็นกระจกส่องว่าสื่อทำหน้าที่ได้ดีเพียงไร    ดังนั้นการทำงานของโครงการจึงเป็นกระตุ้นคนในสังคม และกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ในสังคมออกมามีปฏิบัติการต่อสื่อในระยะยาว


 


การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น  เอื้อจิตย้ำว่านอกเหนือจากสื่อ  ยังสามารถตั้งคำถามกับสถาบันอื่น ๆ ของสังคมได้  ไม่ได้หมายความว่าจะผลักภาระให้สื่อเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงกลุ่มเดียว  แต่หมายถึงคนทุกกลุ่มในสังคมด้วยนั่นเอง


 


"จากการทำงานเบื้องต้นของเรา  อาจจะเกิดองค์กรเฝ้าระวังสื่อในอนาคต  สร้างมิติใหม่ในสังคม  ไม่ใช่ความหวาดระแวงต่อกัน  หรือเป็นการจับขั้วเหมือนที่เป็นอยู่ในเวลานี้  เช่น ถ้าเรากล่าวหารัฐบาล  แปลว่าเราเป็นฝ่ายค้าน   โครงการนี้จะพิสูจน์ตัวเองว่าโปร่งใส  จริงใจ  และทำเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างแท้จริง"  เอื้อจิตกล่าวถึงความหวังที่อยากไปให้ถึง.


 


เบญจา ศิลารักษ์


สำนักข่าวประชาธรรม


แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net